การเดินทางจากดุนยาถึงอาคิเราะฮฺ, วางแผนกันอย่างไร?,
ตายแล้วไปไหน,
กุโบร์เป็นจุดพัก(หรือสถานี)แรกของวันกิยามะฮฺ,
บททดสอบในกุโบร์และวันกิยามะฮฺ
บ่อน้ำของท่านนบีนั้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดื่ม บางคนอาจะดื่มจากบ่อน้ำเอง ท่านนบีตักน้ำให้ หรือมีบางคนที่ได้รับเกียรติดื่มจากมือท่านนบี ตรงจุดนี้เป็นโอกาสสำหรับคนที่ไม่เคยพบเจอท่านนบีบนโลกนี้ จะได้พบท่านหลังจากฟื้นคืนชีพก่อนที่จะเข้าสวรรค์นั้น ณ บ่อน้ำของท่านนบี (สำหรับคนที่เข้าสวรรค์เขาก็จะได้พบท่านนบีแน่นอน) จุดนั้นอยู่ตรงไหน ระยะไหนของวันกิยามะฮ เรื่องนี้เกี่ยวกับอะกีดะฮ(หลักศรัทธา)โดยตรง เพราะเกี่ยวกับสถานการณ์ของวันกิยามะฮ ซึ่งเป็นหลักศรัทธาประการหนึ่งที่ผู้ศรัทธาควรศึกษารายละเอียดจากตัวบทหลักฐาน ซึ่งในประเด็นนี้บรรดาอุละมาอฺกล่าวว่าเรื่องใดที่ถูกระบุในอัลกุรอ่านและหะดีษกว้างๆก็ให้เราศรัทธากว้างๆ แต่สำหรับเรื่องที่มีรายละเอียดก็ต้องศึกษาอย่างละเอียด เช่น รุกุ่นอีหม่านเรื่องการศรัทธาในบรรดานบีและรอซูล มีบันทึกในอิมามอิบนิอะหมัด มีผู้ถามนบีว่า บรรดานบีมีจำนวนเท่าไหร่ ท่านนบีบอกแสนกว่าท่าน แล้วบรรดารอซูลกี่ท่าน ท่านนบีตอบว่าสามร้อยกว่าท่าน (บางรายงานระบุว่า 314 ท่าน) แต่จากหลักฐานในอัลกุรอานมีระบุเพียง 25 ท่านและในหะดีษมีประมาณ 5 ท่าน (ซึ่งบางท่านที่มีความขัดแย้งกันว่าเป็นนบีหรือไม่) สรุปว่าจำนวนนบีที่มีรายละเอียดมี 30 ท่าน แต่นบีและรอซูลทั้งหมดมีแสนกว่า เราจึงไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดทั้งแสนกว่าท่าน
ไม่เหมาะสมแก่ผู้ศรัทธาที่ไม่รู้ว่ามีนบีท่านหนึ่งชื่อ ซุลกิฟลี ศอลิหฺ อิสมาอีล และเช่นเดียวกันผู้ศรัทธาที่รู้ว่ามีวันกิยามะฮฺ แต่ไม่รู้ว่าในวันกิยามะฮฺมีบ่อน้ำของท่านนบีสำหรับให้ผู้ศรัทธาดื่ม ซึ่งความไม่รู้นี้อาจจะเป็นโทษประการหนึ่งที่จะถูกสอบสวนหรืออาจจะเป็นเหตุให้เขาไม่ได้ดื่มจากบ่อน้ำท่านนบีก็ได้ เพราะคนที่เกิดมาในโลกนี้ใช้ชีวิตศึกษาเรียนรู้เรื่องต่างๆมากมาย แต่กลับไม่รู้ว่ามีบ่อน้ำของท่านนบี ซึ่งบ่งบอกถึงระดับการศึกษาศาสนาของเขาด้วยว่าอาจจะบกพร่องในเรื่องสำคัญ บางคนก็ไม่รู้ว่ามีการสอบสวนในกุบูร ไม่รู้ว่าสถานการณ์ในวันกิยามะฮฺมีกี่ขั้นตอน ไม่รู้ว่าระหว่างการสอบสวนกับการชั่งน้ำหนักเป็นสถานการณ์เดียวกันหรือคนละสถานการณ์ บางคนไม่รู้ว่าบ่อน้ำของท่านนบีมีสองบ่อ
บางคนไม่รู้ว่าสะพานก่อนจะเข้าสวรรค์มีสองสะพาน สะพานหนึ่งที่จะข้ามนรกและอีกสะพานข้ามก่อนไปสวรรรค์ และผู้ศรัทธาก็จะต้องข้ามทั้งสองสะพาน รายละเอียดเหล่านี้ไม่ใช่ตัวบทที่ชัดเจนที่ศอฮี้ฮฺ(ถูกต้อง)เท่านั้น แต่บางบทมีระดับถึงมุตะวาติร (คือมีกระแสรายงานมากมาย มีความน่าเชื่อถือเหมือนอัลกุรอาน เศาะฮาบะฮฺรายงานเป็นสิบๆท่าน) เป็นหลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้
สำหรับ อัลเฮาฎฺ (الـحـوض) คือบ่อน้ำของท่านนบี ก่อนจะถึงจุดนี้มีรายละเอียดที่ควรจะศึกษาคือขั้นตอนของสถานการณ์วันกิยามะฮ
