ทบทวนชีวิต 4 : เตรียมพร้อมสำหรับวันกิยามะฮฺ

Submitted by admin on Tue, 19/11/2013 - 01:46
وَوُضِعَ الْكِتَابُ فَتَرَى الْمُجْرِمِينَ مُشْفِقِينَ مِمَّا فِيهِ  وَيَقُولُونَ يَا وَيْلَتَنَا مَالِ هَـٰذَا الْكِتَابِ لَا يُغَادِرُ صَغِيرَةً وَلَا كَبِيرَةً إِلَّا أَحْصَاهَا وَوَجَدُوا مَا عَمِلُوا حَاضِرًا  وَلَا يَظْلِمُ رَبُّكَ أَحَدًا ﴿سورة الكهف ٤٩﴾
"และบันทึกจะถูกวางไว้ ดังนั้นเจ้าจะเห็นผู้กระทำผิดทั้งหลายหวั่นกลัวสิ่งที่มีอยู่ในบันทึก และพวกเขาจะกล่าวว่า “โอ้ความวิบัติของเราเอ๋ย!บันทึกอะไรกันนี่ มันมิได้ละเว้นสิ่งเล็กน้อยและสิ่งใหญ่โตเลย เว้นแต่ได้บันทึกไว้ครบถ้วน” และพวกเขาได้พบสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ปรากฏอยู่ต่อหน้า และพระผู้เป็นเจ้าของเจ้ามิทรงอธรรมต่อผู้ใดเลย" (ซูเราะฮฺอัลกะฮฟฺ 18:49)
 
ในอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ได้กล่าวถึงสภาพคนในวันกิยามะฮฺ เมื่อได้เห็นแล้วซึ่งสภาพคนที่ได้เห็นความละเอียดของสมุดบัญชีของเขา เขาจะกล่าวกันอย่างไร อุละมาอฺจะหยิบยกอายะฮฺนี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้เราเปรียบเทียบว่าจะคิดบัญชีในโลกนี้ละเอียดอย่างไร  วันกิยามะฮฺมนุษย์เราจะเห็นถึงความละเอียดของมะลาอิกะฮฺที่บันทึกการปฏิบัติของเรา แล้วมาดูว่าเราจะละเอียดอย่างไร
وَوُضِعَ الْكِتَابُ فَتَرَى الْمُجْرِمِينَ مُشْفِقِينَ مِمَّا فِيهِ
 “แล้วบันทึกจะถูกวางไว้ (ถูกเสนอต่อหน้าอัลลอฮฺ) ดังนั้น เจ้า(มุฮัมมัด)จะเห็นผู้กระทำผิดทั้งหลาย หวั่นกลัวสิ่งที่มีอยู่ในบันทึก” (ซูเราะฮฺอัลกะฮฟฺ 18:49)
 
ทั้งที่ยังไม่ได้อ่านอะไรเลย  เพราะทุกคนก็รู้ตัวเอง แค่วางเฉยๆ คนก็เกรงกลัวแล้ว เคยเห็นไหมคนที่โดนกล่าวหาแล้วต้องขึ้นศาล มีพยานที่เห็นเขาทำความผิด พอพยานเดินเข้ามาก็เริ่มกลัว เพราะรู้ว่าพยานนั้นรู้ทุกอย่างพร้อมจะแฉทุกอย่าง เช่นเดียวกับคนที่ทำความผิด ย่อมรู้อยู่ว่าตัวเองมีความผิดอะไรในสมุดบันทึก 
 
แต่สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่ทบทวนตนเองในโลกดุนยาอยู่เสมอ ในวันกิยามะฮฺก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่หวั่นกลัว เพราะรู้ว่าตัวเองทำอะไรไว้ สะสมอะไรไว้ 
 
وُجُوهٌ يَوْمَئِذٍ مُّسْفِرَةٌ ﴿٣٨﴾ ضَاحِكَةٌ مُّسْتَبْشِرَةٌ ﴿٣٩﴾
38. หลายใบหน้าในวันนั้นแจ่มใส 39. หัวเราะดีใจร่าเริง (ซูเราะฮฺอะบะสะ)
 
