โอ้พ่อจ๋า (ยาอะบะตี) 2

Submitted by dp6admin on Wed, 22/07/2020 - 21:18

وَاذْكُرْ فِي الْكِتَابِ إِبْرَاهِيمَ إِنَّهُ كَانَ صِدِّيقاً نَّبِيّاً ﴿٤١﴾

ความว่า “และจงกล่าวถึง(เรื่องของ)อิบรอฮีมที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นนะบี ”

  มีคำสั่งจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ให้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เอาเรื่องราวของท่านนบีอิบรอฮีม อลัยฮิสสลาม มาเล่าให้เราทราบ และไม่ใช่เล่าอย่างเดียว อัลลอฮฺบอกว่า ให้เรา รำลึก اذْ كُرْ  หมายถึง เอามาคิด  มาพิจารณา มาวิเคราะห์ นำมาเป็นอุทธาหรณ์ เป็นบทเรียน ให้เป็นตัวอย่างแก่เรา

“อินนะฮู กานะ ซิดดีกอน” เขาเป็น ผู้ซื่อสัตย์  (صِدِّيق)  สำนวนแห่งการยืนยันในเนื้อหาความหมาย (ในภาษาอาหรับเรียกว่า ซีรอตุน บานะกอ) หมายถึงว่า ไม่ใช่ซื่อสัตย์ธรรมดา แต่คือการซื่อสัตย์อย่างมากทีเดียว และตำแหน่งซิดดีก  อุละมาอฺบอกว่าเป็นตำแหน่งที่รองจากนบี ในซูเราะฮฺอาลิอิมรอน อัลลอฮฺได้บอกว่า “กลุ่มชนเหล่านั้นที่อัลลอฮฺทรงโปรดปรานพวกเขา คือ บรรดานบีและรอซูลและบรรดาผู้ซื่อสัตย์” คือบรรดาผู้ที่ไม่ตลบแตลง ไม่บิดพลิ้ว ไม่มีสองหน้า(มุนาฟิก) ขาวสะอาด พูดกับใครก็เหมือนกันหมด  ผู้เทศนาผู้เผยแผ่ศาสนาต้องซื่อสัตย์ ต้องตักเตือนทุกคน ยกเว้นบางกรณีไม่ได้  แม้จะเป็นพ่อก็ต้องเตือน 

إِذْ قَالَ لِأَبِيهِ يَا أَبَتِ لِمَ تَعْبُدُ مَا لَا يَسْمَعُ وَلَا يُبْصِرُ وَلَا يُغْنِي عَنكَ شَيْئاً ﴿٤٢﴾

ความว่า  “และจงรำลึกถึงเมื่อเขากล่าวแก่บิดาของเขาว่า โอ้พ่อจ๋า ทำไมท่านจึงเคารพบูชาสิ่งที่ไม่ได้ยินและไม่เห็น และไม่ให้ประโยชน์อันใดแก่ท่านเลย”

อัลลอฮฺได้บอกว่า จงรำลึก เมื่อท่านนบีอิบรอฮีมพูดกับบิดาของท่านว่า โอ้พ่อจ๋า หัวข้อของเราก็เอามาจากตรงนี้ ที่หยิบยกอายะฮฺนี้เพราะอุทาหรณ์นี้ทุกคนต้องนอบน้อมยอมรับ ลูกที่กำลังตักเตือนพ่อไม่ใช่ลูกธรรมดาแต่เป็นนบี และที่อัลลอฮฺเอาเรื่องนี้มาตักเตือนทุกคน ก็เพื่อให้ผู้ศรัทธาทุกคนน้อมให้กับสัจธรรม ว่าไม่มีผู้ใหญ่ ผู้น้อย ไม่มีนายก ไม่มีคนใช้  ไม่มีทาส และนั่นคือเหตุผลที่ท่านนบีอิบรอฮีมต้องพูดและท่านจะปกปิดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะกีดะฮฺโดยตรง ถ้าไม่เตือนพ่อต้องหายนะ และเมื่อมีเรื่องอันตราย เรื่องยิ่งใหญ่ ก็อย่าเพิ่งเอาเรื่องเล็กมาพูด เช่น พ่อกำลังทำชิริกและสูบบุหรี่ จะเตือนพ่อเรื่องอะไร พ่อไม่ละหมาดและสูบบุหรี่ เอาเรื่องละหมาดมาพูดก่อน  พอละหมาดแล้ว นอบน้อมแล้วก็ค่อยเตือนเรื่องที่เล็กกว่า นี่คือเรื่องที่อัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)ได้ให้มาเป็นบทเรียนสำหรับเรา

