1078 การละหมาดญุมุอะฮฺในสถาบันการศึกษา

Submitted by dp6admin on Sun, 12/04/2009 - 06:44

คำถาม :

อัสลามมูอาลัยกุม วาเราะฮฺมาตุลเลาะฮฺ  วาบารอกาตุฮฺ

ด้วยทางชมรมศาสนศึกษา  แผนกอิสลาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ได้มีปัญหาบางประการในการละหมาดญุมุอะฮฺ  ซึ่งแต่เดิมทางนักศึกษามุสลิมได้เดินทางไปละหมาด ณ มัสยิดใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย  แต่ใช้เวลาในการเดินทางไปละหมาดอย่างพอสมควร  จึงทำให้นักศึกษาบางคนไม่สะดวกในการเดินทางไปละหมาด  เนื่องมาจากในรายวิชาที่เรียนตอนบายโมง  จะเข้าเรียนไม่ทัน  อาจารย์บางท่านไม่เข้าใจในภารกิจในส่วนของตรงนี้  ถึงกับ  พอถึงเวลา 13.00 น. ของวันศุกทร์  อาจารย์จะปิดประตูห้องทันที  จะไม่สามารถมารถเข้าเรียนได้  หรือบางครั้งก็มีการสอบย่อยของรายวิชานั้นๆ  ทำให้ยากลำบาก  ทางชมรมศาสนศึกษา แผนกอิสลาม  จึงมีนโยบายที่จะจัดละหมาดญุมุอะฮฺขึ้นภายในมหาวิทยาลัย  โดยสถานที่จัดละหมาดนั้นเป็นห้องเทควันโด  ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้งาน  ก็เลยเป็นห้องชัวคราวในการทำภารกิจทางศาสนาอิสลาม  แต่ตอนนี้ประสบปัญหาในบางประการ  คือ มีพี่น้องในชมรมมุสลิมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไม่เห็นด้วย  อันเนืองมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น

- ถือหลักอีหม่ามซาฟีอี  จึงยึดติดกับจำนวน

- ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่ใช้คนประจำถิ่น  มาเรียน พอเรียนจบแล้วก็กลับภูมิลำเนาของตน

- บางคนอ้างว่าสถานที่ละหมาดที่จะทำในการละหมาดวันศุกร์ต้องเป็นมัสยิดเท่านั้น

ทางชมรมจึงมีความต้องการทราบถึงกฎเกณฑ์ของศาสนาที่ว่าโดยการละหมาดญุมุอะฮฺในกรณีดังกล่าวข้างต้น  จึงขอความกรุณาจาก เชคริฎอ อะหมัด  สมะดี ในการอธิบายหลักเกณฑ์ศาสนากับเรื่องเหล่านี้

ยาซากัลลอฮฺค็อยรอน

ชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

คำตอบ :

มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และขอสรรเสริญสดุดีต่อท่านร่อซูลมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ผู้เป็นแบบฉบับของผู้ศรัทธาในการดำรงชีวิตรวมถึงการปฏิบัติศาสนกิจ

การละหมาดญุมุอะฮฺเป็นภารกิจสำคัญที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ ต่อเมื่อครบซึ่งเงื่อนไขที่ศาสนาระบุไว้สำหรับการละหมาดญุมุอะฮฺ ซึ่งบทบัญญัติต่างๆในอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ล้วนเป็นการเรียกร้องให้มุสลิมได้ละหมาดญุมุอะฮฺและข่มขู่ผู้ที่ตั้งใจละทิ้งการละหมาดญุมุอะฮฺ อาทิเช่น

ในอายะฮฺที่ 9 ของซูเราะฮฺญุมุอะฮฺซึ่งมีความหมายว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก(อะซาน)เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้"

และท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า "แน่นอน ฉันตั้งใจจะสั่งให้มีชายคนหนึ่งนำละหมาดผู้คนทั้งหลาย แล้วฉันจะเผาบ้านผู้ที่ทิ้งการละหมาดญุมุอะฮฺ" (บันทึกโดยอิหม่ามเฏาะฮาวียฺ ในหนังสือมุชกินอัลอาษาร)

การละหมาดญุมุอะฮฺเป็นเอกลักษณ์แห่งเอกภาพในสังคมมุสลิม จึงมีชื่อว่า "ญุมุอะฮฺ" อันหมายถึง "การชุมนุม, การรวมตัว, สามัคคี" ฉะนั้นมุสลิมทุกคนต้องให้ความสำคัญในการละหมาดญุมุอะฮฺ ถึงแม้ว่าจะเกิดอุปสรรคต่างๆก็ตาม

การละหมาดญุมุอะฮฺสำหรับนักศึกษาในสถาบันต่างๆ ได้มีข้อถกเถียง 3 ประการที่สมควรชี้แจง

