สู่อีหม่านที่มั่นคง ตอนที่ 58 - บาปใหญ่ ตอนที่ 2
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
ขณะนี้เรายังคงพูดถึงเรื่องบาปใหญ่ซึ่งเป็นการกระทำที่บรรดามุอ์มินีนต้องหลีกเลี่ยง ต้องพยายามหันห่าง และต้องศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับบาปใหญ่เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้มุอ์มินนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัยจากเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นการเตรียมอีหม่านหรือเป็นการเพิ่มเติมอีหม่านให้ความศรัทธาของเรานั้นเป็นอีหม่านที่มั่นคง ตราบใดที่มุสลิมหรือมุอ์มินนั้นปราศจากบาปใหญ่หรือหลีกเลี่ยงจากการกระทำที่เป็นบาปใหญ่นั้น เขาก็จะได้รับพระเมตตา การช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
إِنْ تَجْتَنِبُوا كَبَائِرَ مَا تُنْهَوْنَ عَنْهُ نُكَفِّرْ عَنْكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَنُدْخِلْكُمْ مُدْخَلا كَرِيمًا
ความว่า “หากพวกเจ้าได้หลีกห่างจากบรรดาบาปใหญ่ที่ถูกห้ามไว้จากพวกเจ้าแล้วไซร้ เราก็จะลบล้างความผิดต่างๆ ของพวกเจ้า (บาปเล็ก) และเราจะนำพวกเจ้าเข้าสู่สถานที่อันมีเกียรติ” (อันนิสาอ์ อายะฮ์ที่ 31)
การหลีกเลี่ยงจากบาปใหญ่จะเป็นสาเหตุให้อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงให้อภัยโทษในบาปเล็ก และการที่จะหลีกเลี่ยงจากบาปใหญ่นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดาหรือปลีกย่อยที่เราจะประมาทหรือดูถูกนะครับ บางคนมองถึงเรื่องเหล่านี้อย่างประมาท อย่างไม่มีความสนใจ จนปรากฏว่าเขาตกไปอยู่ในการทำบาปใหญ่อย่างง่ายทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงมีการสั่งสอน มีการห้ามอย่างเข้มงวดจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หลายครั้งหลายคราวซึ่งเป็นการยืนยันจากผู้สอนศาสนา ผู้ที่เทศนาให้แก่เรานั้นให้เรามีความระมัดระวังในบาปใหญ่
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยกล่าวไว้ว่า
اجتنبوا الكبائر وسددوا وأبشروا
“พวกท่านทั้งหลายจงหลีกเลี่ยงจงออกห่างจากบาปใหญ่ต่าง และจงพยายามยืนหยัดให้มีความเข้มแข็งในอีหม่านของพวกท่าน และจงรับข่าวดีจากอัลลอฮ์”
นั่นหมายถึงบรรดามุอ์มินีนทั้งหลายต้องพยายาม ต้องมีมานะในการวางตัวให้ถูกต้องในพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับบาปใหญ่ ดังที่เราทราบกันอย่างดีนะครับว่าความผิดต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้นมันจะไม่เกิดขึ้นโดยปราศจากสาเหตุ เช่นการทำซินา ก็จะเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นสาเหตุ เริ่มจากการมอง การสัมผัส เป็นต้น ดังนั้นศาสนาของเราเป็นศาสนาที่ดีเลิศในการปกป้องอีหม่านของมุอ์มิน ปกป้องความศรัทธาของเขาจากพฤติกรรมที่จะทำลายอีหม่านจากต้นเหตุ การที่มุอ์มินนั้นถูกห้ามมิให้มองถึงสิ่งหะรอมไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม การที่ถูกห้ามไม่ให้สัมผัสเพศตรงข้ามที่ไม่ใช่มะห์รอม เช่นการสลามแก่กันโดยจับมือ สัมผัสมือ
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามการที่ชายหญิงจะอยู่พร้อมกันโดยลำพังโดยปราศจากมะห์รอม ดังที่เราเห็นกันว่าชายหญิงที่เป็นแฟนกันไปเที่ยวกัน ไปอยู่ในสถานที่เดียวกันโดยลำพัง โดยไม่มีผู้ใหญ่ผู้เป็นมะห์รอมอยู่ด้วย ซึ่งมะห์รอมหมายถึงผู้ชายที่รับผิดชอบเป็นผู้ปกครองเป็นวลี เช่น บิดา พี่ชาย อา ลุง แต่หากชายหญิงไปอยู่กันโดยลำพังโดยปราศจากมะห์รอมก็จะเป็นสาเหตุที่จะทำให้การกระทำที่ผิดพลาดที่มันขัดกับหลักการเกิดขึ้น ขั้นตอนต่างๆ ก็จะทำให้ซินาเกิดขึ้น
การมองครั้งเดียว การสัมผัสครั้งเดียวนั้นเป็นบาปเล็ก แต่หากเราสะสมและเอื้ออำนวยให้บาปเล็กนั้นเกิดขึ้นทีละครั้งทีละครั้ง แน่นอนว่าสุดท้ายซินาซึ่งเป็นบาปใหญ่ก็จะเกิดขึ้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้ตักเตือนประชาชาติของท่านว่า ทั้งหมดนั้นเป็นซินา การมอง การสัมผัส การใช้เท้าเดินไปสู่การกระทำซินาก็เป็นส่วนหนึ่งของซินา แต่สุดท้ายสิ่งจะมายืนยันในพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นบาปเล็กหรือซินาเทียมเหล่านี้ ก็คือการใช้อวัยวะเพศ และนั่นคือซินาแท้ที่เป็นบาปใหญ่
แต่ถามว่าหากตั้งแต่แรกต้นเหตุมันไม่เกิดขึ้น ไม่มีการมอง การสัมผัส การไปอยู่ด้วยกันโดยลำพัง ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้หากมุอ์มินมีความเคร่งครัด มีความเข้มงวดในการรักษาตนเองจากสิ่งเหล่านี้ที่จะนำเราไปสู่หายนะ สู่บาปใหญ่ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่อันเนื่องมาจากว่าเราเอื้ออำนวยหรือมีความประมาท มองเรื่องพวกนี้ว่าเป็นเรื่องเล็กเป็นเรื่องไม่ควรที่จะเคร่ง แน่นอนว่าปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นโดยปกติ และนั่นคือสิ่งที่เราสังเกตว่ามันเกิดขึ้นกับสังคมของเรากับพี่น้องของเราลูกหลานของเราที่ผิดพลาด ขัดกับหลักการ
แม้กระทั่งตัวเราเองเมื่อเห็นใครสักคนกระทำความผิดเล็กน้อยเราก็อาจจะไม่พูด เพราะเกรงว่าเขาอาจจะต่อว่าเราว่าเคร่งเกินไปหรือเราไม่มีสิทธิที่จะเตือนเขา แม้ว่าเราจะรู้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นบาปเล็กหรือเป็นสิ่งเล็กน้อยแต่มันก็จะจูงมือพาเราหรือเขาไปสู่บาปใหญ่หรือหายนะ เราเห็นลูกหลานของเรามีเพื่อนสูบบุหรี่หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เราก็ประมาทไม่มีความเข้มแข็งในการคัดเลือกเพื่อนฝูงให้ลูกหลานของเรา วันดีคืนดีเราก็อาจจะได้เห็นลูกหลานของเราติดยาเสพติด สูบบุหรี่ อันเนื่องมาจากการที่เราประมาทแต่แรก อำนวยความสะดวกหรือไม่เคร่งครัดในเรื่องบาปเล็ก จนนำไปสู่บาปใหญ่
แม้เป็นบาปเล็กที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยวะสัลลัม ก็ได้เตือนมิให้กระทำเช่นเดียวกัน เพราะการดื้อดึงในการกระทำบาปเล็กนั้นก็จะทำให้บาปเล็กกลายเป็นบาปใหญ่ เช่น คนที่ทำบาปเล็กแล้วไม่กลับเนื้อกลับตัว อย่างคนสูบบุหรี่ หากสูบเพียงมวนเดียวจะถือว่าเป็นบาปเล็ก เป็นสิ่งหะรอม แต่หากเขารู้ว่ามันหะรอม ทำลายสุขภาพ เหมือนเอายาพิษมาดื่มเข้าร่างกายซึ่งแน่นอนว่าศาสนาไม่อนุมัติให้กระเด็ดขาด หากรู้เช่นนี้แล้วยังกระทำยังดื้อกับหลักการไม่ยอมกลับเนื้อกลับตัว