อะไรคือ "อัลอิสติฮาละฮฺ" ?

Submitted by dp6admin on Sat, 22/12/2018 - 19:48
เนื้อหา
อิสติฮาละตุ้ลอัยนฺ คือ การเปลี่ยนสภาพของสิ่งต่างๆปัญหาเรื่องยาและอาหารที่มีส่วนประกอบที่ได้จากสัตว์ที่นะญิส เช่น สัตว์ตาย(ที่ไม่ได้ถูกเชือดตามหลักการอิสลาม), สุกร, สุรา ฯลฯ ที่ได้เปลี่ยนสภาพแล้วและถือว่าสะอาดสามารถบริโภคได้นั้น บรรดาปราชญ์มุสลิม(อุละมาอฺ)ได้วิเคราะห์กันมานานแล้ว และมีระบุในตำรานิติศาสตร์อิสลามโดยหลายมัซฮับ
 โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
ฝ่ายวิชาการศาสนาฮิมายะฮฺ
 
อิสติฮาละตุ้ลอัยนฺ คือ การเปลี่ยนสภาพของสิ่งต่างๆ 
 
ปัญหาเรื่องยาและอาหารที่มีส่วนประกอบที่ได้จากสัตว์ที่นะญิส เช่น สัตว์ตาย(ที่ไม่ได้ถูกเชือดตามหลักการอิสลาม), สุกร, สุรา ฯลฯ ที่ได้เปลี่ยนสภาพแล้วและถือว่าสะอาดสามารถบริโภคได้นั้น บรรดาปราชญ์มุสลิม(อุละมาอฺ)ได้วิเคราะห์กันมานานแล้ว และมีระบุในตำรานิติศาสตร์อิสลามโดยหลายมัซฮับ แต่ก่อนที่จะนำทัศนะต่างๆ มาเสนอ ขอกล่าวถึงตัวบทหลักฐานที่เป็นต้นเหตุให้นักปราชญ์อิสลาม(อุละมาอฺ)ได้วินิจฉัยประเด็นและใช้ในการเปรียบเทียบเรื่องอื่นๆ ด้วย
 
ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนคือการบันทึกของท่านอิมามบุคอรียฺว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัม กล่าวว่า نعم الإدام الخل  (นิอฺมัลอิดามุลค็อลลุ) ซึ่งมีใจความว่า "น้ำส้มสายชูนั้นย่อมเป็นอาหารดีที่น่ารับประทาน (คืออาหารที่ใช้จิ้มกับขนมปัง)"
 
 ซึ่งน้ำส้มสายชูนั้นเป็นที่รู้กันว่ามาจากการหมักน้ำผลไม้หรือพืช และการหมักน้ำผลไม้หรือพืชนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนของการเป็นสุรา ถ้าดื่มก็จะมึนเมา แต่ถ้าหมักต่อไปก็จะกลายเป็นน้ำส้มสายชู เรื่องนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็รับทราบ จึงสั่งให้ทำน้ำส้มสายชูโดยหมักน้ำผลไม้และพืชจนกระทั่งได้น้ำส้มสายชูอย่างเดียว ส่วนกรณีที่หมักน้ำพืช(ผลไม้)จนกระทั่งได้สุราแล้วนำไปหมักต่อเพื่อให้เป็นน้ำส้มสายชูนั้น ท่านนบีไม่อนุญาต (บันทึกโดยอิมามมุสลิม)  แสดงว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รู้ว่าน้ำส้มสายชูนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนเป็นเหล้า แต่ท่านให้การหมักน้ำพืช(ผลไม้) โดยไม่ได้ตั้งเจตนาว่าให้เป็นเหล้า หรือไม่ให้นำน้ำสุรามาหมักเป็นน้ำส้มสายชู และสุรานั้นตามหลักการศาสนาให้ทำลายหรือเททิ้งเท่านั้น
 
การอนุมัติให้บริโภคน้ำส้มสายชูคือการยอมรับในเรื่องของการเปลี่ยนสภาพของวัตถุต่างๆ โดยปริยาย แต่ปราชญ์มุสลิมได้นำตัวบทเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์อาหารอื่นนอกเหนือจากน้ำส้มสายชู โดยปราชญ์ที่เห็นด้วยในประเด็นนี้คือ มัซฮับฮะนะฟี, มัซฮับซอฮิรียะฮฺ, (ทัศนะที่มีชื่อเสียงมากกว่าคือ)มัซฮับมาลิกี, แต่สำหรับมัซฮับอิมามอะหมัดมีอยู่ 2 รายงาน ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในมัซฮับฮัมบะลียฺได้ชี้ขาดว่าอิสติฮาละฮฺนั้นมีผลในการเปลี่ยนสภาพหุกุ่ม, สำหรับมัซฮับชาฟิอีนั้นไม่เห็นด้วยในเรื่องอิสติฮาละฮฺ 
 
