หะดีษที่ 11-20 การละหมาดซุนนะฮฺ, ละหมาดกลางคืน, ดุฮา, ซิกรุลลอฮฺและดุอาอฺ, หน้าที่ต่อพี่น้องมุสลิม

Submitted by dp6admin on Mon, 01/03/2010 - 22:34

หะดีษที่ 11  الحديث الحادي عشر

مَنْ حَافَظَ عَلَى أَرْبَعِ رَكَعَاتٍ قَبْلَ الظُّّهْرِ، وَأَرْبَعِ َكَعَاتٍ بَعْدَهَا حُرِّمَ عَلَى النَّار.
صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย ผู้ใดรักษาการละหมาด 4 ร็อกอะฮฺก่อนละหมาดศุหฺริ และละหมาด 4 ร็อกอะฮฺหลังศุหฺริ (ผิวหนังของเขา)จะถูกห้ามจากการเผาในนรก

หะดีษที่ 12 الحديث الثاني عشر

رَحِمَ اللهُ امْرَأً صَلَّى قَبْلَ الْعَصْرِ أَرْبَعاً.
صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย “อัลลอฮฺทรงเมตตาผู้ที่ละหมาดก่อนอัศริ 4 ร็อกอะฮฺ”

        นี่ก็เป็นซุนนะฮฺ แต่ไม่ใช่ซุนนะฮฺมุอักดะฮฺ เป็นซุนนะฮฺที่ท่านนบี  ทำบ้างไม่ทำบ้าง ผู้ใดที่ละหมาดซุนนะฮฺก่อนอัศริ 4 ร็อกอะฮฺ (ครั้งละ 2 ร็อกอะฮฺ) อย่างสม่ำเสมอ อัลลอฮฺก็จะทรงเมตตาเขาดังหะดีษข้างต้น

 หะดีษที่ 13 الحديث الثالث عشر

مَنْ قَامَ بِعَشْرِ آيَاتٍ لَمْ يُكْتَبْ مِنَ الْغَافِلِيْن ، وَمَنْ قَامَ بِمِائَةِ آيَةٍ كُتِبَ مِنَ الْقَانِتِيْن ، وَمَنْ قَامَ بِأَلْفِ آيَةٍ كُتِبَ مِنَ الْمُقَنْطِرِيْن .
صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย “ผู้ใดตื่นละหมาดกลางคืนด้วย 10 อายะฮฺ จะไม่ถูกบันทึกว่าเป็นผู้หลงลืม(จากหลักการของอัลลอฮฺ)1] และผู้ใดตื่นละหมาดกลางคืนด้วย 100 อายะฮฺ จะถูกบันทึกว่าเป็นกอนิตีน และผู้ใดละหมาดกลางคืนด้วย 1,000 อายะฮฺ[2] จะถูกบันทึกว่าเป็นมุกอนฏิรีน”

[1] จะถูกบันทึกว่าเป็นคนที่รำลึกถึงอัลลอฮฺ  [2] ประมาณ 1 ใน 6 ของอัลกุรอาน หรือประมาณ 5 ยุซ

        قَانِتِيْن หมายถึง ยืนละหมาดนาน มาจาก قُنُوْت แต่ َانِطِيْن หมายถึง หมดหวัง สิ้นหวัง ท่านอนัส อิบนิมาลิก บอกว่า ท่านนบี  ก่อน ตายกุนูตซุบหิมาตลอด อิหม่ามชาฟิอีเข้าใจว่ากุนูตตรงนี้หมายถึงยกมือขอดุอาอฺ แต่อุละมาอฺท่านอื่นบอกว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน คำว่า “กุนูต” ในที่นี้หมายถึง ท่านนบี ไม่เคยละทิ้งการยืนละหมาดซุบหิให้นาน

        مُقَنْطِرِيْن  มาจาก قِنْطَار คือ เครื่องตวงที่ใหญ่โต หมายถึงผลบุญของคนที่ละหมาดกลางคืนด้วย 1,000 อายะฮฺ เขาจะได้รับผลบุญมหาศาลไม่จำกัด

 หะดีษที่ 14 الحديث الرابع عشر

  صَلَاةُ الرَّجُلِ تَطَوَّعاً حَيْثُ لَا يَرَاهُ النَّاسُ تَعْدِلُ صَلَاتَهُ عَلَى أَعْيُنِ النَّاسِ خَمْساً وَعَشْرِيْنط .

صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย “การละหมาดของคนหนึ่งคนใดโดยอาสา (ซุนนะฮฺ) โดยที่มนุษย์ผู้อื่นไม่เห็นเขา เท่ากับผู้ที่ละหมาดต่อหน้าคน 25 เท่า”

      หมายถึง การละหมาดในบ้านหรือที่มัสญิดโดยไม่มีใครเห็นเลย ดีกว่าการละหมาดต่อหน้าคน 25 เท่า เพราะการทำอิบาดะฮฺโดยลับจะมีความอิคลาศ (ความบริสุทธิ์ใจ) มากกว่าแน่นอน ดังนั้น อุละมาอฺจึงกล่าวว่าการละหมาดกลางคืนอบรมให้มีอิคลาศ เพราะคนที่ละหมาดกลางคืนไม่อวดใคร ไม่มีใครเห็น แน่นอนเป็นคนที่มีอิคลาศ พยายามสร้างอิคลาศในจิตใจของเขา

หะดีษที่ 15 الحديث الخامس عشر

مَنْ صَلَّى الضُّحَى أَرْبَعاً ، وَقَبْلَ الْأُوْلَى أَرْبَعاً ، بُنِيَ لَهُ بَيْتٌ فِي الْجَنَّة.

صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย “ผู้ใดละหมาดฎุฮา 4 ร็อกอัต และละหมาดก่อนศุหฺริอีก 4 ร็อกอัต จะมีบ้านถูกสร้างให้แก่เขาในสวนสวรรค์”

        หมายถึงได้บ้านวันละครั้งหรือ? หรือทำตลอดชีวิตแล้วได้หลังเดียว เราทำธุรกิจกับอัลลอฮฺ อย่าคิดว่าอัลลอฮฺจน ให้ตั้งความหวังไปและแน่นอนอัลลอฮฺจะไม่ให้ท่านผิดหวัง

        เรื่องการสร้างวังในสวรรค์นี้น่าสนใจ เราอ่านโฆษณาสร้างบ้านตามหนังสือพิมพ์ หรูหรา มีบ่อน้ำ ต้นไม้ มีสารพัด เป็นการเชิญชวนให้คนสนใจ ทุกคนก็อยากได้ เมื่อเราอ่านลักษณะของสวนสวรรค์ทั้งในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบี  แน่นอนทุกคนย่อมมีความปรารถนาอยากได้บ้านในสวรรค์ มีมากมายที่สร้างบ้านในโลกนี้ประสบความสำเร็จ แต่ในสวรรค์สร้างบ้านหรือยัง? เราจะทบทวนหะดีษที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านในสวรรค์ ท่านนบี ได้เสนอเป็นการโฆษณาและบริษัทของนบี  ไม่หลอกลวงอย่างแน่นอน

عَنْ أُمِّ حَبِيْبَة رَضِيَ اللهُ عَنْهَا ‏قَالَتْ ‏سَمِعْتُ رَسُوْلَ اللهِ ‏‏  ‏ ‏يَقُوْلُ (‏ ‏مَنْ صَلَّى اثْنَتَيْ عَشَرَةَ رَكَعَة فِيْ يَوْمٌ وَلَيْلَة بُنِيَ لَهُ بِهِنَّ بَيْتٌ فِي الْجَنَّة ) رواه مسلم

จากอุมมุฮะบีบะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า “ผู้ใดละหมาดซุนนะฮฺ 12 ร็อกอะฮฺในหนึ่งวันหนึ่งคืน อัลลอฮฺจะสร้างบ้านให้แก่เขาในสวนสวรรค์”

عَن ابْنِ عَبَّاس رضِي الله عَنْهُمَا ‏عَنِ النَّبِيِّ ‏   ‏‏أَنَّهُ قَالَ ‏(‏مَنْ بَنَى للَِّهِ مَسْجِدًا وَلَوْ ‏كَمِفْحَصِ ‏قَطَاةٍ ‏ ‏لِبَيْضِهَا بَنَى اللهُ لَهُ بَيْتًا فِي الْجَنَّة ) رواه احمد

ท่านอิบนิอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา  จากท่านนบี กล่าวว่า “ผู้ใดสร้างมัสญิดให้แก่อัลลอฮฺ ถึงแม้เนื้อที่จะเท่ากับที่นั่งของนกตัวหนึ่งพอวางไข่ อัลลอฮฺจะสร้างบ้านให้แก่เขาในสวนสวรรค์”

        การบริจาคสร้างมัสญิดไม่จำเป็นต้องสร้างทั้งหลัง ถ้าสร้างมัสญิดต้องการหนึ่งล้าน เราบริจาคหนึ่งหมื่นก็ได้ นอกจากนี้การที่เราเอื้ออำนวยในการบูรณะหรือปฏิบัติศาสนกิจในมัสญิดของอัล ลอฮฺก็อาจจะมีส่วนผลบุญมหาศาลตรงนี้ด้วย

عَنْ ‏أَبِيْ مُوْسَى الْأَشْعَرِيْ    قَالَ ‏قَالَ رَسُوْلُ اللهِ ‏‏  ‏(‏قَالَ اللهُ تَعَالَى ‏ ‏يَا مَلَكَ الْمَوْت قَبَضْتَ وَلَدَ عَبْدِيْ قَبَضْتَ ‏قُرَّةَ ‏عَيْنِهِ وَثَمَرَةَ فُؤَادِهِ قاَلَ نَعَمْ قَالَ فَمَا قَالَ قَالَ حَمِدَكَ وَاسْتَرْجَع قَالَ ابنُوْا لَهُ بَيْتًا فِي الْجَنَّة وَسَمُّوْهُ بَيْتَ الْحَمْد) رواه أحمد

จากอะบีมูซา อัลอัชอะรียฺ* กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า อัลลอฮฺได้บอกกับมะละกิลเมาตฺ[3] ว่า “โอ้มะละกิลเมาตฺท่านได้ยึดวิญญาณลูกชายของบ่าวของฉัน ท่านได้ยึดวิญญาณที่รักของเขา ท่านได้ยึดวิญญาณดวงใจของเขา” มะละกิลเมาตฺตอบว่า “ใช่” “แล้วเขาได้พูดอย่างไร”[4] “เขากล่าวสรรเสริญพระองค์ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ(มวลการสรรเสริญเป็นของพระองค์)  และกล่าว อินนาลิลลาฮิ วะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน   “อัลลอฮฺจะบอกกับมลาอิกะฮฺ “จงสร้างบ้านให้เขาในสวนสวรรค์ และจงเรียกบ้านนี้ว่า บ้านแห่งการสรรเสริญ”

[3] มลาอิกะฮฺที่ยึดวิญญาณของมนุษย์  [4] อัลลอฮฺถามมะละกิลเมาตฺ ทั้ง ๆ ที่อัลลอฮฺทรงรู้

(مَنْ سَدَّ فُرْجَةً بَنَى اللهُ لَهُ بَيْتًا فِي الْجَنَّة ، وَرَفَعَهُ بِهَا دَرَجَة ) ( السلسة الصحيحة )

“ผู้ใดปิดช่องว่างระหว่างผู้ละหมาดในแถว อัลลอฮฺจะสร้างบ้านให้แก่เขาในสวนสวรรค์ และจะยกตำแหน่งให้แก่เขาหนึ่งขั้น”

        นี่คือความประเสริฐประการหนึ่งที่เรามักประมาท ไม่เอาใจใส่ ท่านนบี เคยตำหนิคนที่ยืนละหมาดโดยที่แพะตัวเล็กจะแทรกตัวระหว่างคนที่ยืนละหมาดมันลอด ได้ มันคือชัยฏอนที่สามารถแทรกเข้าไปในการละหมาดได้ เมื่อท่านนบี  ยืนก่อนเข้าละหมาดท่านจะบอกว่า “จงยืนละหมาดให้เที่ยงตรง จงละหมาดให้ใกล้ชิดกัน จงอย่าละหมาดห่างกันเพราะมันจะทำให้หัวใจของพวกท่านขัดแย้งกัน” การละหมาดเป็นเอกลักษณ์ของมุสลิม ถ้าเรารักษาสภาพของการละหมาดอย่างที่ท่านนบี  ได้ บอก แน่นอนการละหมาดจะช่วยให้ความขัดแย้งลดลงในชุมชน แต่เนื่องจากเราไม่ถือว่าการละหมาดมีความสำคัญ ใครจะเป็นอิหม่ามก็ได้ ไม่ต้องท่องจำก็ได้ ก็ทำให้ขาดสมบัติหนึ่งของการละหมาดไปแล้ว เพราะอิหม่ามเป็นทูตระหว่างเรากับอัลลอฮฺ บรรดาสลัฟบอกว่า อัลลอฮฺจะมองมาที่อิหม่ามคนแรก ถ้าใช้ได้อาจจะรับการละหมาดทั้งหมดโดยไม่มองคนอื่น แต่ถ้าอิหม่ามใช้ไม่ได้ก็ไปดูคนอื่น ถ้ามะอฺมูนคนหนึ่งละหมาดดีก็อาจจะรับหมด ความประเสริฐของการละหมาดญะมาอะฮฺได้เปรียบตรงนี้ เพราะเราละหมาดคนเดียวไม่แน่ว่าอัลลอฮฺจะรับหรือไม่
 
หะดีษที่ 16  الحديث السادس عشر

من قال رَضِيْتُ بِاللهِ رَبّاً ، وَبِالْإِسْلَامِ دِيْناً ، وَبِمُحَمَّدٍ نَبِيّاً ، وَجَبَتْ لَهُ الجَنَّةُ . صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย “ผู้ใดกล่าว ร่อฎีตุบิลลาฮิร็อบบา วะบิลอิสลามิดีนา วะบิมุฮัมมะดินนะบียา  (ฉันพอใจแล้วที่อัลลอฮฺ  เป็นพระผู้อภิบาลของฉัน และฉันพอใจแล้วที่อัลอิสลามเป็นศาสนาของฉัน และฉันพอใจแล้วที่ท่านนบีมุฮัมมัด  เป็นนบีของฉัน) จำเป็นที่คนเหล่านี้ต้องเข้าสวรรค์”

        ชีวิตของมุอฺมินไม่ใช่เพียงแต่กล่าวประโยคเหล่านี้เท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องด้วย คือพอใจว่าพระเจ้าของเราคืออัลลอฮฺ  พอ ใจว่าศาสนาของเราคืออิสลาม ไม่ใช่มองคนอื่นด้วยความอิจฉา มองชาวตะวันตกหรือพวกที่เจริญก้าวหน้าด้านวัตถุว่านี่คือคนที่ยอดเยี่ยม พอใจว่าอิสลามเป็นศาสนาของเรา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็กล้าประกาศและแสดงตัวกับคนทั่วไปว่าเราเป็นมุสลิม ถึงเวลาก็ละหมาด ส่วนการพอใจว่ามุฮัมมัดเป็นนบี คือเป็นผู้นำ ครู ผู้ชี้แนะ ผู้แนะนำความถูกต้องเที่ยงตรง ถ้าหากชีวิตของเราไม่พอใจว่าอัลลอฮฺเป็นพระเจ้า อิสลามเป็นศาสนา นบีเป็นผู้นำ ก็จำเป็นต้องทบทวนชีวิตความเป็นมุสลิมของเรา

หะดีษที่ 17 الحديث السابع عشر

 مَنْ دَعَا لأَخِيْهِ بِظَهْرِ الغَيْبِ . قَالَ المَلَكُ المُوَكَّلُ بِهِ: آمِيْنَ وَلَكَ بِمِثْلِهِ

. صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย “ผู้ใดวิงวอนขอดุอาอฺให้แก่พี่น้อง (พี่น้องแท้ๆ หรือพี่น้องมุสลิมทั่วไป) ของเขาในเชิงลับ (โดยที่คนนั้นไม่รู้ ไม่ได้ยิน ไม่เห็น) มลาอิกะฮฺ[5] ที่ถูกมอบหมายให้แก่ผู้ที่ขอดุอาอฺคนนี้จะกล่าว อามีน และขอให้ท่านได้เหมือนกับที่ท่านได้ขอให้แก่พี่น้องของท่าน”

[5] เราทุกคนมีมลาอิกะฮฺหลายฝ่ายที่จะดูแล มีมลาอิกะฮฺฝ่ายบันทึกความดี มลาอิกะฮฺฝ่ายบันทึกความชั่ว มลาอิกะฮฺรักษาความปลอดภัยและมลาอิกะฮฺที่จะติดตามการขอดุอาอฺโดยเฉพาะ

        การขอดุอาอฺในเชิงลับให้แก่พี่น้องเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ ถึงแม้คนที่เราขอดุอาอฺให้นั้นเสมือนเป็นศัตรู เป็นคนที่เราเกลียดชังมาก แต่หากเราขอดุอาอฺให้เขา นั่นแสดงถึงความบริสุทธิ์ของเรา ฉะนั้น เราเกลียดใคร ไม่พอใจใคร ก็ขอให้มีส่วนหนึ่งดีๆ ขอดุอาอฺให้เขา แน่นอนเราไม่เสียหาย ไม่ขาดทุน การขอดุอาอฺให้คนอื่นเป็นแนวทางให้เราประสบสิ่งดีๆ ที่เราขอให้แก่ผู้อื่นด้วย
 

หะดีษที่ 18  الحديث الثامن عشر

 مَنْ ذَبَّ عَنْ عِرْضِ أَخِيْهِ بالغَيْبَةِ ، كَانَ حَقَاً عَلَى اللهِ أَنْ يُعْتِقَهُ مِنَ النَّارِ . صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย “ผู้ใดที่ปกป้องความบริสุทธิ์ของพี่น้องของเขาในขณะที่ไม่อยู่[6] เป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺที่จะช่วยเหลือให้เขาถูกปลดปล่อยจากนรก”

[6] เมื่อได้ยินคนนินทาใส่ร้ายผู้อื่นลับหลัง เป็นหน้าที่ของเราต้องปกป้องความบริสุทธิ์ของเขาถ้าเรารู้ว่าเขาเป็นคน บริสุทธิ์ อย่าเกรงใจ

 

หะดีษที่ 19 الحديث التاسع عشر

 مَنْ أَخْرَجَ مِنْ طَرِيْقِ المُسْلِمِيْنَ شَيْئَاً يُؤْذِيْهِمْ ، كَتَبَ اللهُ لَهُ بِهِ حَسَنَةً ، وَمَنْ كُتِبَ لَهُ عِنْدَهُ حَسَنَةٌ أَدْخَلَهُ بِهَا الجَنَّةَ . صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย “ผู้ใดนำออกไปจากทางเดินของมุสลิมีน[7] ซึ่งสิ่งที่เป็นอันตรายต่อพี่น้องมุสลิม อัลลอฮฺจะบันทึก ณ ที่พระองค์ว่าเป็นความดีหนึ่ง และผู้ใดที่อัลลอฮฺได้บันทึกความดีหนึ่ง ณ ที่พระองค์นั้น อัลลอฮฺจะให้เขาเข้าสวรรค์ด้วยความดีนั้น”

[7] ทางที่มุสลิมีนใช้สัญจร ไม่จำเป็นว่าเจ้าของต้องเป็นมุสลิม

        การกำจัดหนาม กิ่งไม้ หรือสิ่งอันตรายออกไปเป็นความดีชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นอันตรายในสังคม สิ่งที่จะทำให้สังคมเสื่อม เราพยายามวางแผนให้สิ่งที่จะเป็นอันตรายนี้ออกไปจากสังคม เช่น ยาเสพติด สุรา สถานที่ที่อำนวยให้คนมั่วสุมหรือทำความชั่ว สังคมมุสลิมต้องรณรงค์ต่อต้านสิ่งอันตรายนี้ให้ออกไปจากสังคม
 

หะดีษที่ 20  الحديث العشرون

 مَنْ نَفَّسَ عَنْ غَرِيْمِهِ ، أَوْ مَحَا عَنْهُ ، كَانَ في ظِلِّ العَرْشِ يومَ القيامة.  صحيح الجامع الصغير وزياداته

ความหมาย “ผู้ใดที่ช่วยเหลือลูกหนี้ของเขา หรือยกหนี้ให้ จะอยู่ภายใต้ร่มเงาพระบัลลังก์ของอัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺ”

        ในวันกิยามะฮฺมนุษยชาติทั้งหลายจะอยู่ในสถานที่หนึ่งยืนเปลือยกายตากแดด บางคนก็จมเหงื่อของเขา ไม่มีอะไรช่วยเหลือ นอกจากคนประเภทที่อัลลอฮฺ  ทรงเมตตาเขาเช่นพวกนี้ ใครที่เป็นลูกหนี้ของเราแล้วเรายกให้เขา นั่นถือเป็นความดีที่ย่อมมีผลบุญ
 


ที่มา : หนังสือ 40 ซุนนะฮฺจากหะดีษที่น่าปฏิบัติ, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี