คำชี้แจงเกี่ยวกับการทำบุญประเทศในทัศนะของศาสนาอิสลาม

Submitted by dp6admin on Sat, 04/04/2009 - 11:23

ข้าพเจ้าได้รับคำถามจากที่น้องมุสลิมหลายท่านเกี่ยวกับเรื่อง “ทำบุญประเทศ” ซึ่งมีประกาศทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2550 ทำให้เกิดความสับสนว่าการทำบุญประเทศดังที่มีอยู่ในข่าวสารดังกล่าวกระทำได้ตามหลักการศาสนาหรือไม่ จึงขอตอบดังนี้

1. ไม่เป็นที่อนุญาตในหลักการศาสนาอิสลามที่จะร่วมปฏิบัติศาสนกิจหรือพิธีที่มีข้อเกี่ยวข้องทางศาสนากับศาสนิกอื่น ไม่ว่าในศาสนสถานหรือสาธารณสถาน เพราะพิธีทางศาสนานั้นย่อมมีบทสวดที่จะกล่าวถึงความเชื่อและหลักศรัทธาของศาสนานั้นๆ ซึ่งจะต้องมีเนื้อที่คัดค้านหรือไม่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลาม และในทำนองนี้มีพระดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ อายะฮฺ 140 ว่า

“และแน่นอนอัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแก่พวกเจ้าแล้วในคัมภีร์นั้น เมื่อพวกเจ้าได้ยินโองการของอัลลอฮฺถูกปฏิเสธและถูกเยาะเย้ย ดังนั้นจง(ประท้วง)อย่านั่ง(ชุมนุม)กับพวกเขา จนกว่าพวกเขาจะพูดคุยกันในเรื่องอื่นจากนั้น มิฉะนั้นพวกเจ้าจะเป็นเยี่ยงพวกเขาโดยแท้”

และอีกอายะฮฺหนึ่งในซูเราะฮฺอัลอันอาม อายะฮฺ 68 พระองค์ตรัสไว้ว่า “และเมื่อเจ้าเห็นบรรดาผู้ซึ่งกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในบรรดาโองการของเราแล้ว ก็จงออกห่างจากพวกเขาเสีย จนกว่าพวกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องอื่นจากนั้น”

จากสองอายะฮฺข้างต้นได้มีข้อบัญญัติสำคัญสำหรับจุดยืนของมุสลิมเมื่อปรากฏตัวในสถานที่ที่มีการกล่าวถึงความเชื่อที่สวนทางกับอัลอิสลาม ซึ่งการทำบุญประเทศนั้นย่อมมีการวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆตามความเชื่อของศาสนิกอื่น  และในความเชื่อของอิสลามนั้นการวิงวอนต่อสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺเป็นการตั้งภาคีกับพระผู้เป็นเจ้าอันเป็นความผิดอย่างมหันต์ สำหรับมุสลิมจะไม่สามารถห้ามศาสนิกอื่นปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของเขาและไม่เป็นที่อนุญาตให้มุสลิมร่วมปฏิบัติหรือปรากฏตัวในขณะที่ผู้อื่นกำลังกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม ในทำนองนี้มีตัวอย่างสำหรับจุดยืนของมุสลิมต่อเหตุการณ์เช่นนี้ปรากฏในคำสั่งสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ท่านได้กล่าวว่า “ใครก็ตามเมื่อศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลกแล้ว ก็จงอย่านั่งโต๊ะที่มีคนกำลังหมุนเวียนดื่มเหล้ากันอยู่” (บันทึกโดยอะหมัดและติรมิซียฺ)

2. ในหลักการอิสลามไม่มีรูปแบบของการทำบุญประเทศ เพราะมุสลิมเชื่อว่าการผูกพันกับแผ่นดินและประเทศชาตินั้นขึ้นอยู่กับการประพฤติดีและดำรงซึ่งหน้าที่ของประชาชน คือรักษาความสงบสุขและสันติภาพอย่างชอบธรรม ซึ่งมุสลิมในประเทศไทยเป็นประชาชนที่รักแผ่นดินและประเทศชาติ เพราะได้มีสัญญามั่นกับประเทศชาตินี้ตั้งแต่หลายศตวรรษ ฉะนั้นจึงไม่เคยปรากฏมุสลิมที่กบฏสถาบัน ทรยศชาติ ขโมยทรัพยากรแผ่นดิน หรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตามสถิติของทางการชุมชนมุสลิมเป็นชุมชนที่มีอัตราการค้ายาเสพติด ทะเลาะวิวาท โสเภณี และอบายมุขอื่นๆ น้อยที่สุดในประเทศ สภาพนี้แหละที่น่าจะเป็นบรรทัดฐานบ่งชี้ถึงความสุจริตและความเลื่อมใสต่อประเทศชาติถึงแม้ว่าจะไม่ร่วมทำบุญประเทศก็ตาม

3. สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐหรือนักการเมือง ก็สมควรที่จะปรึกษาหารือกับนักวิชาการมุสลิมอย่างหลากหลาย เพื่อแสวงหาข้อมูลที่ใกล้เคียงที่สุดกับความเชื่อของมุสลิมในประเทศ อันจะก่อให้มีความเข้าใจและความเห็นใจซึ่งกันและกัน

4. การที่มีประกาศจัดพิธีดังที่ระบุข้างต้นนั้นเป็นการปฏิบัติที่ผ่านขั้นตอนของราชการแผ่นดิน ซึ่งตามกระบวนการที่ถูกต้องแล้วจำต้องมีการปรึกษาหารือกับผู้นำศาสนาต่างๆ แต่ที่ปรากฏคือการประกาศโดยแทบทุกฝ่ายไม่ได้รับทราบในหลักการเลย จึงทำให้ประชาชนสับสนและเข้าใจว่าผู้นำศาสนาสอนอย่าหนึ่งแต่ประพฤติอีกอย่างหนึ่ง อันเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงของผู้นำศาสนา อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าขอให้เหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไปด้วยความสงบและเห็นใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์อย่างแท้จริงบนแผ่นดินนี้

5. ข้าพเจ้าได้เขียนคำชี้แจงนี้เนื่องด้วยคำถามที่ข้าพเจ้าได้รับและจำต้องให้คำตอบกับประชาชน ซึ่งไม่มีเจตนารมณ์ที่จะก่อความแตกแยก หากต้องการให้เกิดซึ่งความกระจ่างและความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการศาสนาอิสลาม อนึ่ง หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดจากประเด็นดังกล่าวที่ต้องการคำชี้แจงหรือรายละเอียดตามหลักศาสนาอิสลาม ขอให้ติดต่อข้าพเจ้าโดยตรง เพื่อให้ความชัดเจนได้เกิดมากขึ้นสำหรับผู้สงสัยในประเด็นข้างต้น

6. ข้าพเจ้าเรียกร้องต่อฝ่ายรัฐและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ กฎหมายบ้า นเมือง และพระราชดำริของประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกรอบชัดเจนสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะดำรงซึ่งความยุติธรรมในการปกครองแผ่นดิน

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้ามีความหวังที่จะไม่เกิดความสับสนเช่นนี้ต่อไปในอนาคต หากเจ้าหน้าที่และประชาชนได้ปรึกษาหารือ สมัครสมานกัน และพูดคุยกันในข้อแตกต่างเพื่อหาจุดยุติและวิถีทางสู่ความสามัคคี

เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
30 ม.ค. 50