พี่น้องที่มีอีหม่านที่เคารพทั้งหลายครับ ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมุสลิม เป็นคำสั่งที่อัลลอฮฺ ได้ยืนยันและเน้นมากในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและในบรรดาหะดีษต่างๆ ที่ท่านนบี ได้สั่งสอนประชาชาติอัลอิสลาม และเป็นคำสั่งสอนที่อัลลอฮฺ ได้ยืนยันกับทุกประชาชาติให้ปฏิบัติอย่างเข้มงวด ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ในอายะฮฺหนึ่งของสูเราะฮฺอาละอิมรอน
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِۦ ... ١٠٢ ﴾ [ال عمران: ١٠٢]
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย สูเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺ อย่างแท้จริง” (อาละอิมรอน : 102)
และอีกอายะฮฺหนึ่งในสูเราะฮฺอัตตะฆอบุน อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า
﴿ فَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ مَا ٱسۡتَطَعۡتُمۡ ... ١٦ ﴾ [التغابن : ١٦]
ความว่า “สูเจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ สุดความสามารถของพวกท่าน...” (อัตตะฆอบุน : 16)
การที่เราจะยำเกรงต่ออัลลอฮฺ นั้นเป็นหน้าที่โดยปกติในฐานะบ่าวของอัลลอฮฺ ในฐานะที่เป็นบุคคลที่รู้ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า ในฐานะที่เราศรัทธาในอัลลอฮฺ เราก็ต้องมีลักษณะที่ยำเกรงอัลลอฮฺ กลัวพระองค์ รู้ถึงความยิ่งใหญ่ที่ต้องปฏิบัติตัวตามความศรัทธานั้น และการที่เรากลัวอัลลอฮฺ และยำเกรงพระเจ้าของเรานั้น จะส่งผลในคำพูดและการกระทำของเรา ในปัจจัยยังชีพและชีวิตของเราในทุกๆ แง่มุม ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสถึงผลที่จะเกิดจากการที่เรายำเกรงพระองค์ในสูเราะฮฺอัลอะหฺซาบว่า
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَقُولُواْ قَوۡلٗا سَدِيدٗا ٧٠ يُصۡلِحۡ لَكُمۡ أَعۡمَٰلَكُمۡ وَيَغۡفِرۡ لَكُمۡ ذُنُوبَكُمۡۗ ... ٧١ ﴾ [الاحزاب : ٧٠، ٧١]
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงพูดคำพูดที่ดี ที่ถูกต้อง แล้วอัลลอฮฺ จะทำให้การการกระทำของพวกท่านเป็นการกระทำที่ดีงาม ที่ถูกต้อง และจะให้อภัยแก่พวกท่าน...” (อัลอะหฺซาบ : 71)
อุละมาอ์ได้อธิบายอายะฮฺนี้ว่า “การที่มุอ์มินนั้นจะยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และพูดคำพูดที่ถูกต้องนั้น จะส่งผลให้การกระทำของถูกต้องตามความยำเกรงและคำพูดที่ถูกต้อง และเมื่อมุอ์มินไม่ยำเกรงอัลลอฮฺและไม่พูดในสิ่งที่ถูกต้อง การประพฤติของเขาก็ย่อมอยู่ในสภาพที่ไม่ถูกต้อง”
เพราะการที่เรายำเกรงอัลลอฮฺ จะส่งผลให้เรามีความระมัดระวังในคำพูดและการประพฤติ เพราะคำพูดและการประพฤตินั้นขึ้นอยู่ที่ว่าเรายึดมาตรฐานอะไรในชีวิตของเรา บางคนยึดมาตรฐานในกฎหมายสากล โดยกล่าวกันว่า “เราต้องระวังไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายนะ อะไรที่จะทำให้เราต้องประสบกับอันตรายก็อย่าทำนะ” ฉะนั้นคำพูดและการประพฤติของเขาก็จะขึ้นอยู่ที่ว่าเขากลัวหรือระมัดระวังสิ่งใดในชีวิตของเขา
แต่สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่มีอีหม่านที่มั่นคงนั้น สิ่งที่เขากลัวและยำเกรงก็คือพระผู้เป็นเจ้า เขาจึงคำนึงถึงกฎเกณฑ์แห่งศาสนาที่มาจากพระองค์ ดังนั้นทั้งคำพูดและการประพฤติของเขาจึงขึ้นอยู่กับความยำเกรงอัลลอฮฺ ซึ่งบ่งชี้ว่า ผลที่เกิดจากการยำเกรงอัลลอฮฺนั้น คือการทำให้เราพูดและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น นี่คือมาตรฐานของบรรดาผู้ศรัทธาครับ
ผลลัพธ์อีกประการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากการที่เรายำเกรงอัลลอฮฺนั้น พระองค์ได้ตรัสไว้ในสูเราะฮฺอัฏเฏาะลากดังนี้
﴿ ... وَمَن يَتَّقِ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّهُۥ مَخۡرَجٗا ٢ وَيَرۡزُقۡهُ مِنۡ حَيۡثُ لَا يَحۡتَسِبُۚ ... ٣ ﴾ [الطلاق : ٢، ٣]
ความว่า “...บุคคลที่ยำเกรงอัลลอฮฺนั้น พระองค์จะทรงทำให้เขามีทางออกในทุกปัญหาที่จะเกิดขึ้น จะให้เขาแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ จะให้มีวิถีทางสู่ความสำเร็จ และจะให้เขามีริซกีโดยที่เขาไม่ได้คาดคิดหรือคำนวณไว้...” (อัฏเฏาะลาก : 2-3)
การที่พระองค์จะช่วยเหลือเขานั้น ก็สืบเนื่องจากการที่เขามีความสัมพันธ์อันดีกับอัลลอฮฺ ด้วยลักษณะอันเด่นชัดในการเป็นบ่าวของพระองค์ นั่นก็คือ “ตักวา” ต่ออัลลอฮฺ ซึ่งคำว่า “التَّقْوَى” (ตักวา) ในภาษาอาหรับ มาจากกริยา “وَقَى” แปลว่า “การปกป้องตนเอง” ปกป้องอีหม่านของเขา ร่างกายของเขาจากการถูกลงโทษ ถูกสาปแช่ง จากนรกและจากทุกสิ่งที่จะทำให้อัลลอฮฺทรงกริ้วเขา ฉะนั้นการที่เราตักวาต่ออัลลอฮฺ จึงหมายถึงการหันห่าง การหลีกเลี่ยงจากทุกสิ่งที่อัลลอฮฺ ทรงห้าม นี่คือบุคคลที่มีตักวา ส่วนบุคคลที่ออกห่างจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม ไม่หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกริ้วนั้น ก็คือบุคคลที่ไม่มีตักวา
เราะจะเห็นได้ว่าบุคคลที่ไม่มีตักวา มักจะไม่มีความสามารถในการแยกแยะระหว่างความดีและความเลวร้าย เช่นที่อัลลอฮฺได้ตรัสสูเราะฮฺอัลอันฟาลว่า
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِن تَتَّقُواْ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّكُمۡ فُرۡقَانٗا وَيُكَفِّرۡ عَنكُمۡ سَئَِّاتِكُمۡ وَيَغۡفِرۡ لَكُمۡۗ وَٱللَّهُ ذُو ٱلۡفَضۡلِ ٱلۡعَظِيمِ ٢٩ ﴾ [الانفال: ٢٩]
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากพวกท่านยำเกรงต่ออัลลอฮฺ พระองค์จะทำให้พวกท่านสามารถจำแนกระหว่างความเลวและความดี สัจธรรมและความเท็จ และจะลบล้างความผิดของพวกท่านและจะอภัยแก่พวกท่าน ซึ่งอัลลอฮฺ นั้นคือผู้ประทานความโปรดปรานอันใหญ่หลวงแก่พวกท่าน” (อัลอันฟาล : 29)
“يَجۡعَل لَّكُمۡ فُرۡقَانٗا” หมายถึงทำให้เรามีมาตรฐานในการจำแนกระหว่างความจริงและความเท็จ
การที่มุอ์มินนั้นตักวาต่ออัลลอฮฺ จะส่งผลให้เขามีสติปัญญาที่สดใน มีจิตใจบริสุทธิ์ ทำให้เขาสามารถจำแนกระหว่างสิ่งที่ถูกและผิดได้ เราจึงเห็นว่าบุคคลที่มีตักวานั้นมักจะหลีกเลี่ยงจากทุกสิ่งที่เป็นข้อสงสัย จากทุกสิ่งที่จำทำให้มนุษย์ตกอยู่ในสภาวะที่หายนะหรืออันตราย คนที่มีตักวานั้นมักจะไม่โกหกและไม่ชอบประพฤติในสิ่งที่ขัดกับหลักการศาสนา คนที่มีตักวานั้นจะไม่ชอบทานอาหารที่มาจากริซกีที่หะรอม จะไม่ชอบยุ่งกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา จะไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเขา คนที่มีตักวานั้นจะชอบรักษาสภาพอีหม่านของเขา ความเป็นมุสลิมของเขาจากการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ หรือท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
