เงินบาปจะนำไปใช้ในชีวิตของเราได้ไหม ?

Submitted by dp6admin on Wed, 08/04/2009 - 13:28

การสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ศานติและความเมตตาจงประสบแด่ท่านนบีมุฮัมมัด บรรดาสาวกของท่าน และผู้ปฏิบัติตนตามแนวทางของท่าน

          ในการบันทึกของท่านอิมามบุคอรียฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงยึดความรู้จากกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด โดยยึดความรู้จากหัวใจของผู้รู้ดอก แต่ทว่าพระองค์จะทรงยึดความรู้จากกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด ด้วยการยึดชีวิตของผู้รู้ จนกระทั่งจะไม่เหลือซึ่งผู้รู้สักคนหนึ่ง บรรดามนุษย์ทั้งหลายก็จะยึดผู้โง่เขลางมงายเป็นหัวหน้า พวกเขา(ผู้โง่เขลา)จะให้คำชี้ขาด(ในเรื่องศาสนา)โดยไร้ความรู้ พวกเขาจึงหลงผิดและจะทำให้ผู้อื่นหลงผิดไปด้วยสภาพที่ถูกระบุในหะดีษนี้เป็นสภาพที่น่าสังเกตในสังคมปัจจุบัน ไม่กล่าวถึงเรื่องปลีกย่อยลึกลับหรือคลุมเครือ แต่พูดถึงกรณีปัญหาที่ใหญ่โตชัดเจนและมีคำชี้ขาดอยู่แล้ว

        

 

            ครั้งนี้ ผมจะพูดกับพี่น้องถึงปัญหาหนึ่งในสังคม เป็นปัญหาที่เกิดจากการที่ทุกคนในสังคมยังมองไม่เห็นซึ่งสงครามระหว่างธรรมะกับอธรรม ความดีกับความชั่ว หรือศรัทธากับปฏิเสธ ปัญหานี้คือการใช้ทรัพย์สินโดยมิชอบตามหลักศาสนา อันเป็นเรื่องเก่าแก่ที่พี่น้องอาจได้ยินมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้การใช้ทรัพย์สินหะรอมกลายเป็นระบบหรือเป็นกติกา โดยมีการรณรงค์ให้สังคมมุสลิมถนัดกับทรัพย์สินหะรอม (หมายถึง ไม่รังเกียจและไม่รู้สึกว่าผิดที่จะใช้) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงระหว่างวิชาการศาสนาอิสลามและการปกครองบ้านเมือง จึงจะทำให้มีผลที่ร้ายแรงต่อหลักจริยธรรมของมุสลิม

          พี่น้องคงเคยได้ยินเรื่องสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ในหน่วยงานรัฐบาลและข้าราชการอย่างมากมาย กองทุนนี้ถูกนำมาจากภาษีสุราและยาสูบ โดยมีนโยบายจากรัฐบาลและสถาบันบริหารสังคมมุสลิม ที่จะให้ชาวมุสลิมในประเทศไทยพร้อม(ทางจิตใจ)ที่จะรับเงินสนับสนุนก้อนนี้ไปใช้ในกิจกรรมของสังคมมุสลิม ซึ่งผมมองเห็นว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวง และจำเป็นต้องนำมาพูดกับพี่น้องในครั้งนี้

          ปัญหากองทุน สสส. มิใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดในสังคมของเรา หากเป็นผลร้ายที่เกิดจากการที่สังคมมุสลิมไม่ตระหนักในจุดยืนและอุดมการณ์ของอิสลามตั้งแต่แรก ซึ่งจะมองว่าเป็นปัญหาที่มันสะท้อนจากตัวเราเองที่มีความจำเป็นต้องศึกษาและเคร่งครัดกับหลักการยิ่งขึ้น และยังมีเรื่องการเมือง(ในประเทศและต่างประเทศ) และเรื่องอิทธิพลของศัตรูอิสลามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อย่างชัดเจน

            ก่อนที่ผมจะชี้แจงในเรื่องกองทุน สสส. ขอนำเสนอซึ่งอุดมการณ์และเหตุผลที่มุสลิมต้องตระหนักอย่างมั่นคงดังต่อไปนี้

