1. การดูเดือน(จันทร์เสี้ยวเดือนใหม่) เป็นหลักเกณฑ์ที่ศาสนาอัลอิสลามได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนสำหรับการเข้าเดือนใหม่ โดยมีหะดีษจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
إِذَا رَأَيْتُمُوهُ فَصُومُوا وَإِذَا رَأَيْتُمُوهُ فَأَفْطِرُواْ (رواه البخاري ومسلم)
ความว่า “หากพวกท่านเห็นจันทร์เสี้ยว(เดือนใหม่)จงถือศีลอด และหากพวกท่านเห็นมัน(เดือนใหม่)ก็จงละศีลอด”
การเห็นเดือนนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิได้กำหนดว่าต้องเห็นด้วยสายตาหรือใช้กล้องขยาย แต่จำเป็นต้องเห็นด้วยสายตาเป็นหลัก
2. ในบทหะดีษ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิได้ใช้ให้ประชาชาติอิสลามทุกคนต้องเห็นเดือนเสี้ยวจึงจะนับเดือนใหม่ เพราะเป็นไปไม่ได้โดยธรรมชาติ หากท่านนบีใช้ให้ประชาชาติติดตามเดือนใหม่ และเมื่อบุคคลที่น่าเชื่อถือได้เห็นจันทร์เสี้ยวเดือนใหม่แล้ว ผู้ที่รับทราบข่าวการเห็นเดือนนั้นก็จำเป็น(วายิบ)ที่ต้องถือศีลอด ดังอายะฮฺที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า
﴿ فَمَنْ شَهِدَ مِنْكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ ﴾ سورة البقرة ١٨٥
มีความหมายว่า “ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้วก็จงถือศีลอด”
และ ในภาคปฏิบัติท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่ได้เห็นเดือนเอง แต่มีบุคคลอื่นที่เห็นเดือนและแจ้งแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งท่านก็ได้ประกาศการเห็นนั้นให้ประชาชนทั่วไปทราบ
จากศาสนบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดูเดือน จะเห็นว่ามี 2 ประการ ที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น
1) การติดตามดูเดือนใหม่
2) การแจ้งข่าวการเห็นเดือนอย่างน่าเชื่อถือ
นั่น คือหน้าที่ของสังคมมุสลิมโดยทั่วไปที่ต้องปฏิบัติ จึงจะถือว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและร่อซูล ถ้าหากว่าไม่มีผู้ใดในประชาชาติอิสลามติดตามดูเดือนเลย ก็จะถือว่าประชาชาติอิสลามทั้งหมดมีข้อบกพร่องในหน้าที่นี้ แต่ถ้าหากว่ามีการเห็นเดือนอย่างน่าเชื่อถือ แต่กลับไม่มีการแจ้งข่าวหรือแจ้งข่าวโดยสร้างความสงสัยหรืออุปสรรค เพื่อไม่ให้ประชาชนปฏิบัติตามศาสนบัญญัติดังกล่าว ก็เป็นข้อบกพร่องสำหรับสังคมโดยทั่วไป หรืออาจจะเป็นความผิดอย่างมหันต์ เพราะเป็นการขัดขวางมิให้มุสลิมีนปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบถ้วนและถูกต้อง ตามบทบัญญัติที่มีในกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
3. หากไม่มีการเห็นเดือน ก็ต้องนับเดือนเก่าให้ครบ 30 วัน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
فَإِنْ غُمَّ عَلَيْكُمْ فَأَكْمِلُواْ عدة شعبان (رواه البخاري ومسلم)
ความว่า “หากมีสิ่งบดบังมัน (ทำให้พวกเจ้าไม่สามารถเห็นหิล้าลได้) ก็จงนับชะอฺบานให้ครบถ้วน(30 วัน)”
4. ท่านนบีไม่อนุญาตให้ใช้วิธีอื่นในการนับเดือนใหม่ นอกจากแนวทางที่ระบุข้างต้น เช่น วิธีคำนวณโดยวิชาดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามไว้อย่างเด็ดขาดในหะดีษที่ท่านกล่าวว่า
نَحْن أُمَّةٌ أُمِّيَةٌ لا نَكْتُبُ وَلا نَحْسُبُ ..
