ความน่าเชื่อถือของข่าวสารการดูจันทร์เสี้ยว

Submitted by dp6admin on Fri, 03/04/2009 - 00:16

ความน่าเชื่อถือของข่าวสารการดูจันทร์เสี้ยว(หิล้าล)จากต่างประเทศ

ความน่าเชื่อถือของข่าวสารที่มาจากต่างประเทศโดยทางอินเตอร์เน็ตก็ดี โทรทัศน์ก็ดี โทรศัพท์ก็ดี หรือสื่ออื่นๆก็ดี ขึ้นอยู่กับ 2 ประเด็นสำคัญ คือ

1) แหล่งข่าวเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่
2) ผู้แจ้งข่าวนั้นให้แก่สังคม น่าเชื่อถือหรือไม่

ส่วนกระบวนการตรวจสอบการเห็นเดือนก็ขึ้นอยู่กับผู้เห็นและองค์กรที่รับรองการ เห็นเดือน อันเป็นประเด็นที่จะพูดต่อไป แต่สำหรับการรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งข่าวที่เราอ้างอิงถึงในกิจกรรมอื่นๆ เช่น ข่าวสารเกี่ยวกับพี่น้องมุสลิมที่ประสบความทุกข์หรือข่าวสงคราม หรืออื่นๆ ก็จำเป็นต้องมีบรรทัดฐานเดียวกันในการรับข่าวจากแหล่งข่าวนั้นโดยไม่เลือกปฏิบัติ เช่น รับข่าวเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศอิรักจากแหล่งข่าวหนึ่ง แต่เมื่อได้รับข้อมูลการเห็นหิล้าลจากแหล่งข่าวเดียวกัน กลับถือว่าเป็นแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ย่อมจะสร้างความสงสัยแก่คนทั่วไปอย่างแน่นอน ทั้งนี้ข่าวที่น่าเชื่อถือนั้นถ้าหากว่าเป็นกระแสมาจากแหล่งข่าวหลายแหล่ง ก็เป็นข้อมูลที่บรรดาอุละมาอฺเรียกว่า มุสตะฟีฎ หรือ มุตะวาติร (หมายถึง เป็นกระแสมากมายจึงไม่มีโอกาสผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน)

ข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างๆ นั้น ถ้าหากเราสามารถตรวจสอบเองได้ก็เป็นการดี แต่การตรวจสอบเองนั้นคงไม่เพิ่มน่าความเชื่อถือนัก ถ้าหากข้อมูลนั้นเป็นข่าวสารที่เผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว และไม่มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงภายหลัง เช่น ข่าวการเห็นหิล้าลเชาวาล(อีดเล็ก)ในปีนี้ (ฮ.ศ.1424 / พ.ศ.2546) ณ ประเทศอิรัก ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เห็น สถานที่ที่เห็น และองค์กรที่รับรองการเห็นหิล้าลนั้น ประกาศผ่านแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ islammemory (เจ้าของเป็นมุสลิมในประเทศแคนาดา) , islamtoday (เจ้าของเป็นอาลิมท่านหนึ่งที่ซาอุดิอาระเบีย) , islamicnews (เจ้าของเป็นมุสลิมในประเทศอียิปต์), เว็บไซต์และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของอัลญะซีเราะห์ เป็นต้น ในเมื่อมีข้อมูลข่าวสารประกาศทางแหล่งข่าวเช่นนี้แล้ว ถ้าหากมีผู้หนึ่งผู้ใดปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบไม่ได้ หรือเพื่อนคนหนึ่งที่อิรักแจ้งมาว่าไม่ได้รับทราบข่าวการเห็นเดือน ก็จำเป็นต้องถือว่า แหล่งข่าวที่มีผลงานมากมายในสังคมมุสลิมทั่วโลกเหล่านี้ไม่มีคุณค่าหรือเป็น สาระที่ไม่น่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น เราต้องยึดมาตรฐานเดียวกันในการรับข่าวสารจากแหล่งต่างๆ ส่วนการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการเห็นเดือน หากว่าเป็นข้อมูลที่มาจากพี่น้องมุสลิมทั่วโลก หรือจากองค์กรมุสลิมที่ประกาศการเห็นเดือน ไม่ว่าจะมาจากประเทศมุสลิมหรือไม่ก็ตาม เมื่อเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้วว่ามาจากผู้ประกาศตนว่าเป็นมุสลิม จริงๆ ก็จำเป็นต้องรับ ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้สอนไว้ว่า

﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوْا إِنْ جَاءَكُمْ فَاسِقٌ بِنَبَأٍ فَتَبَيَّنُوْا ﴾ سورة الحجرات ٦
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากคนชั่วนำข่าวใดๆมาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด”

ทุกคนสามารถเข้าใจได้ว่า ถ้าหากผู้แจ้งข่าวไม่เป็นคนชั่วก็ไม่จำเป็นต้องสอบสวน ในเมื่อเป็นมุสลิมที่เราไม่ทราบประวัติหรือสภาพอีมานของเขา เราก็สามารถรับข้อมูลจากเขาได้โดยไม่จำเป็นต้องสืบประวัติหรือพฤติกรรมของ เขาอย่างละเอียด เพราะไม่มีใครสามารถกระทำได้ แม้กระทั่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ยังรับข่าวจากชาวชนบท (أَعْرَابِي คืออาหรับเร่ร่อน) ที่ไม่ใช่ชาวเมืองมะดีนะฮฺ ซึ่งท่านนบีรับฟังข้อมูลที่อาหรับคนนั้นได้แจ้งว่าเห็นหิล้าล โดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติของเขาและไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลการเห็นเดือนในเชิง ดาราศาสตร์ ว่าเป็นจันทร์คว่ำหรือจันทร์หงาย หรือเห็นในตำแหน่งกี่องศา หรืออื่นๆ อันเป็นภาคปฏิบัติที่จะบ่งบอกถึงความง่ายของหลักการศาสนาในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่คนส่วนมากไม่เข้าใจ เพราะศาสนบัญญัติของอิสลามนั้น มีแนวทางที่ง่ายสำหรับบรรดาผู้ปฏิบัติ สอดคล้องกับคำพูดที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

  إِنَّ هَذَا الدِّيْنَ يُسْرٌ وَلَنْ يُشَادَّ الدِّيْنَ أَحَدٌ إِلا غَلَبَهُ
ความว่า “แท้จริงศาสนานั้นเป็นเรื่องง่ายและไม่มีใครที่จะดื้อดึงกับศาสนา(เคร่งครัดจนเลยเถิด)เว้นแต่ศาสนาต้องชนะเขา” (บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม)

อนึ่ง พี่น้องบางท่านอาจมีข้อสงสัยในกระบวนการตรวจสอบขององค์กรมุสลิมต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่มักจะได้รับความสนใจเมื่อมีความไม่พอใจต่อข่าวสารที่มา จากต่างประเทศ ทั้งๆที่เราไม่เคยคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้กับข้อมูลการดูเดือนภายในประเทศไทย ของเรา และสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งมีอำนาจหน้าที่ประกาศเดือนใหม่ ก็ไม่เคยชี้แจงถึงกระบวนการตรวจสอบการเห็นเดือน(หิล้าล) พี่น้องสามารถสอบถามนักดาราศาสตร์ทุกท่านที่เคยมีข้อโต้แย้งกับสำนักจุฬา ราชมนตรีในเรื่องการเห็นเดือนได้ แม้ กระทั่งในวันจันทร์ที่ 26 พ.ย. 2546 นี้ ที่สำนักจุฬาราชมนตรีได้ประกาศเห็นเดือนนั้น แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ว่า ใครเห็น? เห็นที่ไหน? เห็นอย่างไร? ซึ่งเป็นข้อสอบสวนที่มักจะถูกอ้างถึงในข่าวการเห็นเดือนจากต่างประเทศ แต่กลับไม่มีใครพูดถึงเมื่อมีการเห็นเดือนภายในประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบความน่าเชื่อถือระหว่างองค์กรมุสลิมสูงสุดในประเทศไทยคือ สำนักจุฬาราชมนตรี กับองค์กรมุสลิมในประเทศอาหรับหรือมุสลิมอื่นๆ จะปรากฏว่า องค์มุสลิมต่างประเทศมีความน่าเชื่อถือมากกว่าอย่างแน่นอน แต่เหตุใดจึงมีข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรมุสลิมต่างประเทศเท่า นั้น ว่าเขามีกระบวนการตรวจสอบหรือไม่ ? รู้เรื่องดาราศาสตร์หรือไม่ ? เหตุใดเราจึงเข้าใจว่าคนอื่นโง่เขลา เราเท่านั้นที่รู้เรื่องเกี่ยวกับการดูเดือน ?

ในการดูหิล้าลเดือนรอมฎอนปีนี้ (ฮ.ศ.1424/พ.ศ.2546) เมื่อประเทศอียิปต์ได้ประกาศเห็นเดือน ในขณะที่หลายประเทศไม่เห็น เช่น จอร์แดน ปาเลสไตน์ ซูดาน แต่เมื่อมีการเห็นเดือนในประเทศอียิปต์และประกาศเป็นทางการแล้ว ประเทศเหล่านี้จึงประกาศเข้าเดือนรอมฎอนเช่นเดียวกับประเทศอียิปต์ เป็นสิ่งที่น่าประหลาดมากทีเดียวที่จอร์แดน ซูดาน และอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศที่เราส่งลูกหลานของเราไปศึกษาเรื่องศาสนาถึงระดับปริญญาตรี โทหรือเอก โดยผู้รู้ส่วนมากที่มีบทบาทในสังคมมุสลิมไทยปัจจุบันนี้ก็สำเร็จการศึกษาจาก ประเทศดังกล่าว แต่เมื่อประเทศเหล่านี้ประกาศเห็นเดือนกลับอ้างว่าองค์กรมุสลิมของเขาไม่น่า เชื่อถือหรือไม่มีกระบวนการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ซึ่งข้ออ้างต่างๆนานาก็มีมากมาย แต่สำหรับผู้มีความบริสุทธิ์ใจต่อปัญหาต่างๆ ย่อมจะมีจุดยืนที่หนักแน่น ไม่เลือกปฏิบัติ และจะไม่ยึดมาตรฐานแบบดับเบิ้ลสแตนดาร์ด

 


ที่มา : หนังสือ "หลักการศาสนาในการเข้าเดือนใหม่(จันทรคติ)", เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 14 เชาวาล 1424 (7 ธันวาคม 2546)

 

 

ความน่าเชื่อถือของข่าวสารการดูจันทร์เสี้ยว