และสำหรับน้ำส้มสายชูนั้น ในมัซฮับชาฟิอีมีทัศนะว่า การเปลี่ยนสภาพของน้ำส้มสายชูนั้นจะต้องเปลี่ยนสภาพโดยธรรมชาติ คือน้ำหมักนั้นมนุษย์จำต้องหลีกห่างจากการเปลี่ยนขั้นตอนโดยเด็ดขาด ดังนั้นน้ำส้มสายชูที่มัซฮับชาฟิอีอนุญาตให้บริโภคคือ น้ำส้มสายชูที่เปลี่ยนสภาพตัวเองด้วยตัวเอง หากมนุษย์ใส่เชือหรือวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดตกลงไปในน้ำหมักนั้นจนกลายเป็นน้ำส้มสายชู ในมัซฮับชาฟิอีจะถือว่าน้ำส้มสายชูนั้นมีนะญิส เพราะเชื้ออยู่ในน้ำหมักขณะเป็นสุรา จึงสัมผัสกับสุราที่เป็นนะญิสและมีนะญิสติดเชื้อไปด้วย ในตอนสุดท้ายที่เป็นน้ำส้มสายชูนั้นก็เท่ากับน้ำส้มสายชูนั้นได้สัมผัสมีส่วนของนะญาซะฮฺมาด้วย
 
ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า สำหรับควันที่เกิดจากการเผาสิ่งที่เป็นนะญิส ขึ้นอยู่กับหลักการประการหนึ่งคือ วัตถุที่นะญิสและสกปรกนั้น ถ้าได้เปลี่ยนสภาพของมันเป็นสิ่งสะอาด เช่นเดียวกับสิ่งสะอาดทั่วๆไปหรือไม่ เฉกเช่นโรงเกลือ ถ้าในอ่างหรือนาเกลือ มีสัตว์ตายหรือสุกรตกลงไปในเกลือ และถูกลืมอยู่ในนั้นจนสลายกลายเป็นเกลือหรือเป็นเถ้า หรือกรณีอื่นๆ เช่นเดียวกันนี้  บรรดาผู้รู้มีความเห็นเป็น 2 ทัศนะ
 
ทัศนะที่ 1 สิ่งนะญิสนั้นจะไม่สะอาด ซึ่เงป็นทัศนะของมัซฮับชาฟิอี และเป็นหนึ่งในสองทัศนะของมัซฮับมาลิกี และเป็นทัศนะที่มีชื่อเสียงมากกว่าในมัซฮับฮัมบะลี
 
ทัศนะที่ 2 สิ่งนะญิสนั้นเมื่อเปลี่ยนสภาพจะกลายเป็นสิ่งสะอาด อันเป็นทัศนะของมัซฮับฮะนะฟี และหนึ่งในสองทัศนะของมัซฮับมาลิกีและฮัมบะลี และป็นทัศนะของซอฮิรียะฮฺ(กลุ่มที่ยึดเอาตัวบทหลักฐานตามสำนวนเท่านั้น ไม่ใช้หลักกิยาส)
 
อิมามอิบนุตัยมียะฮฺกล่าวต่อว่า นี่(ทัศนะที่ 2)คือทัศนะที่ถูกต้องที่ต้องชี้ขาดตามนั้น เพราะสิ่งที่เปลี่ยนสภาพแล้วนั้นไม่มีหลักฐานใดๆ โดยสำนวนหรือวัตถุประสงค์ที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยมัน เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ใช่สิ่งหะรอมและไม่มีลักษณะคล้ายๆหะรอมด้วย ซึ่งไม่น่าจะฟัตวาว่ามันหะรอม และแท้จริงหลักฐานต่างๆ ที่อนุมัติให้บริโภคสิ่งดีๆ ต่างๆ นั้น ย่อมใกล้กว่า และควบคุมสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสภาพตัวเองมากกว่า...
 