บรรดาผู้ที่หวั่นกลัวในสิ่งที่มีอยู่ในบันทึก พวกเขาจะกล่าวว่า 
وَيَقُولُونَ يَا وَيْلَتَنَا مَالِ هَـٰذَا الْكِتَابِ لَا يُغَادِرُ صَغِيرَةً وَلَا كَبِيرَةً إِلَّا أَحْصَاهَا
“โอ้ความวิบัติของเราเอ๋ย บันทึกอะไรกันนี่ มันไม่ได้ละเว้นแม้สิ่งเล็กน้อยและสิ่งใหญ่โตเลย” (18:49)
 
บันทึกอะไรละเอียดขนาดนี้ สมัยนี้มีความละเอียดของโลกดิจิตอล ละเอียดมาก แม้จะละเอียดขนาดไหน แต่ความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่อยู่ในสมอง ในหัวใจของเรายังค้นหาพิสูจน์ไม่ได้  แต่ในวันกิยามะฮฺนั้น ความสามารถเดชานุภาพของอัลลอฮฺ   ไม่ต้องมีการพิสูจน์ในวันกิยามะฮฺ มันจะได้เห็นในคนที่สัจจะกับตนเองปฏิเสธไม่ได้ สำหรับคนที่ไม่ยอมรับความจริง คนที่รู้ตัวเองแต่ไม่ยอมรับความผิด ท่านนบีเคยเล่าถึงคนที่ไม่ยอมรับความผิดของตน ขนาดในบันทึกระบุไว้แต่ยังไม่ยอมรับกลับร้องหาพยาน อัลลอฮฺจะทรงสั่งให้ปิดปาก และจะถามว่ามือไปทำอะไรมา มือก็จะมีลิ้นพูด ขาจะมีลิ้นพูด ลิ้นไม่ยอมพูด ลิ้นก็จะมีลิ้นออกมาพูด จะบอกว่าตนเองได้ทำหรือกล่าวอะไรไว้ ซึ่งเหล่านี้ไม่มีใครจะรอดในที่จะปฏิเสธความจริง
 
.. لَا يُغَادِرُ صَغِيرَةً وَلَا كَبِيرَةً إِلَّا أَحْصَاهَا.....
มันไม่ได้ละเว้นแม้สิ่งเล็กน้อยและสิ่งใหญ่โตเลย เว้นแต่ได้บันทึกไว้ครบถ้วน (ซูเราะฮฺอัลกะฮฟฺ 49)
 
ความละเอียดของการบันทึกโดยอัลลอฮฺ   แม้กระทั่งบันทึกระหว่างความอธรรมของสัตว์เดรัจฉาน บันทึกหมดแล้วในวันกิยามะฮฺจะมีการชำระ ท่านนบี   ได้บอกว่าแม้กระทั่งแพะที่มีเขาไปวิ่งชน แกล้งแพะที่ไม่มีเขา ในวันกิยามะฮฺอัลลอฮฺ   ก็จะชำระให้ เสร็จแล้วสัตว์ก็จะกลายสภาพเป็นทรายไป เมื่อพวกที่ปฏิเสธอัลลอฮฺ (กาเฟรฺ) ได้เห็น ก็จะกล่าวว่า “หากฉันเป็นทรายมันจะดีกว่า”
 
وَيَقُولُ الْكَافِرُ يَا لَيْتَنِي كُنتُ تُرَابًا 
และผู้ปฏิเสธศรัทธาจะกล่าวว่า โอ้..ถ้าฉันเป็นฝุ่นดินเสียก็จะดี (อันนะบะอฺ 40)
อยากจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะเป็นทรายไม่ต้องเข้านรก แต่ไม่ได้แล้ว
 
