ปัญหานี้อาจมีอยู่ในตัวคุณ

Submitted by dp6admin on Fri, 03/04/2009 - 01:32

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองปัญหา รู้ปัญหา หรือวิจารณ์ปัญหาของคนอื่น เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมีนิสัยสะสมประสบการณ์ของตนเองจากพฤติกรรมของคนอื่น ฉะนั้นอวัยวะต่างๆของเราจึงมักจะถูกใช้ให้วิจารณ์ผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงว่าตัวเราเองก็กำลังถูกวิจารณ์จากผู้อื่นเช่นกัน  อนึ่ง ทุกคนไม่อยากเห็นตัวเองเป็นผู้กระทำความผิด ประพฤติชั่วร้าย หรือมีปัญหาใดๆที่แก้ไขไม่ได้ เพราะทุกคนนั้นย่อมมีความสุขเมื่อเชื่อว่าตนเองปราศจากข้อบกพร่อง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่สุดที่คนเราจะมอง หรือรู้ หรือวิจารณ์ตนเอง เปรียบเสมือนแพทย์ที่กำลังจะลงมือผ่าตัดตัวเขาเอง ซึ่งการจะผ่าตัดให้สำเร็จอย่างไรก็ต้องเจ็บพอสมควร

เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่า ในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีข้อชี้แนะสำหรับมนุษย์ทุกคน ให้ใช้กำลังและความสามารถของเขาในการมองปัญหา รู้ปัญหา และแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกตอกย้ำหลายครั้งในหลายซูเราะฮฺ เพื่อเป็นการยืนยันในความสำคัญของเรื่องนี้ และชี้ถึงหน้าที่ของผู้ศรัทธาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตของตนด้วยวิธีนี้

ประการแรกที่อัลกุรอานได้ยืนยันไว้อย่างชัดเจนคือ มนุษย์ย่อมมีข้อบกพร่องเสมอ ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

وَخُلِقَ الإِنْسَانُ ضَعِيْفَاً

 ความว่า  “และมนุษย์นั้นถูกบังเกิดขึ้นในสภาพที่อ่อนแอ” (อันนิซาอฺ 28)

 ความอ่อนแอเป็นจุดเริ่มแห่งชีวิตของเรา ตั้งแต่สภาพน้ำอสุจิที่ไม่มีคุณค่าหากไม่รวมตัวกับไข่และฝังตัวในมดลูก ซึ่งเป็นสถานที่แห่งความมืดและความจำกัด ดังที่อัลลอฮฺทรงแนะนำให้เราพินิจพิจารณาสภาพดังกล่าวโดยพระองค์ตรัสไว้ว่า

فَلْيَنْظُرِ الإِنْسَانُ مِمَّ خُلِقَ . خُلِقَ مِنْ مَاءٍ دَافِقٍ .

ความว่า “ดังนั้น มนุษย์จงไตร่ตรองดูสิว่า เขาถูกบังเกิดมาจากอะไร.

 เขาถูกบังเกิดมาจากน้ำที่พุ่งออกมา”
  (อัฏฏอริก 5-6)

 ภาพนี้เป็นภาพที่ผู้ศรัทธาไม่ควรลืมเลย และเป็นอุทาหรณ์ที่นักปรัชญามุสลิมมักจะหยิบยกมาเพื่อเตือนสติผู้ลืมตัวละเมิดตำแหน่งตนเอง ให้ระลึกถึงจุดเริ่มของตัวเขา เพื่อขจัดความเย่อหยิ่งโอหังที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ไม่ยอมมองตนเอง แต่กลับเชี่ยวชาญในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น

ความอ่อนแอหรือข้อบกพร่องต่างๆของเรา เป็นมุมเดียวที่จะบังคับให้เราสนใจค้นหาความผิดในตัวเราเองมากกว่าความผิดของผู้อื่น  แต่อัลกุรอานยังเสนออีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นมุมที่น้อยคนจะยอมรับหรือนำไปปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาของตนเอง โดยอัลกุรอานยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนรู้ดีถึงปัญหาของตนเอง ดังอายะฮฺที่ระบุไว้ว่า

بَلِ الإِنْسَانُ عَلَى نَفْسِهِ بَصِيْرَةٌ وَلَوْ أَلْقَى مَعَاذِيْرَه

ความว่า “มนุษย์นั้นเป็นพยานต่อตัวของเขาเอง ถึงแม้ว่าเขาจะเสนอข้อแก้ตัวของเขาก็ตาม”  (อัลกิยามะฮฺ 14-15)

จากอายะฮฺนี้เราต้องตระหนักดีว่า ทุกปัญหาในตัวเราย่อมกระจ่างสำหรับเรา แต่การที่เราไม่รู้หรือไม่มองถึงปัญหา ก็เพราะเราหนีปัญหาต่างหาก อันเป็นสิ่งที่เราจะรู้สึกและสัมผัสได้หากเรามีความจริงใจกับตัวเราเอง

คำชี้แนะดังกล่าวของอัลกุรอาน เป็นพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาบุคลิกภาพของมุสลิม และเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยายอมรับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการแก ้ไขทุกปัญหาทางด้านจิตใจ เราต้องมองถึงปัญหาของตัวเราเองอย่างโปร่งใส ไม่มีสิ่งปิดบังหรือบิดเบือนมิให้เราเห็นสภาพที่แท้จริงของตัวเราอย่างชัดเจน

ปัญหาที่ประชาชาติอิสลามกำลังประสบในปัจจุบันนี้มีมากมาย จึงทำให้มุสลิมทุกคนต้องมีความห่วงใยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัญหาส่วนตัวของแต่ละคนก็จะเป็นองค์ประกอบของปัญหาใหญ่แห่งประชาชาติ เมื่อเราตระหนักดีแล้วในการแก้ไขปัญหาของตนเอง นั่นก็หมายถึงว่าเรากำลังมุ่งมั่นสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชาติโดยปริยาย

คนที่ไม่มีความสามารถในการมองปัญหาตนเอง หรือไม่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาของตนเองนั้น ย่อมจะไม่ประสบความสำเร็จในการมอง วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาของประชาชาติ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมทุกคนที่กำลังเศร้าโศกต่อสถานการณ์โลกมุสลิม ที่จะต้องเริ่มลงมือช่วยประชาชาติอิสลาม ช่วยมุสลิมในทุกมุมโลกนี้ ด้วยการแก้ไขปัญหาของตนเองก่อน หากสมาชิกของประชาชาติอิสลามมีประสิทธิภาพในเรื่องนี้ ย่อมเป็นเครื่องหมายที่จะบ่งชี้ถึงอนาคตอันงดงามและรุ่งเรือง

แต่จะทำอย่างไรให้มุสลิมและมุสลิมะฮฺมีศักยภาพในการมองและแก้ไขปัญหาของตนเอง นั่นคือสิ่งที่เราจะนำเสนอกับพี่น้องในบทความต่อๆไป อินชาอัลลอฮฺ


ที่มา : วารสารร่มเงาอิสลาม ส.ค.47, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี