1. ศาสนา ปัญญา และอารมณ์......รวมกันได้มั้ย ?

Submitted by dp6admin on Fri, 07/12/2018 - 21:35
เนื้อหา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามนุษย์ทุกคนได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺให้มีสติปัญญาเพื่อใช้คิดพินิจพิจารณาและไตร่ตรองสิ่งต่างๆที่ประสบในชีวิต และปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าเยาวชนหนุ่มสาวนั้นมีสติปัญญาที่สมบูรณ์ อันเป็นลักษณะของผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ ซึ่งในหลักการศาสนาอิสลามเรียกว่า อากิลบาลิฆ หมายถึง มีสติปัญญาทำให้มีความสามารถไตร่ตรองคำพูดและการกระทำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำที่ตนประพฤติ

هل يمكن الجمع بين الأوامر الشرعية ورغبات الهوى 
1. ศาสนา ปัญญา และอารมณ์......รวมกันได้มั้ย ?
 
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามนุษย์ทุกคนได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺให้มีสติปัญญาเพื่อใช้คิดพินิจพิจารณาและไตร่ตรองสิ่งต่างๆที่ประสบในชีวิต และปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าเยาวชนหนุ่มสาวนั้นมีสติปัญญาที่สมบูรณ์ อันเป็นลักษณะของผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ ซึ่งในหลักการศาสนาอิสลามเรียกว่า อากิลบาลิฆ หมายถึง มีสติปัญญาทำให้มีความสามารถไตร่ตรองคำพูดและการกระทำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำที่ตนประพฤติ
 
และปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า เยาวชนหนุ่มสาวนั้นมีอารมณ์ใฝ่ต่ำและมีไฟแรงจนทำให้คนอื่นทำอะไรไม่ทันใจหรือตามไม่ทันพวกวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เฉลียวฉลาด มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีจิตใจที่บริสุทธิ์ จากการยอมรับข้างต้น คุณ(ที่เป็นเยาวชนหนุ่มสาว)ต้องยอมรับด้วยว่าบางครั้งบางคราวสิ่งที่เป็นเหตุผลทางปัญญากับสิ่งที่เป็นความต้องการทางอารมณ์อาจไม่ตรงกับหลักการทางศาสนา ซึ่งอาจทำให้คุณสับสนระหว่างความต้องการของอารมณ์และเหตุผลทางปัญญาของคุณ กับหลักการของศาสนาอิสลามที่คุณนับถืออย่างเคร่งครัด จะใช้ทั้งสามอย่างพร้อมกันได้หรือไม่? ส่วนใดที่จำเป็นต้องนำหน้า ? หรือมีโอกาสเลือกในสามสิ่งนี้ ? 
 
ก่อนอื่นคุณต้องรู้ว่าคุณเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ และบ่าวของอัลลอฮฺมีหน้าที่รับใช้คำบัญชาของอัลลอฮฺเท่านั้น ถึงแม้ว่าคำบัญชานั้นจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของคุณหรือเหตุผลทางปัญญาของคุณก็ตาม
 
ในอัลกุรอานอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา   ทรงยกย่องสรรเสริญผู้ศรัทธาที่เชื่อฟังคำบัญชาของพระองค์โดยไม่อึดอัดหรือแคลงใจดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ อายะฮฺที่ 36 ว่า
  ﴿ وَمَا كَانَ لِمُؤْمِنٍ وَلا مُؤْمِنَةٍ إِذَا قَضَى اللَّهُ وَرَسُولُهُ أَمْراً أَن يَكُونَ لَهُمُ الْخِيَرَةُ مِنْ أَمْرِهِمْ وَمَن يَعْصِ اللَّهَ وَرَسُولَهُ فَقَدْ ضَلَّ ضَلالاً مُّبِيناً  ﴾ سورة الأحزاب ٣٦
 
ความว่า “ไม่บังควรแก่ผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิง เมื่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกในเรื่องของพวกเขา และผู้ใดไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์แล้ว แน่นอนเขาได้หลงผิดอย่างชัดแจ้ง”
นี่คือเอกลักษณ์ของผู้ศรัทธาชายและหญิง และคุณก็เป็นผู้ศรัทธามิใช่หรือ ? ฉะนั้นคุณต้องมีกฎเกณฑ์ในชีวิตเป็นลำดับ กฎเกณฑ์แรกที่คุณต้องคำนึงถึงเหนือกว่าทุกสิ่งทุกอย่างคือหลักการของศาสนา ซึ่งมีตัวบทจากอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่เป็นคำใช้หรือคำห้าม คุณต้องตระหนักว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้คือธรรมนูญแห่งชีวิตเสมือนกฎหมายแม่ ทุกกฎเกณฑ์ทางปัญญา วิชาการ หรือธรรมเนียมประเพณี ต้องไม่ขัดกับกฎหมายแม่ ไม่เช่นนั้นต้องถือว่าโมฆะ
 
สำหรับคนที่เข้าใจคำว่า อิสลาม อย่างแท้จริงจะรู้ว่า อิสลาม แปลว่า ยอมรับ นอบน้อม และมอบหมาย และ มุสลิม หรือ มุสลิมะฮฺ คือคนที่ยอมรับในหลักการของอิสลามและเชื่อมั่นในความถูกต้องของศาสนาทุกประการ
 
