3. คุณประโยชน์ของเดือนรอมฎอน

Submitted by dp6admin on Sun, 10/03/2019 - 11:37

รอมฎอนเป็นเดือนแห่งความดีและความจำเริญ ซึ่งอัลลอฮฺตะอาลา มอบให้โดยเฉพาะสำหรับเดือนนี้ ด้วยคุณประโยชน์อันมากมายและชัดแจ้งดังต่อไปนี้

3.1 เดือนแห่งอัลกุรอาน

อัลลอฮฺตะอาลาทรงประทานคัมภีร์อันทรงเกียรติของพระองค์มาเพื่อเป็นแนวทางที่ถูกต้องแก่มวลมนุษย์ และเป็นการเยียวยาบำบัดสำหรับบรรดามุอฺมินผู้ศรัทธา และเป็นการชี้นำไปสู่แนวทางที่เที่ยงตรงยิ่ง และชี้แนะแนวทางแห่งการมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบ ในค่ำคืนอันมหาประเสริฐคืนอัลก็อดรฺ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِيَ أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ

ความว่า "เดือนรอมฎอนซึ่งอัลกุรอานถูกประทานลงมาในเดือนนั้น เพื่อเป็นแนวทางที่ถูกต้องแก่มวลมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดแจ้งเกี่ยวกับข้อแนะนำ และการจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น" (2/185)

นักตัฟซีรมีความเห็นจากอายะฮฺดังกล่าวข้างต้นว่า สาเหตุแห่งการเลือกเดือนรอมฎอน เพื่อให้เป็นเดือนแห่งการถือศีลอดก็คือ การประทานอัลกุรอานลงมาในเดือนนั้น

3.2 บรรดาชัยฏอนถูกพันธนาการและประตูต่างๆ ของนรกถูกปิด ประตูต่างๆ ของสวรรค์ถูกเปิด

ในเดือนอันศิริมงคลนี้ความชั่วต่างๆ จะลดน้อยลงในแผ่นดิน โดยที่บรรดาหัวหน้าชัยฏอนจะถูกล่ามโซ่ และถูกพันธนาการ ดังนั้นพวกมันจะไม่มีช่องทางที่จะล่อลวงหรือชักชวนมนุษย์ให้กระทำความผิดหรือความชั่วได้ เพราะบรรดามุสลิมกำลังมีภาระกิจอยู่กับการถือศีลอด ซึ่งจะขจัดหรือปราบปรามความใคร่ต่างๆ ให้หมดสิ้นไปด้วยการอ่านอัลกุรอาน และการทำอิบาดะฮฺชนิดต่างๆ ซึ่งจะอบรมและขัดเกลาจิตใจของเขา พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ ﴿١٨٣﴾

ความว่า "การถือศีลอดถูกบัญญัติแก่พวกเจ้า เช่นเดียวกับที่ได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้ยำเกรง"  (2/183)

ดังนั้นประตูต่างๆ ของนรกจึงถูกปิด และประตูต่างๆ ของสวรรค์จึงถูกเปิด ทั้งนี้เพราะการงานที่ดีมีอยู่มากมาย และคำพูดที่ดีก็เพิ่มพูนอย่างสมบูรณ์

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

(إِذَاجَاءَ رَمَضَانُ فُتِّحَتْ أَبْوَابُ الْجَنَّة وَأُغْلِقَتْ أَبْوَابُ النَّارِ وَصُفِّدَتِ الشَّيَاطِيْنُ )
رواه البخاري ومسلم

ความว่า "เมื่อเดือนรอมฎอนมาถึง ประตูต่างๆ ของสวรรค์ก็ถูกเปิด และประตูต่างๆ ของนรกก็ถูกปิด และบรรดาชัยฏอนก็ถูกพันธนาการไว้"

ดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในคืนแรกของเดือนรอมฎอน ดังคำกล่าวของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

( إذا كان أول ليلة من شهر رمضان صفدت الشياطين ومردة الجن وغلقت أبواب النار فلم يفتح منها بابا وفتحت أبواب الجنة فلم يغلق منها بابا وينادى منادى يا باغى الخير أقبل ويا باغى الشر أقصر ولله عتقاء من النار وذلك كل ليلة ) رواه الترمزى وابن حبان عن أبي هريرة وحسنه الألباني في صحيح الجامغ

ความว่า "ในคืนแรกของเดือนรอมฎอน บรรดาชัยฏอนและหัวหน้าญินจะถูกพันธนาการ ประตูต่างๆ ของนรกจะถูกปิดจะไม่มีประตูใดๆ ถูกเปิดขึ้น จะไม่มีประตูใดๆ ถูกปิด และผู้เรียกร้องจะร้องเรียกขึ้นว่า โอ้ผู้ปรารถนาความดีจงมาที่นี่ และโอ้ผู้ปรารถนาความชั่วจงเก็บกักตัว และเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺที่จะปลดปล่อยบ่าวบางคนของพระองค์ ให้พ้นจากไฟนรกในทุกๆ คืน"

3.3 คืนอัลก็อดรฺ

การที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงเลือกเดือนรอมฎอน เพราะอัลกุรอานุลกรีมถูกประทานลงมาในเดือนนั้น ในการนี้เราอาจจะได้รับความดีหรือผลประโยชน์สองประการในเดือนมหาจำเริญนี้

        ก. วันที่ประเสริฐยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺตะอาลา คือวันที่อยู่ในเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีกิจกรรมพิเศษให้เพิ่มมากขึ้น ในการนี้จะมีหลักฐานยืนยันถึงการแสวงหาค่ำคืนอัลก็อดรฺด้วยการเจาะจงให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการกระทำความดี ซึ่งจะได้กล่าวถึงเป็นรายละเอียดในบทที่เกี่ยวกับคืนอัลก็อดรฺต่อไป

        ข. อัลเนี๊อะมัต หรือความโปรดปรานนั้น เมื่อบรรดามุสลิมได้รับแล้ว จำเป็นที่พวกเขาจะต้องขอบคุณต่ออัลลอฮฺตะอาลาด้วยการปฏิบัติภาระกิจให้มากยิ่งขึ้น หลักฐานที่พอจะนำมายืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือคำตรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หลังจากความโปรดปรานเมื่อสิ้นสุดลงของเดือนแห่งการถือศีลอดแล้วคือ

وَلِتُكْمِلُواْ الْعِدَّةَ وَلِتُكَبِّرُواْ اللّهَ عَلَى مَا هَدَاكُمْ وَلَعَلَّكُمْ تَشْكُرُونَ ﴿١٨٥﴾

ความว่า "และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วนจำนวน (แห่งการถือศีลอด) และเพื่อพวกเจ้าจะได้แซ่ซร้องความเกรียงไกรแด่อัลลอฮฺในการที่พระองค์ทรงชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะได้ขอบคุณ" (2/185)

และหวังจากความโปรดปรานเมื่อการทำพิธีฮัจญฺได้สิ้นสุดลงแล้ว ดังคำตรัสของพระองค์ที่ว่า

فَإِذَا قَضَيْتُم مَّنَاسِكَكُمْ فَاذْكُرُواْ اللّهَ كَذِكْرِكُمْ آبَاءكُمْ أَوْ أَشَدَّ ذِكْراً

ความว่า "ครั้นเมื่อพวกเจ้าประกอบพิธีฮัจญฺของพวกเจ้าเสร็จแล้วก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ดังที่พวกเจ้ากล่าวรำลึกถึงบรรพบุรุษของพวกเจ้า หรือกล่าวรำลึกถึงให้มากยิ่งกว่า" (2/200)
 


ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