..وَوَجَدُوا مَا عَمِلُوا حَاضِرًا وَلَا يَظْلِمُ رَبُّكَ أَحَدًا.. 
“และพวกเขาได้พบสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ปรากฏอยู่ต่อหน้า และพระผู้เป็นเจ้าของเจ้ามิทรงอธรรมต่อผู้ใดเลย” (ซูเราะฮฺอัลกะฮฟฺ 49)
 
หมายถึงทุกสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติจะปรากฏต่อหน้าพวกเขาอย่างชัดเจน ปฏิเสธไม่ได้ สำหรับอัลลอฮฺ   นั้นจะไม่อธรรมใครเลยในสิ่งที่พระองค์ได้ตัดสินไว้กับบรรดามนุษย์ทั้งหลาย
ความละเอียดนี้ที่อุละมาอฺที่หยิบยกเป็นอุทาหรณ์ในการทบทวนตัวเอง 
 
عن الحسن قال: إن المؤمن قوام على نفسه يحاسب نفسه لله عز وجل، وإنما خف الحساب يوم القيامة على قوم حاسبوا أنفسهم في الدنيا، وإنما شق الحساب يوم القيامة على قوم أخذوا هذا الأمر من غير محاسبة.
 
ท่านหะซัน อัลบัศรียฺ (เป็นยุคตาบิอีน) ได้บอกว่า มุอฺมินต้องดำรงไว้ซึ่งการทบทวนตัวเองเพื่ออัลลอฮฺ เพราะจะทำให้ความเครียดความลำบากในวันกิยามะฮฺลดลง สำหรับบุคคลที่เคยทบทวนตัวเองในโลกดุนยานี้แล้ว แต่ความลำบากย่อมเกิดขึ้นในวันกิยามะฮฺกับบุคคลที่ไม่ได้มีการทบทวนพิจารณาตนเองในตอนนี้ อยู่บนโลกนี้แบบสบายๆ ไม่เครียด 
แต่ถ้าหากว่าเราได้ทบทวนตนเองทุกวันทุกคืน เช่น บางคนรู้สึกว่าวันนี้เราแย่ ไม่มีอะไรดีเลย ความดี คุณธรรมไม่ได้ทำเลย มีแต่ความชั่วทั้งนั้น ความการเครียดแบบนี้แหละที่จะทำให้เราพัฒนาตัวเอง อันจะบรรเทาให้ความเครียดในวันกิยามะฮฺลดลง
 
 
 
إن المؤمن يفجؤه الشيء يعجبه فيقول: والله إني لأشتهيك وإنك لمن حاجتي ولكن والله ما من صلة إليك، هيهات هيهات، حيل بيني وبينك.
 
มุอฺมินบางคนอาจจะได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้พิศวงทำให้ปรารถนาอยากได้ แล้วเขากล่าวว่า  นี่เป็นสิ่งที่ฉันต้องการเหลือเกิน อยากได้เหลือเกิน แต่มุอฺมินจะทบทวนกับตนเองและกล่าวว่า แต่ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ   ว่าไม่มีทางที่ข้าพเจ้าจะได้สัมผัสเธอได้เลย เพราะระหว่างข้าพเจ้ากับอัลลอฮฺ   มันมีข้อสัญญามั่นที่ทำให้เธอกับฉันนี่ห่างไกลอยู่ด้วยกันไม่ได้ (นั่นคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนาอยากทำในโลกนี้แต่ศาสนาห้ามไว้)  
 
หลายสิ่งที่เป็นกระแสสังคม ตัวเราเองก็อยากจะทำ แต่ศาสนาบอกว่าทำไม่ได้ เช่น อยากดื่มเหล้า นี่เป็นความอยาก ความอยากมันระงับไม่ได้แต่ความอยากที่จะทำหรือไม่นั้นวาญิบ(จำเป็น)ต้องระงับ แต่หากเป็นความอยากที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติอันนี้ระงับไม่ได้ เช่น เกิดมาเราเห็นคนเขาทำกัน ภูมิใจกัน ในใจเราก็สะดุดขึ้นมาว่าทำสักทีน่าจะดี ความรู้สึกแบบนี้มันระงับไม่ได้ 
 
ท่านอุมัร อิบนิ ค็อฏฏ็อบถูกถามว่า คนที่อยากจะทำความชั่ว แต่ไม่ได้ทำ ความรู้สึกอยากนั้นบาปไหม เช่น เห็นโฆษณาเหล้าแล้วเกิดอยากดื่ม แต่ก็ไม่ได้ทำ เป็นต้น ท่านอุมัร อิบนิ ค็อฏฏ็อบได้ตอบด้วยสำนวนจากอัลกุรอานว่า 
أُولَـٰئِكَ الَّذِينَ امْتَحَنَ اللَّـهُ قُلُوبَهُمْ لِلتَّقْوَىٰ
“ชนเหล่านี้แหละที่อัลลอฮฺได้ทดสอบจิตใจของพวกเขาในเรื่องความตักวา (ความยำเกรง)” (อัลหุญุร็อต : 3)
 
หมายถึง มีความอยาก ความปรารถนาที่จะทำแต่ด้วยความตักวาก็ไม่ทำ อุละมาอฺบางท่านได้วิเคราะห์ว่า คนที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำได้รับบุญมากกว่าคนที่ไม่มีความอยาก ซึ่งเป็นข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น คนที่อยากทำซินาแต่ต้องระงับตัวเอง ก็ไม่เหมือนคนที่ไม่มีความอยากความใคร่ เพราะตนเองต้องทรมานอยากจะสู้กับตนเองซึ่งได้ผลบุญมากกว่า อย่างคนที่อยู่ในสังคมและต้องสู้กับความชั่วดีกว่าคนที่อยู่ในบ้านไม่ได้สู้กับสังคม นี่เป็นการทบทวนในชีวิตของเราไปโดยปริยาย 
 
ويفرط منه الشيء فيرجع إلى نفسه فيقول: ما أردت إلى هذا. ما لي ولهذا؟ والله لا أعود لهذا أبداً إن شاء الله. 
ท่านอิมามฮะซัน อัลบัศรียฺกล่าวว่า มุอฺมินคนนี้ก็สู้แต่ก็มีบางอย่างหลุดไปพลาดไป แต่มุอฺมินคนนี้จะกลับมาสู่ตัวเอง ทบทวนตัวเองแล้วกล่าวว่า ทำไมไปทำเรื่องนี้เล่า ไปยุ่งทำไม พิจารณาตนเอง ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ   ฉันจะไม่ทำอีกแล้ว 
إن المؤمنين قوم أوثقهم القرآن وحال بينهم وبين هلكتهم. إن المؤمن أسير في الدنيا يسعى في فكاك رقبته لا يأمن شيئاً حتى يلقى الله عز وجل
ท่านฮะซัน อัลบัศรีย์ กล่าวว่า แท้จริงสำหรับบรรดาผู้ศรัทธานั้น อัลกุรอานเปรียบเสมือนเป็นโซ่ที่มัดร่างกายของเขา ผูกมัดผู้ศรัทธาไม่ให้ไปสู่หายนะ แท้จริงมุอฺมินในโลกดุนยานี้เปรียบเสมือนเชลยศึกที่พยายามจะปลดปล่อยตัวเองจากการยึดครองของศัตรู มุอฺมินจะไม่รู้สึกปลอดภัยจนกว่าจะได้พบอัลลอฮฺ  
 
