ความสำคัญของมัสญิด (สู่อีมานที่มั่นคง 2)

Submitted by dp6admin on Mon, 27/07/2015 - 11:45

วันนี้เรามีหะดีษอีกบทหนึ่งจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวถึงความประเสริฐของการไปยังมัสญิดของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลา อันเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในชีวิตมุสลิม เพราะมัสญิดเป็นศูนย์กลางในชีวิตของมุสลิม จึงมีคำกล่าวจากท่านนบีที่ว่า
المسجد بيت كل مؤمن أو بيت كل تقي
ความหมาย “มัสญิดนั้นเป็นบ้านของผู้มีอีมาน หรือเป็นบ้านของผู้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ”
 
ถ้าหากเราตระหนักว่ามัสญิดมีความสำคัญ มีความยิ่งใหญ่ในสังคมและชีวิตของมุอฺมิน เราก็ต้องแสวงหาความรู้ที่เกี่ยวกับความสำคัญของมัสญิด อันจะเป็นเสบียงในการปฏิบัติเพื่อดำรงไว้ซึ่งชีวิตที่ดีงามตามหลักการอัลอิสลาม
 
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ในหะดีษที่บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม 
أبو هريرة عن النبي قال : ( من غدا إلى المسجد أو راح، أعد الله له في الجنة نزلاً كلما غدا أو راح ) متفق عليه
ความหมาย “ใครก็ตามที่จะเดินทางไปสู่มัสญิดหรือจะกลับจากมัสญิดอัลลอฮฺจะเตรียมไว้สำหรับเขาซึ่งสถานที่หนึ่ง (หรือวังหรือบ้านหลังหนึ่งหรือที่พำนัก) ในสวนสวรรค์ในทุกครั้งที่เขาเดินไปสู่มัสญิดหรือกลับจากมัสญิด”
 
จากหะดีษบทนี้นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับผู้ศรัทธา ที่อัลลอฮฺทรงให้สามารถสะสมผลบุญมหาศาลจากการเดินไปมัสญิด ฉะนั้นหากเรานึกถึงหะดีษบทนี้อยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เราไปละหมาดมัสญิดนั้นก็ถือเป็นการทำบุญอย่างมหาศาล เพราะเป็นการเตรียมที่พำนักของเราในสวนสวรรค์ดังที่ท่านนบีได้สัญญาไว้
 
อาจเกิดคำถามขึ้นว่า คนที่จะไปมัสญิดหรือจะกลับมาจากมัสญิด อัลลอฮฺจะทรงเตรียมที่พำนักในสวนสวรรค์สำหรับทุกคนกระนั้นหรือ ? แน่นอนครับว่าผลบุญของอัลลอฮฺนั้นไม่มีใครชี้ขาดได้ว่าทุกคนจะได้รับ ดังที่เราได้เห็นกันว่าบุคคลที่ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าเขาก็ทำบุญเช่นเดียวกัน แต่เราสามารถยืนยันได้ว่าเขาจะไม่ได้รับผลบุญหรือจะไม่ได้รับรางวัลอันใหญ่หลวงจากพระผู้เป็นเจ้า อันเนื่องจากว่าเขาปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า แสดงว่าการทำบุญของเขาจะถือว่าโมฆะ หรือถือว่าไม่มีคุณค่าอันเนื่องจากว่าขาดอีมานขาดความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า 
 
ฉะนั้นในประเด็นของผลบุญจากการเดินไปและกลับจากมัสญิด เราก็อาจะตีความได้ว่าถ้าทุกคนไปมัสญิดแล้วกลับมาจากมัสญิดจะได้สวนสวรรค์ก็หมายถึงว่าไม่มีใครจะเข้านรก แต่แท้จริงแล้วในบรรดาคนที่ไปมัสญิดนั้นมีจำนวนไม่น้อยที่อาจจะมีความบกพร่องในเรื่องอื่นๆ หรืออาจจะเป็นบุคคลที่มีความผิดในชีวิตของเขาในเรื่องอื่นๆ ดังนั้นรางวัลใหญ่หลวงสำหรับผู้ที่ไปมัสญิดและกลับมาจากมัสญิดดังที่ท่านนบีระบุในหะดีษนี้ จึงหมายรวมถึงเป็นรางวัลสำหรับบางคนที่ดำเนินชีวิตของเขาอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม
 