ให้เรานึกภาพลูกที่กำลังเตือนพ่อ ซึ่งลูกนั้นเป็นนบี ไม่ใช่คนธรรมดาและไม่ใช่เด็ก เพราะท่านนบีอิบรอฮีมเมื่อเริ่มเทศนานั้นท่านอายุ 30-40 ปีแล้ว  เตือนพ่อว่า “พ่อจ๋า ทำไมท่านจึงบูชาในสิ่งที่ไม่ได้ยิน  ไม่เห็น และไม่สามารถนำประโยชน์ใดๆให้แก่ท่านได้” อุละมาอฺบอกว่านี่เป็นการตักเตือนอย่างสวยงามที่สุด  ระหว่าง “พ่ออย่าบูชารูปเจว็ด” กับ “ พ่อทำไมถึงบูชารูปเจว็ด” อันไหนสวยงามกว่า  ที่ท่านนบีอิบรอฮีมใช้คำว่า “ทำไม” เพื่อท่านจะได้ไม่ต้องตอบ เพราะถ้านบีอิบรอฮีมตอบเองก็เหมือนกับประณามบิดาของท่าน แต่ด้วยลักษณะนิสัยอันงดงามละเอียดอ่อนของท่านนบีอิบรอฮีม จึงใช้คำถาม “ทำไมถึงลงทุนสร้างรูปเจว็ดมาจากดินจากไม้ ทั้งๆที่รู้ว่ารูปปั้นนั้นไม่ได้ยิน ประโยชน์ต่างๆมันก็ไม่นำให้เราทั้งสิ้น ทำไมจึงไปบูชามัน” คำถามเหล่านี้มันต้องกระทบและกระตุ้นความสนใจของพ่อของท่าน และยังมีคำสั่งสอนอยู่ในเนื้อหาคำถามด้วย

(อุละมาอฺบอกว่า จากตรงนี้แสดงว่าคุณลักษณะของพระเจ้านั้นคือ ต้องเป็นผู้ทรงเห็น ต้องเป็นผู้ทรงได้ยิน ต้องเป็นผู้ทรงเดชานุภาพนำประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่น และถ้าพระเจ้าไม่ได้ยิน ไม่เห็น และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับใครเลย แล้วไปไหว้ทำไม แถมพระเจ้าที่หิวยังต้องเอาอาหารไปให้จะไปเรียกพระเจ้าได้อย่างไร) นบีอิบรอฮีมบอกว่า คิดสิ ให้คิด พระเจ้าต้องได้ยิน เพราะพระเจ้าต้องมีบ่าว บ่าวต้องวิงวอน ต้องขอพร ถ้าพระเจ้าหูหนวกจะเป็นพระเจ้าได้อย่างไร

นี่คือสิ่งที่นบีอิบรอฮีมปฏิบัติกับบิดาของท่าน ท่านตักเตือนอย่างนิ่มนวลสวยงาม แต่กับชาวบาบิโลนท่านตักเตือนในลักษณะที่รุนแรง เข้าไปในสถานบูชาเจว็ดและไปทำลายรูปเจว็ดทุกรูปทุกตัว ยกเว้นตัวใหญ่และก็เอาไม้ไปแขวนคอตัวใหญ่ เมื่อชาวบ้านสืบดูก็ได้เบาะแสว่า มีคนหนึ่งพูดเรื่องเจว็ดเรื่องพระเจ้าของเราในลักษณะที่ไม่ดี  ก็ไปถามเขาว่า ไปทำพระเจ้าของเราทำไม  นี่เขาสรุปเลย เขาไม่ได้ถาม แต่สรุปว่านบีอิบรอฮีมไปทำมันทำไม สรุปก่อนที่จะสืบ กลายเป็นผู้พิพากษาไปเลย ท่านนบีอิบรอฮีมก็ตอบไปว่า พระเจ้าตัวใหญ่ของพวกท่านน่ะ ไปถามสิถ้ามันพูดได้ เป็นพระเจ้า มีเดชานุภาพก็ไปถามเลย  พระเจ้าที่ไม่ได้ยิน มองไม่เห็น ไม่ควรเป็นพระเจ้า แต่พระเจ้าของเราทรงได้ยิน ในอัลกุรอานบอกว่า อัลลอฮฺทรงได้ยิน อัลลอฮฺทรงเห็น อัลลอฮฺทรงมอง ทรงกล่าว ทรงพูด นี่คือพระเจ้า แต่ไม่ใช่ได้ยินหรือมองเห็นเหมือนมนุษย์ คุณลักษณะของอัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่สูงส่งเหนือมนุษย์ แน่นอน อัลลอฮฺไม่เหมือนมนุษย์ มนุษย์ก็ไม่เหมือนพระองค์

ในเนื้อหาของคำถามของนบีอิบรอฮีมก็มีคำสั่งสอนด้วย  แต่เป็นคำสั่งสอนที่มอบให้บิดาของท่านคิดเอง “ทำไมบูชาละ สิ่งที่มันไม่ได้ยิน มองไม่เห็น ประโยชน์ต่างๆก็นำมาให้แก่ท่านไม่ได้” แน่นอนเมื่อเริ่มเตือนแล้ว บิดาของท่านนบีอิบรอฮีมต้องเกิดอคติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ   

(การเตือนใครนั้นต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกับคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าหรืออาวุโสกว่าเรา  1. เราต้องดูวิธีตักเตือน  2. จำนวนครั้งที่เราจะตักเตือน เพราะคนที่มีอายุมากกว่าเราก็จะมีความรู้สึก อันนี้ทุกคนจะต้องมีคนที่อายุมากกว่า นี่เป็นอุทาหรณ์นะ พี่น้องอย่าคิดว่าเด็กจะมาเตือนเราที่เป็นผู้อาวุโสนั้นไม่ได้ ถ้าเราอยากจะเข้าใจลูกหลานของเรา วิธีที่เราจะเตือนนั้นเราจะต้องเตือนอย่างไร บางครั้งเราก็ลืมตัว) บิดาของท่านก็ต้องมีความรู้สึกว่าอิบรอฮีมเป็นลูกจะมาสอนฉันได้ยังไง แต่นบีอิบรอฮีมรีบบอกกับบิดาของท่านทันทีว่า

يَا أَبَتِ لَا تَعْبُدِ الشَّيْطَانَ إِنَّ الشَّيْطَانَ كَانَ لِلرَّحْمَنِ عَصِيّاً ﴿٤٤﴾

ความว่า “โอ้พ่อจ๋า แท้จริงความรู้ได้มีมายังฉันแล้ว ซึ่งมิได้มีมายังท่าน ดังนั้น จงเชื่อฟังปฏิบัติตามฉันเถิด ฉันจะชี้แนะท่านสู่ทางที่ราบรื่น ”

“พ่อจ๋า แท้จริงฉันได้รับความรู้ (หมายถึงว่ามาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ซึ่งร่ำเรียนจากคัมภีร์ที่ท่านไม่ได้รับ (แสดงว่าอิบรอฮีมไม่ปฏิเสธว่าบิดาของท่านมีความรู้ แต่ส่วนที่เป็นความรู้ของท่านนบีอิบรอฮีมเป็นส่วนที่บิดายังไม่ได้ศึกษา เป็นการให้เกียรติในความรู้ของบิดาของท่าน) ท่านปฏิบัติตามฉันเถิดและฉันจะให้ทางนำ ให้คำชี้แนะอันเที่ยงตรงสำหรับท่าน”

เราต้องเข้าใจว่าระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยนั้นมักจะมีกำแพงกั้นอยู่ บางครั้งเราไม่รู้ว่าจะปฏิบัติกับลูกหลานอย่างไร จึงต้องศึกษา นี่คือบทเรียน บางครั้งเราตามลูกไม่ทัน ไม่รู้ว่าลูกต้องการอะไร  ลูกออกไปข้างนอก ไปประสบพบเห็นในสิ่งที่เราไม่รู้ เราก็ต้องพูดคุยสอบถามเพื่อจะได้รู้เท่าทันเขา เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับลูกหลานของเราแล้วจะได้ช่วยให้คำแนะนำแก่เขาได้ แต่ถ้าเรายังตามเขาไม่ทันก็เป็นข้อบกพร่อง  เราต้องชดเชยข้อบกพร่องตรงนี้ด้วยการศึกษา อย่าคิดว่าเราเป็นพ่อเป็นแม่ เราต้องรู้ทุกอย่าง   บางครั้งพ่อประสบปัญหาแล้วแก้ไม่ได้ แต่ลูกนั้นรู้ว่าจะแก้ปัญหายังไงมาคุยกับพ่อเพื่อจะช่วยให้พ่อแก้ไขปัญหานั้นได้พ่อก็ควรจะรับฟัง อย่าคิดว่าลูกจะมาแนะนำฉันในการแก้ปัญหาไม่ได้ นึกว่าความรู้ของตนเองนั้นดีเลิศแล้ว  นี่คือข้อบกพร่องที่ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถอบรมหรือปกครองลูกหลานของเขาได้  เป็นเรื่องที่เราต้องระวัง


เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง