อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก* 1

Submitted by dp6admin on Fri, 25/01/2013 - 01:02

เชคริฎอ อะหมัด  สมะดี

หัวข้อในวันนี้ …เป็นการบรรยายที่สอดคล้องกับความสุขสบาย ความโล่งอกโล่งใจของคนที่ออกจากเมือง ออกจากวิกฤติต่างๆที่เราถูกกักขังไว้ในวิกฤตนั้นๆ อันทำให้ชีวิตของพวกเราเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด

 ความกังวล ความเดือดร้อนต่ออนาคตที่เรามองไม่เห็น และทั้งหมดของปัญหาดังกล่าวนั้นจะเกิดกับคนที่ยึดติดกับดุนยาเกินไป หัวข้อในวันนี้เป็นอายะฮฺแรกที่อยู่ในซูเราะฮฺอัลอินชิรอหฺ ซึ่งเป็นซูเราะฮฺที่ใช้ในการท่องจำและใช้ในละหมาด เป็นซูเราะฮฺที่สั้นแต่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับมวลผู้ศรัทธาทั้งหลายที่ต้องการความโล่งอกโล่งใจ ต้องการความสุขสบายทางจิตใจ ซึ่งในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่หายากในสังคมมนุษย์ สังคมที่แม้กระทั่งชาวไร่ชาวนาก็ถูกดึงไปขังในวิกฤติการเงิน การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ด้วยการให้เกษตรกรต้องติดภาระหนี้สินมากมาย ทำให้ชีวิตชาวชนบทก็ไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตชาวเมือง เมื่อดูแล้วชีวิตชาวชนบทและชาวเมืองขณะนี้ก็มีปัจจัยเหมือนกันคือ ความห่างไกลจากศีลธรรม
 
 
“อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก” อายะฮฺนี้ได้กล่าวถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งได้เกิดขึ้นกับตัวของท่านเอง หลังจากที่ท่านได้รับภารกิจในการเทศนาอิสลาม โดยท่านต้องรับผิดชอบสานต่อซึ่งสัจธรรมที่บรรดานบีและเราะซูลได้เผยแพร่มาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ภาระของนบีท่านสุดท้ายที่รู้ว่าไม่มีนบีอีกแล้วหลังจากท่าน ท่านนบี   ตระหนักได้ถึงภารกิจอันหนักอึ้งนี้ ทำให้ท่านเคร่งเครียดกับหน้าที่ของท่านที่มีต่อประชาชาติ ต่อมนุษยชาติทั้งหลาย  ท่านนบีได้พบเห็นอุปสรรคหรือสิ่งที่ขัดขวางการทำงานมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดกำลังใจ หรือการส่งสัญญาณด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมที่ทำให้ท่านหมดกำลังใจ เช่น เมื่อครั้งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับวะฮยฺในช่วงแรก ท่านถูกสั่งใช้ให้ทำหน้าที่เผยแพร่อิสลาม แล้วอัลกุรอานก็หายไปพักหนึ่ง  ท่านญิบรีลก็หายไปพักหนึ่ง พวกกุเรชก็ฉวยโอกาสนั้นเยอะเย้ยท่านนบี ด้วยคำพูดที่ทำให้ท่านนบีหมดกำลังใจว่า “สาเหตุที่อัลกุรอานถูกให้ว่างเว้นไปพักหนึ่งนั้นเนื่องจากอัลลอฮได้ทิ้งท่านไป” “แท้จริงพระเจ้าของมุฮัมมัดนั้นได้ทิ้งมุฮัมมัดแล้ว”  
 
คนเราจะรู้สึกอย่างไรหากคนใกล้ตัวที่สุด คนที่เราพึ่งพา คนที่เราให้ความสำคัญในชีวิต เขาปฏิบัติเช่นนี้กับเรา? ถ้าเราถูกภรรยาทิ้ง ถูกสามีทิ้ง ถูกลูกทิ้ง ถูกพ่อแม่ทิ้ง ถูกญาติพี่น้องทิ้ง ถูกเพื่อนฝูงทิ้ง หรือถูกคนใกล้ชิดทิ้ง เราจะรู้สึกอย่างไร? แน่นอนว่าเราต้องรู้สึกท้อ นี่เป็นความรู้สึกปกติธรรมชาติ และท่านนบีเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดความรู้สึกธรรมชาติกับคนที่มาเย้ยเหล่านั้น ท่านรู้สึกว่ากำลังใจที่สำคัญยิ่งต่อการทำหน้าที่เผยแพร่อิสลามนั้นได้จากท่านไปแล้ว นั่นคือวะฮยฺหรือการห่างหายไปของญิบรีล  ท่านนบีจึงรู้สึกเคร่งเครียด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงได้ประทานซูเราะฮฺอัฎฎุฮาลงมา า 
 
وَالضُّحَىٰ ﴿١﴾ وَاللَّيْلِ إِذَا سَجَىٰ ﴿٢﴾ مَا وَدَّعَكَ رَبُّكَ وَمَا قَلَىٰ ﴿٣﴾
ความหมาย “ขอสาบานด้วยเวลาสาย และด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันมืดและสงัดเงียบ พระเจ้าของเจ้ามิได้ทอดทิ้งเจ้าและมิได้โกรธเคืองเจ้า” (แปลโดยสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ)
 
อัลลอฮฺได้ทรงสาบานด้วย ช่วงเวลาฎุฮา(หลังศุบฮิ) เสมือนเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นช่วงเวลากลางวันด้วยเวลาเช้าตรู่ (ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น/ช่วงเวลาฟะญัร) คือการเริ่มต้นเทศนาและเผยแพร่อิสลามนั่นคือเวลาศุบฮิ และถัดไปจากเวลานั้นคือความสว่างที่มันเกิดในช่วงฏุฮา อัลลอฮฺสาบานด้วยเวลาอัฎฎุฮาที่มันสว่างมากขึ้น เหมือนเป็นสัญญาณให้แก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าอย่าหมดกำลังใจ นี่คือเวลาแห่งความสว่างแล้ว 
 
 وَاللَّيْلِ إِذَا سَجَىٰ   "และสาบานด้วยช่วงเวลากลางคืนที่ปกปิดทุกอย่าง" มิให้สายตาของมนุษย์สามารถมองเห็นได้ อันนี้เป็นสัญญานบ่งถึงภารกิจที่ท่านนบีกำลังประสบอยู่ นั่นก็คือความมืดของญาฮิลียะฮ ที่กำลังปกปิดทุกอย่าง ท่านนบีถูกส่งมาเพื่อประกาศสาส์นของพระเจ้า พวกกุเรชก็มาปกปิดสาส์นนี้ด้วยการทำให้ท่านนบีท้อใจว่า อัลลอฮฺได้ทรงทอดทิ้งท่านแล้ว ดังกล่าวเป็นความพยายามของญาฮิลียะฮทุกยุคทุกสมัยที่จะทำให้ทุกคนที่มีศีลธรรมหมดกำลังใจ อายะฮฺถัดไปอัลลอฮได้ทรงยืนยันว่าอัลลอฮจะไม่ทิ้งท่านอย่างแน่นอน
 
مَا وَدَّعَكَ رَبُّكَ وَمَا قَلَىٰ ﴿٣﴾ وَلَلْآخِرَةُ خَيْرٌ لَّكَ مِنَ الْأُولَىٰ ﴿٤﴾
ความหมาย "พระเจ้าของเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งเจ้า และมิได้ทรงโกรธเคืองเจ้า และแน่นอนเบื้องปลายเป็นการดียิ่งแก่เจ้ากว่าเบื้องต้น"
 
 
“อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก” เป็นซูเราะฮฺที่ต่อเนื่องจากซูเราะฮฺอัฎฎุฮาข้างต้น ซึ่งอัลลอฮฺประทานมาเพื่อบำรุงหรือบูรณะจิตใจของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หลังจากความพยายามของพวกกุเรชที่จะทำให้ท่านนบีหมดกำลังใจ อันเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงมากสำหรับคนทำงานศาสนา เพราะแทนที่จะเอากำลังใจมาขับเคลื่อนการทำงาน กลับต้องมาเสียความรู้สึกกับสิ่งที่มาขัดขวาง แล้วทำให้พลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหายไป ดังนั้นคนทำงานศาสนา หูอย่าเอาไปใช้บ่อยกับสิ่งที่ขัดขวาง สายตาก็อย่ามองให้มากนักกับสิ่งที่มันขัดขวาง หูเอาไว้ฟังสิ่งที่เพิ่มกำลังใจ สายตาเอาไว้มองซึ่งสัญญาณที่อัลลอฮได้สัญญาไว้สำหรับคนที่ได้รับชัยชนะ   เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นแรงขับเคลื่อนการทำงานศาสนาคือพลังจิตใจ
 
เป็นเหมือนกฏทางฟิสิกส์ เช่น ถ้าหากเรามีโอกาสสร้างห้องแล็บที่มีมาตรฐาน เราก็ต้องออกแบบให้ห้องมีพื้นที่ที่กว้างและโล่ง จะออกแบบให้โต๊ะนักวิทยาศาสตร์ไม่อยู่ชิดติดกัน เบียดเสียดกันไม่ได้ หัวใจของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าหัวใจของเราเป็นพื้นที่ที่แคบมีแต่ปัญหาเยอะเสมือนโต๊ะ ตู้ หรือเก้าอี้ ที่อยู่ในที่แคบและเบียดกันมาก แน่นอนห้องแล็บนี้จะทำงานยาก และหัวใจแบบนี้ก็ต้องทำงานยากเช่นกัน เราต้องมีหัวใจที่สอดคล้องกับหัวใจที่อัลลอฮได้สร้างไว้ คือหัวใจที่โล่งกว้างขวาง ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาขัดขวางการทำงานของหัวใจและสมองที่จะต้องใช้ความคิด นำคำสั่งสอนและเหตุการณ์ต่างๆมาวิเคราะห์   อัลลอฮฺได้บอกกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เนื่องจากความเครียดของท่านกับสถานการณ์ของชาวมักกะฮฺที่เกิดจากการขัดขวางของพวกกุเรช ว่า “อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก” -- “เรามิได้ให้หัวใจ(ทรวงอก)ของเจ้าโล่งกว้างกระนั้นหรือ” นี่เป็นความหมายหนึ่ง
 
อีกความหมายหนึ่ง อุละมาอบางท่านได้ให้ความหมายคำว่า “الشحر - อัชชัรหฺ” (ถ้าใช้ภาษาอาหรับสำเนียงไทยมลายูอ่านว่า ชะเราะหฺ) ว่าหมายถึง “อธิบาย” เพราะการอธิบายมันต้องผ่าคำศัพท์ ผ่าประโยค ผ่าเนื้อหาต่างๆ ให้รู้ภายในคำหรือประโยคต่างๆ ว่ามีความหมายอย่างไร จึงเรียกคำว่าอธิบายว่าคือการค้นหา ขุดคุ้ย   “ชัรหฺ” ในรากศัพท์ของภาษาอาหรับแปลว่า “ผ่า” ตรงนี้อุละมาอบางท่านบอกว่าไม่ต้องตีความ  “อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก” จึงหมายถึง “เรามิได้ผ่าหัวใจของท่านหรือ?”  
 

ผู้เรียบเรียง อุมมุอุกกาชะฮฺ

 

อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก* 1