บาปใหญ่ ตอนที่ 4 (วันศุกร์)

Submitted by dp6admin on Tue, 13/09/2022 - 13:34
เนื้อหา

สู่อีหม่านที่มั่นคง ตอนที่ 60 ทิ้งละหมาดฟัรฎูเป็นบาปใหญ่

 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์ 

เช้านี้เป็นเช้าวันศุกร์ที่มีความประเสริฐสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบอะมัลอิบาดะฮ์ที่ดี แสดงความเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเป็นวันที่มีผลบุญมหาศาลในการทำอิบาดะฮ์ เรียกว่าเป็นวันเฉลิมฉลองเล็กน้อยสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาทุกสัปดาห์ จะมีการประกาศญะมาอะฮ์ ประกาศพลังของผู้มีอีหม่านต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ในการที่จะละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์)

เรากำลังพูดถึงบาปใหญ่ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออีหม่าน ผมจึงอยากจะพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวันศุกร์ ความประเสริฐของวันศุกร์ เราทราบกันนะครับว่าการละทิ้ง ละเลยการละหมาดในหลักการอิสลามนั้นถือว่าเป็นการฝ่าฝืนอย่างมหันต์ต่ออัลลอฮ์ เพราะละหมาดเป็นรุกุ่น หรือเสาหลักส่วนหนึ่งของศาสนาอัลอิสลาม ดังที่มีปรากฏในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่กล่าวว่า

بُنِيَ الإِسْلَامُ عَلَى خَمْسٍ: شَهَادَةِ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا رَسُولُ اللَّهِ، وَإِقَامِ الصَّلَاةِ، وَإِيتَاءِ الزَّكَاةِ، وَالحَجِّ، وَصَوْمِ رَمَضَانَ
“ศาสนาอิสลามนั้นเปรียบเสมือนอาคารที่ถูกสร้างบนเสาห้าต้น คือ การกล่าวชะฮาดะฮ์ การละหมาด การจ่ายซะกาต การประกอบพิธีหัจญ์สำหรับผู้ที่มีความสามารถ และการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน” (อัลบุคอรี)

เจตนาละทิ้งละหมาดเป็นบาปใหญ่

การละหมาดเป็นเสาที่สองจากบรรดารุกุ่นอิสลามที่เราต้องตระหนักอย่างมั่นคง และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยืนยันว่าการละเลยหรือการละทิ้งละหมาดนั้นถือว่าเป็นการทำลายคำสัญญากับอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา หรือเป็นการทำลายลักษณะความเป็นมุสลิม ดังที่ปรากฏในหะดีษว่า

العهد الذي بيننا وبينهم الصلاة، فمن تركها فقد كفر
“สัญญาที่ใช้แยกระหว่างเรากับกับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นคือการละหมาด ฉะนั้นใครที่ละทิ้งมันก็ถือว่าเป็นผู้ที่ปฏิเสธหรือเนรคุณต่ออัลลอฮ์”

นี่คือการตัดสินจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ต่อบุคคลที่เจตนาละทิ้งการละหมาด ก็ถือว่าเป็นบาปใหญ่ส่วนหนึ่ง ซึ่งบรรดานักปราชญ์ของศาสนาอิสลามก็มีความเห็นต่อผู้ที่ละทิ้งการละหมาดนั้นแบ่งกันเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า ผู้ที่ยังยืนยันว่าละหมาดเป็นหลักการศาสนา แต่พวกเขาละทิ้งด้วยความขี้เกียจ ก็ถือว่าเป็นฟาสิกผู้ฝ่าฝืนหลักการศาสนาแต่ไม่ถือว่าเป็นกาฟิรที่ออกนอกกรอบศาสนา ก็หมายถึงว่าไม่ตกมุรตัดแต่เป็นผู้ฝ่าฝืนทำบาปใหญ่ ต้องเตาบะฮ์กลับเนื้อกลับตัวแสดงตนในความเป็นบ่าวต่ออัลลอฮ์

อีกกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า ต่อให้เชื่อว่าการละหมาดวาญิบ แต่ละทิ้ง ละเลยการละหมาดโดยขี้เกียจ ก็ถือว่าเป็นผู้ปฏิเสธต่ออัลลอฮ์หรือไม่ยอมรับในพระบัญชาของพระองค์ ก็ถือว่าตกศาสนาเสียแล้ว และนี่คือทัศนะของผู้รู้หลายท่านโดยยึดหะดีษข้างต้นที่ท่านนบีกล่าวว่าใครก็ตามที่ละทิ้งการละหมาดเขาคือกาฟิร ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นบาปใหญ่เหมือนกันนะครับแต่เป็นขั้นรุนแรงเพราะไม่ใช่แค่การฝ่าฝืนทั่วไป แต่ยังทำให้ตนเองออกนอกกรอบของศาสนาอิสลาม

การละทิ้งละหมาดฟัรฎูธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ตั้งใจว่าจะทิ้งละหมาดก็ถือว่าเป็นการปฏิเสธศรัทธา แต่ท่านนบีก็ยังให้ความสำคัญกับการละหมาดบางประกาศหรือบางเวลา เช่น ละหมาดอัศริ ท่านนบีจะให้ความสำคัญมากดังเช่นในหะดีษที่บันทึกโดยอัลบุคอรี

من ترك صلاة العصر هبط عمله
“ใครก็ตามที่ละทิ้งการละหมาดอัศริ ผลบุญของเขาจะโมฆะหรืออะมัลศอลิห์ของเขาจะหายไป”

บรรดาอุละมาอ์กล่าวว่าการทิ้งละหมาดอัศริหมายถึงการเจตนาทิ้ง บางท่านกล่าวว่าหมายถึงการละทิ้งการละหมาดอัศริเป็นญะมาอะฮ์ที่มัสญิด ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้การสะสมอะมัลศอลิห์หรือความดีของเขาในวันนั้นหายไป สิ้นสุดไป สูญไป และนั่นคือสิ่งที่จะบ่งบอกถึงความสำคัญของการละหมาดบางเวลา

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็เคยกล่าวว่าละหมาดศุบหิและอิชาอ์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของมุอ์มิน

أثقل صلاتين على المنافقين، الفجر والعشاء
“การละหมาดที่เป็นภารกิจที่บรรดามุนาฟิกีนไม่สามารถปฏิบัติได้ คือ ละหมาดศุบหิและอิชาอ์”
บรรดามุนาฟิกีนเป็นคนขี้เกียจ ขีเกียจลุกขึ้นละหมาดศุบหิ เมื่อถึงเวลาอิชาอ์ก็อยากจะนอนและไม่อยากละหมาดอิชาอ์ด้วย นี่คือความสำคัญของการละหมาดบางเวลา

การละทิ้งละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮฺ)

ส่วนความสำคัญของการละหมาดวันศุกร์นั้นก็มีมากมายในบทบัญญัติของศาสนา โดยเฉพาะบทบัญญัติที่จะตักเตือนบรรดาผู้ศรัทธาไม่ให้ละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ เพราะเป็นการประกาศอีหม่าน ประกาศพลังของบรรดาผู้ศรัทธาในสังคมมุสลิม ประกาศความเป็นญะมาอะฮ์ ความเป็นพี่น้อง ความสามัคคี ความเข้มข้นในการรวมตัวเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา และนั่นคือเป้าหมายยิ่งใหญ่ของอิสลาม เพราะฉะนั้นศาสนาจึงบัญญัติให้เรียกว่าอัลญุมุอะฮ์ หมายถึงการรวมตัวกัน บางครั้งเราใช้คำว่าญะมาอะฮ์ซึ่งมีความหมายคล้ายกับญุมุอะฮ์ ที่หมายถึงกลุ่มที่รวมตัวกัน มีความหนักแน่นซึ่งกันและกัน มีความสัมพันธ์อย่างเข้มแข็ง

ฉะนั้นเมื่อเป้าหมายดังกล่าวที่ศาสนาต้องการให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น แต่เราเจตนาที่จะทำลายเป้าหมายดังกล่าว โดยที่ไม่ยอมรวมตัวกับบรรดาผู้ศรัทธาในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ ก็เปรียบเสมือนเราทำลายคำบัญชาของอัลลอฮ์ แสดงตนในลักษณะที่ไม่ถูกต้องในความเป็นบ่าวต่อพระองค์ เพราะฉะนั้นท่านนบีจึงมีการขู่เตือนอย่างรุนแรงสำหรับคนที่ละทิ้งการละหมาดญุมุอะฮ์ โดยเฉพาะคนที่ละทิ้งอย่างต่อเนื่อง 

ในหะดีษบทหนึ่งที่บันทึกโดยอิมามอบูดาวูด ติรมิซี อันนะสาอี อิบนุมาญะฮ์และอะหมัด ท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าววว่า

مَنْ تَرَكَ ثَلَاثَ جُمَعٍ تَهَاوُنًا بِهَا طَبَعَ اللَّهُ عَلَى قَلْبِهِ
“ใครก็ตามที่ละทิ้งการละหมาดญุมุอะฮ์สามสัปดาห์ต่อเนื่องด้วยความขี้เกียจ โดยประมาทหรือดูถูกหรือไม่ให้ความสำคัญต่อการละหมาดญุมุอะฮ์นั้น อัลลอฮ์ก็จะประทับตราปิดหัวใจของเขา”

หมายถึงว่าจะไม่ให้อีหม่าน ฮิดายะฮ์ ทางนำแก่เขาแล้ว นั่นคือการลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา เพราะไม่มีอะไรที่จะเป็นอันตรายหรือสิ่งเลวร้ายมากกว่าการที่หัวใจของเราจะไม่ได้รับฮิดายะฮ์ คำแนะนำจากอัลลอฮ์ เพราะมันจะหมายถึงเราจะมุ่งสู่หายนะอย่างแน่นอน เราไม่สามารถอยู่ในโลกนี้ได้หากอัลลอฮ์ไม่ประทานฮิดายะฮ์แก่เรา เราอยู่ได้ด้วยฮิดายะฮ์ การเตาฟีกและการช่วยเหลือจากพระองค์

การที่อัลลอฮ์ลงโทษบางคนด้วยการปิดหัวใจของเขาไม่ให้ได้รับทางนำ ก็อันเนื่องมาจากคนนั้นได้มุ่งสู่การถูกลงโทษเช่นนี้ด้วยการละทิ้งละหมาดญุมุอะฮ์สามสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และเป็นความรุนแรงที่เราตั้งใจ เจตนาไม่รวมตัวกับบรรดาผู้ศรัทธาในการละหมาดญุมุอะฮ์สามสัปดาห์ เสมือนว่าเราเห็นตัวเองว่าไม่มีอีหม่านใดๆ ที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ศรัทธาที่มีอีหม่านได้ ท่านนบีจึงบอกว่าคนที่ละทิ้งละหมาดญุมุอะฮ์ก็เหมือนกับบรรดามุนาฟิกีนผู้บิดพริ้วสับปลับ

ในหะดีษที่บันทึกโดยอิมามอัฏเฏาะบะรอนี ในหนังสือมุอ์ญัม อัลกะบีร จากอุสามะฮ์ อิบนุ ซัยด์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

من ترك ثلاث جمعاتٍ من غير عذرٍ كتب من المنافقين
“ใครก็ตามที่ละทิ้งละหมาดญุมุอะฮ์สามสัปดาห์ต่อเนื่อง โดยไม่มีอุปสรรค ไม่มีสาหตุ ไม่มีเหตุผล เขาจะถูกบันทึกว่าเป็นบรรดามุนาฟิกีนผู้มีโรคในจิตใจของพวกเขา”