ดังนั้นสิ่งที่เปลี่ยนสภาพตัวเองถือว่าเป็น ฏ็อยยิบาต คือสิ่งดีๆ ที่บริโภคได้ และยังมีลักษณะของสิ่งที่มีเอกฉันท์ว่ามันฮาลาล ดังนั้นทั้งตัวบทและหลักกิยาส(คือการเปรียบเทียบ) ก็อยู่ข้างทัศนะที่ว่า สิ่งนะญิสที่เปลี่ยนสภาพตัวเองนั้นถือว่าฮาลาล 
 
ท่านอิบนุตัยมียะฮฺระบุอีกว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงห้ามสิ่งโสโครกหรือนะญิสเพราะมันมีลัษณะของความเป็นนะญิสหรือโสโครก และพระองค์อนุญาตให้บริโภคสิ่งดีๆ เนื่องจากมีลักษณะแห่งความเป็นสิ่งดีๆ และสำหรับสิ่งนะญิสที่เปลี่ยนสภาพที่มีข้อถกเถียงอยู่นี้ มันไม่มีลักษณะของการเป็นนะญิสหรือสิ่งโสโครกแต่อย่างใด  แต่มันมีลักษณะความเป้นสิ่งดี คือฏ็อยยิบานั่นเอง (มัจญฺมูอฺฟะตะวา อิบนิตัยมียะฮฺ เล่ม 21 หน้า 70)
 
การวิเคราะห์ของท่านอิบนุตัยมียะฮฺนี้ ปราชญฺมุสลิมหลายท่านที่มีชื่อเสียงก็เห็นด้วยกับท่าน อาทิเช่น อัลเกาะรอฟี อัลมาลิกี, อิบนุเราะญับ อัลฮัมบะลี, อัซซุรกอนี อัลมาลิกี, อิบนิอาบิดีน อัลฮะนะฟี, อิบนุกุดามะฮฺ อัลฮัมบะลี, อัลบุนานี อัลมาลิกี
 

จากข้อวิเคราะห์ของท่านอิบนุตัยมียะฮฺดังกล่าว เราสามารถวินิจฉัยปัญหานี้ตามสภาพอุตสาหกรรมด้านอาหารและการบริโภคของมุสลิมได้ดังนี้

 

1. หลักการศาสนาให้มองสิ่งต่างๆ ตามสภาพของมัน โดยไม่ต้องมองถึงที่ไปที่มา เพราะมิฉะนั้นแล้วหลายสิ่งหลายอย่างที่มันสะอาดและศาสนาอนุโลมให้บริโภคจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และความลำบากความเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นกับผู้คนอย่างแน่นอน แต่อิสลามมิใช่ศาสนาแห่งการสร้างความลำบาก

 

2.  ไม่มีข้อแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนสภาพของสิ่งนะญิสด้วยตัวมันเองหรือด้วยน้ำมือของมนุษย์ เพราะผลที่จะเกิดขึ้นก็เป็นอันเดียวกัน ดังนั้นอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่มีความสามารถเปลี่ยนวัตถุที่นะญิสจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถือว่าสิ่งนะญิสที่เปลี่ยนสภาพแล้วนั้นอนุญาตให้บริโภคได้

 

3. จำต้องวิเคราะห์การเปลี่ยนสภาพของสิ่งนะญิส ว่าเปลี่ยนแบบไหนจึงจะถือว่าไม่นะญิสแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ปราชญ์มุสลิมก็ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การเปลี่ยนสภาพของสิ่งนะญิสนั้นมิใช่เปลี่ยนลักษณะจากของแข็งเป็นของเหลว หรือจากวัตถุดิบเป็นวัตถุที่โดนไฟ แต่การเปลี่ยนสภาพจากสิ่งนะญิสไปเป็นสิ่งที่ไม่ใช่นะญิส คือการเปลี่ยนตัววัตถุทางโครงสร้างหรือส่วนประกอบของวัตถุนั้นๆ โดยถ้าเปลี่ยนแล้วก็ไม่สามารถใช้ชื่อเดิมได้ เช่น สัตว์ตาย (ที่ประกอบด้วยเนื้อ เลือด หนัง กระดูก) หากถูกเผาจนกลายเป็นเถ้า ก็ไม่สามารถเอาชื่อเดิม(สัตว์ตาย)มาใช้กับวัตถุนี้(เถ้า)ได้ เพราะมันเป็นคนละสภาพกัน, หรือน้ำส้มสายชูที่เคยผ่านขั้นตอนเป็นเหล้า เราไม่สามารถเรียกน้ำส้มสายชูว่าเป็นเหล้าได้ เพราะโครงสร้างของมันเปลี่ยนสภาพไปอย่างสิ้นเชิง 

 

4. นักปราชญ์มุสลิมส่วนมากในทุกยุคทุกสมัยเห็นด้วยกับหลักการอิสติฮาละฮฺ และการใช้ชีวิตของสังคมมุสลิมทั่วโลกก็คุ้นเคยกับหลักการนี้ แม้กระทั่งในพื้นที่ที่ยึดในมัซฮับชาฟิอี(ซึ่งไม่เห็นด้วยกับหลักการอิสติฮาละฮฺ) เช่น แถบมลายู ก็จำต้องนำหลักการนี้มีใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การอนุโลมให้บริโภคน้ำส้มสายชูที่ผ่านอุตสาหกรรม เพราะน้ำส้มสายชูที่ผลิตในทางอุตสาหกรรมนั้นเป็นการเปลี่ยนสภาพด้วยการกระทำของมนุษย์อย่างชัดเจน แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอนุญาตให้บริโภค ซึ่งหน่วยงานรับรองฮาลาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ก็ให้การรับรองฮาลาลแก่น้ำส้มสายชูดังกล่าว ปัจจุบันนี้ผมไม่เคยพบใครที่เคร่งครัดในการเลือกรับประทานน้ำส้มสายชูที่เปลี่ยนสภาพด้วยตัวเองตามธรรมชาติเท่านั้น นอกจากบางคนเท่านั้นที่ยังเชือถือและปฏิบัติตามมัซฮับชาฟิอีและทำน้ำหมักเอง ซึ่งกระบวนการที่จะได้น้ำส้มสายชูแบบนี้ต้องใช้เวลานานพอสมควร และอุตสาหกรรมไม่สามารถรอคอยได้ 

 

5. เราต้องคำนึงถึงหลักการศาสนาที่อำนวยความสะดวกให้แก่วิถีชีวิตของมุสลิม โดยไม่บิดเบือนหรือเปลี่ยนแปลง หรือไม่บิดพริ้วกับตัวบทหลักฐาน และหลักการอิสติฮาละฮฺนี้นอกจากเป็นทัศนะของปราชญ์มุสลิมส่วนมากแล้ว ก็ยังมีหลักฐานตัวบทชัดเจนยืนยันไว้ด้วย

 

6. หลักการศาสนาเกี่ยวกับสิ่งบริโภคนั้นมีความชัดเจน จำต้องไม่ให้เรื่องผลประโยชน์ของบุคคลหรือสถาบันใดมาปิดบังหลักการ แต่ต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้ศรัทธา และสำคัญที่สุดก็คือหลักการศาสนาที่รองรับหลักการดังกล่าว  ดังนั้นผู้ที่จะให้คำชี้ขาดหรือมีน้ำหนักในข้อแนะนำหรือข้อปฏิบัติในเรื่องนี้คือปราชญ์มุสลิมที่เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการศาสนาหามิใช่นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่จะมาวินิจฉัยและให้น้ำหนักกับทัศนะหนึ่งทัศนะใดได้

 

7. หลักการอิสติฮาละฮฺนี้ควรที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล(สถานะ)ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคมุสลิมสามารถพิจารณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่มีตราฮาลาลได้ในยามจำเป็นที่ต้องบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และหลักการอิสติฮาละฮฺยังช่วยให้อุตสาหกรรมขยายตัวได้ และเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ที่สามารถได้รับการรับรองฮาลาล และอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องมุสลิมด้วย

 

8. สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการพูดคุยในเชิงวิชาการเกี่ยวกับหลักการอิสติฮาละฮฺ เพื่อแสวงหาข้อยุติในเชิงปฏิบัติ เพราะทุกวันนี้ดูเหมือนว่ามาตรฐานฮาลาลในประเทศมุสลิมต่างๆ นำหลักการนี้มาใช้บ้างไม่ใช้บ้าง อันจะส่งผลในเง่ลบต่อความน่าเชื่อถือของมาตรฐานฮาลาล

 


 อิสติฮาละฮฺคืออะไร ?

 

 

อะไรคือ "อัลอิสติฮาละฮฺ" ?