คุณค่าของอัลกุรอานในชีวิตของมุสลิม

Submitted by dp6admin on Sun, 04/10/2020 - 19:48

เพื่อรำลึกถึงความสูงส่งของพระดำรัสของอัลลอฮฺ จะขอเริ่มด้วยการอ่านอัลกุรอานใน ซูเราะฮฺอัลอิสรออฺบางอายะฮฺ (อายะฮฺ 9-21) และเพื่อแสวงหาความประเสริฐของผู้ที่ใช้มัสญิดของอัลลอฮฺในการศึกษา อ่านและฟัง อัลกุรอานซึ่งเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ

อายะฮฺดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการยืนยันจากอัลลอฮฺตะอาลาว่า อัลกุรอานนั้นย่อมเป็นทางนำที่ดีเลิศสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของมนุษย์ เป็นทางแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาที่เราประสบในชีวิต และอัลกุรอานจะเป็นข่าวที่ดีสำหรับผู้ศรัทธาที่กระทำความดี เมื่ออ่านอัลกุรอานทุกครั้งจะมีการรำลึกถึงสถานภาพของมุสลิมทุกคนที่เป็นสมาชิกในประชาชาติอิสลาม

ความสำคัญและสถานภาพของบุคคลที่เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะขึ้นอยู่กับความสำคัญของวิชานั้นในสังคม เช่นนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ แต่เหตุใดผู้ที่มีความใกล้ชิดเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอัลกุรอานที่เป็นกฎหมายของ อิสลามจึงไม่ถูกยกย่องเป็นนักกุรอาน (นักวิชาการเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า ชาวกุรอาน-อะลุ้ลกุรอาน)

จากหะดีษท่านบีมุฮัมมัด กล่าวว่า "ในวันอาคิเราะฮฺอัลกุรอานจะถูกนำมาพร้อมนักกุรอาน" ซึ่งต้องเป็นคนที่อ่าน เข้าใจ ศึกษา ท่องจำ และปฏิบัติ และนำกุรอานมาใช้ในชีวิตประจำวัน พี่น้องลองย้อนกลับมาสำรวจตัวเอง ท่านนบีได้ตั้งไว้ซึ่งคุณสมบัติของนักกุรอานคือผู้ปฏิบัติดีด้วยอัลกุรอานใน โลกดุนยานี้ 

คนเดี๋ยวนี้ดูถูกอัลกุรอานสนใจในวิชาความรู้สามัญจนคิดว่าจำแค่ 3 กุ้ลก็รอดแล้ว ในบทบัญญัติกฎหมายมนุษย์จะไม่คุ้มครองคนไม่รู้เนื่องจากถือว่าทุกคนมี หน้าที่ศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อัลกุรอานมีความชัดเจนในเรื่องนี้หากไม่รู้อัลลอฮฺ ไม่เอาโทษ

ท่านนบี กล่าวว่า "เป็นการให้อภัยแก่ประชาชาติของท่านแล้วซึ่งการผิดพลาด คือการไม่รู้ การหลงลืม หรือการถูกบังคับ" 

นี่คือสามประการที่ไม่มีเจตนารมณ์ในการกระทำผิด แม้การทำชิริกโดยไม่รู้อัลลอฮฺ ก็ไม่เอาโทษ เช่น ชาวอะลุลฟัตเราะฮฺ คือผู้มีชีวิตระหว่างสองนบี เช่น ผู้ที่เกิดระหว่างยุคของนบีอีซา และนบีมุฮัมมัด หากเขาตายในสภาพผู้ที่บูชาเจว็ดก็ถือเป็นมุชริก แต่ถ้าเขาคือผู้ที่ไม่รู้จักศาสนาของอัลลอฮฺ ในอาคีเราะฮอัลลอฮฺ จะทดสอบเขาโดยให้เข้านรกถ้าเชื่อฟังก็ถือว่าศรัทธา ถ้าฝ่าฝืนก็ไม่ศรัทธาก็ตอนนั้นรู้แล้วว่ามีทั้งปรโลกทั้งอัลลอฮฺ แล้ว นับประสาอะไรกับโลกนี้ที่ไม่เห็นอะไรเลยก็ยิ่งฝ่าฝืน นี่คือกฎหมายอิสลาม เห็นได้ชัดว่ากฎหมายของอัลลอฮฺ นั้นยุติธรรมที่สุดแล้ว เพราะถ้าท่านไม่รู้อัลลอฮฺ ไม่เอาโทษ

เป็นที่เอกฉันท์แล้วท่านไม่วาญิบท่องจำอัลกุรอาน แต่มีคำเรียกร้องให้ท่านเป็นนักกุรอาน เป็นผู้เชี่ยวชาญอัลกุรอาน มีบันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ท่านนบีกล่าวไว้ว่า

"แท้จริงอัลลอฮฺ ได้ยกระดับกลุ่มชนหนึ่งด้วยคัมภีร์นี้ และลดระดับกลุ่มชนหนึ่งด้วยคัมภีร์ คนที่จะสูงส่งด้วยอัลกุรอานก็ด้วยการปฏิบัติตามอัลกุรอาน"

หะดีษบันทึกโดยอัลบุคอรียฺรายงานจากท่านอุสมาน อิบนุอัฟฟาน ท่านนบี กล่าวว่า "คนที่ประเสริฐยิ่งในหมู่พวกท่านคือคนที่เรียนรู้ และสอนอัลกุรอาน"

ซึ่งการจะเป็นคนที่ประเสิรฐยิ่งในโลกนี้และโลก หน้าก็ต้องเป็นเรียนรู้และปฏิบัติตามอัลกุรอาน การเรียนนี้มีหลายระดับ ขั้นแรกก็คือการเรียนการอ่านอัลกุรอานต้องพยายาม ซึ่งความพยายามอันนี้แหละที่จะเป็นผลบุญและบรรลุความประเสริฐ เทียบหากว่ามีผู้มอบทุนเรียนจบ ป.เอกและให้งานทำที่อเมริกา ย่อมไม่มีใครจะปฏิเสธลง แต่นี่อัลลอฮฺ บอกว่าเรียนอัลกุรอานได้สวรรค์ หะดีษบันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีและมุสลิม รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านนบี กล่าวว่า บรรดาผู้ที่อ่านอัลกุรอานด้วยความเชี่ยวชาญ(ที่เราเรียกกันว่า นักกอรี ที่มาจาก “เกาะ-เราะ-อะ” ที่แปลว่า อ่าน ซึ่งที่มากุรอานนั้นมาจาก “เกาะ-รออฺ” ที่แปลว่า รวบรวม เพราะเป็นการรวบรวมพระดำรัสของอัลลอฮฺ แต่บางทรรศนะว่ามาจาก “เกาะ-เราะ-อา” ที่แปลว่า ที่ถูกอ่าน เพราะถูกประทานให้อ่านไม่ใช่ให้เก็บ

ในสมัยนี้กอรี หมายถึงผู้ที่อ่านเก่ง แต่ในสมัยนบีคือ อาลิม หะดีษบันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีคนที่ควรเป็นอิหม่ามคือคนที่อ่านอัลกุรอานมาก เพราะกระบวนการเรียนในสมัยนั้นจะไปเรียนกับท่านนบี ทีละสิบอายะฮฺจนสะสมความศรัทธาแล้วจึงย้ายไปอีกสิบอายะฮฺ ซึ่งแตกต่างกับปัจจุบันค่อนข้างมากที่นักกอรีคือผู้เป็นนักอ่านอัลกุรอานแบบ ละฆู (ทำนอง เป็นรากศัพท์จากภาษามลายูแปลว่าเพลง ดนตรี ไร้สาระ ซึ่งผู้เรียนจะต้องเรียนทำนองดนตรีอาหรับจริงๆ) และแน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาประสบความสำเร็จ คือ ผู้ที่ละหมาดด้วยความนอบน้อม และบรรดาผู้ที่ละทิ้งสิ่งที่ละฆู (ไร้สาระ) จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะนำคำว่าทำนองดนตรีมาใช้กับอัลกุรอาน กอรปกับชาวมลายูและไทยที่ไม่สันทัดกับภาษาจึงไม่ขัดข้องที่จะใช้คำว่า ละฆู เพราะเป็นการอ่านโดยไม่ต้องปฏิบัติ

