เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّوْرِ وَالعَمَلَ بِهِ فَلَيْسَ للهِ حَاجَةٌ في أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ. رواه البخاري
ความหมาย “ใครก็ตามที่ไม่ละเว้นวาจาหรือเป็นพฤติกรรมที่เป็นความเท็จ อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มิทรงประสงค์(ให้เขาหิวหรือกระหาย ด้วย)การละเว้นอาหารและเครื่องดื่มของเขา” (บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ)
มิใช่วัตถุประสงค์ในการบัญญัติให้ถือศีลอด ที่จะให้ผู้ศรัทธาละเว้นอาหารและเครื่องดื่มจนกระทั่งเป็นผู้ที่หิวและกระหายขณะถือศีลอด แต่เขายังไม่สามารถละเว้นซึ่งความเท็จด้วยการพูดหรือการกระทำ เพราะวัตถุประสงค์ในการถือศีลอด อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ระบุไว้ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการถือศีลอดว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
ความหมาย “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว ดังที่เคยมีบัญญัติในประชาชาติยุคก่อน หน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง (ต่ออัลลอฮฺ)” (ซูเราะตุลบะเกาะเราะฮฺ 183)
ความตักวาต่ออัลลอฮ์ นั้นจะเป็นเหตุให้ผู้ศรัทธาระงับกิเลสและอารมณ์มิให้กระทำสิ่งที่ผิดหลักการศาสนา สิ่งที่ผิดหลักการศาสนานั้นคือสิ่งที่เราเรียกว่า ความเท็จ หรือที่ท่านนบีเรียกว่า الزُور (อัซซูร) อันหมายรวมถึงสิ่งที่ศาสนาไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับ เป็นความเท็จ เป็นโมฆะ ศาสนาไม่ยอมรับว่ามันถูกต้อง มุสลิมจำต้องสร้างชีวิตของตนบนบรรทัดฐานแห่งความจริงและสัจธรรม ฉะนั้น การถือศีลอดต้องสั่งสอนให้ผู้ศรัทธานั้นอยู่กับความจริง กระทำสิ่งที่เป็นความจริงและเป็นสัจธรรม เนื่องจากผู้ศรัทธานั้นสามารถบริหารและควบคุมอารมณ์กิเลสของตนเองได้ ถึงขั้นระงับอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับชีวิตของผู้คนทั้งหลาย แสดงว่าผู้ถือศีลอดนั้นย่อมมีความสามารถในการบริหารพฤติกรรมและวาจาของตนเองด้วย หากผู้ศรัทธาสามารถระงับอาหารและเครื่องดื่มแต่ยังไม่สามารถระงับความเท็จ ระงับความชั่ว นั่นแสดงว่ายังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการถือศีลอด
การถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺที่มีความสำคัญและมีความสูงส่งมากที่สุดในชีวิตของผู้ศรัทธา ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถูกถามเกี่ยวกับอะมั้ล(การกระทำ)ที่มีคุณค่าสูงสุด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แนะนำว่า “ท่านจงถือศีลอด เพราะไม่มี(อะมั้ล,การงาน)อะไรเทียบเท่ากับการถือศีลอด เพราะการถือศีลอดนั้นเป็นสัญญาณบอกว่าผู้ศรัทธานั้นถึงระดับที่สามารถบริหารอารมณ์ของตนเองได้ และไม่มีอะไรที่อันตรายต่อชีวิตผู้คนทั้งหลายนอกจากอันตรายของอารมณ์ เพราะอารมณ์ทั้งหลายนั้นสามารถนำมนุษย์ไปสู่ความหายนะ
อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า “และเจ้าอย่าตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของเจ้า มิฉะนั้นแล้วอารมณ์จะนำเจ้าไปสู่การหลงผิด” การหลงผิดที่เกิดจากการตามอารมณ์ของเรา หากเราไม่สามารถบริหารและควบคุมอารมณ์ของเรา การถือศีลอดนั้นจะทำให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายมีศักยภาพในการสั่ง ในการบอกแก่อารมณ์ให้กระทำอะไรบ้าง ให้ละเว้นอะไรบ้าง
อัลลอฮ์ ถือว่าการถือศีลอดเป็นส่วนสำคัญของ การอดทน (เศาะบัร) ซึ่งการอดทนเป็นปัจจัยสำคัญมากในชีวิตของผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ยกย่องและตอบแทนบรรดาผู้อดทนอย่างทวีคูณ ดังที่พระองค์ทรงกล่าวว่า
“แท้จริงอัลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะตอบแทนบรรดาผู้ที่อดทนโดยไม่มีข้อจำกัด โดยไม่มีการคำนวณ ” หมายรวมว่าการตอบแทนสำหรับผู้อดทนนั้นอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนอย่างทวีคูณ
ท่านนบี(ซล.)เคยกล่าวว่า “การถือศีลอดนั้นเท่ากับครึ่งหนึ่งของการอดทน” เพราะการถือศีลอดนั้นเราต้องบริหารอวัยวะทุกส่วน แม้กระทั่งอวัยวะภายในนั่นก็คือหัวใจของเรา บางคนสามารถระงับอวัยวะของเขาไม่ให้กระทำความชั่ว แต่จิตใจของเขายังไม่ได้ถือศีลอด ยังมีความคิด ยังมีความเชื่อในสิ่งที่เป็นความเท็จ เพราะฉะนั้นหะดีษที่ผมระบุไปข้างต้น “ใครก็ตามที่ไม่สามารถละเว้นความเท็จ ไม่ว่าจะเป็นวาจาหรือการกระทำอัลลอฮฺไม่ประสงค์ให้เรางดอาหารและเครื่องดื่มจนกระทั่งให้พวกเราได้กระหายหรือหิวอาหาร” นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของอัลลอฮ์(ซ.บ.)
หะดีษบทนี้เป็นหะดีษบทที่อันตรายมากต่อผู้คนที่ต้องการรักษาการถือศีลอดของตัวเองให้อยู่ในกรอบของศาสนา เพราะมีบางคนที่ถือศีลอดแล้ว แต่วาจาและการกระทำของเขายังยืนยันในความเท็จ ซึ่งความเท็จนี้ไม่ใช่ความชั่วอย่างเดียว แต่รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดหลักการศาสนา เช่น การที่ทำชิริกเล็กๆน้อยๆมันก็เป็นความเท็จ เช่นเดียวกัน คนที่ทำบิดอะฮฺ(อุตริกรรม)ก็มีความเสี่ยงต่อการถือศีลอดของตัวเอง เพราะฉะนั้นผู้ศรัทธาทั้งหลาย เราอยากจะถือศีลอดให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้กำหนดไว้ เราก็ต้องตรวจสอบชีวิตของเราทุกประการ บางคนชีวิตของเขาถูกสร้างบนกิจการที่เกี่ยวกับความเท็จ อาชีพของเขาเกี่ยวกับความเท็จ การกระทำของเขาเกี่ยวกับความเท็จ ความสัมพันธ์ของเขากับผู้คนก็ล้วนขึ้นอยู่กับความเท็จทั้งสิ้น คนเหล่านี้เมื่อถือศีลอดแต่ไม่มีการระงับซึ่งความเท็จ นั่นแสดงว่าการถือศีลอดอาจไม่ถูกรับจากกอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
เป็นเรื่องที่อันตรายมากสำหรับคนที่คิดว่าการถือศีลอดนั้นแค่ไม่กินไม่ดื่ม แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนคือเดือนรอมฎอนจะสั่งสอนให้ผู้ศรัทธาบริหารชีวิตให้ขึ้นอยู่กับหลักการของศาสนา เพราะฉะนั้น เดือนรอมฎอนอัลลอฮ์(ซ.บ.)จะเตือนให้เราอ่านกุรอานมากๆเพราะอัลกุรอานถูกประทานมาในเดือนรอมฎอน เราต้องทบทวนกุรอานเพื่ออะไร? เพื่อตรวจสอบเราว่ามีความเท็จที่ไม่สอบคล้องกับอัลกุรอานหรือไม่ หากเราอ่านอัลกุรอานแล้วไม่ได้ตรวจสอบชีวิตของเราว่ามีอะไรที่เป็นความเท็จ มีอะไรที่เป็นความชั่ว มีอะไรที่ไม่สอดคล้องกับหลักการ อัลกุรอาน แล้วไซร้ ก็แสดงว่าเราอ่านกุรอานเหมือนพวกอะห์ลุลกิตาบ อ่านกุรอานเพียงอย่างเดียวแต่ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ไม่ตรวจสอบชีวิตของตัวเองว่าสอดคล้องกับพระบัญชาของอัลลอ์(ซ.บ.)หรือไม่ ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)เป็นอาม้าลที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถรับความอภัยโทษต่อความผิดที่เคยกระทำมาในอดีตทั้งหมด
ดังที่ท่านอิหม่ามบุคอรีได้บันทึกไว้ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ได้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนด้วยความศรัทธาต่อพระบัญชาของพระองค์อัลลอฮ์ และด้วยความหวังในผลบุญของอัลลอฮ์(ซ.บ.)แล้วไซร้ อัลลอฮ์(ซ.บ.) จะให้ความอภัยโทษต่อเขาต่อความผิดที่ได้กระทำตลอดอดีตที่ผ่านมา" ผลบุญอันมหาศาลที่อัลลอฮ์(ซ.บ.)เตรียมไว้สำหรับผู้ศรัทธามันก็ต้องเหมาะสมหรับผู้ศรัทธาที่ได้กระทำไว้ตลอดเดือนรอมฎอน”
ท่านนบี(ซ.ล.)ได้ตั้งเงื่อนไขสำหรับคนที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน คือ “ศรัทธาในพระบัญชาของอัลลอฮ์ และหวังในผลบุญของอัลลอฮ์”
ศรัทธาหมายความว่าอะไร? หมายความว่าเชื่อในคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์ เชื่อว่าการถือศีลอดเป็นคำบัญชาจากอัลลอฮ์(ซ.บ.) หากเชื่อและศรัทธาในการถือศีลอดต่ออัลลอฮ์แต่ไม่ละหมาด นั่นแสดงว่าจุดยืนของตัวเองต่อพระผู้เป็นเจ้าขาดความสมดุล ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะเชื่อในบางอย่าง ไม่เชื่อในบางอย่าง ซึ่งเป็นลักษณะของอะห์ลุลกิตาบ
“สูเจ้าจะศรัทธาในบางส่วนของคัมภีร์ และอีกส่วนไม่ศรัทธากระนั้นหรือ” นั่นคือสิ่งที่เราต้องตรวจสอบ
มุสลิมะห์ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนแต่ไม่ยอมคลุมฮิญาบ ไม่ยอมแต่งตัวตามหลักการของศาสนา คนที่ถือศีลอดแต่รับศีลบน ลักขโมยทรัพย์ ใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นโกหก เป็นพยานเท็จ ทำบิดอะห์ในเรื่องต่างๆ นั่นแสดงว่าเชื่อในบัญชาอัลลลอฮฺบางประการ อีกประการไม่เชื่อ นั่นคือจุดยินที่สามารถเรียกว่าความเท็จ เพราะความเท็จคือความไม่เป็นจริง สิ่งที่ไม่ใช่ศาสนา(สัจธรรม)ก็ย่อมไม่เป็นจริง ถ้าเราเอาสิ่งที่ไม่เป็นจริงมาปฏิบัติเป็นศาสนกิจ ก็แสดงว่าเรามีการปฏิบัติอันไม่เป็นจริง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงในผลบุญของการถือศีลอด อันเนื่องมาจาก ถือศีลอด ระงับอาหาร ระงับเครื่องดื่ม แต่ไม่ระงับความเท็จ
ศาสนาต้องการอะไร? ศาสนาไม่ต้องการให้เราหิว หรือกระหาย หรืออดหลับอดนอน ท่านนบี(ซ.ล.)ได้บอกว่า “มากมายในหมู่ผู้ที่ได้ถือศีลอดแล้ว งดอาหารแล้วแต่ไม่ได้ผลบุญอะไรเลยนอกจากหิวและกระหายอย่างเดียว และมีบางคนที่ละหมาดกิยามุลลัยก์แต่ไม่ได้อะไรเลยนอกจากอดหลับอดนอน”
ศาสนาไม่ได้ต้องการเช่นนั้น ศาสนาต้องการให้การกระทำของเรามีคุณภาพ ถูกตามหลักการของศาสนา เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่ต้องศึกษาเรียนรู้วัตถุประสงค์ของอิบาดะห์ต่างๆที่อัลลอฮ์มอบหมายไว้ให้แต่ผู้ศรัทธา ไม่ใช่ปฏิบัติศาสนกิจตามทีบรรพบุรุษได้สั่งไว้เพียงอย่างเดียว ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมที่เกี่ยวกับอิบาดะห์ต่างๆเกิดจากการจากความรู้ด้านวิชาการ ซึ่งทำให้ผู้คนปฏิบัติตามอวิชา หลงใหลตามกระแสนิยมหรือกระแสของบรรพบุรุษที่ได้ยึดปฏิบัติอย่างเดียวและไม่ไตร่ตรองหรือพิจารณาว่ามันถูก หรือไม่ถูก เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงมาก บางคนถือศีลอดเดือนรอมฎอน 10 ปีแล้ว 20 ปีแล้ว 40 ปีก็มีแล้ว และยังไม่ได้ตรวจสอบชีวิตของตัวเองว่าที่ถือศีลอดไปแล้ว อัลลอฮ์รับหรือไม่ มันถูกต้องหรือไม่ มันเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในชีวิตของเรา หากการถือศีลอดมา 40 ปีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยในชีวิตของท่านนั่นแสดงว่าการถือศีลอดของท่านขาดคุณภาพ ท่านนบี(ซ.ล.)ได้สอนบรรดาเศาะฮาบะห์ อบรมบรรดาเศาะฮาบะห์ให้อาม้าลอิบาดะห์ที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเรามีคุณภาพ
อัลลอฮ์(ซ.บ.)ได้บอกว่า “การละหมาดจะเป็นสิ่งที่ปราบปรามพวกเรามิใช้กระทำความชั่ว” แสดงว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนเมื่อละหมาดแล้วต้องตรวจสอบว่า การละหมาดได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราหรือไม่ วัตถุประสงค์ของการถือศีลอดคือให้เราได้มีตักว่า หากเราถือศีลอดแล้วไม่มีตักว่า ยังฝ่าฝืนพรบัญชาของอัลลอฮ์(ซ.บ.)ประการอื่นนั่นแสดงว่าเรายังไม่บรรลุเป้าหมายของการถือศีลอด เราต้องตรวจสอบชีวิตของเราในเดือนรอมฎอนและภายหลังเดือนรอมฎอน ในเดือนรอมฎอนเราต้องดู ต้องตรวจสอบว่าการถือศีลอดของเราได้คะแนนเท่าไหร่ มีคุณภาพเท่าไหร่ ความสง่างามเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราพัฒนาการทำอิบาดะห์ของเราเรื่อยๆ ทุกวันเราต้องคิดบัญชี การถือศีลอดของเราในวันนี้ มีความผิดอะไรบ้าง ที่ละหมาดตะรอเวี๊ยห์มีข้อบกพร่องอะไรบ้าง เราต้องตรวจสอบ ถ้าไม่ตรวจสอบแสดงว่าอาม้าลของเราคงอยู่กับที่ เราก็ไม่สามารถจะได้ประโยชน์ของการทำอิบาดะห์ทุกประการ
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านนบี(ซ.ล.) ได้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนประมาณ 10 ปี เศาะฮาบะห์ก็เช่นเดียวกัน ในระย 10 ปีนี้ ท่านนบีสามารถสร้างผู้คนที่พิชิตโลกด้วยสัจธรรมแห่งอัลอิสลาม ในเดือนรอมฎอนท่านนบีจะทบทวนกุรอานกับท่านญิบรีล และในปีสุดท้ายก่อนท่านนบีจะเสียชีวิต นบีจะทบทวนกุรอานสองครั้ง
เดือนรอมฎอนสามารถเรียกได้ว่าเป็นโรงเรียน เป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญมากสำหรับผู้ศรัทธา ศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้อีหม่านของเรามีคุณภาพ ที่สามารถเพิ่มพูนศักยภาพของผู้ศรัทธาในการที่จะเป็นนักต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์(ซบ.) ทำไมท่านนบีจึงตั้งเงื่อนไขว่าถ้างดอาหารเครื่องดื่ม ก็ต้องงดความเท็จด้วย เพราะความเท็จทำคุณภาพของผู้คนในสังคมล้มเหลวไปหมด และสภาพของสังคมที่เราเห็นทุกวันนี้ก็เกิดจากความเท็จทั้งสิ้น แต่มุสลิมผู้ยึดในสัจธรรม การถือศีลอดการศึกษาอัลกุรอาน การทำหน้าที่ต่อัลลอฮ์(ซบ.) จะสอนให้เขายึดในความเป็นจริง ละเว้นความเท็จทุกประการในชีวิต
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เรามีหน้าที่แสดงให้ผู้คนในสังคมได้เห็นว่าการถือศีลอดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้เป็นชีวิตของผู้ศรัทธาที่แท้จริง ใครที่ยังไม่ได้ทบทวนตัวเองว่าการถือศีลอดของเขาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาหรือยัง ในสิบคืนสุดท้ายยังมีโอกาส ในสิบคืนสุดท้าย ท่านนบี(ซล.)แนะนำให้เอี๊ยะติกาฟ แนะนำให้ขยัน ขะมักเขม้นในการทำอิบาดะห์ วิงวอนขอดุอาอฺ ให้อาม้าลอิบาดะห์บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคืนลัยละตุลก็อดรฺ ที่ต้องแสวงหาในคืนเลขคี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถือศีลอดและละหมาดกิยามุลลัยก์ ต้องแสดงสภาพให้เห็นถึงความเป็นบ่าวของอัลลอฮ์(ซบ.) เพราะไม่มีใครยินยอมที่จะหิวกระหายนอกจากต้องรักอัลลอฮ์(ซบ.)อย่างแท้จริง ไม่มีใครที่จะยอมเมื่อยยืนละหมาดกิยามุลลัยก์แทบทั้งคืนนอกจากผู้ที่รักอัลลอฮ์(ซบ.)อย่างแท้จริง
คนที่ยังไม่ถือศีลอด หรือถือศีลอดอย่างบกพร่อง คนที่ยังไม่ละหมาดกิยามุลลัยก์ หรือละหมาดอย่างยกพร่อง ให้กลับมาทบทวน ให้ทำอิบาดะฮ์อย่างถูกต้องจนถึงวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เราจะรู้สึกว่าอีหม่านของเราได้เพิ่มพูนขึ้น เมื่อนั้นแล้วในวันอีด วันเฉลิมฉลอง เราจะขอบคุณต่ออัลลอฮ์(ซบ.)ที่เราสามารถปฏิบัติอาม้าลอิบาดะฮ์อย่างครบถ้วน ตักบีรต่ออัลลอฮ์ แสดงความเกรียงไกรของอัลลอฮ์(ซบ.) คนเยอะแยะที่เป็นมุสลิม...ไม่ถือศีลอด ไม่ละหมาดกิยามุลลัยลฺ แต่สำหรับผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์ได้ช่วยเหลือ ให้เตาฟีกแต่พวกเราในเดือนรอมฎอน ให้ทำอาม้าลอิบาดะห์ให้สอดคล้องตามบทบัญญัติของอัลลอฮ์(ซบ.) ทุกประการ
วันที่ 17 เดือนรอมฎอนเป็นวันสงครามบดัรฺ ที่ท่านนบี(ซล.)สู้รบกับบรรดามุชริกีนผู้ฝ่าฝืนอัลลอฮ์(ซบ.) ท่านนบีได้รับชัยชนะและสามารถประกาศความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์(ซบ.)ต่อผู้ที่ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในสงครามนี้มีบทเรียนมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชาติอิสลามในยุคนี้
- บทเรียนแรก อัลลอฮ์(ซบ.)กล่าวไว้ในซูเราะฮฺอาละอิมรอน “โดยแน่นอนแล้ว อัลลอฮ์ทรงช่วยเหลือพวกเจ้าให้ได้รับชันะในสงครามบัดรฺ ทั้งๆที่พวกเจ้านั้นเป็นพวกที่อยู่ในสภาพที่ตกต่ำ”อยู่ในสภาพที่ตกต่ำเพราะบรรดามุสลิมีนอพยพจากมักกะฮ์ไปมะดีนะฮฺ ไม่มีบ้านไม่มีที่อาศัยอยู่ รายได้ก็ไม่มี ความสามารถ ศักยภาพในการทำสงครามก็ไม่มี แต่อัลลอฮ์(ซบ.)ให้จำนวนสามร้อยกว่าคนเป็นผู้ศรัทธาได้รับชัยชนะเมื่อต่อสู้กับกองทัพบรรดามุชริกีนที่มากกว่าพันคน เหตุการณ์นี้ทำให้ตระหนักได้ว่า ประชาชาติอิสลามจะได้รับชัยชนะไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของพวกเขา เพราะบัดนี้มุสลิมทั่วโลกเกือบสองพันล้านแล้ว มุสลิมกำลังครองทรัพยากรที่สำคัญในโลก คือน้ำมัน แต่ชัยชนะอยู่ไหน ?
- ชัยชนะไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวย ไม่ได้อยู่ที่จำนวนประชากรมหาศาล แต่ชัยชนะย่อมอยู่กับการยึดมั่นในหลักการ และนั่นคือคุณสมบัติของเศาะฮาบะฮ์ในสงครามบัดรฺ ตราบใดในโลกมุสลิมของเรา ประชาชาติมุสลิมของเรานิยมทำชิริก เพราะมีการสั่งสอนให้ทำชิริก มีโต๊ะครูที่ตระเวนบรรยายในมัสยิดต่างๆและออกรายการวิทยุ โทรทัศน์ด้วย สั่งสอนให้ทำชิริก และสร้างกระแสว่าการทำชิริกนั้นอิสลามมี เจิมรถ...ทำได้ แขวนอาซีมัต...ทำได้ ตลาดชิริกกลายเป็นคำสั่งสอนทางศาสนาเสียแล้ว ตราบใดสังคมยังนิยมบิดอะห์ ชื่นชอบในสิ่งที่ไม่มีในหลักการ ยืนยันในความเท็จว่าเป็นความจริง ยินยันในบิดอะห์ว่าเป็นหลักศาสนา ชัยชนะจะไม่ปรากฏอย่างแน่นอน
ก้าวแรก....คืบแรกที่จะได้รับชัยชนะ ประชาชาติอิสลามต้องได้รับความสว่างในเรื่องศาสนาของตัวเอง นบีไม่ได้ชนะด้วยอาวุธ แต่นบีชนะด้วยสัจธรรม อิสลามไม่ได้กระจายทั่วโลกเพราะเป็นทฤษฎีที่น่ารัก...ไม่ใช่ อิสลามกระจายทั่วโลกเพราะเป็นสัจธรรมที่อัลลอฮ์รองรับว่าเป็นความจริงของมนุษยชาติ เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่มีความหวงแหนต่อประชาชาติอิสลามว่าเมื่อไหร่อิสลามจะรับชัยชนะ เมื่อไหร่ประชาชาติอิสลามจะบรรลุชัยชนะ แต่สำหรับมุสลิมที่ไม่สนใจ ไม่เอาธุระ ใครถูกฆ่า ใครถูกถล่ม อิสลามถูกใส่ร้าย ท่านนบีถูกด่า ใครที่ไม่เอาธุระ พวกนี้ไม่ใช่ผู้รับมรดก ไม่ใช่ผู้สืบทอดมรดกของท่านนบี(ซล.)
ผู้สืบทอดมรดกของท่านนบี ที่มีความหวงแหน ต้องการให้อิสลามเป็นศาสนาแห่งมนุษยชาติทั้งหลาย ถ้าต้องการเช่นนี้จริงๆ เราต้องกลับมาตรวจสอบชีวิตของเราว่าเราเป็นมุสลิมจริงหรือไม่ อัลลอฮ์(ซบ.)ไม่ได้ต้องการให้ประชาชาติอิสลามทั้งเปลี่ยนแปลง เพราะมันเป็นไปไม่ได้ สมัยท่านนบี(ซล.) สาวกของท่านก็มีคนที่ทำความผิด ทำซีนา ขโมย นบีก็เคยเฆี่ยน นบีก็เคยลงโทษ แสดงว่าคนชั่วในสังคมก็ต้องมี แต่เราต้องการให้กระแสแห่งความจริงมีความเข้มข้นและกระแสแห่งความเท็จอยู่ในสภาพที่ตกต่ำ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่...ความเท็จเสียงดังกว่าความจริง ความจริงไม่กล้าเสนอตัวว่า “ฉันคือความจริง ฉันคือสัจธรรม”... ความจริงภูมิใจความเท็จ ความเท็จกล้าหาญต่อความจริง แล้วเมื่อไหร่ความจริงจะชนะ การถือศีลอดจะสอนให้เรามีความกล้าหาญ ประกาศความจริงละเว้นความเท็จ
ขอต่ออัลลอฮ์(ซบ.)ได้มอบหมายให้พวกเรายืนหยัดต่อสู้เพื่อสัจธรรมของอัลลอฮ์(ซบ.)
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 178 views