นั่นคือสิ่งที่อันตรายมากนะครับ ถือว่าเป็นบาปใหญ่ก็ได้ เพราะเราเคยบอกว่าบาปใหญ่นั้นคือการฝ่าฝืนที่จะมีการลงโทษอย่างรุนแรง และไม่มีการลงโทษใดจะรุนแรงมากกว่าการที่บรรดามุสลิมีนหรือมุอ์มินีนจะถูกตัดสินว่ามีโรค มีการบิดพลิ้ว มีลักษณะนิฟาก มีลักษณะฝ่าฝืนอัลลอฮ์จนกระทั่งหัวใจของเขาถูกประทับตาหรือถูกล็อคปิดไม่ให้ได้รับฮิดายะฮ์และเตาฟีกจากอัลลอฮ์ นั่นคือสิ่งที่จะทำให้เราต้องระมัดระวัง

ศาสนาไม่ปฏิเสธว่าเราอาจมีอุปสรรค เช่น ป่วย พยายามจะไปละหมาดอย่างสุดความสามารถแล้วแต่ยังทำไม่ได้ นี่เป็นอุปสรรคที่จะถูกนำไปอ้างอิงในวันกิยามะฮ์ เมื่อมีการสอบสวนแล้ว อุปสรรคเหล่านี้ก็จะถูกนำเสนออัลลอฮ์ ถ้ามีความสุจริต อัลลอฮ์ก็จะทรงให้อภัย แต่ถ้าหากว่าไม่มีอุปสรรคและตั้งใจทิ้งละหมาดญุมุอะฮ์สามครั้งสามสัปดาห์ ก็เป็นลักษณะเจตนารมณ์ที่ดูหมิ่นคำสั่งของอัลลอฮ์ที่ตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِن يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَىٰ ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายเอ๋ย เมื่อสูเจ้าได้ยินคำเรียกร้องของอัลลอฮ์ในวันศุกร์ สูเจ้าก็คงมุ่งสู่การฟังซิกรุลลอฮ์ (คุฏบะฮ์) และสูเจ้าจงละทิ้งการซื้อการขาย ความประพฤติที่เกี่ยวกับเรื่องดุนยาจงทิ้งให้หมด แล้วมุ่งสู่อัลลอฮ์เพื่อสรรเสริญสดุดีให้เกียรติแก่คำบัญชา คำเรียกร้องของพระองค์” 

นั่นคือเป้าหมาย
แต่หากเราไม่ให้เกียรติคำเรียกร้องของอัลลอฮ์สู่การละหมาด (อะซาน) และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ ก็เสมือนว่าเราไม่เห็นความสำคัญของการละหมาดญุมุอะฮ์ ตั้งใจทิ้งญุมุอะฮ์ไม่ละหมาด ทำงานดีกว่า ไปเที่ยวดีกว่า อยู่ในบ้านดูหนังดูละครดีกว่า ไปดูบอลดีกว่า ไปดูเวที ดูกิจกรรมนั่นนี่ ละหมาดญุมุอะฮ์ไม่ค่อยสำคัญ บางคนตั้งใจเดินทางทุกสัปดาห์ ถึงวันศุกร์ก็ยังเดินทางเพื่อจะได้ไม่ต้องละหมาด การกระทำเช่นนี้จะบ่งบอกว่าอีหม่านของเขาด้อยเสียแล้ว เพราะท่านนบีกล่าวไว้ว่าการทำแบบนี้จะถูกบันทึกวันเป็นมุนาฟิก 

นี่คือเรื่องอันตรายที่ผมอยากจะเตือนพี่น้องผู้ศรัทธาเพื่อรักษาอีหม่านที่มั่นคงของเราเอาไว้ โอกาสในการละหมาดญุมุอะฮ์เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้เราปฏิบัติเพื่อเป็นเกียรติแก่เราในการแสดงตนเป็นบ่าวต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ขอพระองค์ทรงประทานฮิดายะฮ์และเตาฟีกให้พี่น้องที่มีอีหม่านทุกท่าน

อัสสลามุอะลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
 


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 60, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ

บาปใหญ่ ตอนที่ 4 (วันศุกร์)