มาถึงคำสั่งสอนที่ท่านลุกมานกล่าวกับบุตร เป็นอุทาหรณ์ที่มีคุณค่ามากในประวัติศาสตร์ของบรรดาผู้ศรัทธา อัลลอฮฺ ตรัสในอัลกุรอานว่า
وَإِذْ قَالَ لُقْمَانُ لِابْنِهِ وَهُوَ يَعِظُهُ يَا بُنَيَّ لَا تُشْرِكْ بِاللَّـهِ ۖ إِنَّ الشِّرْكَ لَظُلْمٌ عَظِيمٌ ﴿١٣﴾
ความว่า “และจงรำลึก (*1*) เมื่อลุกมานได้กล่าวแก่บุตรของเขา โดยสั่งสอนเขาว่า โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีใดๆต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นความผิดอย่างมหันต์โดยแน่นอน” [ลุกมาน 31:13]
(*1*) เรื่องราวในอัลกุรอานที่อัลลอฮฺทรงเล่า ไม่ใช่เรื่องปรัมปราที่จะนำมาเล่ากันอย่างสนุกสนาน แต่เป็นตัวอย่างให้รำลึก สำนึก และพิจารณาเพื่อนำไปปฏิบัติ
ท่านลุกมานคุยกับลูกในเชิงสั่งสอน ซึ่งไม่ค่อยพบในสังคมของเราที่พ่อแม่จะพูดกับลูกในเชิงอบรมสั่งสอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนใหญ่จะใช้โอกาสตักเตือนหลังจากที่ลูกทำผิดแล้ว ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะที่ทำผิดเนื่องจากไม่ได้รับคำตักเตือน การที่เราตักเตือนลูกหลานก่อนจะช่วยลดความผิดที่อาจเกิดขึ้นได้
สังคมขาดการที่พ่อแม่นั่งคุยกับลูกเพราะไม่มีเวลา นอกเหนือจากช่วงทำมาหากินคือเวลาที่อยู่ในบ้านก็ไม่ใช้ในการพูดคุยกัน ต่างคนต่างอยู่ คนหนึ่งดูโทรทัศน์ อีกคนเล่นอินเตอร์เน็ต อีกคนเล่นเกมส์ อีกคนไปเที่ยว ไม่ได้คุยกันเพราะต่างคนต่างหาความสุขและความสนุกสนาน โดยไม่มองถึงหน้าที่ของตนเอง หน้าที่พ่อแม่ที่ต้องทำทุกวันคือการอบรมสั่งสอนลูก “ยาบุนัยยฺ – โอ้ลูกเอ๋ย” ก็มาจากตรงนี้ คำว่า “พ่อจ๋า” “แม่จ๋า” หรือ “ลูกเอ๋ย” ทำให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดและสร้างความอบอุ่นในครอบครัว
เรื่องแรกที่ท่านลุกมานได้ตักเตือนบุตรของท่านคือ อย่าตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นการยืนยันว่าความผิดที่อันตรายที่สุดคือ ชิริก บางคนบอกว่าลูกฉันเป็นมุสลิมไม่มีทางทำชิริก จึงไม่ตักเตือน และคิดว่าชิริกคือการกราบไหว้รูปเจว็ดเท่านั้น แต่ที่จริงพฤติกรรมแห่งชิริกมีมากมาย เช่น การเชื่อในวัตถุ ดวงดาว หรือหลงใหลวัตถุ เป็นต้น ซึ่งการทำชิริกจะเบี่ยงเบนเราจากการเคารพสักการะต่ออัลลอฮฺ
รูปแบบของชิริกที่เกิดขึ้นในหมู่มุสลิมมีมากมาย เช่น มุสลิมที่วิงวอนขอต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ มุสลิมที่หวังในความสามารถทางแพทย์หรือเทคโนโลยีมากกว่าอัลลอฮฺ มุสลิมที่เชื่อว่าเงินมีอำนาจมากกว่าอัลลอฮฺ มุสลิมที่เชื่อในตำแหน่งการเมืองมากกว่าตำแหน่งที่บริสุทธิ์ มุสลิมที่เชื่อในความสุขของดุนยามากกว่าความสุขในสวรรค์ เหล่านี้ทั้งสิ้นถือเป็นการตั้งภาคี ท่านลุกมานจึงเตือนลูกของท่านว่า อย่าตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ เป็นอันขาด แท้จริงการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ นั้นเป็นความอธรรมอย่างมหันต์ ตรงนี้เราต้องศึกษาและนำไปสอนลูกหลานให้เขารู้ว่าหน้าที่ของเขาต่อพระเจ้าคืออะไร
สาเหตุที่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺเป็นความอธรรม เนื่องจากเราเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ และเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ ดังนั้นการนำสิทธิของอัลลอฮฺไปถวายแก่ผู้อื่นจึงถือเป็นความอธรรม ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสไว้ในหะดีษกุดซียฺมีใจความว่า “ส่วนข้าและบ่าวของข้าอยู่ในเรื่องราวที่แปลกประหลาด ข้าเป็นผู้ทรงสร้าง แต่สิ่งที่ถูกสร้างกลับไปสักการะสิ่งอื่นนอกจากข้า (*2*) ข้าเป็นผู้ให้ปัจจัยยังชีพแก่มนุษยชาติทั้งหลาย แต่พวกเขากลับไปชุโกร(ขอบคุณ)ผู้อื่น” (*3*)
(*2*) อัลลอฮฺ บอกว่าเป็นเรื่องประหลาด บ่าวที่พระองค์ทรงสร้างแทนที่จะกตัญญูต่อพระองค์แต่กลับไปบูชาสิ่งอื่น
(*3*) เมื่อมีคนให้ของขวัญเรารู้จักขอบคุณ แต่สิ่งที่เรารับจากอัลลอฮฺ นั้นมากมายมหาศาล เราชุโกรต่ออัลลอฮฺ เท่าไร นี่คือสิ่งที่เราต้องพิจารณาและอบรมสั่งสอนลูกหลานของเรา
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 119 views