1. คำชี้ขาดในหลักการอิสลามต้องอาศัยหลักฐานจากอัลกุรอาน ซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรืออิจญฺมาอฺ(การลงมติเอกฉันท์ในคณะนักปราชญ์ของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีน้ำหนักเท่าเทียมกับพระดำรัสในอัลกุรอานและหะดีษ) หากไม่มีหลักฐานข้างต้นก็ต้องใช้การวินิจฉัยด้วยหลักการทั่วไปของศาสนบัญญัติแห่งอัลอิสลาม โดยประกอบด้วยการยึดมั่นในเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติต่างๆ

2. มุสลิมเชื่อมั่นว่าชีวิตของเขาย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า อันเป็นสภาพที่จะทำให้เขาต้องคำนึงถึงพระบัญชาแห่งพระเจ้าอยู่เสมอ และจะทำให้ชีวิตของมุสลิมนั้นขึ้นอยู่กับหลักกฎหมาย จริยธรรม และศีลธรรมแห่งอิสลาม

3. เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างนักปราชญ์ จำเป็นต้องให้คำชี้ขาดและน้ำหนักอยู่กับฝ่ายที่มีหลักฐานจากศาสนบัญญัติ

4. สิ่งใดที่จะทำลายหลักศรัทธา หลักศีลธรรม อุดมการณ์ของมุสลิม และความมั่นคงของสังคม มุสลิมจำเป็นต้องประกาศความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน เพื่อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการปราบปรามความชั่ว อันเป็นบทบาทของประชาชาติอัลอิสลาม และเป็นคุณสมบัติของมุสลิมทุกคน

5. ผู้มีสิทธิในการให้คำชี้ขาด(ฟัตวา)ต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการที่สำคัญคือ

1 มีความรู้ด้านวิชาการศาสนารวมทั้งภาษาอาหรับ นิติศาสตร์ และวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และเอื้ออำนวยให้การวินิจฉัยนั้นไปตามกระบวนการของอิจญฺติฮาด(คือการวินิจฉัยในตัวบท)

2 มีความรู้เกี่ยวกับกรณีหรือวาระหรือเหตุการณ์ที่กำลังวินิจฉัยอย่างละเอียด(ฟิกฮุลวาเกียะอฺ) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญเพื่อให้คำชี้ขาด(ฟัตวา)สอดคล้องกับความเป็นจริง

 

จากห้าประการดังกล่าว ผมขอนำเสนอข้อมูล(ที่เป็นความจริง)เกี่ยวกับกองทุน สสส. เพื่อเป็นการเริ่มวินิจฉัยเรื่องนี้ให้ตรงประเด็น ดังต่อไปนี้

1. ประเทศไทยมิใช่ประเทศมุสลิม แต่เป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมส่วนน้อยอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย โดยมีสิทธิหน้าที่ถูกระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2545 และประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้ใช้กฎหมายอิสลาม มุสลิมจึงต้องประสบปัญหาเมื่อกฎหมายไทยไม่ตรงกับกฎหมายอิสลาม แต่ตามหลักศาสนาอิสลามหากเป็นข้อบังคับที่จำเป็นต้องปฏิบัติ(ถ้าไม่ปฏิบัติอาจประสบความเสียหายทางศาสนา ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สมบัติ) ก็อนุโลมให้กระทำโดยไม่มีโทษ

2. รัฐบาลมีนโยบายบางประการที่ไม่ตรงกับหลักการศาสนาอิสลามอยู่แล้ว เช่น การส่งเสริมการค้าบางประเภทที่ไม่อนุมัติตามหลักศาสนาอิสลาม อาทิเช่น การค้าสุรา หรือการท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมชั่วร้ายในทัศนะอิสลาม แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาลจะไม่บังคับประชาชนให้เลือกสิ่งที่ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นความชั่วร้าย ดังนั้น มุสลิมทุกคนในประเทศไทยมีทางเลือกในกรณีดังกล่าว

3. รัฐบาลตระหนักในผลอันตรายของอบายมุขที่มีอยู่ในสังคม อาทิ ยาสูบ สุรา ยาเสพติด การค้าประเวณี จึงมีวิถีทางหลายรูปแบบที่จะขจัดสิ่งดังกล่าว แต่บางรูปแบบอาจไม่สอดคล้องกับความถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

4. รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษี ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ให้ตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในพระราชบัญญัติได้ระบุว่า แหล่งเงินทุนหลักของ สสส. มาจากเงินบำรุงที่รัฐจัดเก็บจากผู้ผลิตและนำเข้าสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่ต้องชำระ

5. กองทุนของ สสส. เป็นส่วนภาษีที่ถูกแยกอย่างชัดเจนโดยมีพระราชบัญญัติและระเบียบข้อบังคับที่จะควบคุมการบริหารเงินก้อนนี้ ซึ่งลักษณะของกองทุน สสส. มีความชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีใครสามารถกล่าวหาหรือบิดเบือนหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะดังกล่าว

 

จากข้อมูลข้างต้นเราสามารถชี้ขาดว่า กองทุนของ สสส. เป็นกองทุนที่มี 2 ลักษณะ

1.      เป็นภาษี

2.      เป็นส่วนรายได้ที่มาจากสุราและยาสูบ

จากสองลักษณะดังกล่าวที่พิสูจน์แล้วว่าสอดคล้องกับความเป็นจริง คำถามที่จะเกิดตามมาคือ กองทุนของ สสส. ซึ่งมีลักษณะดังกล่าวนั้น มุสลิมสามารถนำเอามาใช้ในกิจกรรมส่วนตัว ส่วนรวม หรือกิจกรรมศาสนา ได้หรือไม่

คำตอบก็จะแบ่งเป็น 4 หัวข้อที่สืบเนื่องกัน

1.      รายได้หรือเงินหรือทรัพย์สมบัติที่หะรอมไม่อนุญาตให้มุสลิมใช้เป็นอันขาด

2.      การเก็บภาษีเป็นที่อนุมัติในหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่

3.      รายได้จากสุรา ยาสูบ หรืออบายมุขต่างๆ เป็นรายได้หะล้าลหรือหะรอม

4.      มีทางออกหรือทัศนะใดที่อนุมัติให้ใช้กองทุนดังกล่าวหรือไม่

 

ประการที่ 1

รายได้หรือเงินหรือทรัพย์สมบัติที่หะรอมไม่อนุญาตให้มุสลิมใช้เป็นอันขาด

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าศาสนาอิสลามห้ามบริโภคและใช้ทรัพย์สินที่มาจากแหล่งต้องห้าม แม้จะเป็นรายได้ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม หรืออื่นๆ ซึ่งมีหลักฐานดังต่อไปนี้

1. บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าจากสิ่งดีๆของสิ่งที่พวกเจ้าได้แสวงหาไว้ และจากสิ่งที่เราได้ให้ออกมาจากดินสำหรับพวกเจ้า และพวกเจ้าอย่ามุ่งเอาสิ่งที่เลวจากมันมาบริจาค ทั้งๆที่พวกเจ้าเองก็มิใช่จะเป็นผู้รับมันไว้ นอกจากว่าพวกเจ้าจะหลับตาในการรับมันเท่านั้น และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงมั่งมี ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ[1] สิ่งดีๆ หมายถึง สิ่งหะล้าล

2. และ(นบีมุฮัมมัด)จะอนุมัติให้แก่พวกเขา(ประชาชาติ)สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขาซึ่งสิ่งที่เลวทั้งหลาย[2]

3. ในการบันทึกของอัลบุคอรียฺและมุสลิม รายงานโดย อันนุอฺมาน อิบนุบะชีร   จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า แท้จริงสิ่งหะล้าลมีความชัดเจนแล้ว และสิ่งหะรอมก็มีความชัดเจน(เช่นเดียวกัน) และระหว่างหะล้าลกับหะรอมจะมีสิ่งคลุมเครือ มนุษย์ส่วนมากจะไม่รู้ ใครที่สำรวมตนจากข้อคลุมเครือนั้นก็จะทำให้ศาสนาและชื่อเสียงของเขามีความบริสุทธิ์ และใครที่ตกอยู่(กระทำ)ข้อคลุมเครือ ก็จะตกอยู่(กระทำ)สิ่งหะรอม หะดีษบทนี้มิได้ห้ามแต่เพียงสิ่งหะรอมชัดเจน แต่ยังห้ามสิ่งที่คลุมเครือด้วย

ท่านอิมามอบูฏอลิบ อัลมักกียฺ ได้กล่าวในหนังสือกูตุลกุลูบว่า การค้าและอาชีพทุกชนิดที่บ่าวของอัลลอฮฺจะฝืนพระบัญญัติแห่งคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮฺ ก็มิใช่การค้าหรืออาชีพที่หะล้าล ถึงแม้ว่าชื่อ(หะล้าล)จะปรากฏ เพราะเนื้อหาของชื่อที่ถูกต้องไม่ปรากฏ 

 

ประการที่ 2

การเก็บภาษีเป็นสิ่งที่อนุมัติในหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่

          การเก็บภาษีโดยอยุติธรรมถือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม ท่านอิมามอิบนุฮัซมฺ[3] ได้กล่าวว่า และมีเอกฉันท์ว่าจุดเก็บภาษีตามทางเดิน หรือหน้าประตูเมืองต่างๆ หรือที่ถูกเก็บตามตลาดต่างๆ จากสินค้าที่ถูกนำมาโดยผู้เดินทางหรือพ่อค้า ถือเป็นความอธรรมอย่างมหันต์ สิ่งต้องห้ามและเป็นการฝ่าฝืนต่อหลักการ และในฮาชีญะตุลบิเญรมี(มัซฮับชาฟิอียฺ)[4] มีคำกล่าวว่า สำหรับอัลอะการิอฺ(อาหารชนิดหนึ่ง)ที่ถูกเก็บเป็นภาษีในปัจจุบันนี้(สมัยท่านบิเญรมี) ทัศนะที่เที่ยงธรรมคือต้องห้าม(เป็นหะรอม) และในหนังสืออัลอัชบาฮุวันนะซออิรุ ฟีเกาะวาอิดิ วะฟุรูอิ ฟิกฮิชชาฟิอียะติ ของอิมามสะยูฏียฺ หน้า 105 ท่านอิมามสะยูฏียฺได้ระบุกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการวินิจฉัยให้คำตัดสินสำหรับผู้วินิจฉัย ซึ่งมีสำนวนว่า อิซัจตะมะอะ อัลหะลาลุวัลหะรอมุ ฆอละบัลหะรอม หมายความว่า ถ้าทรัพย์สินหะล้าลรวมกับทรัพย์สินหะรอม ทรัพย์สินหะรอมจะมีน้ำหนักมากกว่า ท่านอิมามสะยูฏียฺได้รายงานจากคำชี้ขาดของอิมามนะวะวียฺดังต่อไปนี้ ถ้าผู้เก็บภาษี(โดยอยุติธรรม)จากคนหนึ่งคนใดได้ยืมเงินจำนวนหนึ่งและนำไปปะปนกับเงินภาษี(ที่เป็นความอธรรม) และได้คืนเงินยืมที่ถูกปะปนแล้ว ไม่อนุมัติให้ใช้เงินภาษีดังกล่าวจนกระทั่งต้องคืนแก่เจ้าของเงินจำนวนนั้น และในฟะตาวาอิบนิศศ่อลาฮฺ มีฟัตวาดังต่อไปนี้ หากเงินจำนวนหนึ่งที่เป็นเงินหะล้าลถูกปะปนด้วยเงินหะรอม และไม่สามารถรู้จำนวนเงินที่หะรอม วิธีปฏิบัติคือการจำแนกจำนวนเงินหะรอมด้วยเจตนาแบ่งสัดส่วนและใช้ส่วนเหลือ(หมายถึงไม่อนุญาตให้ใช้เงินหะรอม) และในหนังสืออิหฺยาอุอุลูมิดดีนของอิมามฆอซาลียฺมีคำกล่าวดังนี้ หากเมืองหนึ่งเมืองใดมีเงินหะรอมจำนวนมาก(ถูกปะปนกับเงินหะล้าล ไม่เป็นที่ต้องห้ามซึ่งการค้า(การซื้อการขาย) แต่ทว่าใช้เงินดังกล่าวได้ เว้นแต่กรณีที่เงินหะรอมนั้นมีลักษณะชัดเจน(ว่าเป็นเงินหะรอม)ก็ไม่อนุญาตให้ใช้ จากคำกล่าวของผู้รู้ที่ระบุข้างต้น ซึ่งเป็นบรรดานักปราชญ์ในมัซฮับชาฟิอียฺทั้งสิ้น จะเห็นว่าทรัพย์สินที่มีลักษณะหะรอมแล้ว ไม่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นอันขาด