ประการแรก จำนวนผู้ที่มาร่วมละหมาดญุมุอะฮฺ - ซึ่งพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยส่วนมากนับถือมัซหับชาฟิอียฺ และในมัซหับนี้มีเงื่อนไขว่าจำเป็นต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 40 คน ซึ่งทัศนะของมัซหับชาฟิอียฺตรงนี้เป็นทัศนะที่อ่อนหลักฐานอย่างยิ่ง และบรรดาอุละมาอฺในมัซหับอื่นๆไม่เห็นด้วย เพราะมีหลักฐานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ชัดเจนว่าการละหมาดเพียง 2 คนถือว่าเป็นญะมาอะฮฺ และไม่มีหลักฐานใดๆ ห้ามละหมาดญุมุอะฮฺน้อยกว่า 40 คน ซึ่งการละหมาดญุมุอะฮฺนั้นเป็นภารกิจที่มุสลิมทุกสมัยและทุกสถานที่ต้องปฏิบัติ จึงไม่บังควรที่จะละเว้นการระบุเงื่อนไขเช่นนี้ในตัวบทต่างๆ หากไม่มีแล้ว ก็เป็นการยืนยันว่าสามารถละหมาดได้ถึงแม้ว่าผู้ละหมาดจะไม่ครบจำนวนดังกล่าวก็ตาม ทั้งนี้การกำหนดจำนวน 40 คนนั้นแย้งกับวัตถุประสงค์ของการละหมาดญุมุอะฮฺ ซึ่งศาสนาต้องการให้มุสลิมรวมตัวและปฏิบัติศาสนกิจเป็นญะมาอะฮฺ หากกำหนดเงื่อนไขอย่างที่มีในมัซหับชาฟิอียฺก็จะเป็นโอกาสให้ผู้คนปล่อยปละละเลยซึ่งการละหมาดญุมุอะฮฺอันเป็นการชุมนุมสำคัญประจำสัปดาห์ของมุสลิมในทุกถิ่น

ประการที่ 2  สถานที่ละหมาดญุมุอะฮฺ - บางคนเข้าใจว่าจำเป็นต้องกระทำในมัสญิด โดยอ้างว่าเป็นมัซหับของอิหม่ามชาฟิอียฺ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะในหนังสือมุฆนิลมุหฺตาจญฺ อิลามะริฟิติ อัลฟาซิลมินฮาจญฺ ของอิหม่ามอัชชิรบีนียฺ (เล่ม 3 หน้า 448) ซึ่งเป็นตำราที่มีความสำคัญมากในมัซหับชาฟิอียฺได้กล่าวไว้ว่า เงื่อนไขที่สองในการละหมาดญุมุอะฮฺคือ จำต้องอยู่ในขอบเขตหมู่บ้านถิ่นของผู้ละหมาดญุมุอะฮฺ ถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ในมัสญิดก็ตาม สรุปว่า ไม่มีเงื่อนไขที่ว่าการละหมาดญุมุอะฮฺนั้นต้องละหมาดในอาคารที่ถูกสร้างไว้เป็นมัสญิดโดยเฉพาะ ทั้งตัวบทหลักฐานและทัศนะในมัซหับอิหม่ามชาฟิอียฺก็ไม่บ่งถึงหลักฐานดังกล่าวด้วยประการทั้งปวง และยังมีทัศนะในมัซหับชาฟิอียฺที่อนุโลมให้จัดการละหมาดญุมุอะฮฺในเรือนจำ ซึ่งบ่งถึงแนววินิจฉัยที่ปราชญ์ปัจจุบันต้องคำนึง นั่นคือกรณีฏอรูเราะฮฺ(ความจำเป็นและอุปสรรค)ที่ต้องเอื้ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ มิใช่ฉวยโอกาสให้ปล่อยปละละเลยซึ่งหน้าที่ในการปฏิบัติศาสนกิจ

ประการที่ 3  การละหมาดญุมุอะฮฺสำหรับผู้เดินทาง - พี่น้องบางคนเข้าใจว่าการละหมาดญุมุอะฮฺไม่วาญิบสำหรับผู้เดินทาง ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนในประเด็นนี้อยู่ 3 จุด

จุดแรก ในมัซหับชาฟิอียฺและอุละมาอฺส่วนมากมีทัศนะว่า ผู้ที่ตั้งใจเดินทางและอยู่ต่างถิ่นมากกว่า 4 วันนั้นถือว่าเป็นมุกีม(ผู้พำนักอยู่) ไม่ใช่มุซาฟิร(ผู้เดินทาง) เพราะฉะนั้นแล้ว นักศึกษาที่ตั้งใจเดินทางและอาศัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยหรือหอพักที่อยู่ต่างถิ่นมากกว่า 4 วันแล้วก็ไม่ถือว่าเหมือนมุซาฟิร

จุดที่ 2 ที่อุละมาอฺกล่าวว่าไม่วาญิบสำหรับผู้เดินทางที่ต้องละหมาดญุมุอะฮฺนั้นเป็นเรื่องจริง แต่มิได้หมายรวมว่าห้ามละหมาดญุมุอะฮฺแต่อย่างใด ซึ่งผู้เดินทางก็เหมือนสุภาพสตรีที่ไม่จำเป็นต้องละหมาดญุมุอะฮฺ แต่ถ้าสตรีละหมาดญุมุอะฮฺก็ถือเป็นการดี

จุดที่ 3 การละหมาดญุมุอะฮฺสำหรับผู้เดินทางที่ไม่เป็นวาญิบ แต่เรากำลังวิเคราะห์ประเด็นการจัดละหมาดญุมุอะฮฺในสถาบันการศึกษาอย่างถาวร ซึ่งอาจจะมีผู้เข้าร่วมละหมาดญุมุอะฮฺที่ไม่ใช่มุซาฟิร(ผู้เดินทาง)ก็ได้ และการจัดละหมาดญุมุอะฮฺอย่างต่อเนื่องจะเป็นการกระตุ้นให้คนในถิ่นกล้ามาร่วมละหมาดญุมุอะฮฺด้วย ซึ่งสุดท้ายจะเป็นการฟื้นฟูให้มีแหล่งปฏิบัติศาสนกิจเกิดขึ้นในสถาบันดังกล่าว อันเป็นภาพลักษณ์ที่ดีมากสำหรับมุสลิมในสถานที่ต่างๆ

อนึ่ง เงื่อนไขต่างๆที่อุละมาอฺระบุไว้เกี่ยวกับการละหมาดญุมุอะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นมัซหับชาฟิอียฺหรือมัซหับอื่นก็ตาม จำเป็นต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติอิสลามในเรื่องนี้และคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งหากพิจารณาเงื่อนไขต่างๆที่พี่น้องมุสลิมบางคนมักจะอ้างเพื่อยกเลิกการละหมาดญุมุอะฮฺนั้นจะพบว่าเป็นข้ออ้างเพื่อหลบหนีการทำอิบาดะฮฺที่สำคัญอย่างยิ่งในโครงสร้างของอิสลาม และแทนที่จะมีผู้ศรัทธารณรงค์ฟื้นฟูการทำอิบาดะฮฺในสถานที่ต่างก กลับจะพบผู้ตั้งอุปสรรคและเสนอเงื่อนไขที่จะให้ฉวยโอกาสละทิ้งหลักการศาสนา และยังทำให้นักศึกษาในสถาบันต่างๆขาดศูนย์รวมและกิจกรรมสำคัญที่เป็นภาพพจน์ของมุสลิมไป

สุดท้ายนี้อยากแจ้งพี่น้องมุสลิมและนักศึกษาที่มีข้อเกี่ยวข้องในปัญหาข้างต้นว่า หลักการศาสนาที่ถูกตีความในมัซหับชาฟิอียฺหรือตำรานิติศาสตร์ทั่วไปนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่เกี่ยวกับสภาพปกติในสังคมที่มีแต่มุสลิมเท่านั้น  แต่กรณีของเราคือสภาพมุสลิมที่เป็นกลุ่มชนส่วนน้อยและมีอุปสรรคมากมายในการปฏิบัติศาสนกิจ ย่อมเป็นสภาพที่มีปัจจัยต่างๆ ที่อาจมิเคยปรากฏในข้อวินิจฉัยของอุละมาอฺในอดีต จึงนำข้อวินิจฉัยในตำราและผู้รู้ในอดีตมาใช้นั้นไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งต้องมีข้อวินิจฉัยสอดคล้องกับปัจจัยและสภาพความเป็นจริง ถ้าเราพิจารณาประเด็นต่างๆที่ระบุข้างต้นตลอดจนสภาพนักศึกษามุสลิมในประเทศและในสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนความสำคัญในการจัดให้มีการละหมาดญุมุอะฮฺในถิ่นที่มีมุสลิมนั้นจะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างพี่น้อง และจำต้องรณรงค์ให้จัดละหมาดญุมุอะฮฺในทุกสถานที่ที่มีมุสลิมจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในโรงงาน, โรงเรียน, บริษัท, หน่วยงาน ฯลฯ ก็ตาม เพื่อสนองความต้องการของพี่น้องมุสลิมในการดำรงชีวิตด้วยศาสนกิจ เพราะศาสนกิจนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้มุสลิมยืนหยัดและเคร่งครัดกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่จูงใจไปสู่ความล้มเหลวด้านศาสนา และการจัดละหมาดญุมุอะฮฺในสถานที่ต่างๆเปรียบประหนึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งและผลักดันให้เกิดซึ่งความสามัคคีในกลุ่มมุสลิมต่างๆ

ริฎอ อะหมัด สมะดี

22 พ.ค. 51 

วันที่ตอบ