وَفِي تَبْصِرَةِ ابْنِ الْجَوْزِيِّ رَحِمَهُ اللَّهُ قَالَ :  كَانَ تَوْبَةُ بْنُ الصِّمَّةِ بِالرَّقَّةِ وَكَانَ مُحَاسِبًا لِنَفْسِهِ فَحَسَبَ يَوْمًا عُمْرَهُ فَإِذَا هُوَ ابْنُ سِتِّينَ سَنَةً ، فَحَسَبَ أَيَّامَهَا فَإِذَا هِيَ أَحَدٌ وَعِشْرُونَ أَلْفَ يَوْمٍ وَخَمْسمِائَةِ يَوْمٍ ، فَصَرَخَ وَقَالَ يَاوَيْلَتِي أَلْقَى الْمَلِيكَ بِأَحَدٍ وَعِشْرِينَ أَلْفَ ذَنْبٍ وَخَمْسِمِائَةِ ذَنْبٍ ، كَيْفَ وَفِي كُلِّ يَوْمٍ عَشْرَةُ آلَافٍ ذَنْبٍ ، ثُمَّ خَرَّ مَغْشِيًّا عَلَيْهِ فَإِذَا هُوَ مَيِّتٌ ، فَسَمِعُوا قَائِلًا يَقُولُ يَا لَك رَكْضَةٌ إلَى الْفِرْدَوْسِ الْأَعْلَى .
อิมาม อิบนุ ก็อยยิมได้เล่าถึง ตัวอย่างบรรพชนยุคแรกที่เขาได้ทบทวนตัวเอง อิบนุ ศิมมะฮฺ อยู่ในเมืองร็อกเกาะฮฺ ประเทศอิรัก เป็นคนที่ทบทวนตัวเองละเอียดมาก จนมีครั้งหนึ่งอายุได้ 60 ปีแล้ว เขาคำนวณตลอดระยะเวลา 60 ปีมานี่มีทั้งหมดกี่วัน ประมาณ 21,500 วัน เขาตะโกนลั่นเลยว่าหายนะแล้ว หากว่า 21,500 วัน ทำความผิดวันละ 1 ครั้ง หายนะเลย หากจะไปพบอัลลอฮฺ ด้วย 21,500 ความผิด เขาเป็นลมสลบจนเสียชีวิตเลย นี่คือการทบทวนของชาวสลัฟ เขาวิตกกังวลถึงขนาดทบทวนจนตาย ด้วยความเครียด 
 
ท่านอุมัร อิบนิ ค็อฏฏ็อบ เคยอ่านซูเราะฮฺอัฏฏูร ถึงอายะฮฺที่ 7 ในละหมาดมัฆริบ 
إِنَّ عَذَابَ رَبِّكَ لَوَاقِعٌ
ความว่า "แท้จริงการทรมาน การลงโทษจากองค์พระผู้อภิบาลของเจ้านั้นมีปรากฏอย่างแน่นอน" ท่านอุมัร อ่านอายะฮฺนี้แล้วถึงขนาดเป็นลมไปเลย 
 
นี่เป็นตัวอย่างของศอฮาบะฮฺที่ทำแต่ความดี แต่เขาก็ยังเกรงกลัวอัลลอฮฺจนเป็นลม แสดงว่าความยำเกรงของเขาต่ออัลลอฮฺ   มีมากแค่ไหน นี่คือสิ่งที่เราต้องการ 
 
ตัวอย่างตารางทบทวนชีวิตบางคนบอกว่าการทบทวนเฉยๆ อาจจะไม่ได้ผล เขาก็เลยทำตารางทบทวนชีวิตขึ้น สำหรับคนที่ขี้เกียจทบทวนตัวเองให้ลองทำตาราง จะได้เห็นอย่างชัดเจนว่าวันหนึ่งมีการทำความดีเพื่ออัลลอฮฺ   อะไรบ้าง อาทิ ละหมาดศุบฮฺ ซุฮฺริ อัศริ มักริบ อิชาอฺ ละหมาดฎุฮา อ่านอัลกุรอาน ฮาฟัซอัลกุรอาน มีซิกรุลลอฮฺ (สรรเสริญอัลลอฮฺ) มีศอละวาตต่อท่านนบี มีการศึกษาเรียนรู้ การละหมาดซุนนะฮฺ ละหมาดกิยามุลลัยลฺ การขอดุอาอฺ การศอเดาะเกาะฮฺ การติดต่อเครือญาติ การเยี่ยมคนป่วย การละหมาดญะนาซะฮฺ การถือศีลอด การเผยแพร่ดะวะฮฺสู่อัลลอฮฺ   การทำดีต่อบิดามารดา แม้กระทั่งการถูฟันด้วยซิว้ากก็เป็นซุนนะฮฺที่น่าปฏิบัติทุกวัน นี่คือสิ่งที่น่าทำตารางแล้วลองดู บันทึกสักเดือนแล้วดู นี่จะเป็นรัศมีแสงสว่างแก่เราเอง 
 
