คำตอบ
อัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ
การอยู่ในสังคมไทยพุทธย่อมจะทำให้มุสลิมประสบความยากลำบากบางประการ โดยเฉพาะในสิ่งที่มุสลิมกระทำไม่ได้หรือทำความเข้าใจกับคนต่างศาสนิกค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตามจุดยืนของมุสลิมคือสิ่งที่ผิดกับหลักการโดยถึงขั้นที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด(คือหะรอม)จำเป็นต้องละเว้นอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกัน สิ่งที่ไม่ถึงขั้นหะรอม(มักรูหฺ)ก็อยู่ที่ดุลพินิจและการพิจารณาต่อสถานการณ์กับความเหมาะสม
แต่สำหรับการร่วมกิจกรรมงานศพ งานสมรส หรืองานอื่นๆที่มีพิธีทางศาสนาและมุสลิมต้องนั่งฟังสวดหรืออยู่ในบริเวณนั้น ถือเป็นการปฏิบัติที่ต้องห้ามตามหลักศาสนา เพราะพิธีของศาสนาในกิจกรรมดังกล่าวย่อมมีบทสวดหรือคำกล่าวที่เป็นชิริกหรือกุฟรฺ รวมถึงบรรยากาศของงานที่มีสิ่งที่เป็นข้อห้ามทางศาสนาอิสลาม เช่น การดื่มสุรา การปะปนระหว่างหญิงชาย ฯลฯ จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงจากกรณีดังกล่าว
แต่นั่นไม่ได้หมายรวมว่ามุสลิมจะตัดขาดกับคนอื่นในสังคมที่เป็นต่างศาสนิก เพราะอิสลามได้ให้มุสลิมแสดงมารยาทต่อคนต่างศาสนิกอย่างอยู่ในกรอบของหลักการด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากมีงานที่ปราศจากข้อผิดหลักการอิสลามใดๆ มุสลิมสามารถร่วมได้ เช่น งานฉลองเนื่องที่เป็นการรับประทานอาหารในกลุ่มผู้ชายเท่านั้นโดยไม่มีพิธีทางศาสนา ดนตรี สุรา หรือสิ่งที่เป็นข้อห้ามต่างๆ มุสลิมผู้ชายก็สามารถไปแสดงความยินดีได้ สำหรับผู้หญิงก็เช่นเดียวกันงานที่จัดเฉพาะผู้หญิงโดยไม่มีสิ่งผิดหลักการก็ย่อมไปร่วมได้
หรือมุสลิมต้องการแสดงความเสียใจกับเพื่อนต่างศาสนิกก็สามารถแสดงความเสียใจในการ์ดที่ส่งไปให้เพื่อนต่างศาสนิกได้ หรือไปเยี่ยมเยียนที่บ้านและแสดงความเสียใจก็ได้ แต่ต้องระวังในสำนวนคำอวยพรหรือคำปลอบใจ อย่าให้มีอะไรที่ผิดหลักการ เช่น การขอให้อัลลอฮฺเมตตาเขา เพราะมีตัวบทที่ห้ามขอดุอาอฺเช่นนี้ แต่สามารถกล่าวอย่างอื่นได้ เช่น เสียใจด้วยขอให้ท่านหนักแน่นและอดทน หรือคำพูดอื่นๆในทำนองนี้ แต่ต้องทราบว่าเทศกาลหรือวันเฉลิมฉลองของต่างศาสนิกนั้นมุสลิมจะร่วมหรือให้คำอวยพรไม่ได้
สำหรับการบริจาคเพื่อทำบุญ ถ้าเกี่ยวกับเรื่องศาสนาหรือเทศกาลทางศาสนาก็กระทำไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่ถ้าหากบริจาคให้แก่เด็กกำพร้าหรือคนยากจนต่างศาสนิกเป็นสิ่งที่ทำได้ตามหลักการศาสนาอิสลาม
วัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ
ริฎอ อะหมัด สมะดี
5 พ.ย. 48
- Log in to post comments
- 312 views