ในมัซฮับอิมามอบูหะนีฟะฮฺ อิมามมาลิก และอิมามอะหมัด ก็มีคำชี้ขาดเกี่ยวกับเรื่องภาษีที่ อยุติธรรมเช่นที่ระบุข้างต้นจากมัซฮับชาฟิอียฺ

          ตามข้อมูลที่ผมได้นำเสนอเกี่ยวกับกองทุน สสส. พี่น้องมุสลิมย่อมจะตระหนักว่าภาษีที่ถูกเก็บจากสุราและยาสูบ นอกจากจะเป็นภาษีที่ถูกเก็บโดยอยุติธรรมแล้ว ยังเป็นภาษีที่ถูกเก็บจากรายได้สินค้าที่ต้องห้ามตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งจำเป็นต้องปราบปรามการค้าสุราและยาสูบ มิใช่ส่งเสริมหรืออนุโลม และการใช้ภาษีดังกล่าวถือว่าเป็นการยอมรับในระบบการเก็บภาษีจากสินค้าดังกล่าว ซึ่งไม่มีข้อบังคับที่จะให้มุสลิมต้องใช้กองทุนนี้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า กองทุน สสส. เป็นส่วนภาษีหะรอมตามหลักการศาสนาอิสลาม เราจำเป็นต้องปฏิเสธและออกห่าง เพื่อปกป้องสังคมมุสลิมให้ปราศจากมลทินและข้อห้ามต่างๆ

 

ประการที่ 3

รายได้จากสุรา ยาสูบ หรืออบายมุขต่างๆ เป็นรายได้หะล้าลหรือหะรอม

          สุรากับยาสูบตามหลักศาสนาอิสลามและกฎหมายบ้านเมือง เป็นอบายมุขที่ขัดกับศีลธรรมทุกศาสนา ตามสถิติอุบัติเหตุและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากสุราและบุหรี่มีข้อมูลที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามันนำความหายนะมาสู่ประชาชน จึงไม่มีข้อแคลงใจว่าเป็นสินค้าที่ต้องถูกต่อต้านโดยทั่วไป และในคัมภีร์อัลกุรอานก็มีคำสั่งใช้ให้ต่อต้านสิ่งเหล่านี้ ในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 90 ซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่จริงสุราและการพนัน และแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ คำว่า ฟัจญฺตะนิบู ในอายะฮฺนี้ถูกแปลว่า จงห่างไกลจากมันเสีย ซึ่งเป็นคำสั่ง(อัมรฺ) และคำสั่งในอัลกุรอานย่อมมีความจำเป็นต้องปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การเกี่ยวข้อง บริโภค หรือใช้กองทุน สสส. ถือว่าขัดคำสั่งของอัลกุรอาน ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นที่จะบังคับสังคมมุสลิมให้ใช้กองทุนดังกล่าว  และยังเป็นกองทุนที่จะทำลายจุดยืนอันเข้มแข็งของสังคมมุสลิมเกี่ยวกับอบายมุขที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์สังคมมุสลิม บรรพบุรุษและนักปราชญ์อิสลามได้สร้างชื่อเสียงและจุดยืนต่ออบายมุขต่างๆ หากเราได้ใช้กองทุน สสส. ปัจจุบันนี้ ก็เปรียบเสมือนเรากำลังทำลายชื่อเสียง ศักดิ์ศรี และความบริสุทธิ์ของชาวมุสลิม

          ผมขอให้พี่น้องตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้นำกองทุนของเขามาส่งเสริมกิจกรรมศาสนาของชาวมุสลิม เช่น การจัดรายการวิทยุภาคมุสลิม บรรดามูลนิธิและสมาคมที่เผยแผ่อิสลาม หรือชมรมมุสลิมต่างๆ ทั้งๆที่กิจกรรมของสถาบันดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพทั้งสิ้น จึงเป็นข้อสงสัยที่ทำให้สังคมมุสลิมต้องระมัดระวังในการรับการสนับสนุนจากหน่วยราชการหรือสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะที่มีข้อเกี่ยวข้องกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ประการที่ 4

