ซูเราะฮฺอัลอะอฺลา อายะฮฺ 2 "ผู้ทรงสร้าง...แล้วทรงทำให้สมบูรณ์"

Submitted by dp6admin on Thu, 29/11/2018 - 18:37
( الَّذِي خَلَقَ فَسَوَّىٰ )
“ผู้ทรงสร้าง...แล้วทรงทำให้สมบูรณ์”

 
 
การสรรเสริญต่อพระนามขององค์อภิบาลผู้ทรงสูงส่ง ผู้ซึ่งเป็นผู้สร้างจากสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน คำว่า “خَلَقَ (เคาะ-ละ-เกาะ)” ที่ปรากฏถัดจากอายะฮฺเริ่มต้นนั้น ไม่มีคำนิยามใดในภาษาไทยที่สามารถอธิบายทุกมิติความหมายของคำนี้ได้ แต่มีความหมายใกล้เคียงคือ เนรมิต สร้าง ฯลฯ เพราะความหมายของคำนี้เป็นการกระทำที่ไม่มีผู้ใดสามารถกระทำได้นอกจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นเทวดาหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไปก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ในหลักการใช้ภาษาอาหรับ จะไม่ใช้คำกริยานี้กับประธานใด ยกเว้นกับอัลลอฮฺเท่านั้นหรือใช้ในเชิงนามธรรม
 
จากอายะฮฺนี้มีความหมายว่า “ผู้ทรงสร้าง...แล้วทรงทำให้สมบูรณ์” อันเป็นการเริ่มต้นที่จะอธิบายเรื่องทางนำ กล่าวคือ มนุษย์ต้องเชื่อว่าอัลลอฮฺทรงมีเดชานุภาพที่จะสร้างทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงการประทานฮิดายะฮฺ ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงสร้างและเตรียมไว้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลายแล้ว การที่อัลลอฮฺได้ทรงสร้างและนำมาซึ่งสิ่งต่างๆ อันเป็นผลงานของพระองค์แล้ว ข้อบกพร่องใดๆ ก็ไม่มีปรากฏในสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างและตระเตรียมไว้อย่างแน่นอน มีแต่เพียงความสมบูรณ์เท่านั้น ซึ่งอยู่นอกเหนือการมองเห็นด้วยสายตาหรือการวิเคราะห์ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ที่มีขีดจำกัด
 
ตัวอย่างของความสมบูรณ์ที่มนุษย์บางคนไม่สามารถเข้าถึง เช่น เมื่ออัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้ลูกที่เสมือนดวงใจของผู้เป็นบุพการี ประสบกับความเจ็บปวดทรมานหรือป่วยด้วยโรคบางโรค หลายครั้งที่มีเสียงของความไม่เข้าใจ บ้างก็บ่นออกมาเป็นถ้อยคำ บ้างก็ติดเป็นความรู้สึกอยู่ในหัวใจว่าเด็กบริสุทธิ์ที่อายุยังน้อย  เด็กๆ ที่ไร้เดียงสาเช่นนี้ได้ทำอะไรหรือ  ทำไมเล่าอัลลอฮฺ   จึงทรงทำให้เขาได้ประสบความเจ็บปวดทรมานเช่นนี้ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความเขลาในความเข้าใจต่อการกำหนดและทางนำของอัลลอฮฺ    ทั้งที่พระองค์ได้ทรงยืนยันแล้วจากอายะฮฺนี้ คือ “ผู้ทรงสร้าง...แล้วทรงทำให้สมบูรณ์” นั่นหมายรวมว่า ทุกเรื่องที่พระองค์ได้ทรงกำหนดให้มนุษย์ประสบนั้นย่อมมีความสมบูรณ์ แต่มนุษย์ไม่สามารถเห็น เข้าใจ หรือแม้แต่หยั่งถึง 
 
จากตัวอย่างดังกล่าว อาจเป็นไปได้ว่าผู้ที่เป็นบุพการีหรือผู้ใกล้ชิดใช้สายตามองเพียงมุมเดียว บนพื้นฐานของความรัก ความห่วงใย และความสงสารเห็นใจ ซึ่งถือเป็นมุมมองในฐานะบุพการี หากแต่สำหรับพระผู้เป็นเจ้า ทุกการกำหนดนั้นคือความสมบูรณ์แล้ว แต่น่าเสียดายที่ความเข้าใจในสัจธรรมความสมบูรณ์นั้น บางครั้งไม่ปรากฏในจิตใจของมนุษย์บางกลุ่มนั่นเอง
 
ในทางตรงกันข้าม ผู้ศรัทธาที่ศึกษาอายะฮฺนี้จะตระหนักดีว่าการสร้างหรือการกำหนดของอัลลอฮฺ   มิได้มีจำกัดหรือมีนัยยะเดียวตามที่สายตามองเห็น หัวใจรู้สึก และสมองวิเคราะห์ ผู้ศรัทธาจะรู้ดีว่าการสร้างหรือการกำหนดของพระองค์นั้นย่อมเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แล้ว ความเข้าใจเช่นนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ทางนำหรือข้อชี้แนะอย่างหนึ่งที่เราได้รับจากอัลกุรอาน จะทำให้เราได้เข้าใจและมีเหตุผลพอที่จะดำเนินชีวิตและเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญสิ่งต่างๆ  อาจกล่าวได้ว่า เช่นนี้แหละที่เรียกว่าฮิดายะฮฺ และฮิดายะฮฺนั้นจะไม่มายังเรา ให้สามารถนำมาใช้หรือสร้างแสงสว่างในชีวิตได้เลย หากเราไม่ได้ศึกษาอัลกุรอานซึ่งเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