ในเรื่องนี้ ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ (มัซฮับฮัมบาลี) ท่านอิมามอิบนุลมุนซิร (มัซฮับชาฟิอียฺ) ท่าน อิมามบาญียฺ ท่านอิมามอิบนุรุชดฺ อัลกุรฏุบียฺ (มัซฮับมาลิกียฺ) ท่านอิมามอิบนุฮาญัร ท่านอิมามซุบกียฺ(มัซฮับชาฟิอียฺ) ท่าน อิมามอัยนียฺ อิมามอิบนุอาบิดีน อิมามมุลลาอะลี กอรียฺ (มัซฮับฮานาฟียฺ) ท่านอิมามเชากานียฺ และท่านอิมามซิดดี๊ก หะซัน คอน (ไม่สังกัดมัซฮับ) ได้ระบุว่า เป็นอิจญฺมาอฺ(มติเอกฉันท์)ในบรรดานักปราชญ์แห่งศาสนาอิสลามว่า ไม่อนุญาตให้ใช้การคำนวณของวิชาดาราศาสตร์เป็นบรรทัดฐานในการนับเดือนใหม่ ซึ่งเป็นเอกฉันท์ในบรรดาสาวกของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ไม่มีข้อขัดแย้งกันแม้แต่น้อย
ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะ ฮฺได้กล่าวไว้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าสงสัยเลยว่าในซุนนะฮฺที่ถูกต้องของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และในเอกฉันท์ของบรรดาสาวก(ศ่อฮาบะฮฺ)ของท่าน ยืนยันว่าไม่อนุญาตให้อาศัยการคำนวณทางดาราศาสตร์ โดยมีหะดีษบันทึกในบุคอรียฺและมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า
نَحْنُ أُمَّةٌ أُمِّيَةٌ لا نَكْتُبُ وَلا نَحْسُبُ ..
ความว่า “เราเป็นประชาชาติที่ไม่ใช้การบันทึกหรือการคำนวณในการนับเดือน”
صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ وَأَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ
ความว่า “จงถือศีลอดเมื่อเห็นมัน(หิล้าล) และจงละศีลอดเมื่อเห็นมัน(หิล้าล)”
ดังนั้นผู้ที่อาศัยการคำนวณในเรื่องหิล้าล(จันทร์เสี้ยว) นอกจากเป็นผู้ที่หลงทางจากศาสนบัญญัติและเป็นผู้ประดิษฐ์สิ่งแปลกปลอมใน ศาสนาแล้ว ก็จะถือว่าเป็นผู้ผิดพลาดในเชิงเหตุผลโดยปัญญา และผิดพลาดในด้านดาราศาสตร์ด้วย เพราะผู้รู้ด้านดาราศาสตร์ทราบอย่างดีว่าการเห็นหิล้าลนั้นไม่สามารถใช้การ คำนวณได้(จากหนังสือมัจญฺมูอุลฟะตาวา เล่มที่ 25 หน้า 207) และชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺได้ถือว่า ผู้ที่นำวิชาดาราศาสตร์มาเป็นบรรทัดฐานในการเห็นเดือนใหม่หรือนับเดือนใหม่ เป็นผู้ที่สร้างอุตริกรรมในศาสนาอิสลาม ซึ่งผู้ที่ริเริ่มประดิษฐ์เรื่องนี้คือกลุ่มชีอะฮฺนิกายอิสมาอิลียะฮฺ(เล่ม เดียวกัน หน้า 179) และท่านได้ตำหนิผู้ที่เชื่อการคำนวณของนักดาราศาสตร์ว่าจันทร์เสี้ยวนั้น เห็นได้หรือไม่ได้ จนกระทั่งได้ปฏิเสธการเห็นเดือนโดยพยานที่น่าเชื่อถือ ว่าประหนึ่งผู้ปฏิเสธสัจธรรมหลังจากที่ได้รับทราบแล้ว(เล่มเดียวกัน หน้า 131)
จากเนื้อหาที่ระบุข้างต้น พี่น้องผู้ศรัทธาสามารถจำแนกได้ระหว่างแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บรรดาศ่อฮาบะฮฺทั้งปวง มัซฮับทั้งสี่ที่ประชาชาติอิสลามนับถือ และแม้กระทั่งบรรดานักปราชญ์ตั้งแต่ยุคบรรพชน(สะลัฟ)จนถึงปัจจุบัน กับอีกฝ่ายหนึ่ง คือแนวทางของผู้สร้างอุตริกรรมในศาสนบัญญัติ โดยนำดาราศาสตร์มาเป็นบรรทัดฐานในการดูเดือนหรือนับเดือน ทั้งๆที่เป็นแนวทางที่ถูกปฏิเสธอย่างเด็ดขาดในหลักการของศาสนาอิสลาม
อนึ่ง ในภาคปฏิบัติของประชาชาติอัลอิสลามตั้งแต่อดีตนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิชาดาราศาสตร์หรือข้อมูลจากดาราศาสตร์เลย ยกเว้นช่วงที่กลุ่มชีอะฮฺปกครองบางท้องถิ่น เช่นในศตวรรษที่ 4 (ฮ.ศ.) ณ ประเทศอียิปต์ อาณาจักรอัลฟาฏิมียะฮฺซึ่งยึดในลัทธิชีอะฮฺบาฏินียะฮฺ ได้ใช้การคำนวณในการนับเดือน แต่บรรดานักปราชญ์ในยุคนั้นได้ปฏิเสธวิธีนี้ด้วยประการทั้งปวง และในปัจจุบันก็ไม่มีประเทศใดที่ให้ความสำคัญกับวิชาดาราศาสตร์ ยกเว้นอิหร่านที่ใช้ลัทธิชีอะฮฺในการปกครอง และประเทศที่เชื่อในหลักวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนบัญญัติอย่างประเทศลิเบีย ที่เอียงไปทางด้านสังคมนิยมมากกว่าศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีกลุ่มชาวซุนนะฮฺในทั้งสองประเทศที่ไม่ยอมรับหลักการดัง กล่าว และยังยืนหยัดหลักการศาสนาอิสลามในเรื่องนี้
ในสังคมของเราอาจจะมี ผู้อ้างว่าไม่ใช้ดาราศาสตร์ในการนับเดือนหรือเห็นเดือน แต่จะสังเกตว่า เขามักจะอ้างอิงถึงข้อมูลแห่งวิชาดาราศาสตร์ในการตรวจสอบการเห็นเดือน เช่น การกล่าวว่า เห็นได้อย่างไร มันไม่มีเดือน? เห็นได้อย่างไร ประเทศอื่นยังไม่เห็นเลย? เห็นได้อย่างไร มันเดือนเก่าไม่ใช่เดือนใหม่? มันหงายหรือคว่ำ? เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมิใช่อื่นใดนอกจากข้อมูลแห่งวิชาดาราศาสตร์ ประหนึ่งว่าเขาไม่สามารถบอกกับชาวบ้านว่าต้องใช้วิชาดาราศาสตร์เพราะรู้ว่า ผิดหลักการ จึงนำเอาข้อมูลทางดาราศาสตร์มาสร้างข้อสงสัย เพื่อปฏิเสธการเห็นเดือนที่ปรากฏแล้วอย่างน่าเชื่อถือ
สิ่งที่ น่าวิตกกังวลก็คือ ในอดีตนั้นกลุ่มซุนนะฮฺบ้านเราไม่เคยอ้างอิงข้อมูลทางดาราศาสตร์โดยสิ้นเชิง ทั้งยังประณามแนวทางดังกล่าวอย่างรุนแรง แต่ปัจจุบันดาราศาสตร์กลับมามีบทบาทในนามอื่น เช่น ความจริง ธรรมชาติ หรือสัจธรรม และนำมาเป็นบรรทัดฐานที่ต้องใช้ในการตรวจสอบการเห็นเดือน จึงขอเตือนพี่น้องมุสลิมีนและมุสลิมาตที่ยึดมั่นในกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺให้ หนักแน่นในแนวทางของอิสลามเกี่ยวกับการดูเดือนและการนับเดือน และจงหลีกห่างจากทุกแนวที่ค้านกับหลักการศาสนา
ที่มา : หนังสือหลักการศาสนาในการเข้าเดือนใหม่, ริฎอ อะหมัด สมะดี, 2546
- Log in to post comments
- 126 views