ผมอยากจะชี้แจงให้พี่น้องมีความตระหนักว่า การที่เราให้ความสำคัญให้ความยิ่งใหญ่ต่อมัสญิดนั้น ถือเป็นอีมานหรือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในความศรัทธาของเราในเรื่องความเชื่อมั่นต่อผลบุญที่จะได้รับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลา สำหรับบุคคลหนึ่ง(สุภาพบุรุษ)ที่เดินไปสู่มัสญิดทุกๆ เวลาละหมาดโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เขาออกจากบ้านไปสู่มัสญิดเพื่อจะได้ละหมาดโดยมีความเคารพภักดี มีความบริสุทธิ์ใจ ตั้งใจกระทำเพื่อแสวงบุญจากพระผู้เป็นเจ้านั้น คนเหล่านี้แน่นอนต้องเป็นบุคคลที่ดำเนินชีวิตของเขาอย่างดี ดังนั้นมีหะดีษบทหนึ่งจากท่านนบีถึงบันทึกโดยอัตติรมิซียฺแม้ว่าจะมีความอ่อนแอ(เฎาะอีฟ) แต่อุละมาอฺมีทัศนะว่าเป็นหะดีษที่มีความหมายที่ถูกต้อง ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
 
إذا رأيتم الرجل يعتاد المساجد فاشهدوا له بالإيمان
ความหมาย “หากว่าพวกท่านเห็นบางคนที่ชอบไปละหมาดที่มัสญิด (ไปละหมาดมัสยิดเป็นประจำ) พวกท่านจงเป็นพยานให้แก่เขาว่าเขาเป็นมุอฺมิน” 
 
ฉะนั้นการที่เราสนใจหรือรักษาการละหมาดที่มัสญิด จึงเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความมีอีมานของเรา นั่นคือสัญญาณที่ท่านนบีได้บอกไว้ และในหะดีษบทนี้ท่านนบียืนยันว่าถ้าใครไปและกลับจากมัสญิด อัลลอฮฺจะเตรียมที่พำนักสำหรับเขา (อาจจะเป็นบ้านหรือเป็นวัง) ในสวนสวรรค์ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้บรรดาผู้มีอีมานทั้งหลายต้องมีความหวังในผลบุญและต้องมีความเชื่อมั่นในสัญญาที่ท่านนบีได้บอกไว้ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องเตรียมความรู้เหล่านี้ เพื่อที่จะนำไปปฏิบัติการงาน(อะมั้ล)ที่ดีอย่างเช่นการไปละหมาดที่มัสญิด เพราะบางคนแม้จะได้ยินเสียงอะซานแต่เขาก็ขี้เกียจไปละหมาดที่มัสญิด แต่ถ้าหากว่าเขาได้ศึกษาหะดีษบทนี้แน่นอนเขาก็จะพยายามที่จะเตรียมอีมานและมีความกระตือรือร้นที่จะนำพาร่างกายของเขาไปสู่รางวัลอันใหญ่หลวงจากอัลลอฮฺ 
 
แต่ถ้าหากว่าเรามองถึงอีกทัศนะหนึ่งที่เกี่ยวกับหุกุ่มของการละหมาดที่มัสญิด ซึ่งท่านนบีให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิด จนกระทั่งมีหะดีษหลายบทที่ท่านนบีไม่อนุญาตให้ใครก็ตาม(โดยเฉพาะสภาพบุรุษ)ละทิ้งการละหมาดที่มัสญิด ยกเว้นบุคคลที่มีอุปสรรคเท่านั้น ซึ่งมีหะดีษบันทึกโดยอิมามอบูดาวูดและอัลบัยฮะกียฺ จากท่านอิบนุอับบาสถึงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า
 
من سمع النداء فلم يجب فلا صلاة له إلا بعذر
ความหมาย “ใครก็ตามที่ได้ยินอะซาน (ได้ยินการประกาศเวลาละหมาด) และไม่ตอบรับ (คือไม่ไปละหมาดที่มัสยิด) การละหมาดของเขาใช้ไม่ได้ นอกจากจะมีอุปสรรค” 
 
หมายถึงบุคคลที่ได้ยินอะซานแต่ไม่ตอบรับ(คือไม่ไปละหมาดที่มัสญิด) หากว่าเขาละหมาดที่บ้าน การละหมาดของเขานั้นใช้ไม่ได้ แต่อุละมาอฺมีทัศนะว่า “ใช้ไม่ได้” ในที่นี้หมายถึงผลบุญไม่สมบูรณ์ เพราะท่านนบีได้ระบุในหะดีษอีกบทหนึ่งซึ่งบันทึกโดยอัลบุคอรียฺว่า “การละหมาดที่มัสญิดนั้นเป็นยี่สิบเจ็ดหรือยี่สิบห้าเท่าเหนือกว่าการละหมาดที่บ้าน” ฉะนั้นคนที่ละหมาดที่บ้านก็จะได้รับผลบุญเพียงตำแหน่งเดียวหรือระดับเดียว แต่ถ้าหากว่าไปละหมาดที่มัสญิดก็จะได้รับผลบุญ 27 หรือ 25 เท่า นั่นคือสิ่งที่ท่านนบีได้แจ้งให้เราทราบเพื่อจะได้เป็นแรงผลักดันให้เรารักษาการละหมาด ณ มัสญิด ซึ่งเป็นบ้านของอัลลอฮฺ ซุบฮาฮูวะตะอะลา
 

เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 2, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ

 

 

ความสำคัญของมัสญิด (สู่อีมานที่มั่นคง 2)