ดังนั้นถ้าสังคมไม่มีนักกอรี สังคมไม่หายนะ แต่ถ้าสังคมขาดนักความหมายอัลกุรอานสังคมต้องหายนะ แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ นักอัลกุรอานกลับถูกประหารชีวิตในโลกมุสลิม เช่น เชคซัยยิด กุฏูบ นักอธิบายอัลกุรอาน ในประเทศอียิปต์ แต่นักกอรีไปอ่านอีซีกุโบเป็นดารามีคนตามไปฟังเป็นพัน แต่ที่ตามไปฟังนั้นเค้ารำลึกเนื้อหาเพื่อการปฏิบัติหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องตระหนัก นั้นแสดงถึงคุณค่าของอัลกุรอานในสังคมของเรา กลับมาที่หะดีษแรก ที่อัลกุรอานจะถูกนำมาพร้อมกับชาวอัลกุรอานโดยมีซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺกับ ซูเราะฮฺอาลิอิมรอนนำหน้ามา มีหะดีษว่าสองซูเราะฮฺจะมาเป็นปุยเมฆสองก้อน (มีหลายทรรศนะตีความว่ามาเป็นแบบจริงหรือไม่) เพราะสองซูเราะฮฺนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับกฎหมาย 

จนเศาะฮาบะฮฺกล่าวว่า ใครที่ศึกษาเรียนรู้ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺจนเชี่ยวชาญในหมู่พวกเราถึงว่า เป็นอาลิม

ท่านนบี บอกว่า สองซูเราะฮฺนี้ >(บะเกาะเราะฮฺและอาลิอิมรอน) จะมาโต้เถียงแทนเจ้าของ (คือผู้ท่องจำ ชำนาญจนปฏิบัติตามสองซูเราะฮฺนี้)

หะดีษที่บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ท่านนบี กล่าวว่า พวกท่านทั้งหลายจงอ่านอัลกุรอานเถิด เพราะมันจะเป็นทนายให้แก่ท่าน การอ่านในที่นี้ไม่ใช่แค่ท่องจำเท่านั้น มิฉะนั้นนักกอรีทั้งหลายก็เป็นชาวสวรรค์กันหมด หะดีษบันทึกโดยตีรมีซี รายงานว่าท่านนบี กล่าวว่า "ผู้ที่ไม่มีในหัวใจซึ่งอัลกุรอานเปรียบเสมือนบ้านพัง บ้านรก ไม่มีสัมภาระ ไม่มีใครอยากอยู่มีแต่หยากไย่ ในหัวใจก็จะพบแต่เพียงสิ่งไร้สาระทั้งหลาย"

มีรายงานจากอาบูมูซา อัลอัชอะรี ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวความว่า

"อุปมามุอฺมินที่อ่านอัลกุรอานอุปมัยดังผลอัลอุตรุจญะฮฺ รสชาติของมันดี(อร่อย)และกลิ่นของมันดี(หอม)" บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม

มีความขัดแย้งว่า ผลอัลอุตรุจญะฮฺคืออะไร ? บางคนบอกว่าต้นไม้ ท่านนบีบอกว่าอุตรุจญะฮฺคือ ผลไม้ที่มีกลิ่นหอม รสชาติดี มุอฺมินที่อ่านอัลกุรอานจะมีกลิ่นหอม รสชาติดี อัลกุรอานเป็นสัญลักษณ์

