การร่วมมือและสอดคล้องกันของแต่ละบทบาท

Submitted by dp6admin on Tue, 12/01/2010 - 22:31

ไม่เป็นที่สงสัยว่าพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงตั้งมนุษย์เป็นตัวแทนบนโลกนี้โดยใช้หลักการของอัลลอฮฺในการดำเนินชีวิตตามที่พระองค์ทรงประสงค์..และบัญชาให้ห่างไกลจากสิ่งยั่วยวนทั้งหลายและตั้งมั่นอยู่ในความสัจธรรมความถูกต้องจนสิ้นอายุขัยเพื่อได้พบกับพระองค์อัลลอฮ์ในสภาพที่พระองค์ทรงพอพระทัยและได้รับสวรรค์และผลตอบแทนที่ดีตลอดไป..

 แน่นอนว่าการเป็นตัวแทนนี้ย่อมให้ความสำคัญกับข้อแตกต่างของมนุษย์ทั้งทางด้าน ตำแหน่งหน้าที่การงาน ความสามารถ คุณสมบัติ และชนชั้นทางสังคมซึ่งพวกเขามิได้อยู่เหมือนกันในสิ่งเหล่านี้...โดยในหมู่พวกเขามีที่เป็นนบี เป็นวะลี(บ่าวที่เป็นที่รักของอัลลอฮฺ-ผู้แปล) มะห์ดีที่ได้รับสารจากอัลลอฮฺ ผู้มีความรู้(อาเหล่ม) ผู้ศึกษาหาความรู้ ผู้ต่อสู่ในหนทางอัลลอฮฺ(มุญาฮิด) ผู้เสียสละชีวิตและทรัพย์สิน....วิถีชีวิตของมนุษย์นั้นแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นได้จากอายาตกุรอ่าน จากฮะดีสของท่านนบีว่าประตูในการทำความดีนั้นมีมากมาย บทบาทในการทำดีนั้นมีหลากหลาย เปรียบเสมือนมนุษย์นั้นก็คล้ายกับอูฐในร้อยตัวนั้นก็มิใช่ว่าสามารถใช้บรรทุกเดินทางได้ทุกตัว..ในบรรดามนุษย์มีทั้งผู้อธรรม มีทั้งผู้ที่อยู่ในสายกลางๆ(ทำดีบ้างทำชั่วบ้าง) มีทั้งผู้ที่รีบเร่งแข่งขันทำความดี..ซึ่งเป็นไปไม่ได้และไม่เคยปรากฏว่าการทำดีนั้นมีประตูเดียวหรือหนทางเดียวที่ทำได้..ตลอดจนไม่เป็นที่อนุญาตให้เราตัดทิ้งหนทางหรือประตูเหล่านั้นทั้งหมดเนื่องจากเป้าหมายของหลักการศาสนา นั้นมีทั้งที่เป็นสิ่งที่เรียกว่า ปัจจัยที่จำเป็น(الضروريات) มีทั้งสิ่งที่เรียกว่า ความต้องการ(الحاجيات) มีทั้งสิ่งที่เรียกว่า ปัจจัยประกอบ (التحسينات) ซึ่งทั้งหมดรวมกันเป็นชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าในลักษณะบุคคลหรือเป็นกลุ่ม..

ถ้าประตูแห่งความดีนั้นมีอยู่ประตูเดียวแล้วไซร้บรรดาโคมไฟที่เปรียบเสมือนแสงสว่างของศาสนาก็คงถูกดับลงให้เหลือดวงเดียว..และบรรดาโบสถ์คริสต์ยิวรวมทั้ง มัสยิดอันเป็นที่ระลึกถึงอัลลอฮ์นั้นก็คงถูกทำลายไปด้วย..ดังนั้นจากที่ กล่าวมานี้การเปลี่ยนแปลงแก้ไข(ในเรื่องศาสนา )อันเป็นเรื่องที่บรรดาผู้ที่หวงแหนศาสนาได้ให้ความสำคัญนั้นจำเป็นต้อง ดำเนินไปตามหนทางต่างๆดังกล่าวและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของศาสนาเนื่องจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะไปกำหนดว่ามีวิธีเดียวหนทาง อื่นนั้นผิด..มิเช่นนั้นแล้วอามั๊ลอีบาดะฮฺชนิดอื่นๆก็คงจะถูกลืมเป็นแน่แท้..

 การญิฮาดนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเป็นสิ่งที่สูงสุดใน อิสลามแต่มิได้หมายความว่าการญิฮาดนั้นเป็นการแก้ไขที่ถูกต้องเหมาะสมเสมอไป ..ในทางกลับกันนั้นการญิฮาดในบางกรณี(ถึงแม้ว่าผู้ทำญิฮาดมีความตั้งใจมีอิคลาศที่เต็มเปี่ยม)อาจจะได้รับผลที่ตรงข้ามกับจุดประสงค์ในการทำญิฮาด) กล่าวคือผู้ทำการญิฮาดนั้นต้องการให้พระดำรัสของอัลลอฮ์สูงส่งแต่ผลที่ได้รับกลับทำให้พระดำรัสของอัลลอฮฺต้องตกต่ำลง(ขออัลลอฮ์ทรงประทานความห่างไกลจากเรื่องแบบนี้ด้วย)..และผลบุญใดเล่าที่เขาจะได้รับจากการญิฮาดนี้..นอกจากนั้นการญิฮาดอาจทำให้หลักการอิสลามต้องถูกถอนรากถอนโคน ทำความยุ่งยากลำบากให้กับมุสลิมในการประกอบอะมั๊ลอิบาดะฮฺในขณะที่อัลลอฮ์ ได้กล่าวว่า “จงต่อสู้พวกเขาจนกว่าฟิตนะฮฺความวุ่นวายจะหมดสิ้นไป” คือจนกว่าจะไม่มีการปฏิเสธศรัทธาหรือการตั้งภาคีอีกแต่การญิฮาดนี้อาจทำให้เพิ่มการปฏิเสธศรัทธาและการตั้งภาคี

ท่านรอซูลได้กล่าวว่า “ผู้ใดที่ทำการต่อสู้เพื่อให้พระดำรัสของอัลลอฮฺสูงส่งนั่นคือ(การญิฮาด)ในหนทาง อัลลอฮฺแต่การญิฮาดของบางกลุ่ม(ถึงแม้มีการตั้งเจตนารมณ์ให้พระดำรัสของอัล ลอฮฺสูงส่ง)แต่กลับทำให้การปฎิเสธศรัทธาและการต่อต้านหลักการอัลลอฮฺนั้นรุนแรงขึ้น..

 พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงเรียกการประนีประนอมกรณีหุดัยบียะฮฺ(صلح الحديبية) นั้นว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ทั้งๆที่ท่านนบีมุฮัมมัด  มิได้มีการเสียเลือดแม้แต่หยดเดียว จากเหตุการณ์นี้เราสามารถเข้าใจได้ว่าหนทางในการพิชิตที่ไม่ใช่แนวการทำสงครามญิฮาดนั้นมีอย่างมากมายในทรรศนะของอิสลาม ฉะนั้นการประนีประนอม การสงบศึก การเตรียมการ การรอคอยเวลาที่เหมาะสม การวางแผน(ในการต่อสู้)ทั้งหมดล้วนแล้วเป็นหนทางในการช่วยเหลือสนับสนุนศาสนา และเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการญิฮาดที่แท้จริง เช่น ท่านนบีมุฮัมมัด ได้เรียกการถอยทัพที่นำโดยท่านคอลิด บิน วะลีดในสมรภูมิสงครามมุอฺตะฮฺ (مؤتة) ครั้งนั้นว่าเป็นการรุกคือถอยเพื่อรุกซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การต่อสู่นั่นเอง ในขณะที่บรรดามุสลีมีน(ที่ไม่เข้าใจ)ได้เรียกการถอยทัพนั้นว่าเป็นการหนี สงคราม แท้จริงแล้วการถอยเพื่อรุกนั้นคือการญิฮาดที่แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺได้ดำรัส (إلا متحرفاً لقتال أو متحيزاً إلى فئة) ความว่า “ยกเว้นผู้ที่เปลี่ยนที่เพื่อทำการสู้รบหรือผู้ที่ไปรบกับอีกกลุ่มหนึ่ง” (8:16) ดังนั้นการถอยในสงครามไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกประณามถ้าเป็นไปเพื่อการเตรียมตัวเพื่อรุกต่อไป และการเบี่ยงเบนจากสงครามนั้นมิใช่การถอยแต่เพื่อเป็นการตั้งหลักเตรียมตัว ต่อสู้ในอีกสมรภูมิ

