โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด

Submitted by dp6admin on Tue, 24/04/2012 - 22:34
 
يَا بُنَيَّ أَقِمِ الصَّلاةَ وَأْمُرْ بِالْمَعْرُوفِ وَانْهَ عَنِ الْمُنكَرِ  وَاصْبِرْ عَلَى مَا أَصَابَكَ إِنَّ ذَلِكَ مِنْ عَزْمِ الْأُمُورِ
ความว่า “โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และจงใช้กันให้กระทำความดี และจงห้ามปรามกันให้ละเว้นการทำความชั่ว และจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า  แท้จริง นั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่นมั่นคง” [ลุกมาน 31:17]
โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด นี่คือคำสั่งที่สอง ซึ่งสอดคล้องคำสั่งของท่านนบี   ที่บอกในเรื่องรุก่นอิสลามซึ่งมี 5 ประการ ประการที่หนึ่งคือการกล่าว “لاإِلَهَ إِلا الله مُحَمَّدٌ رَسُوْلُ الله” (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัดเป็นร่อซูลของพระองค์) และประการที่สองคือ การละหมาด ซึ่งอยู่รองจากเรื่องเตาฮีดและอะกีดะฮฺ
 
การที่ท่านลุกมานสั่งสอนโดยใช้คำว่า أَقِمْ เหมือนคำสั่งของอัลลอฮฺ   ไม่ได้ใช้คำว่า صَلُّواْ หรือ “จงละหมาด” แต่บอกว่า أَقِيْمُوا الصَّلاة คือ "จงดำรงการละหมาด" ซึ่งหมายความว่า ให้ปฏิบัติทุกสิ่งที่เกี่ยวกับการละหมาดอย่างสมบูรณ์แบบ ปฏิบัติละหมาดอย่างดีที่สุด 
 
ท่านนบี   ให้สอนเรื่องการละหมาดแก่ลูก สำหรับเด็กที่อายุ 7 ขวบ พ่อแม่มีหน้าที่ต้องสั่งอย่างเด็ดขาด  แต่ยังไม่ตี เมื่ออายุ 10 ขวบแล้วให้เริ่มตีถ้าไม่เชื่อฟัง ท่านนบี   อนุญาต เพราะเรื่องละหมาดเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์กับอัลลอฮฺ   ที่สำคัญที่สุด ไม่อนุญาตให้ครอบครัวที่มีอีหม่านปล่อยให้บรรยากาศของบ้านปราศจากการละหมาด ถ้าบ้านอยู่ห่างจากมัสญิดหรือไปมัสญิดลำบากมากก็ต้องสร้างบรรยากาศการละหมาดที่บ้าน ซึ่งหน้าที่ตรงนี้อยู่ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กจะมีส่วนเชื่อมกับบทบาทของพ่อแม่ เช่น หัดให้ลูกอะซาน บรรยากาศในบ้านต้องให้ความรู้สึกคึกคักเมื่อถึงเวลาละหมาด ทุกคนต่างอาบน้ำละหมาด เตรียมตัวละหมาด ทุกบ้านที่เป็นมุอฺมินต้องมีบรรยากาศเช่นนี้
 
ท่านลุกมานไม่ได้สอนบุตรของท่านให้ละหมาดและรักษาการละหมาดของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังสอนให้มีบทบาทในการเรียกร้องเชิญชวนสู่ความถูกต้อง การละหมาดนั้นเป็นคุณสมบัติส่วนตัว ส่วนคุณสมบัติต่อสังคมที่เรียกว่า “นักสังคม”  นั้นมักถูกมองข้าม ท่านลุกมานสอนลูกว่า จงมีบทบาทกับสังคมและเมื่อถูกผู้คนในสังคมรังแกก็จงอดทน 
 
สำหรับลูกหลานของเรา สิ่งที่ต้องการคือคำตักเตือนของท่านลุกมานที่สอนให้ลูกละหมาด และมีบทบาทปราบปรามความชั่วในสังคม เพราะเมื่อเขาอยู่ในฐานะพี่ก็สามารถตักเตือนน้องได้ แต่ถ้าเราสอนลูกให้เป็นคนดีอย่างเดียวโดยไม่ยุ่งกับคนอื่น เมื่อมีน้องก็สอนไม่เป็น พ่อแม่ต้องสอนลูกให้เป็นคนดีและช่วยให้คนอื่นดีด้วย การเป็นคน “ซอลิหฺ” ไม่เพียงพอ เพราะ “ซอลิหฺ” หมายถึง “ดี” อย่างเดียว แต่เราต้องสอนให้ลูกเป็น “มุศลิหฺ” ซึ่งหมายถึง “ดีและทำให้คนอื่นดีด้วย”