มีทางออกหรือทัศนะใดที่อนุมัติให้ใช้กองทุน สสส. หรือไม่

          คำชี้ขาดของผู้รู้บางท่านได้อ้างถึงคำกล่าวในมัซฮับต่างๆที่พูดถึงทรัพย์สินหะรอมที่อยู่ในบัยตุลมาล(คือกระทรวงการคลังของสังคม) ซึ่งมีทัศนะที่อนุโลมให้ใช้ทรัพย์สินประเภทนี้ จึงทำให้ผู้รู้บางท่านคิดว่าลักษณะกองทุน สสส. สอดคล้องกับลักษณะทรัพย์สินที่ระบุข้างต้น แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกระทรวงการคลังแห่งประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการการปกครองแผ่นดินด้วยกฎหมายอิสลาม ทำให้ระบบต่างๆเกี่ยวกับการบริหารมีข้อขัดแย้งกับหลักการศาสนาอิสลาม ส่วนทัศนะที่ระบุข้างต้นได้พูดถึงเงินหะรอมที่ถูกนำมาอยู่ในกระทรวงการคลัง โดยไม่ใช่รายได้ของประเทศชาติ เฉกเช่นเงินขโมยหรือทรัพย์สินผู้ทุจริตที่ถูกยึดมา หรือทรัพย์สินที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งจำเป็นต้องมีทางออก เพราะไม่ได้ถูกเรียกมาโดยระบบของกระทรวงการคลัง แต่กองทุน สสส. ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นรายได้ประจำของกระทรวงการคลังและมีกฎหมายควบคุมอยู่ จึงแตกต่างจากเงินดังกล่าว และกองทุน สสส. นั้นมิใช่แต่เพียงทรัพย์สินหะรอมที่ปะปนกับรายได้อันบริสุทธิ์อื่นๆ แต่เป็นกองทุนที่ถูกแยกจากภาษีอื่นๆ ด้วยพระราชบัญญัติเฉพาะ จึงทำให้ลักษณะกองทุน สสส. มีความชัดเจนในตัวมัน ก็หมายถึงอยู่ในเครือข่ายคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่กล่าวไว้ว่า วัลหะรอมุบัยยินุน หมายถึง สิ่งที่ต้องห้ามก็มีความชัดเจนแล้ว

          ผมเห็นว่ากองทุน สสส. ซึ่งไม่มีความขัดแย้งว่ามาจากแหล่งที่ต้องห้ามตามทัศนะอิสลามแน่นอน เป็นกองทุนที่กำลังถูกนำไปฟอกในสังคมมุสลิมเหมือนเงินฟอกที่ผิดกฎหมายแน่นอน เพียงแต่กองทุน สสส. ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองแต่ผิดกฎหมายอิสลาม เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งแปลกประหลาดที่ ปปง. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ไม่มีสิทธิตรวจสอบกองทุน สสส. ทั้งๆที่เป็นเงินที่งอกมาโดยไม่ชอบธรรม เปรียบเสมือนหวยบนดินที่รัฐบาลจัดการอยู่ไม่ได้ถูกปราบปราม แต่ที่อยู่ใต้ดินจึงเป็นหวยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสภาพที่ให้เห็นว่าการวินิจฉัยตัดสินว่ากองทุน สสส. ใช้ได้นั้น เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนไม่รอบคอบและไม่เจาะลึกถึงระบบการบริหารและการปกครองบ้านเมืองโดยคำนึงถึงหลักการศาสนาอิสลามที่ใช้ให้มุสลิมเป็นตัวอย่างแห่งสัจธรรมและศีลธรรม ผมขอให้พี่น้องมุสลิมมองว่ากองทุน สสส. เป็นทรัพย์สินที่ทรยศสังคม ทรัพย์สินโสมมและสกปรกที่กำลังถูกนำมาฟอกในสังคมมุสลิม เพื่อให้สังคมมุสลิมมีความรับผิดชอบในส่วนสกปรกนั้น และขอให้พี่น้องมุสลิมทั้งหลายมีวิสัยทัศน์ที่คำนึงถึงผลเสียหายด้านความบะรอกัตที่จะเกิดจากกองทุน สสส.

นอกจากนั้นกองทุน สสส. มิใช่เงินตอบแทนต่อผลงานที่สังคมมุสลิมได้รับใช้รัฐบาลไว้ แต่เป็นทรัพย์สินที่ถูกนำเสนอจากรัฐบาลฝ่ายเดียว ทั้งๆที่มุสลิมไม่มีส่วนจ่ายภาษีสุราและยาสูบทั้งสิ้น จากเหตุผลดังกล่าวและอื่นๆที่เกี่ยวกับสถานการณ์สังคมภายในประเทศและต่างประเทศ และเหตุผลเกี่ยวกับการเผชิญระหว่างวัฒนธรรมอิสลามกับวัฒนธรรมอื่นๆ และเหตุผลเกี่ยวกับแผนการของศัตรูอิสลามที่ต้องการทำลายสังคมมุสลิมทุกพื้นที่ ผมไม่เห็นว่ามีทางออกหรือทัศนะใดๆ ที่จะอนุโลมให้สังคมมุสลิมใช้กองทุน สสส. ได้

อย่างไรก็ตาม การที่ผมไม่เห็นด้วยกับการนำกองทุน สสส. มาใช้ในสังคมมุสลิมนั้น มิใช่หมายรวมว่ากองทุนนี้ต้องถูกทำลายหรือห้ามนำมาใช้เป็นอันขาด แต่ผมเห็นว่ากองทุนนี้รัฐบาลควรนำไปใช้ในสาธารณประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา เช่น ช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจากการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และเสพยา หรือนำไปช่วยเหลือคนป่วยที่มีโรคร้ายแรงและไม่มีกองทุนสนับสนุน อาทิเช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ฟอกไต ซึ่งกรณีดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะอนุโลมให้ใช้กองทุนนี้ได้ เปรียบได้กับที่ศาสนาอนุโลมให้รับประทานอาหารหะรอมในกรณีฎอรูเราะฮฺ ซึ่งจากตรงนี้พี่น้องจะเห็นว่า กิจกรรมของมัสยิดและสถาบันต่างๆในสังคมมุสลิมไม่มีความจำเป็นที่จะรับเงินก้อนนี้ ดังนั้นขอให้พี่น้องมุสลิมทุกท่าน โดยเฉพาะผู้บริหารองค์กร หนักแน่นในหลักการศาสนาอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รู้ที่เป็นผู้นำสังคมจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งและตระหนักในจริยธรรมอิสลาม และอย่าให้เรื่องการเมืองและผลประโยชน์เป็นตัวตั้งในปัญหานี้

เรื่องนี้ไม่ใช่คำชี้ขาดเฉพาะปัญหากองทุน สสส. หากเป็นแนวทางของมุสลิมต่อทุกสิ่งที่เป็นข้อห้ามในหลักการของศาสนา จึงขอให้ปัญหาที่ผมนำเสนอตรงนี้ เป็นตัวอย่างที่ควรนำไปวิเคราะห์และยึดในความถูกต้องโดยใช้หลักศรัทธาอันมั่นคงของท่านและดุลยพินิจอันบริสุทธิ์ของผู้ศรัทธา

สุดท้าย ขอฝากไว้กับพี่น้องซึ่งอุทาหรณ์ที่มีความประจักษ์สำหรับเรื่องนี้และเป็นบทเรียนที่ลึกซึ้งในซูเราะตุลอะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 58 อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า และเมืองที่ดีนั้นพืชของมันจะงอกออกมาด้วยอนุมัติแห่งพระเจ้าของมัน และเมืองที่ไม่ดีนั้นพืชของมันจะไม่ออกนอกจากในสภาพแกร็น ในทำนองนั้นแหละ เราจะแจกแจงบรรดาโองการทั้งหลายแก่กลุ่มชนที่ขอบคุณ

ขอพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงประทานความเตาฟีกฮิดายะฮฺให้แก่พี่น้องมุสลิมในสังคมของเราโดยทั่วกันเทอญ

 



[1] อัลบะเกาะเราะฮฺ 172

[2] อัลอะอฺรอฟ 157

[3] ในหนังสือมะรอติบุลอิจญฺมาอฺ หน้า 121

[4] ญุซอฺที่ 3 หน้า 130