ส่วนการเตรียมตัวเพื่อทำการต่อสู้ ทั้งวิธีในการเตรียมตัว ระยะเวลาในการเตรียมตัวเหล่านี้มิได้เป็นข้อแม้สำคัญในการต่อสู้ เพราะต ราบใดที่มุสลิมวางตำแหน่งการญิฮาดต่อหน้าดวงตาเขามีความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำญิฮาด และยึดการญิฮาดเป็นเป้าหมายหลักในชีวิตของเขาและทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะให้มันสำเร็จแล้ว เขาก็ได้เข้าสู่ในหนทางของญิฮาดแล้ว

..นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย ทางด้านเงินทุนสนับสนุน ทางด้านการทหารมิได้เป็นข้อแม้หลักในการที่จะทำการญิฮาดเนื่องจากการญิฮาดนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของการถืออาวุธหรือการเสียสละชีวิตเท่านั้น ผู้ที่ทำการญิฮาดนั้นอาจจะเป็นผู้ที่หาข้อมูลของศัตรูคือเป็นสายลับหรือผู้ทำอาหาร หรือผู้ผลิตอาวุธ หรือผู้ที่เป็นยามเฝ้าอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่นเดียวกันนั้นการต่อสู้ด้วยการเสียสละร่างกายนั้นไม่ได้มีข้อแม้ว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้มาก่อน มิเช่นนั้นแล้วการต่อสู้นั้นก็จะเป็นโมฆะเพราะขาดข้อแม้การเตรียมพร้อมนั้นไป แต่ความจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้นเลย..ความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก..และในความเป็นจริงนั้นเราได้เห็นแล้วว่าการเตรียมพร้อมนั้นมิใช่เรื่องที่สำคัญหรือจำเป็นที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องการเสียสละชีวิตของเขาเพื่ออัลลอฮฺตะอาลา..ดังนั้นบรรดาผู้ที่อ้างว่าการเตรียมพร้อมทางร่างกายและการฝึกอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นข้อแม้หลักในการเป็นผู้ญิฮาดที่แท้จริงนั้น พวกเขามีความเข้าใจที่ผิดทั้งด้านตัวบทหลักฐานทั้งทางด้านความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

..ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้วจะเกิดคำถามว่าแล้วอะไรล่ะเป็นแนวทางหรือ วิธีการในการทำญิฮาดและการเปลี่ยนแปลงสังคม???

คำตอบนั้นมีอยู่ในเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยท่านนบี อันเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดสำหรับเรา กล่าวคือท่านนบีนั้นได้ต่อสู้และเผยแผ่ ได้อพยพและเดินทาง ได้รวบรวมคน ได้รวบรวมฝูงชน ได้ส่งสาส์น ได้ส่งทูต ได้เรียกร้องในสนามต่างๆทั้งสนามรบและสนามดะอฺวะฮฺ ได้ตะโกนเรียกร้องทั้งผู้ที่อยู่ใกล้และไกล ได้แสดงความเข้มแข็งและอ่อนน้อม ได้เผยแพร่ทั้งโดยทางลับและเปิดเผย ได้สร้างและก่อตั้ง ได้ชี้ทางและสั่งสอน ได้เรียนรู้ได้เข้าใจ ท่านจะรีบเร่งเมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องการความรีบเร่ง เมื่อหนทางดูแคบท่านจะผ่อนและหยุดพัก ท่านจะสมานฉันท์และประนีประนอม ท่านได้หาพันธมิตร หาแนวร่วม ทั้งหมดนี้ท่านได้ปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแบบอย่างของท่าน และทั้งหมดนี้เป็นการญิฮาดของท่านเพื่อทำให้พระดำรัสของอัลลอฮฺสูงส่ง..

 ในอัลกุรอ่านอัลลอฮฺได้กล่าวว่า (جاهد الكفار والمنافقين واغلظ عليهم)  ความว่า : “จงต่อสู้กับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและบรรดามุนาฟีกีนและแข็งกร้าวกับพวกเขา” (9: 73) และเรารู้แล้วว่าการญิฮาดกับพวกมุนาฟีกีนนั้นก็คือโดยการใช้ลิ้น(คือประณามและว่ากล่าวตักเตือน)

และอัลลอฮฺยังได้กล่าวอีกว่า (وجاهدهم به جهاداً كبيراً) ความว่า : “และจงต่อสู้(โต้แย้ง)กับพวกเขา(บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา)ด้วยมัน(นั่นคือด้วยอัลกุรอาน)ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่” (25:52)
 
นอกจากนั้น การเฝ้ายามคอยสอดส่องศัตรูนั้น (الرباط) นับเป็นชั้นเชิงของการทำญิฮาดอันสูงสุด และผู้ใดที่ทำหน้าที่ระแวดระวังเสมือนเป็นยามของศาสนา คอยระแวดระวังป้องกันศาสนาจากศัตรูทั้งหลาย คอยสอดส่องแผนการของศัตรูที่จะทำลายสังคมมุสลิมนั้นเขาไม่สมควรถูกเรียกว่า ผู้เป็นมุรอบิฏ (المرابط) ว่า เป็นผู้ญิฮาดดอกหรือ??และมีจำนวนไม่น้อยในศาสนาเราผู้ที่อดหลับอดนอนเพื่อสอดส่องตรวจดูบทความที่บิดเบือนศาสนาที่เขียนโดยพวกเซคิวลาร์ (العلمانيين-secular) (พวกที่มีแนวคิดแบ่งแยกศาสนาออกจากทางโลก) และพวกมุนาฟิกีน และมีดวงตาจำนวนมากมายที่ไม่เคยหลับเพียงเพื่อเฝ้าระวังแผนการของศัตรูที่ พยายามทำลายเยาวชนหนุ่มสาวมุสลิม..คอยเขียนบทความ..ติดตามเรื่องราวของเยาวชนทั่วทุกสถานที่..คอยวางแผนเพื่อเผชิญหน้ากับศัตรูที่กำลังคบคิดแผนการณ์อันชั่วร้าย...ผู้ที่กระทำเหล่าสิ่งเหล่านี้ไม่สมควรดอกหรือที่เราจะเรียก ว่าเป็นมุญาฮิด (لمجاهد)   และมุรอบิฏ (المرابط)

เรามิได้เปลี่ยนแปลงหลักการของศาสนาจากสิ่งที่ได้ถูกบัญญัติเลย..แน่นอนว่าผู้ที่ต่อสู้ทำการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺนั้นคือผู้ที่หลั่งเลือดสละชีพแน่นอน..กระนั้นก็ดีมันมิได้หมายความว่าการญิฮาดนั้นถูกผูกขาดเฉพาะรูปแบบนี้รูปแบบเดียวโดยไม่มีหนทางอื่นในการช่วยเหลือศาสนานอกจากวิธีนี้..การเข้าใจแบบนี้ไม่มีในหลักการอิสลาม..แต่เมื่อใดที่การต่อสู้นั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้วการทำสงครามญิฮาดนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในทันทีเช่นกัน..

แท้จริงแล้วกระบวนการตื่นตัวทางศาสนานั้นเปรียบเสมือน(สิ่งที่อัลลอฮฺจะนำมาเป็น)ข้ออ้างหรือหลักฐานในการสอบสวนมนุษยชาติ ซึ่งหลักการพื้นฐานและส่วนปลีกย่อยของศาสนานั้นได้ถูกแบ่งตามกลุ่มต่างๆของกระบวนการตื่นตัว จึงไม่มีหลักอะกีดะฮฺหรือบทบัญญัติด้านฟิกฮฺใดๆเว้นแต่จะมีผู้ยึดมั่นและสนับสนุน กล่าวคือด้านอะกีดะฮฺความศรัทธาก็มีผู้ทำหน้าที่สอดส่องดูแล ด้านความรู้ด้านอื่นๆก็มีผู้ดูแล ด้านการเผยแผ่่(การดะอฺวะฮฺ)ก็มีผู้สนับสนุน และด้านการต่อสู้สงครามก็มีผู้ที่เปรียบเสมือนเหล่าราชสีห์ที่ได้แสดงให้โลกเห็นถึงความกล้าหาญของพวกเขา กล่าวได้ว่าไม่มีการงานอิบาดะฮฺใดๆเว้นแต่จะมีผู้ที่เป็นแบบอย่างด้านนั้น...มีทั้งผู้ที่ทำอิบาดะฮฺอย่างมากมายในการละหมาดกลางคืน มีทั้งผู้ที่ถือศีลอดอย่างมากมาย มีทั้งผู้ที่ชอบให้ทานศ่อดาเกาะฮฺ มีทั้งคนจนที่สมถะถ่อมตน มีทั้งผู้ที่กล่าวแต่สิ่งดีๆ มีทั้งผู้ที่ปกป้องความจริง

ทั้งหมดนี้ - อัลฮัมดุลิลลาฮฺ- มีอยู่ในประชาชาติของท่านศาสดามุฮัมมัด ..บางคนอาจจะบกพร่องในบางเรื่องแต่มีผู้ที่คอยตักเตือนแก้ไขเขา บางคนอาจจะบกพร่องในเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็มีผู้ที่คอยช่วยเหลือให้สมบูรณ์..ทุกคนต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน..จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเน้นย้ำและรู้สึกถึงการสนับสนุนให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกระบวนการเคลื่อนไหวของเรา.. ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นเว้นแต่เราจะรู้สึกถึงการที่มุสลิมนั้นเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน และนี่เป็นสิ่งที่ศาสนาของเราเรียกร้องมิใช่อื่นใดเลย อัลลอฮฺทรงดำรัสว่า :

  (وأن هذه أمتكم أمة واحدة) ความว่า “และแท้จริงนี่คือประชาชาติของพวกเจ้า ซึ่งเป็นประชาชาติเดียวกัน” (21:92)

 และท่านศาสดามุฮัมมัด ได้กล่าวว่า “ระหว่างผู้ศรัทธากับผู้ศรัทธานั้นเปรียบเสมือนเรือนร่างอันเดียวกัน ต่างให้ความร่วมมือกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน”

 
ตราบใดที่เรายังมีคำว่า ฉัน คำว่า คุณ มีคำว่า เรา มีคำว่า พวกเจ้า เราจะไม่มีวันรู้สึกว่ากระบวนการตื่นตัวของเราเดินอยู่บนหนทางแห่งความสำเร็จ..แต่ความรู้สึกหมดหวังพ่ายแพ้จะเข้ามาแทนที่เพราะเราจะเห็นความรับผิดชอบมีเพิ่มขึ้นๆ ภารกิจมีมากขึ้นๆแต่ศักยภาพความสามารถเขาเรามีจำกัด จำนวนของเรามีจำกัด ปัจจัยต่างๆมีอยู่ไม่มาก แล้วเมื่อใดเล่าที่เราจะสามารถทำงานให้สำเร็จ ในสภาพนี้ถ้าเรามัวแต่กล่าวหาซึ่งกันและกันและส่วนที่เหลือจากประชาชาติก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม

...นอกจากนี้มุญาฮีดีน(ผู้ที่ต่อสู้ในสงคราม)บางคนได้กล่าวหานักเผยแผ่(ดาอียฺ)บางคนว่าการแก้ไขปัญหาสังคมจะล่าช้าเนื่องจากผู้เผยแผ่มีความล่าช้าในการช่วยเหลือมุญาฮีดีน..แต่ในทางกลับกันนักเผยแผ่่ก็กล่าวหากลับไปว่าบรรดมุญาฮีดีนนั่นเองที่เป็นสาเหตุของการล้มเหลวในการแก้ปัญหาเพราะความรุนแรงแปรปรวนของมุญาฮีดีน

..ผู้ที่ต่อสู้ในสงครามบางคนได้กล่าวแก่นักวิชาการว่าการทำงานของพวกคุณนั้นไม่มีประโยชน์ใดๆไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้..แต่นักวิชาการก็กล่าวกลับไปว่าการต่อสู้ของพวกคุณเองนั่นแหละที่นำมาซึ่งความสับสนวุ่นวายในสังคมมุสลิม และพวกคุณไม่มีค่าอะไรเลยถ้าปราศจากความรู้และผู้รู้ทั้งหลาย

...และจากมุมมองนี้เองที่ทำให้ผู้ทำงานเพื่อศาสนาต้องเกิดความแตกแยกกันไม่สามารถรวมกันได้..มันจะเป็นสิ่งที่ประเสริฐมิใช่หรือถ้าเราทุกคนคิดและสำนึกเสมอว่าทุกคนทุกฝ่ายนั้นต่างก็ทำงานเพื่อศาสนา ทุกคนต่างมีบทบาทในศาสนาที่แตกต่างกัน ถ้าในหมู่พวกเรามีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับบางเรื่องที่บางคนกระทำก็เป็นการดีที่เราจะแนะนำตักเตือนซึ่งกันและกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน เมตตาสงสารซึ่งกันและกัน

 ปัญหาและวิกฤตที่ศาสนากำลังประสบอยู่ในทุกระดับของการทำงานในปัจจุบันนี้คือ ความหลงตัวเองและความคลั่งในความคิดของตัวเองโดยอ้างเรื่องบิดอะห์หรือแม้แต่การกล่าวหาว่าเป็นกาฟิรหรือหลงทาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชาติต้องหลงทางเสียเวลาท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว

อันที่จริงแล้วบรรดานักบวชยิวส่วนใหญ่ไม่ได้มีความจริงจังในเรื่องการเผยแพร่ลัทธิไซออนิสต์ แต่เนื่องจากพวกเขาเห็นความหวังว่าสิ่งนี้มีความเป็นไปได้ดังนั้นพวกเขาจึงสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวอย่างจริงจัง..แต่มุสลิมเราเวลาเห็นความบกพร่องเล็กๆน้อยของผู้ที่ทำงานเพื่อศาสนา เรากลับทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต ความจริงแล้วเราควรที่จะยกเว้นและมองข้ามข้อบกพร่องเล็กๆน้อยเหล่านี้ตราบใดที่การทำงานนั้นเป็นประโยชน์ต่ออิสลามโดยรวม แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเราจะละทิ้งการแนะนำแลกเปลี่ยนการตักเตือนซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันเราควรให้อภัยซึ่งกันและกันมิใช่ทอดทิ้งกัน

..นอกจากนี้บางกลุ่มในขบวนการตื่นตัวอิสลามจำเป็นต้องมีการตักเตือนกันอยู่เสมอ เพราะแนวความคิดที่คับแคบที่พวกเขายึดถืออยู่นั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มการเคลื่อนไหวต่างๆยิ่งห่างเหินและเพิ่มความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดช่องว่างที่กว้างใหญ่ระหว่างผู้ที่ทำงานในด้านศาสนาด้วยกัน ซึ่งบางครั้งพวกเขาถือว่าความถูกต้องคือสิ่งที่พวกเขามองว่าถูกต้องเท่านั้น สัจธรรมคือสิ่งที่พวกเขายึดถืออยู่เท่านั้น..ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺแท้จริงนั้นพวกเขาเป็นผู้แอบอ้างมิใช่ผู้ที่สนับสนุนช่วยเหลือศาสนาไม่..พวกเขาได้ถูกชักจูงโดยอารมณ์แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของศาสนาและยัง เข้าใจผิดคิดว่าพวกเขานั้นกำลังทำงานเพื่อศาสนาของอัลลอฮฺแต่ความจริงแล้ว พวกเขากำลังสร้างฟิตนะฮฺความสับสนให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องมุสลิมด้วยกันเอง

ความคิดของพวกเขาสมควรที่จะถูกต่อต้านแก้ไข แนวทางของพวกเขาสมควรที่จะถูกลบล้างเพราะมันเป็นสาเหตุของความแตกแยกและเป็นสาเหตุของความเกลียดชังและรังเกียจระหว่างพี่น้องที่ทำงานเพื่อศาสนา..ในสายตาพวกเขานั้นผู้ที่ขัดแย้งกับแนวคิดพวกเขานั้นคือผู้ทรยศหรือผู้ทำอุตริกรรม(บิดอะห์) พวกเขากล่าวหาว่าผู้ที่ขัดแย้งนั้นมีโรคร้ายแรงอยู่ในจิตใจของเขาหรือแม้แต่กล่าวหาว่าไม่ได้มีอิสลามในใจของเขาเลย ถ้าเราลองมาตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วจะเห็นว่าการทำงานของพวกเขานั้นไม่ได้ผลตอบรับที่ดีแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามแนวความคิดของพวกเขามีแต่จะทำให้ขบวนการตื่นตัวอิสลามเกิดความแตกแยกเกิดรอยร้าวโดยเฉพาะในบรรดาเยาวชนหนุ่มสาว ถ้าหากมีใครคนหนึ่งคนใดเข้าเป็นพวกเขา การประกาศศัตรูกับพี่น้องของเขาผู้นี้เปรียบเสมือนเป็นศาสนาที่ต้องยึดถือ..กล่าวหาว่าผู้นั้นเป็นนักพรรคนิยม ผู้นี้เป็นผู้บิดอะฮฺ(ผู้ทำอุตริกรรม) คนนั้นขี้ขลาด คนนี้ใจเสาะอ่อนแอ คนโน้นเป็นอย่างโน้น คนนี้เป็นอย่างนี้ คนนี้มีอะกีดะฮฺอะฮฺลุซซุนนะฮฺแต่การกระทำเหมือนผู้นอกรีตหรือกลุ่มอัลเคาะวาริจ (الخوارج) คนนี้เป็นซุนหนี่แต่การปฏิบัติเป็นกลุ่มมุรจิอะฮฺ(กลุ่มหนึ่งในประชาชาติอิสลาม) จนทำให้คำพูดของพวกเขานั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกล้อเลียนในสังคม ถูกหัวเราะเยาะเหมือนเรื่องตลกในหน้าอินเตอร์เน็ต......แท้จริงแล้วการงานของอัลลอฮฺมีหลากหลายในหมู่ชน

 กลุ่มชนที่ได้รับชัยชนะนั้น(الطائفة المنصورة) เป็นกลุ่มใหญ่กว้างขวางมิใช่อยู่ในวงแคบของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีทั้งที่ทำหน้าที่ต่อสู้สงคราม คนที่ทำหน้าที่สั่งสอน คนที่กำลังศึกษา คนที่เสียสละทรัพย์สิน มีทั้งคนที่คอยช่วยเหลือดูแลทรัพย์สินของครอบครัว ทายาทบรรดาผู้พลีชีพในศาสนา มีทั้งคนที่ทำหน้าที่คิดและวางแผน คนที่รวบรวมข้อมูล ทุกคนต่างทำหน้าที่หลากหลายมีบทบาทภาระแตกต่างกันไป-อัลลอฮฺพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงรู้จำนวน-และในหมู่ชนนี้มีทั้งบรรดาผู้ที่ถูกระบุโดยท่านศาสดาในฮะดีสว่าพวกเขามีอยู่จริงซึ่งคนทั่วไปอาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร และคนที่เข้าร่วมกับพวกเขา (ในการช่วยเหลือศาสนา) ตามแบบอย่างพวกเขาทั้งในที่ลับและแจ้ง ช่วยเหลือสนับสนุนพวกเขา ขอดุอาอฺให้แก่พวกเขา อยู่เคียงข้างพวกเขาในทุกๆสมรภูมิ อาจรู้จักหรือไม่รู้จักพวกเขา แต่เชื่อว่าพวกเขามีอยู่จริงนั้น แน่นอนว่าคนที่ปฏิบัติเช่นนี้คือผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือเขาผู้นี้ต้องเดินตามทางที่พวกเขาเดิน เอาพวกเขาเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติ ช่วยเหลือศาสนาของอัลลอฮฺเหมือนที่พวกเขาช่วยเหลือ..