พี่น้องที่มีอีหม่านที่เคารพทั้งหลายครับ การที่เราสร้างตักวาในจิตใจของเรา เพิ่มเติมอีหม่านให้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺอย่างสม่ำเสมอ นั่นคือทางออกสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่จะทำให้พวกเขาอยู่ในลักษณะที่ห่างจากข้อห้าม จากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกริ้ว และนั่นคือสิ่งที่ท่านนบีได้ฝากไว้กับประชาชาติอิสลาม และเป็นสิ่งที่ท่านนบี ได้ดุอาอ์อยู่ตลอดดังที่มีรายงานในหะดีษซึ่งบันทึกโดยอิมามมุสลิม ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มักจะขอดุอาอ์ว่า
اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ الْهُدَى، وَالتُّقَى، وَالْعَفَافَ، وَالْغِنَى
อ่านว่า “อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุกัลฮุดา วัตตุกอ วัลอะฟาฟะ วัลฆินา”
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงฉันขอต่อพระองค์ซึ่งทางนำหรือคำแนะนำจากพระองค์, ความตักวา, ความบริสุทธิ์และความพอเพียงทั้งในด้านปัจจัยยังชีพและจริยธรรม”
นั่นคือดุอาอ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่อยากจะได้รับฮิดายะฮฺ, ตักวา, ความบริสุทธิ์ในด้านจิตใจและอยากจะมีความพอเพียงในชีวิตในทุกประการ
ความตักวาต่ออัลลอฮฺนั้นจะนำมีซึ่งความพอพระทัยจากพระองค์ และเราต้องมีตักวาในทุกๆ เรื่องแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยที่เราอาจคาดไม่ถึงว่ามันจะเกี่ยวข้องกับตักวาอย่างไร เช่น ที่ท่านนบี แนะนำว่า หากเราต้องเลือกระหว่างสองอย่าง ท่านนบีแนะนำให้เลือกในสิ่งที่ทำให้เราอยู่ในความตักวามากกว่า เช่น คนหนึ่งอาจถูกทดสอบให้เลือกระหว่างสภาพแรกซึ่งจะทำให้เขาบริจาคได้หรือปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ได้ ส่วนอีกสภาพหนึ่งจะทำให้เขาไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้หรืออาจจะบริจาคได้น้อยลง เช่นนี้เขาก็จะเลือกในสภาพแรก เนื่องจากเขาอยากจะอยู่ในสภาพที่เป็นมุอ์มินที่มีตักวา มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ นั่นคือสิ่งที่เราต้องแสวงหาในชีวิตของเราครับ
มุอ์มินที่มีตักวา มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เมื่อถูกเชิญชวญให้ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ กระทำในสิ่งที่ขัดกับหลักการศาสนา เขาจะประกาศด้วยเสียงดัง ด้วยจุดยืนอันชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งนั้น เพราะข้าพเจ้ายำเกรงอัลลอฮฺ ข้าพเจ้าจะไม่เข้าไปยุ่งกับสิ่งที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม เพราะข้าพเจ้ากลัวอัลลอฮฺ กลัวนรกและยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า”
นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะฝากพี่น้อง ให้สร้างความตักวา เพิ่มพูนอีหม่านให้มากขึ้น อันจะทำให้เราหันห่างจากการฝ่าฝืนหลักการของศาสนาอิสลาม
เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 23, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 1247 views