การสูบบุหรี่แต่ละมวนหลังจากนั้น การนำควันเอาพิษมาใส่ในร่างกายให้เกิดความเสียหายนั่นเป็นการยืนยันในบาปเล็ก เป็นการดื้อดึงต่ออัลลอฮ์ และจะทำให้บาปเล็กที่เราทำกลายเป็นบาปใหญ่ นั่นคือสิ่งอันตรายที่เราต้องพิจารณามีดุลพินิจคิดอย่างดีว่าเมื่อสามารถละทิ้งบาปใหญ่ที่อัลลอฮ์ทรงตักเตือน เราก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงจากเรื่องต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เราต้องตกอยู่ในบาปใหญ่
ในศาสนาอิสลามการกระทำบาปใหญ่นั้นถือเป็นเรื่องที่ละเมิดขอบเขตของศาสนาอย่างมหันต์ ดังนั้นศาสนาไม่ได้มอบให้เราระบุเรื่องบาปใหญ่ด้วยการคิดหรือกำหนดกันเอง แต่มีการกำหนดเอาไว้ในบรรดาหะดีษต่างๆ และโองการต่างๆ ในอัลกุรอาน เราได้อ่านหะดีษบทหนึ่งที่เกี่ยวกับบาปใหญ่ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ระบุว่าบาปใหญ่นั้นมี 9 ชนิด หรือบางหะดีษว่ามี 7 ชนิด แต่บรรดาผู้รู้เห็นว่าบาปใหญ่นั้นมีมากมายในคำสอนศาสนาและอาจไม่ใช่จำนวนแค่ 10-20 แต่อาจจะมีถึง 70 ชนิดด้วยซ้ำ แต่บรรดาบาปใหญ่ต่างๆ ที่มีระบุในอัลกุรอานหรือสุนนะฮ์ของท่านนบีนั้นมีจำนวนจำกัด แต่ส่วนที่ไม่ได้ถูกระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นบาปใหญ่แต่บรรดานักปราชญ์ได้ถือว่าเป็นบาปใหญ่อันเนื่องจากว่ามีการผูกพันระหว่างพฤติกรรมหรือการกระทำนั้นกับการสาปแช่งหรือการลงโทษอย่างเจ็บปวด
บรรดาอุละมาอ์ได้กล่าวว่า เครื่องหมายของบาปใหญ่นั้นคือพฤติกรรมที่มีการลงโทษแบบไม่ปกติ หากอัลลอฮ์ระบุว่า พฤติกรรมเช่นนี้ใครกระทำก็จะถูกลงโทษอย่างเจ็บปวดในวันกิยามะฮ์ หรือท่านนบีได้กล่าวว่าการกระทำเหล่านี้จะได้รับการสาปแช่งจากอัลลอฮ์นั่นเป็นการบ่งบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องใหญ่ ณ อัลลอฮ์ เป็นเรื่องทีต้องระมัดระวังและถือเป็นบาปใหญ่ทั้งที่ไม่มีระบุโดยสำนวนหลักฐานอย่างชัดเจนว่าเป็นบาปใหญ่
ดังนั้นเราก็อย่ามองถึงบาปใหญ่ว่าในเมื่อไม่ถูกระบุว่าเป็นบาปใหญ่ก็ทำได้หรือประมาทได้ เพราะบางเรื่องไม่ได้ถูกระบุในอัลกุรอานว่าเป็นบาปใหญ่ แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกหรือมีโองการในกุรอานได้บอกว่า พฤติกรรมนี้อัลลอฮ์จะทรงโกรธกริ้ว หรือจะลงโทษอย่างมหันต์ เช่น การที่อัลลอฮ์สาปแช่งชายที่เลียนแบบผู้หญิงและการที่ผู้หญิงเลียนแบบผู้ชาย เพราะเป็นการดื้อกับธรรมชาติที่อัลลอฮ์ทรงสร้าง บางคนอาจจะประมาทหรือมองถึงเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องเล็ก เช่นในบ้านเราเห็นผู้ชายที่เลียนแบบผู้หญิง แต่งตัวหรือมีพฤติกรรมเหมือนผู้หญิง หรือหญิงที่เลียนแบบผู้ชาย บางคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กทั้งที่เป็นเรื่องที่อัลลอฮ์ทรงสาปแช่งดังที่ถูกระบุในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
นี่คือสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง และเราก็คงจะพูดถึงเรื่องบาปใหญ่ต่างต่อไป ฝากไว้กับพี่น้องเพียงเท่านี้ครับ วัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 57, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 164 views