...หรือเขาจะเป็นคนอีกจำพวกหนึ่งที่เอาแต่นั่งอยู่กับที่และถอยหลัง..ขี้ขลาด..มีแต่ข้ออ้างต่างๆนาๆ...ยึดอยู่กับโลกดุนยา..เสียดายชีวิตเลือดเนื้อหรือแม้แต่หยาดเหงื่อ..รักความสบาย ไม่มีการเคลื่อนไหว..คนทุกคนจะรู้จักตัวเองดีที่สุด..

(بل الإنسان على نفسه بصيرة ولو ألقى معاذيره
ความว่า “เปล่าเลย มนุษย์นั้นเป็นพยานต่อตัวของเขาเอง และถึงแม้ว่าเขาจะเสนอข้อแก้ตัวของเขาเอง”  (75: 14 – 15)

สรุปจากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้เราควรที่จะยึดมั่นกับอัลวะฮฺย (الوحي) หรือสิ่งที่มาจากอัลลอฮฺ (อัลกุรอ่านและซุนนะห์ท่านนบี ) เชื่อฟังผู้รู้อุละมาอฺที่มีความน่าเชื่อถือ แต่มิใช่เชื่อในความบริสุทธิ์ปราศจากความผิดของพวกเขา และรับสัจธรรมความถูกต้องจากใครก็ตามในหมู่พวกเขา ศึกษาหาความรู้ที่ถูกต้อง เพิ่มพูนการงานที่เป็นประโยชน์ ให้ความช่วยเหลือผู้ศรัทธาไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ต่อต้านบรรดาผู้ปฏิเสธไม่ว่ารูปแบบใด นำความสำเร็จมาสู่อิสลามและบรรดามุสลิมีน ทำจุดมุ่งหมายให้บริสุทธิ์จากสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เสียสละความสะดวกสบายของโลกดุนยาเพื่อประโยชน์ของประชาชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะแนะนำตักเตือนซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องมุสลิม แก้ไขข้อผิดพลาด ชี้แนะแก่ผู้หลงทาง ชี้ทางแก่ผู้สับสน..เป็นผู้ที่มีเมตตาและคิดดีต่อประชาชาติและศาสนา..เป็นความหวังและอนาคตของประชาชาติ โดยเตรียมพร้อมและรอเวลาที่เหมาะสม สถานที่เหมาะสม เพื่อการเสียสละที่เหมาะสม มอบหมาย(ตะวักกัล)การงานต่างๆต่ออัลลอฮฺ ปฎิบัติด้วยจิตใจที่แน่วแน่ บริสุทธิ์ อิคลาส..และแน่นอนด้วยสิ่งเหล่านี้แล้วประชาชาติจะได้รับชัยชนะ แต่ถ้าตรงข้ามกับสิ่งนี้แล้วชัยชนะจะล่าช้า อย่างแน่นอน...

(فستذكرون ما أقول لكم وأفوض أمري إلى الله إن الله بصير بالعباد)

ความว่า “และพวกเจ้าจะระลึกถึงสิ่งที่ข้ากำลังบอกพวกเจ้า และข้าได้มอบหมายการงานของข้าต่ออัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงรู้เห็นเรื่องของบรรดาบ่าว” (40: 44)


หนังสือ เยาวชนมุสลิม...ความหวังของประชาชาติอิสลาม, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี