ความสำคัญของการยึดมั่นในซุนนะฮฺ

Submitted by dp6admin on Sat, 04/04/2009 - 11:41

แนวทางของอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺและสะละฟุศศอและฮฺ 2

ข้อสอง : ความสำคัญของการยึดมั่นในซุนนะฮฺ

 ซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เป็นแหล่งที่มาของบัญญัติศาสนาอันดับสอง(รองจากอัลกุรอาน) ซุนนะฮฺจะชี้แจงสิ่งที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้ให้กระจ่างชัด ซุนนะฮฺจะมาเจาะจงในสิ่งที่อัลกุรอานกล่าวไว้อย่างกว้าง ๆ และจะมาจำกัดในสิ่งที่อัลกุรอานกล่าวไว้โดยทั่วไป

 และได้มีการตัดสินชี้ขาดไว้ในหลักเชื่อมั่นของมุสลิมว่า ผู้ที่ยอมรับเอาอัลกุรอานเป็นบทบัญญัติศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว โดยปฏิเสธซุนนะฮฺนั้นเป็นกาเฟร (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) เป็นผู้หลงทาง เป็นบิดอะฮฺ เป็นผู้ดื้อรั้น ทั้งๆ ที่อัลกุรอานได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าให้ยึดมั่นตามแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม 

 อิหม่ามอัชชาฟีอีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า บรรดามุสลิมมีมติเห็นพ้องร่วมกันว่า ผู้ใดที่ซุนนะฮฺจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่เขาแล้ว เขาจะต้องไม่ละทิ้งซุนนะฮฺนั้นไป เพื่อรับเอาคำพูดของคนหนึ่งคนใดเป็นอันขาด

 ส่วนหลักฐานจากอัลกุรอาน ได้แก่

﴿ وَأَنْزَلْنَا إِلَيكَ الذِّكْرَ لِتُبَيِّنَ لِلنَّاسِ مَا نُزِّلَ إِلَيْهِمْ وَلَعَلَّهُمْ يَتَفَكِّرُون ﴾

ความว่า “และเราได้ประทานอัลกุรอานมาให้แก่เจ้า เพื่อเจ้าจะได้ชี้แจงให้เป็นที่ชัดแจ้งแก่มนุษย์ในสิ่งที่ได้ถูกประทานลงมาแก่พวกเขาและเพื่อพวกเขาจะได้ไตร่ตรอง” (ซูเราะฮฺอันนะหฺลุ : 44)

﴿ مَنْ يُطِعِ الرَّسُوْلَ فَقَدْ أَطَاعَ اللهَ وَمَنْ تَوَلَّى فَمَا أَرْسَلَنَاكَ عَلَيهِمْ حَفِيْظَاً ﴾

ความว่า “ผู้ใดเชื่อฟังร่อซูล แน่นอนเขาเชื่อฟังอัลลอฮฺแล้ว และผู้ใดผินหลังให้ เราก็มิได้ส่งเจ้าไปเพื่อเป็นผู้กำกับดูแลพวกเขาแต่ประการใด” (ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ : 80)

﴿ يَا أَيُهَا الَّذِيْنَ آمَنُواْ أَطِيعُوا اللهَ وَأَطِيْعُوا الرَّسُولَ وَأُوْلِيْ الأَمْرِ مِنكُمْ فَإِنْ تَنَازَعْتُمْ فِي شَيْءٍ فَرُدُّوْهُ إِلَى اللهِ وَالرَّسُوْلِ إِنْ كُنْتُمْ تُؤْمِنُوْنَ بِاللهِ وَالْيَومِ الآخِرِ ذَلِكَ خَيْرٌ وَأَحْسَنُ تَأْوِيْلا ﴾

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และจงเชื่อฟังร่อซูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย และหากพวกเจ้าขัดแย้งกันในเรื่องใด ก็จงนำเรื่องนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและร่อซูล หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลก นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดียิ่ง และเป็นการตีความที่ดีและเหมาะสมยิ่ง”  (ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ : 59)

 สำหรับหลักฐานจากซุนนะฮฺ (คำกล่าวของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ) เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีอยู่มากมาย เช่น

عَلَيْكُمْ بِسُنَّتِيْ وَسُنَّةِ الخُلَفَاءِ الرَّاشِدِيْنَ المهْدِيِّيْنَ مِنْ بَعْدِيْ ، عَضُّوْا عَلَيْهَا بِالنَّوَاجِذ

ความว่า “พวกท่านจงยึดถือแนวทางของฉันและแนวทางของบรรดาค่อลีฟะฮฺ (ผู้เฉลียวฉลาด) ผู้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องผู้ได้รับทางนำหลังจากฉัน พวกท่านจงกัดมันไว้ด้วยฟันกราม”

تَرَكْتُ فِيْكُمْ مضا إِنْ تَمَسَّكْتُمْ بِهِ لَنْ تَضِلُّوْا بَعْدِيْ أَبَدًا كِتَابَ اللهِ وسُنَّتِيْ

ความว่า “ฉันได้ทิ้งไว้ให้พวกท่านแล้ว สิ่งซึ่งหากพวกท่านยึดมั่นได้ พวกท่านจะไม่หลงทางหลังจากฉันเป็นอันขาด คือ กิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺของฉัน”

ท่านได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการละหมาดว่า

صَلُّوْا كَمَا رَأَيْتُمُوْنِيء أَصَلِّيْ - “ท่านทั้งหลายจงละหมาดเสมือนกับพวกท่านเห็นฉันละหมาด”

และท่านได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการทำฮัจญฺว่า

خُذُوْا عَنِّيْ مَنَاسِكَكُمْ - “ท่านทั้งหลายจงยึดถือพิธีกรรมต่างๆ (อัลฮัจญฺ) ของพวกท่านจากฉันเท่านั้น”

และท่านได้กล่าวเกี่ยวกับการกำหนดโทษของการผิดประเวณีว่า

خُذُوْا عَنِّيْ خُذُوْا عَنِّيْ  - “ท่านทั้งหลายจงยึดถือการลงโทษ (การผิดประเวณี) จากฉัน ท่านทั้งหลายจงยึดถือการลงโทษ (การผิดประเวณี) จากฉัน”

 

อัลกุรอานและซุนนะฮฺได้เตือนสำทับผู้ที่โต้แย้งและต่อต้านคำสั่งของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ด้วยสัญญาร้ายที่ยิ่งใหญ่  คือเคราะห์กรรมหรือการลงโทษที่หนักหน่วง ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอันนูร อายะฮฺที่ 63 ว่า

﴿ فَلْيَحْذَرِ الَّذِيْنَ يُخَالِفُونَ عَنْ أَمْرِهِ أَنْ تُصِيْبَهُمْ فِتْنَةٌ أَوْيُصِيْبَهُمْ عَذَابٌ الِيْمٌ ﴾

ความว่า “ดังนั้น บรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา(มุฮัมมัด) จงระวังตัวเถิดว่าเคราะห์กรรมจะเกิดขึ้นแก่พวกเขา หรือว่าการลงโทษอันเจ็บปวดจะเกิดขึ้นแก่พวกเขาเช่นกัน”

และพวกเขาจะถูกห้ามจากการดื่มน้ำจากแม่น้ำอัลเกาซัร(แม่น้ำสำหรับประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)ในวันกิยามะฮฺ โดยที่จะมีผู้ถูกห้ามมิให้เข้าใกล้แม่น้ำนั้น แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  จะกล่าวขึ้นว่า “โอ้พระเจ้าของฉัน เขาเหล่านั้นเป็นสหายของฉัน เขาเหล่านั้นเป็นสหายของฉัน แล้วจะมีเสียงกล่าวขึ้นว่า “ท่านไม่รู้สิ่งที่พวกเขาได้ทำให้เกิดขึ้นหลังจากท่าน (ได้เสียชีวิตไปแล้ว)” ท่านนบีก็จะกล่าวว่า “จงไปให้ห่างไกลสำหรับผู้ที่เปลี่ยนแปลง (หลักการศาสนา) หลังจากฉัน (ได้เสียชีวิตไปแล้ว) (คือ กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกี่ยวกับศาสนาขึ้น โดยมิใช่เป็นแบบอย่างที่มาจากท่านนบี)

และมีรายงานจากบรรดาอิหม่ามมัซฮับทั้งสี่ (1. อะบูฮะนีฟะฮฺ อันนัวะอฺมาน อิบนฺซาบิต 2. อะบูอับดิลลาฮฺ มาลิก อิบนฺอะนัส 3. อะบูอับดิลลาฮฺ มุฮัมมัด อิบนฺอิดรีส อัชชาฟิอี อัลมุฏฏ่อลิบีย์ 4. อะบูอับดิลลาฮฺ อิบนฺมุฮัมมัด อิบนฺฮัมบัล อัชชัยบานีย์)  พวกเขาได้กล่าวว่า “เมื่อหะดีษใดถูกต้อง (เศาะฮี่ฮฺ) แล้ว หะดีษนั้นคือมัซฮับของฉัน”

 อิหม่ามอะหมัด ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า “ท่านอย่าเลียนแบบฉัน และอย่าเลียนแบบมาลิก หรืออัลเอาซาอียฺ หรืออัชชาฟิอียฺ แต่ท่านจงยึดถือในสิ่งที่พวกเขาเอามา”

การยึดมั่นต่อซุนนะฮฺ จำเป็นต้องให้ความสำคัญและศึกษาเรียนรู้ ต้องรู้ถึงหะดีษที่เศาะฮี้ฮฺและฎ่ออีฟ(อ่อนหลักฐาน) สิ่งที่จะนำมาเป็นหลักฐานได้และสิ่งที่จะนำมาเป็นหลักฐานไม่ได้ ต้องเรียกร้องเชิญชวนผู้คนให้ดำเนินตามแนวทางนั้น และมีความอดทนต่อสิ่งที่จะประสบกับตนจากการเรียกร้องเชิญชวนไปสู่ซุนนะฮฺ

ส่วนผลบุญของผู้ที่เรียกร้องและยึดมั่นซุนนะฮฺนั้น มีรายงานจากอิบนฺมัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ(เชคอัลบานียฺกล่าวว่าสายสืบเศาะฮี้ฮฺ) ว่า  ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กล่าวว่า “แท้จริง ในระยะเวลาหลังจากพวกท่าน จะมียุคเวลาแห่งการอดทน สำหรับผู้ที่ยึดมั่นในศาสนาในระยะเวลานั้น ผลบุญของเขาจะเท่ากับห้าสิบเท่าของผู้ตายชะฮีดของพวกท่าน”

 


วันที่ลงบทความ : 7 ธ.ค. 49