ละหมาดอย่างมีคุชูอฺ 2 - การกล่าวอะอูซุบิลลาฮิมินัชชัยฏอนิรเราะญีม

Submitted by admin on Sat, 15/10/2016 - 14:47

ละหมาดอย่างมีคุชูอฺ 2 - การกล่าวอะอูซุบิลลาฮิมินัชชัยฏอนิรเราะญีม (สู่อีมานที่มั่นคง 17)

สู่การละหมาดอันสมบูรณ์ที่จะสร้างอีหม่านที่มั่นคง การปฏิบัติศาสนกิจที่มีจิตวิญณาณ มีรสชาติและลักษณะอันดีงามของบรรดาผู้ศรัทธานั้น เรากำลังพูดถึงการละหมาดด้วยความคุชุอฺ ด้วยความนอบน้อม ซึ่งเป็นคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธา ที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ระบุเป็นประเด็นแรกในบรรดาคุณลักษณะของผู้ศรัทธาที่มีตัวบทในอายะฮฺต้นๆ ของสูเราะฮฺอัล-มุอ์มินูน อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า

﴿ قَدۡ أَفۡلَحَ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ١ ٱلَّذِينَ هُمۡ فِي صَلَاتِهِمۡ خَٰشِعُونَ ٢ ﴾ [المؤمنون : ١،  ٢]
ความว่า “โดยแน่นอนแล้วบรรดาผู้ศรัทธาจะประสบความสำเร็จ คือบรรดาผู้ที่มีความคุชุอฺ มีความนอบน้อมขณะที่เขาได้ทำการละหมาด” (อัล-มุอ์มินูน 1-2)

ความคุชุอฺที่เรากำลังพูดถึงผ่านมาแล้วหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การอาบน้ำละหมาด การเตรียมพร้อมให้มีความสะอาดทั้งภายในจิตใจและภายนอก เริ่มการละหมาดด้วยคำกล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัร” การประกาศความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า ว่าจะไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่ไปกว่าอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และเราได้เอ่ยถึงความสำคัญของการพิจารณาความหมายของบทซิกรฺหรือบทสรรเสริญอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่เราจะใช้ในการละหมาด เริ่มด้วย ดุอาอฺอิฟติตาหฺ การวิงวอนหรือการเปิดละหมาดด้วยการสรรเสริญอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เช่น

( وَجَّهْتُ وَجْهِيَ لِلَّذِي فَطَرَ السَّمَوَاتِ وَالأَرْضَ، حَنِيفًا وَمَا أَنَا مِنَ الْمُشْرِكِينَ، إِنَّ صَلاَتِي وَنُسُكِي وَمَحْيَايَ وَمَمَاتِي لِلهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ، لاَ شَرِيكَ لَهُ وَبِذَلِكَ أُمِرْتُ وَأَنَا أَوَّلُ الْمُسْلِمِينَ ) رواه أحمد بسند صحيح  (อธิบายความหมายแล้วใน สู่อีมานที่มั่นคง 16)

และความสำคัญที่เราได้พูดถึงไปแล้วในครั้งที่ผ่านมา(สู่อีมานที่มั่นคง 16) ก็คือการอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ ซึ่งเป็นสูเราะฮฺรุกุ่นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ละหมาดที่ต้องอ่าน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

( لا صَلاة لِمَنْ لَمْ يَقْرَأْ بِفَاتِحَةِ الْكِتَابِ ) رواه البخاري بسند صحيح
ความว่า “การละหมาดใช้ไม่ได้ สำหรับบุคคลที่ไม่อ่านอัล-ฟาติหะฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอัล-บุคอรี)

เราได้อธิบายความสำคัญของอัล-ฟาติหะฮฺ ตามที่มีหะดีษจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ระบุถึงความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺในการละหมาด และวันนี้เราจะเริ่มอธิบายอัล-ฟาติหะฮฺที่เราจะต้องอ่านในทุกๆ เวลาละหมาด ไม่ว่าจะเป็นละหมาดฟัรฎูหรือละหมาดสุนนะฮฺทั่วไป การที่เราจะอ่านอัล-ฟาติหะฮฺนั้นมีความสำคัญมากในการละหมาดของเรา เพราะการอ่านสูเราะฮฺนี้จะมีการสำนึก มีการระลึกถึงความหมายที่ลึกซึ้งในเรื่องการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ซึ่งการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺหรือการอ่านอัล-กุรอานจะเริ่มด้วย
 
أَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ - อะอูซุบิลลาฮิ มินัชชัยฏอนิรเราะญีม
ความหมาย "ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ให้พ้นจากชัยฏอนที่ถูกสาปแช่ง"

บทนี้ไม่เป็นโองการในสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ แต่เป็นการเริ่มอ่านอัล-กุรอาน อุลมาอฺบางท่านบอกว่า กล่าวในตอนเริ่มต้นการอ่านในทุกร็อกอะอฺก็ได้ บางท่านก็บอกกล่าวในร็อกอะอฺแรกก็พอเพียง อย่างไรก็ตามการที่เราจะกล่าว أَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ ถือเป็นการขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ให้พระองค์ทรงคุ้มครองจากชัยฏอนมารร้ายที่ถูกสาปแช่ง ที่มีความเลวร้ายและมีบทบาทในกระตุ้น ในการยุแหย่มนุษย์ทั่วไปให้กระทำความชั่ว ซึ่งในขณะที่มีการละหมาด มีการเคารพสักการะอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เราต้องมีสมาธิเป็นอย่างมาก เราจึงต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ให้พ้นจากชัยฏอนมารร้ายที่ยุแหย่ ที่กำลังวางอุบายให้เราออกนอกความคุชุอฺของการละหมาด ทุกคนต้องการความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา

เพราะฉะนั้นการกล่าว أَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ เป็นการประกาศว่าเราเป็นผู้ศรัทธาต้องการความช่วยเหลือ ความคุ้มครองจากพระองค์จากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา นี่คือสิ่งที่เราต้องมีความรู้สึกขณะที่กล่าวและต้องมีความต้องการจริงๆ

กล่าวคือคำว่า “أَعُوْذُ” (อะอูซุ) เป็นกริยา หมายถึง เราขอความคุ้มครองต่อ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาที่จะมาถึงบ่าวของพระองค์ จะครอบคลุมทุกๆ สถานการณ์ จะคุ้มครองบ่าวของพระองค์ในทุกเรื่อง จะช่วยให้ห่างจากความชั่วและช่วยให้กระทำความดีเพราะบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา หรือบรรดาผู้ศรัทธา ในเมื่อห่างจากชัยฏอนมารร้าย เขาก็จะกระทำความดีอย่างสะดวกและจะห่างจากความชั่วอย่างสะดวกด้วย

ตราบใดที่ชัยฏอนนั้นมีบทบาทหรือมีความสามารถในการยุแหย่มนุษย์ มนุษย์ก็จะทำความดีอย่างลำบากและจะห่างจากความชั่วอย่างลำบากด้วย แต่เมื่อมีความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ในการที่จะให้ชัยฏอนที่ถูกสาปแช่งได้หันห่างจากมุนษย์ไป มนุษย์ก็จะมีความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ เพราะบทบาทของชัยฏอนนั้นคือการดึงดูด การสร้างความวุ่นวายให้บ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนละหมาด

เราจะสังเกตได้ว่า เมื่อเข้าสู่ลักษณะหรือสภาวะแห่งการปฏิบัติศาสนกิจแล้ว สิ่งที่เรานึกหรือจำไม่ได้ก็จะมานึกหรือจำได้ตอนละหมาด อุละมาอ์ก็ยกตัวอย่างในเรื่องนี้อย่างท่านอิมามอบูหะนีฟะฮฺ

มีชายคนหนึ่งมาถามท่านว่า “ฉันลืมเงินจำนวนหนึ่ง ไม่รู้ว่าไปเก็บที่ไหน” ท่านอิมามอบูหะนีฟะฮฺก็บอกว่า “ท่านจงไปละหมาดและอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา จะช่วยท่าน” ชายคนนั้นก็ไปละหมาด ทันทีที่เข้าสู่การละหมาดก็นึกได้ว่าเงินของเขาถูกเก็บอยู่ที่ไหน เขาก็ออกจากการละหมาดและมาหาท่านอิมามอบูหะนีฟะฮฺเพื่อแจ้งข่าวดีว่ารู้ที่เก็บเงินของเขา จึงต้องออกจากการละหมาดทันที ท่านอิมามอบูหะนีฟะฮฺจึงสั่งสอนเขาว่า “นี่แหละคือชัยฏอนมารร้ายที่ต้องการให้ท่านออกจาการละหมาด อะไรที่ท่านนึกไม่ได้ ชัยฏอนก็จะนำมาให้ท่านนึกและคิดในการละหมาด เพื่อยุแหย่และดึงท่านออกจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา”

นั่นคือสภาพของผู้ศรัทธากับชัยฏอนมารร้ายที่อยู่ในการต่อสู้กันอย่างสม่ำเสมอ เป็นสงครามตลอดกาลระหว่างผู้ศรัทธากับชัยฏอนที่ต้องการให้ผู้ศรัทธาหันห่างจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เพราะฉะนั้นบรรดาผู้ศรัทธาจะไม่ประมาทศัตรูเหล่านี้ เป็นศัตรูที่เลวร้ายจริงๆ และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องนึกถึงความต้องการในขณะที่เรากล่าว أَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ
หรือจะใช้บทว่า

أَعُوْذُ بِاللهِ السَّمِيْعِ الْعَلِيْمِ مِنْ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ (อะอูซุบิลลาฮิสสะมีอิลอะลีมิ มินัชชัยฏอนิรเราะญีม)

ความหมาย "ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ (ให้พ้น) จากชัยฏอนผู้ถูกสาปแช่ง

ซึ่งท่านนบีก็เคยกล่าวบทนี้ หรือจะใช้คำว่า

أَعُوْذُ بِاللهِ السَّمِيْعِ الْعَلِيْمِ مِنْ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ مِنْ هَمْزِهِ ونَفْثِهِ وَنَفْخِهِ

(อะอูซุบิลลาฮิสสะมีอิลอะลีมิ มินัชชัยฏอนิรเราะญีมิ มินฮัมซิฮี วะนัฟษิฮี วะนัฟคิฮี)

ความหมาย "“ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ (ให้พ้น)จากชัยฏอนผู้ถูกสาปแช่ง จากการกระซิบของมัน การเป่ามนต์และการพ่นของมัน”

ท่านนบีก็เคยกล่าวเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งสามบทมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นการขอความคุ้มครอง ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ให้เราชนะชัยฏอน ให้เรามีศักยภาพในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด อย่างสวยงาม และนั่นคือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดเพื่อให้การละหมาดของเรานั้นมีความคุชุอฺ มีความนอบน้อมต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา

ความหมายของอัล-ฟาติหะฮฺมีตั้งแต่ ﴿  بِسۡمِ ٱللَّهِ ٱلرَّحۡمَٰنِ ٱلرَّحِيمِ ١ ﴾ [الفاتحة: ١]  จะได้อธิบายให้แก่พี่น้องในโอกาสต่อไปนะครับ อินชาอัลลออฮฺ

 


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 17, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ

ละหมาดอย่างมีคุชูอฺ 2 - การกล่าวอะอูซุบิลลาฮิมินัชชัยฏอนิรเราะญีม