อุปมามุอฺมินที่ไม่อ่านอัลกุรอาน เปรียบดังอินทผลัมที่มีรสชาติดีแต่ไม่มีกลิ่น เมื่อไม่มีกลิ่น เมื่อไม่มีอัลกุรอานจึงเป็นมุอฺมินที่ขาดสัญลักษณ์ ที่จะปรากฏในรูปร่าง ใบหน้า การกระทำ ในถ้อยคำ ปรากฏหมดในชีวิต คนที่ใกล้ชิดอัลกุรอาน จะหอมมากแต่จะหอมเฉพาะคนที่มีความสามารถเท่านั้น เช่น บางคนได้กลิ่นเหล้าแล้วเหม็น ขณะที่บางคนจะหอม หรือคนที่มีไข้เป็นหวัด กินอาหารแล้วไม่มีรสชาดหรือผิดเพี้ยนไป ดังนั้นคนที่เห็นอะไรดีๆ แล้วว่าไม่ดีก็ผิดปกติ คนที่จะรู้ว่าอัลกุรอานหอมก็คือคนที่รู้คุณค่าของอัลกุรอาน ไม่ใช่เอาคนที่ทิ้งอัลกุรอ่านหรือสาปแช่งอัลกุรอานมาดม มุอฺมินถึงไม่อ่านอัลกุรอานก็ยังมีคุณค่าอยู่ดี ดังอินทผลัมที่ยังไงก็มีคุณค่า 

ส่วนอุปมามุนาฟิก ที่อ่านกุรอานอุปมัยใบโหระพาที่ขมแต่กลิ่นนั้นหอม อุปมามุนาฟิกที่ไม่อ่านอัลกุรอานอุปมัยอัลฮัมบาละฮฺ ที่ไม่มีกลิ่นและรสชาติขม

ลักษณะหรือสัญลักษณ์ในทุกคนที่นบี ได้อุปมาไว้นี้ คนที่อ่านอัลกุรอานจะได้มาซึ่งกลิ่นหอมที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง นี่เป็นคุณค่าของการอ่านกุรอานที่ได้รับการยกย่องแม้อ่านโดยไม่ศรัทธาและ ปฏิเสธด้วยซ้ำ แสดงว่ากลิ่นหอมเป็นสิ่งที่หลอกกันได้ แต่รสชาดเป็นของจริง ถ้าเราเป็นมุอฺมินแต่ไม่อ่านอัลกุรอาน ก็ยังมีรสชาติดีแต่ถ้าเราไม่ยอมรับแล้วเหลืออะไรก็ไม่ต่างจากมุนาฟิกที่ทั้ง ไม่หอมและขม ใช้ไม่ได้ นี่คือคุณค่าของอัลกุรอานสำหรับคนที่อยากจะถูกนำมาในอาคีเราะฮฺด้วยความสูงส่ง

สุดท้าย ท่านนบีสอนเพื่อเราจะได้รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร จากบันทึกของอบูดาวูด และตีรมิซียฺ บันทึกโดยอิหม่ามอะหมัดด้วย รายงานจากฮับริลละห อิบนี อัมรี บิน เอาศ ท่านนบี กล่าวว่า

"ในวันกิยามะฮฺได้ถูกกล่าวให้แก่เจ้าของกุรอาน อิกเราะอฺ จงอ่าน จงสูงขึ้น จงอ่านตามที่ท่านเคยอ่านในโลกดุนยานี้ แท้จริงตำแหน่งสูงสุดของท่านอยู่ที่อายะฮฺสุดท้ายที่ท่านสามารถอ่านจบได้" ถือว่าอัลกุรอานเป็นธรรมนูญ ที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จในทุกประเด็น แก้ไขทุกปัญหา กุรอานจำเป็นต้องมีพื้นที่ในชีวิตของเรามากกว่าอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นสิ่ง ไร้สาระ หรือวิชาความรู้ทั่วไป มากกว่าลูก มากกว่าครอบครัว 

จากการบรรยาย : เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, เรียบเรียงโดย : สมาชิกค่าย "เราคือสตรีแห่งทางนำรุ่น 1"

ที่มา : http://www.baanmuslimah.com

คุณค่าของอัลกุรอานในชีวิตของมุสลิม