คนเราเมื่อจะเดินทางก็มักจะวางแผนก่อนเดินทาง จะไปทางไหน แวะพักที่ไหน หรือในการเดินทางประจำวันเรารู้รายละเอียดว่ามีกี่ป้ายจะถึงที่ทำงานหรือถึงบ้าน การใช้ชีวิตสั้นๆ บนโลกในดุนยานี้เราทุกคนยังต้องวางแผน แต่แผนยาวสำหรับชีวิตบนดุนยาและอาคิเราะฮฺ เรากลับไม่ค่อยศึกษารายละเอียดของการเดินทางนี้ บางคนวางแผนชีวิตบนโลกดุนยานี้ 60-70 ปีอย่างละเอียด แต่ระยะเวลาที่จะใช้ในวันกิยามะฮ 50,000 ปีกลับไม่มีแผนเลยว่าเราจะเตรียมเสบียงอะไรไว้บ้างสำหรับทุกสถานีทุกป้าย เพราะทุกสถานีมีวิกฤติของมันและมีทางออกด้วย คนส่วนมากสนใจเรื่องดุนยา แต่เรื่องอาคิเราะฮฺมักจะไม่พบใครที่จะสอนหรือให้ข้อมูลในเรื่องนี้เพราะคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัวมาก
ขั้นตอนแรกของเราคือ ดุนยา ซึ่งมันสั้นมาก นักวิชาการบางท่านบอกว่า ชีวิตในโลกนี้ตั้งแต่นบีอาดัมมาถึงปัจจุบันไม่น่าจะเกิน 7,000 ปี และกว่าจะถึงวันกิยามะฮฺซึ่งไม่ควรจะระบุเพราะไม่มีหลักฐาน แต่ก็กะประมาณได้จากสัญญาณกิยามะฮฺที่เกิดขึ้นมาแล้วว่าไม่น่าจะเกินหนึ่งหรือสองพันปี หากเทียบกับเวลาของวันกิยามะฮฺห้าหมื่นปีแล้ว การใช้เวลาบนโลกของแต่ละคน 50-60 ปีก็แค่เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น เวลาของโลกดุนยาสั้นมาก แต่มีคนสอนคนแนะนำมากมายในเรื่องการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน หางาน การใช้เงินเดือน ฯลฯ ลูกหลานเรามีคนสอนทำการบ้าน ติวพิเศษ แต่คนที่จะสอนลูกเราให้ท่องจำอัลกุรอานหะดีษ สอนให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ให้มีมารยาทจริยธรรมอิสลาม เหล่านี้มีน้อยในสังคมของเรา เพราะฉะนั้นการที่เราเรียกร้องให้พี่น้องให้ความสนใจศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องของความเคร่งครัด แต่เป็นเรื่องขั้นต่ำที่สุดแล้วเพื่อประคองศาสนาและเอาตัวรอดในวันกิยามะฮฺ ถ้าไม่สนใจไม่กระตุ้นเรื่องศาสนาเลย ดุนยามันก็จะกลบอาคิเราะฮฺอย่างแน่นอน
ท่านนบีเคยเตือนเศาะฮาบะฮฺว่า “ข้าพเจ้าไม่กลัวหรอกว่าพวกท่านจะยากจน แต่ที่กลัวคือพวกท่านจะแย่งกันฆ่ากันทะเลาะกันในเรื่องดุนยา” และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง คนที่ทะเลาะกันในเรื่องตำแหน่ง ทรัพย์สมบัติ ก็คือคนที่มักจะลืมอาคิเราะฮฺ ยึดติดกับดุนยามากกว่า ชอบสตางค์ชอบทรัพย์สินมากกว่า ผมเคยแบ่งมรดกหลายครั้งก็ได้เห็นที่ไม่สนใจจะแบ่งยังไงก็ได้ใครจะเอาอะไรก็เอาไป มักจะเป็นคนที่ผูกพันกับอาคิเราะฮฺมากกว่าดุนยา
เรามีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนในอาคิเราะฮให้มากกว่า มิฉะนั้นเราจะไม่มีคำตอบต่อโจทย์ของชีวิตของเราที่ว่า ตายแล้วไปไหน ?
ซึ่งเป็นโจทย์ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องพยายามตอบโจทย์นี้ให้ได้ บางคนอัลลอฮฺให้ทางนำแม้ไม่ใช่มุสลิมไม่เคยอ่านอัลกุรอาน แต่เขาได้ใคร่ครวญในเรื่องนี้จนกระทั่งนำพาไปสู่สัจธรรม ถ้าเราไม่พยายามหาคำตอบในเองนี้ชีวิตก็ไม่มีความหมาย ชีวิตเราที่สั้นเพียง 70-80 ปีในโลกดุนยานี้เป็นสนามแห่งการทดสอบของโลกอาคิเราะฮฺ ทุกสิ่งที่เกิดในอาคิเราะฮฺล้วนเกิดจากการทดสอบบนโลกดุนยานี้
1. ดุนยา الدنيا
2. กุบูร القبر
3. การเป่า النفخ في الصور
4. ฟื้นคืนชีพ البعث
5. การชุมนุม الحشر
6. ชะฟาอะฮฺ الشفاعة
7. คิดบัญชี الحساب
8. รับสมุด تطايرالصحف
9. ชั่งการงาน الميزان
10. บ่อน้ำ الحوض
11. ทดสอบผู้ศรัทธา حساب المؤمنين
12. สะพานอัศศิร้อฏ الصراط
13. นรก النار
14. สะพาน القنطرة
15. สวรรค์ الجنة
16. พบเห็นอัลลอฮฺ لقاء الله
เรียบเรียงจาก จุดพบนบี, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 11 ชะอฺบาน 1433
- Log in to post comments
- 494 views