ความละอายเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา (สู่อีมานที่มั่นคง 54)

Submitted by dp6admin on Sat, 30/01/2021 - 15:52
เนื้อหา

 “อีหม่าน ความศรัทธานั้นมีมากกว่า 60 ชนิด และความละอายนั้นเป็นชนิดหนึ่งของความศรัทธา”
 “ความละอายและความศรัทธานั้นเป็นสองประการที่ถูกผูกไว้ด้วยกัน และเมื่อหนึ่งในสองอย่างนี้ถูกยกไป ส่วนที่เหลือก็จะถูกยกไปด้วย”
 

 
 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์ 

อีหม่านที่มั่นคงสำหรับบรรดาผู้ศรัทธานั้นคืออีหม่านที่มีองค์ประกอบแห่งมารยาทและจริยธรรม คุณธรรม และทุกสิ่งที่จะทำให้ลักษณะอีหม่านความศรัทธาของเขานั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏด้วยพฤติกรรมด้วยการกระทำต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของเขา ในทุกวันทุกคืน มนุษย์ที่มีความสัมพันธ์กับพี่น้องของเขาในสังคม ทุกคนสามารถสำรวจได้ว่าคนเหล่านี้มีอีหม่านแค่ไหน ความเคร่งครัดของเขามีขนาดไหน เพราะฉะนั้นในศาสนาอิสลามถือว่าเรื่องอีหม่านนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมโดยตรง อีหม่านนั้นไม่ใช่เพียงความเชื่อหรือคำกล่าวที่จะแสดงถึงความศรัทธาที่มุอฺมินจะมีอยู่ แต่อีหม่านนั้นเป็นมารยาท จริยธรรม คุณธรรม

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนว่ามุอฺมินนั้นจะมีมารยาทที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอีหม่านโดยที่ทุกคนสามารถสำรวจได้ว่าเมื่อมารยาทหนึ่งมารยาทใดปรากฏแล้ว เราก็จะรู้ทันทีว่าคนเหล่านี้เป็นมุอฺมินด้วยมารยาทดังกล่าวนั่นคือ อัลหะยาอฺ ความละอาย ที่ท่านนบีได้กล่าวไว้ในหะดีษที่บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรี

الإيمان بضع وستون شعبة والحياء شعبة من الإيمان
ความว่า “อีหม่าน ความศรัทธานั้นมีมากกว่า 60 ชนิด และความละอายนั้นเป็นชนิดหนึ่งของความศรัทธา”

และในอีกบทหนึ่งท่านนบีได้กล่าวว่า

الحياء من الإيمان
ความว่า “ความละอายนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการศรัทธา”

และในหะดีษบทหนึ่งท่านนบีได้กล่าวว่า

الحياء والإيمان قرنا جميعا فإذا رفع أحدهما رفع الآخر
ความว่า “ความละอายและความศรัทธานั้นเป็นสองประการที่ถูกผูกไว้ด้วยกัน และเมื่อหนึ่งในสองอย่างนี้ถูกยกไป ส่วนที่เหลือก็จะถูกยกไปด้วย”

หมายถึงว่า เมื่ออีหม่านถูกยก ความละอายก็จะถูกยกไปด้วย และเมื่อความละอายถูกยก อีหม่านก็จะถูกยกไปด้วย คำว่าถูกยกหมายความว่า สิ้นสุดหรือหายไป นั่นเป็นการบ่งบอกว่าความละอายหรือมารยาทความละอายนั้นเป็นสัญลักษณ์ของบรรดาผู้ศรัทธาที่ต้องปรากฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่มีอีหม่านที่หนักแน่นมั่นคง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิมและมุอฺมิน ดังที่มีหะดีษบทหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

إن لكل دين خلقا، وخلق الإسلام الحياء
ความว่า “แท้จริงในทุกศาสนาจะมีมารยาท และมารยาทแห่งอิสลามนั้นคือ ความละอาย”

เราจะสังเกตได้ว่าทุกศาสนาจะมีสัญลักษณ์เฉพาะ ผู้ที่ยึดมั่นในศาสนานั้นจะมีลักษณะหรือสิ่งที่จะบ่งบอกว่าศาสนาของเขาคืออะไร แต่สำหรับบรรดาผู้ที่ยึดมั่นในศาสนาอิสลามนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรากฏความละอายในพฤติกรรมของเขา

ความหมายของความละอายก็คือ เกรงใจ เกรงคนอื่นในสิ่งที่เป็นข้อห้ามหรือน่าละอาย โดยที่อาจจะเป็นข้อห้ามตามบทบัญญัติหรือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจหรือสิ่งที่สังคมตำหนิหรือสิ่งที่ศาสนาไม่ชอบให้กระทำหรือเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้แต่กระทำในขณะที่สังคมไม่ชอบหรือผู้อื่นไม่ชอบ เขาก็จะมีความละอาย 

ความละอายนั้นจะแบ่งได้เป็น 2 ตำแหน่ง คือ ความละอายในสิ่งที่เป็นข้อห้ามตามบทบัญญัติที่ผู้ศรัทธาไม่สามารถกระทำได้โดยเด็ดขาด ความละอายส่วนนี้เป็นวาญิบ คือความจำเป็นที่ทุกคนต้องมี คนที่ละอายในการไม่ทำสิ่งหะรอม เช่น การผิดประเวณี การดื่มสุรา เสพยา หรือการกระทำทั่วไปที่ศาสนาบัญญัติไว้ว่าหะรอม มุอฺมินทุกคนต้องมีความละอาย และความละอายส่วนนี้ไม่อนุญาตให้ละทิ้งเป็นอันขาด

ประเภทที่ 2 คือความละอายที่ชอบให้กระทำ คือความละอายในสิ่งที่ไม่หะรอม แต่เป็นมารยาทสูงส่งสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่จะละอายในสิ่งที่ถึงแม้ว่าบทบัญญัติไม่ห้าม แต่เป็นสิ่งที่เขาจะเกรงใจอัลลอฮ์ ยำเกรงต่อพระองค์ หรือเกรงใจต่อสังคม เพื่อนฝูง บิดามารดา ครอบครัว ภริยา สามี ลูกหลาน เพื่อนบ้าน ในสิ่งที่ไม่หะรอมตามหลักการศาสนาแต่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด หรือเป็นสิ่งที่ผู้อื่นหรือสังคมไม่ชอบให้กระทำหรือตำหนิบุคคลที่กระทำ นี่คือความละอายที่เป็นมารยาทสูงส่งอันเป็นมารยาทของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม 

เศาะหาบะฮ์ได้เล่าถึงมารยาทของท่านนบีไว้ว่าสิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนในพฤติกรรมของท่านนบีคือความละอาย นี่คือสิ่งที่เราต้องแสวงหา บางคนคิดว่าความกล้าหรือการที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ละอายผู้อื่นนั้นจะถือว่าเป็นลักษณะของคนเก่งหรือคนที่สังคมจะยกย่อง แต่แท้จริงนั้นบุคคลที่มีความกล้าในสิ่งที่ต้องห้ามหรือน่ารังเกียจหรือสังคมไม่ชอบให้กระทำนั้น นั่นคือบุคคลที่ไม่มีความละอาย ซึ่งเป็นนิสัยหรืออุปนิสัยที่ไม่ควรที่มุอฺมินจะมี ดังนั้นการที่เราจะมีความละอายถึงแม้ว่าเป็นมารยาทหรือจริยธรรม แต่ถือว่าเป็นลักษณะของอีหม่านที่มั่นคง

ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ให้คำสั่งเสียแก่เศาะหาบะฮ์ท่านนึงว่า

أوصيك أن تستحي من الله كما تستحي من الرجل الصالح من قومك
ความว่า “ฉันขอสั่งเสียท่านให้มีความละอายต่ออัลลอฮ์ ดังเช่นที่ท่านละอายต่อคนดีในหมู่พวกท่าน”

หมายถึงว่าถ้าเราอยากจะเปรียบเทียบว่าจะละอายต่ออัลลอฮ์อย่างไร เราก็ดูว่าเราละอายต่อผู้ใหญ่ในบ้านเรา ต่อผู้อาวุโส ผู้รู้ บุคคลที่เป็นคนศอลิห์ในหมู่บ้านของเรา เมื่อเราพบเขา เห็นเขาเราจะทำอย่างไร แน่นอนว่าเราจะทำอย่างไร แน่นอนว่าเราจะมีความละอายต่อบุคคลเหล่านี้ที่เรานับถือให้เกียรติ ท่านนบีจึงบอกว่าเช่นเดียวกับการที่เราให้เกียรติคนเหล่านี้ในโลกดุนยานี้เราก็ควรละอายและให้เกียรติต่ออัลลอฮ์เช่นเดียวกันนั้น 

นี่คือสัญลักษณ์ที่เรานำมาปฏิบัติในชีวิตของเราได้อย่างสะดวก เราอยากจะละอายต่ออัลลอฮ์ในสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามไม่ให้กระทำ เราก็ระลึกถึงการกระทำที่เราจะละอายไม่กล้ากระทำต่อพี่น้องของเราที่เรานับถือหรือใหเกียรติ บางคนไม่กล้าสูบบุหรี่ต่อหน้าผู้ใหญ่ แต่เมื่ออยู่คนเดียวจะกล้าสูบ บางคนไม่กล้าพูดคำพูดน่าเกลียดหยาบคาย แต่เมื่ออยู่คนเดียวหรืออยู่กับเพื่อนฝูงที่เป็นรุ่นเดียวกันก็จะกล้าพูด หมายถึงว่ากลัวมนุษย์แต่ไม่กลัวอัลลอฮ์ ละอายมนุษย์แต่ไม่ละอายอัลลอฮ์ ซึ่งเป็นข้อตำหนิสำหรับคนที่อ้างอีหม่าน ดังที่อัลลอฮ์ได้ตำหนิบรรดามุนาฟิกีนผู้บลิดพริ้วว่าพวกเขานั้นจะกลัวมนุษย์แต่ไม่กลัวอัลลอฮ์

يَسْتَخْفُونَ مِنَ النَّاسِ وَلَا يَسْتَخْفُونَ مِنَ اللَّهِ
ความว่า “พวกเขาจะแอบ (ไม่กล้า) กระทำสิ่งต้องห้ามเมื่ออยู่ต่อหน้ามนุษย์ แต่กลับกล้ากระทำเมื่ออยู่ต่อหน้าอัลลอฮ์” (อันนิสาอ์ อายะฮ์ที่ 107)

นั่นคือพฤติกรรมของบรรดามุนาฟิกีนผู้บิดพลิ้ว แต่สำหรับบรรดามุอฺมินที่มีความละอายเมื่ออยู่ในที่ลับเขาจะยิ่งละอายต่ออัลลอฮ์มากกว่ามนุษย์ นี่คือสิ่งที่จะทำให้มุสลิมนั้นมีความโปร่งใสในพฤติกรรมของเขา พฤติกรรมของเขาจะละเอียดอ่อนตราบใดที่เขายังมีมารยาทคือความละอาย

ฝากไว้กับพี่น้องเพียงเท่านี้ครับ วัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
 


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 54, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ

ความละอายเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา