วันนี้จะนำเสนอหะดีษจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่เกี่ยวกับอะมั้ล (การกระทำ) อันประเสริฐที่บางคนไม่ให้ความสำคัญ และเป็นบทเรียนที่เราต้องนำไปปฏิบัติหลังจากที่ได้ศึกษาแล้ว หะดีษบทนี้บันทึกโดยอิมามมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
((قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّه عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَنْ تَوَضَّأَ فَأَحْسَنَ الْوُضُوءَ ثُمَّ أَتَى الْجُمُعَةَ فَاسْتَمَعَ وَأَنْصَتَ غُفِرَ لَهُ مَا بَيْنَهُ وَبَيْنَ الْجُمُعَةِ وَزِيَادَةُ ثَلاثَةِ أَيَّامٍ وَمَنْ مَسَّ الْحَصَى فَقَدْ لَغَا )) رواه مسلم
ความหมาย “บุคคลที่อาบน้ำละหมาดอย่างดี (1) และเดินไปสู่การละหมาดญุมุอะฮฺ(วันศุกร์) ได้ฟังคุฏบะฮฺ(การปราศรัยของคอฏีบ)ในวันละหมาดญุมุอะฮฺ และได้ตั้งใจฟัง (2) อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะให้อภัยโทษแก่เขาระหว่างสองศุกร์ในสัปดาห์เดียว เพิ่มอีกสามวันด้วยซ้ำ (3) และบุคคลที่แตะหินในมัสยิด (4) ก็ถือว่าเขาได้หันเห(ออกจากการฟังคุฎบะฮฺแล้ว) ผลบุญ(การตอบแทน) ของเขาถือว่าโมฆะ”
(1) ไม่ใช่อาบน้ำละหมาดอย่างรวดเร็ว โดยที่อาจจะอาบน้ำละหมาดไม่สมบูรณ์ หรืออาจจะละเว้นบางส่วนในอวัยวะต่างๆที่ต้องทำความสะอาด
(2) ในการพิจารณา ในการวิเคราะห์ และเข้าใจคำดำรัสของอัลลอฮฺหรือคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวถึงในคุฏบะฮฺนั้น
(3) ก็หมายถึง ทรงให้อภัยโทษในการกระทำที่ชั่วหรือเลวร้ายที่เขาได้ปฏิบัติในสิบวัน คือสัปดาห์หนึ่งและเพิ่มอีกสามวัน หมายถึงว่า สิบวันที่เรามีความชั่วนั้น ถ้าหากว่าเรากระทำสิ่งที่ระบุไว้ข้างต้น อัลลอฮฺจะให้อภัยโทษต่อความผิดที่เรากระทำมา
(4) การแตะหินคือ การที่จะเล่นเอานิ้วมือมาใช้เล่นสิ่งต่างๆ ในขณะที่เราฟังคุฏบะฮฺอยู่ ท่านนบีห้ามเป็นอันขาดที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ทำให้เราไม่มีสมาธิในการฟังคุฏบะฮฺอย่างถูกต้องหรือสมบูรณ์)” นั่นเป็นข้อห้ามอย่างรุนแรงที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอนไว้ ว่าเราต้องพยายามสร้างสมาธิ ขณะที่กำลังฟังการปราศรัย หรือฟังคุฏบะฮฺในวันละหมาดญุมมะอะฮฺ อันเป็นมารยาทเป็นจริยธรรมแห่งผู้มีอีมาน
สำหรับเงื่อนไขที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ระบุไว้ในหะดีษข้างต้นคือ “การอาบน้ำละหมาดอย่างดีงาม” หมายถึงว่า ต้องพยายามอาบน้ำละหมาดอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ศรัทธา ที่เขาจะรักษาการอาบน้ำละหมาดให้ถูกต้อง เพราะในวันกิยามะฮฺการอาบน้ำละหมาดนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของบรรดาผู้ศรัทธาในประชาชาติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งท่านนบีจะรู้จักประชาชาติของท่านจากเครื่องหมายบนใบหน้า เท้าและมือของบรรดาผู้ศรัทธา ซึ่งก็คือเครื่องหมายที่เกิดจากการอาบน้ำละหมาดอย่างถูกต้องในดุนยานี้
และอีกเงื่อนไขที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายคือได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในวันศุกร์ในหะดีษข้างต้นนั้นก็คือ เมื่อไปละหมาดวันศุกร์ ก็จะต้องมีสมาธิและตั้งใจฟังคุฏบะฮฺอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงอภัยโทษแก่เรา อันเป็นผลบุญใหญ่หลวงที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้แจ้งไว้ ซึ่งแน่นอนว่าตลอดชีวิตของผู้ศรัทธาอาจจะได้ละหมาดวันศุกร์หลายครั้ง หากว่าเรารักษาความประเสริฐของการกระทำนี้ไว้ แน่นอนว่าผลบุญที่เราจะได้รับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั้นย่อมมหาศาลอย่างคำนวณไม่ได้ ผลบุญที่เราจะได้รับจากการกระทำเพียงเล็กน้อยนี้ เป็นผลบุญที่มุสลิมทุกคนต้องให้ความสนใจ และต้องมีความตั้งใจว่าจะปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
การอาบน้ำละหมาดมีความประเสริฐอยู่แล้ว ดังที่ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวไว้ว่าในขณะที่กำลังอาบน้ำละหมาดนั้น ความผิดที่เราได้กระทำด้วยอวัยวะต่างๆ จะถูกลบล้างไป และการละหมาดญุมุอะฮฺ ฟังคุฏบะฮฺ ก็เป็นลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เรียกร้องไว้ในซูเราะฮฺอัลญุมุอะฮฺ อายะฮฺที่ 9
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِن يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَىٰ ذِكْرِ اللَّـهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ۚ ذَٰلِكُمْ خَيْرٌ لَّكُمْ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ
ความหมาย “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้”
อัลลอฮฺได้ทรงใช้บรรดาผู้ศรัทธาว่าเมื่อได้ยินอะซานของวันศุกร์ (วันญุมุอะฮฺ) ให้รีบไปสู่การฟังคุฏบะฮฺ ซึ่งทัศนะจากอุละมาอฺทุกท่านในศาสนาอิสลามนั้นเห็นพ้องว่าการฟังคุฏบะฮฺในวันญุมุอะฮฺนั้นเป็นวาญิบสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา เมื่อถึงมัสญิดและเข้ามัสญิดแล้วคุฏบะฮฺกำลังถูกกล่าวอยู่นั้น มุสลิมทุกคนมีหน้าที่ต้องฟังอย่างเดียว ไม่อนุญาตให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดนอกจากการฟัง แม้กระทั่งการแตะหินในมัสญิดท่านนบีก็ห้าม ฉะนั้นเราต้องทราบว่าการกระทำบางอย่างที่เราเห็นพี่น้องบางท่านกระทำในมัสญิดในขณะที่คอฏีบกำลังกล่าวคุฏบะฮฺอยู่ อย่าง เช่น การสลาม การพูดคุย การเจรจาการเอาเรื่องราวมาพูดในมัสญิด ขณะที่คอฏีบกำลังคุฏบะฮฺนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมีข้อห้ามจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ระบุไว้อย่างชัดเจน
แค่แตะหินก็ถือว่าผลบุญของเขาเป็นโมฆะ ฉะนั้นการพูดคุยหรือกระทำสิ่งไร้สาระในขณะที่มีคุฏบะฮฺอยู่นั้น ก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ระบุข้างต้น อันเป็นเรื่องที่เราต้องอนุรักษ์และรักษาไว้ เพราะการละหมาดญุมุอะฮฺเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของบรรดามุสลิมีน ซึ่งอุละมาอฺบอกว่าวันศุกร์นั้นถือเป็นอีดเล็กประจำสัปดาห์ คือวันเฉลิมฉลองของบรรดาผู้ศรัทธาทุกสัปดาห์ เป็นวันประกาศความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และความยิ่งใหญ่ของประชาชาติอิสลาม เรารวมตัวกันชุมนุมในมัสญิด ฟังการตักเตือนในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ผลของความดีงามที่เราจะได้รับในวันศุกร์ เป็นผลมหาศาลดั่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนไว้ ซึ่งเราทุกคน ต้องนำบทเรียนที่ได้ศึกษามาปฏิบัติ และสั่งสอนลูกหลาน รวมทั้งครอบครัว และทุกคนที่เป็นที่รักของเราให้ปฏิบัติกัน เพื่อฟื้นฟูซุนนะหฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมสืบต่อไป
-------------------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 3, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ
วีดีโอ/ไฟล์เสียง :
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 231 views