ที่กล่าวข้างต้นมิได้หมายรวมว่าคุณต้องยอมรับในหลักการศาสนาโดยไม่มีเหตุผล แต่หมายถึงคุณต้องเชื่อว่าเหตุผลของหลักการศาสนาย่อมถูกต้องกว่าเหตุผลแห่งปัญญาและความต้องการของอารมณ์
 
บางคนเชื่อมั่นในตัวเองเชื่อมั่นในความรู้ของตน จึงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านการพินิจพิจารณาและการยอมรับด้วยสติปัญญาของตน แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นพระบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้า คุณเองก็คงเคยเห็นคนที่ปฏิเสธหลักการโดยอ้างว่าไม่กินกับปัญญา เช่น คนที่ไม่ยอมรับว่าดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม โดยอ้างว่าเศรษฐกิจมีความจำเป็นต้องใช้ระบบดอกเบี้ย คุณคิดมั้ยว่าการพิจารณาหลักการศาสนาแบบนี้จะทำให้ศาสนาของพระเจ้ากลายเป็นความคิดของมนุษย์ และแทนที่เราจะต้องใช้ชีวิตในโลกนี้ในฐานะเป็นบ่าว เรากลับจะกลายเป็นพระเจ้าของตนเอง ไม่เชื่อไม่ฟังไม่รับสิ่งใดนอกจากความเห็นของตนเอง  
 
และคุณคิดว่าถ้ามนุษย์ทุกคนใช้สติปัญญาแบบนี้สังคมจะเป็นอย่างไร เมื่อทุกคนไม่ยอมรับสิ่งใดนอกจากเหตุผลของปัญญาของตัวเอง ความขัดแย้งย่อมจะเกิดขึ้นในทุกประเด็น แต่ถ้าหากว่ามีกฎเกณฑ์ทางศาสนาควบคุมปัญญาและชี้แนะในสิ่งที่เป็นเหตุผลอันเที่ยงแท้ ความขัดแย้งย่อมจะลดลง และการยึดในกฎเกณฑ์ของศาสนานี่แหละที่จะทำให้มนุษย์ทุกคนยอมรับในความถูกต้องถึงแม้ว่าความถูกต้องนั้นจะไม่ได้เกิดจากความคิดของตัวเองก็ตาม 
 
อารมณ์ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลสูงมากในชีวิตของเรา โดยเฉพาะเมื่อมันจูงเราไปสู่พฤติกรรมที่เราต้องการกระทำ ดังที่อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ในซูเราะฮฺยูซุฟ อายะฮฺที่ 53 ว่า
 
﴿ إِنَّ النَّفْسَ لأَمَّارَةٌ بِالسُّوْء ﴾
ความว่า “แท้จริง จิตใจของมนุษย์ทุกคนนั้น กระตุ้นข้างการชั่ว”
 
บางครั้งสิ่งที่อารมณ์กระตุ้นให้เรากระทำถึงแม้จะเป็นความชั่ว แต่เราก็อาจหาเหตุผลทางปัญญามาสนับสนุนสิ่งเหล่านั้นเพื่อเป็นข้ออ้างในการกระทำ ทั้งๆที่หลักการศาสนาไม่อนุญาตให้กระทำแต่อย่างใด ฉะนั้นนักปราชญ์อิสลามจึงได้มีข้อสรุปจากคำสั่งสอนในอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เกี่ยวกับอารมณ์ไว้ว่า 
 
وَخَالِفِ النَّفْسَ وَالشَّيْطَانَ وَاعْصِهِمَا      وَإِنْ هُمَا مَحَضَاكَ النُّصْحَ فَاتَّهِمِ
ความว่า “จงฝืนกิเลสฝืนมารร้าย และอย่าตามอารมณ์ถึงแม้จะเสนอให้ทำความดีก็ตาม”
 
คุณเห็นด้วยมั้ยว่าความอยากของมนุษย์ย่อมมีอิทธิพลเหนือสติปัญญาอย่างมากทีเดียว เพราะอะไรรู้มั้ย? บางครั้งเรากระทำความชั่วทั้งๆที่รู้ว่าเป็นข้อห้ามตามหลักการศาสนา และด้วยเหตุผลทางปัญญาก็สิ่งนั้นก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต แต่เราก็ยังดื้อและกระทำอย่างหน้าตาเฉย เช่น การสูบบุหรี่ การจีบเพศตรงข้าม การแต่งตัวโดยเปิดเผยเอาเราะฮฺ ไม่มีอะไรจะตีความพฤติกรรมแบบนี้ได้ นอกจากการเชื่อฟังและทำตามอารมณ์อย่างเดียว 
 
สุดท้ายนี้คำถามที่ได้ตั้งไว้เป็นหัวข้อข้างต้น คุณจะสามารถตอบได้ถ้าหากว่าคุณมีความเข้มแข็งในด้านศรัทธาต่ออัลลอฮฺ มีความเข้มแข็งในการเชื่อฟังต่อร่อซูล มีความหนักแน่นต่อหลักการของอิสลาม ถ้าหากว่าคุณเชื่อในความถูกต้องของคำสั่งสอนของอัลอิสลามและในผลการตอบแทนในวันปรโลก คุณจะมีมาตรการอันเข้มงวดต่อตนเอง  และจะทำให้คุณสามารถตอบคำถามดังกล่าวได้

ที่มา : หนังสือ สิ่งที่น่ารู้สำหรับวัยรุ่น, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี