23. รอมฎอนเป็นเดือนแห่งการอบรมจิตใจ

Submitted by dp6admin on Sat, 04/04/2009 - 01:04

การถือศีลอดเป็นการอบรมมนุษย์ให้มีการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากและสิ่งแวดล้อมของชีวิตชั่วระยะเวลาหนึ่งของทุกๆปี และเพื่ออบรมมนุษย์ให้เรียนรู้ถึงการควบคุมความใคร่และความต้องการของแต่ละคนให้มีความเคยชินต่อการอดทนขันติ และมีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อยู่เสมอ อิสลามได้มีคำสั่งสอนให้มนุษย์มีความสนใจในตัวเอง ซึ่งประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณหรือจิตใจ โดยมิให้สนใจแต่เพียงด้สนหนึ่งและไม่เอาใจใส่อีกด้านหนึ่ง ดังนั้นอิสลามจึงได้บัญญัติให้มีการฝึกอบรมและการปฏิบัติ และเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่าการฝึกอบรมและการปฏิบัติที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่นั้นก็คือ "การถือศีลอด"

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มิได้พึงประสงค์จากการถือศีลอดเพียงแต่การละเว้นจากการกินการดื่มเท่านั้น การถือศีลอดในสภาพดังกล่าวเป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น แต่พระองค์ทรงประสงค์มากยิ่งกว่านั้นคือ การยำเกรงต่อพระองค์ในทุกเวลาและทุกสถานภาพ ซึ่งเป็นนามธรรม และนี่คือจุดยอดของการถือศีลอด กล่าวคือการละเว้นจากทุกๆสิ่งที่บัญญัติศาสนาได้ระบุไว้แล้ว ยังมีความหมายรวมถึงการละเว้นจากการพูดที่ไร้สาระ และการประพฤติปฏิบัตที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับความเสียหายอีกด้วย ดังกล่าวนี้จึงจะนับได้ว่าการถือศีลอดมีความหมายและความสมบูรณ์อย่างแท้จริง

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

( مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّوْرَ وَالْعَمَلَ بِهِ فَلَيْسَ اللهِ حَاجَةً فِيْ أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ ) رواه البخَاري

ความว่า "ผู้ใดไม่ละเว้นการกล่าวและการกระทำที่เป็นเท็จ สำหรับอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงประสงค์จากการละเว้นอาหารและเครื่องดื่มของเขา"   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์ อะหมัด อัตติรมิซีย์ และอะบูดาวู๊ด    

ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคนจะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยุ่งยากนานาประการ จะต้องเผชิญกับความใคร่และอารมณ์ใฝ่ต่ำอยู่เสมอ อัลลอฮฺตะอาลาทรงบัญญัติให้มีการถือศีลอดขึ้นก็เพื่อประสงค์จะให้มุสลิมได้รับการอบรมที่จะทำให้มีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคงสำหรับเผชิญกับอุปสรรค และความยุ่งยากดังกล่าว ในการอบรมดังกล่าวจะทำให้มุสลิมมีจิตใจที่รำลึกนึกถึงอัลลอฮฺตะอาลาอยู่เสมอ และทำให้เกิดความยำเกรงต่อพระองค์ ไม่ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้เขาห่างไกลจากความโปรดปรานและความพอพระทัยของพระองค์ ไม่ยอมตกเป็นสหายของชัยฏอนที่คอยเสี้ยมสอนให้เขาประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและผิดศีลธรรมอันดี     การถือศีลอดจึงเป็นการฝึกอบรมให้มุสลิมมีความยำเกรงอัลลอฮฺตะอาลา ทั้งในที่ลับและที่เปิดเผยมากยิ่งกว่าการทำอิบาดะฮฺชนิดอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ถือศีลอดรู้สึกหิวหรือกระหายน้ำ ทั้งๆที่เขาสามารถสามารถที่จะตอบรับความต้องการของเขาได้ด้วยการปฏิบัติในสถานที่ที่ห่างไกลจากสายตาของมนุษย์ แต่เขาไม่กระทำเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะเขามีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺตะอาลา อันนี้นับได้ว่าได้ก่อให้เกิดวิญญาณแห่งการเป็นมุสลิมมุอฺมินอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะเขาตระหนักดีว่า พระองค์ทรงเห็นการกระทำของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เห็นพระองค์ก็ตาม อีกทั้งเขายังมีความหวังในผลแห่งการตอบแทนจากพระองค์อีกด้วย ดังนั้นมุสลิมมุอฺมินที่ประสงค์จะได้รับการตอบแทนจากการถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลาด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว เขาก็จะได้รับการตอบแทนตามความตั้งใจของเขา เพราะพระองค์ได้ทรงแจ้งข่าวดีสำหรับเขาไว้ในฮะดีสกุดซีย์ ดังต่อไปนี้

( كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ إلا الصَّوْمَ فَإِنَّهُ لِيْ وَ أَنَا أَجْزِيْ بِهِ ، يَتْرُكُ طَعَامُهُ  وَشَرَابَهُ مِنْ أَجْلِيْ ) رواه البخَاري ومسلم

ความว่า "การงานทุกชนิดของมนุษย์นั้นย่อมได้แก่เขา เว้นแต่การถือศีลอด แท้จริงมันเป็นของข้า (อัลลอฮฺ) และข้าจะเป็นผู้ตอบแทนด้วยมันแก่เขา ทั้งนี้เพราะเขาอดอาหารและเครื่องดื่มของเขาเพื่อข้า"   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์ และมุสลิม

ดังนั้นการทำอิบาดะฮฺทุกชนิดเราจะต้องตั้งเจตนารมณ์เพื่อหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺตะอาลาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เช่น การปฏิบัติละหมาด เราต้องมีความเชื่อมั่นศรัทธาว่าเป็นคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺตะอาลาเราต้องปฏิบัติตามด้วยความบริสุทธิ์ใจหวังในความโปรดปรานของพระองค์ และอย่าได้นำเอาทัศนะหรือความคิดเห็นที่ว่าการละหมาดเป็นการออกกำลังกายเข้ามาร่วมเป็นผลพลอยได้ เพราะจะทำให้ผลบุญหรือการตอบแทนต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย เช่นเดียวกัน การถือศีลอดถ้าจะนำเอาความคิดเห็นที่ว่า การถือศีลอดเป็นการปฏิบัติเพื่อทำให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือนายแพทย์สั่งให้กระทำ เพราะกระเพาะอาหารจะได้รับการพักผ่อนจากทำงานชั่วคราวให้คลายเหนื่อย หลังจากได้ตรากตรำทำงานมาเป็นเวลา 11 เดือน หรือคำแนะนำอื่นจากนี้ แน่นอนผลบุญหรือการตอบแทนก็จะหมดสิ้นไป และอาจจะได้รับโทษในฐานที่เอาผลประโยชน์อื่นเข้ามาร่วมเป็นภาคีอับอัลลอฮฺตะอาลา อีกด้วย ซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟฺ อายะฮฺที่ 110 ว่า

فَمَن كَانَ يَرْجُو لِقَاء رَبِّهِ فَلْيَعْمَلْ عَمَلاً صَالِحاً وَلَا يُشْرِكْ بِعِبَادَةِ رَبِّهِ أَحَداً ﴿١١٠﴾

ความว่า "ดังนั้นผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ก็จงปฏิบัติการงานที่ดี และอย่าตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเลย" (18/110)

และมีฮะดีสจากท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

( إِنَّ اللهَ لا يَقْبَلُ مِنَ العَمَلِ إِلا مَاكَانَ لَهُ خَالِصَاً وَابْتُغِيَ بِهِ وَ جَهُهُ )

رواه النسائي وسنده صحيح

ความว่า "แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการงาน เว้นแต่การงานนั้นมีความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์และมุ่งหวังเพื่อพระพักตร์ของพระองค์เท่านั้น"   บันทึกโดย : อันนะซาอีย์

 


วันที่ลงบทความ : 17 ก.ย. 49
ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม , อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ, หน้า 119