หรือบางคนอยากจะละเอียดมากก็ย่อมได้ ยิ่งละเอียดในโลกนี้มาก ก็จะยิ่งง่าย สบายในวันกิยามะฮฺ เช่น การละหมาดจะมีตารางเฉพาะ วันหนึ่งมี ละหมาดศุบฮฺ ซุฮฺริ อัศริ มักริบ อีชาอฺ ละหมาดซุนนะฮฺต่างๆ อย่าง ตะฮัจญุด ตะรอวีหฺ ฯลฯ และมีคะแนนด้วย ไม่ใช่แค่ขีดเส้นอย่างเดียว ทุกคนต้องมีอะมานะฮฺในการให้คะแนน 
 
บางครั้งการละหมาดของเราที่ทำเพื่ออัลลอฮฺ หากเทียบเป็นการนำของขวัญไปให้เพื่อน เพื่อนเราคงขว้างหน้า ขนาดท่านนบี   เคยบอกว่าคนที่ละหมาดไม่มีคุชัวอฺ (สมาธิ) เปรียบเสมือนผ้าขี้ริ้ว มะลาอิกะฮฺจะเก็บไว้แล้วขว้างใส่หน้า แล้วบอกว่าเอาไปเลย เอาอะไรมาให้อัลลอฮฺ   คือมันใช้ไม่ได้ [ดาวน์โหลดตารางทบทวนชีวิต]
 
อ่านอัลกุรอานก็มีตารางเฉพาะ มีการอ่านกุรอาน การฮาฟัซกุรอาน (ท่องจำ) การฟังอัลกุรอาน การซิกรุลลอฮฺยามเช้า-ยามเย็น มีการศึกษา ไปมัสญิด การเรียนรู้ศาสนา ในส่วนของการทำความดี ได้แก่ การตักเตือนพี่น้อง การเยี่ยมคนป่วย ญะนาซะฮฺ ช่วยเหลือคนอื่น ทั้งหมดนี่ก็มีให้คะแนนด้วย แล้วปลายเดือนจะรู้ 
 
ในส่วนของการทบทวนความผิดก็มีบัญชีด้วย เช่น การนินทา ใส่ร้าย โกหก นิฟาก ฟังเพลง ทำสิ่งไร้สาระ พูดหยาบคาย การมองที่หลักการศาสนาไม่อนุญาต บันทึกไว้ทั้งหมด พอปลายเดือนมาปิดบัญชี เราก็จะเห็นแล้ว รู้แล้วในตอนสุดท้าย ในตารางตัวอย่างนี้คะแนนสมบูรณ์ 19,620 แล้วเขียนว่าใกล้แล้ว คนที่เคยใช้ตารางแบบนี้เดือนแรกบางครั้งก็ได้ศูนย์ พอเดือนที่ 2 เอาใหม่มันก็เพิ่มขึ้นๆ หากเรามีนิสัยผู้ศรัทธาคือ การทำความดีโดยปริยายมันจะไม่มีการต่อสู้ ไม่มีความลำบากในการทำจะได้ผลบุญเยอะ แต่ปัญหาว่า สังคมปัจจุบันการทำความดีมันต้องต่อสู้หลายอย่าง ขึ้นอยู่ที่ว่าเราพร้อมที่จะสู้หรือไม่ //
 

เรียบเรียงจาก ทบทวนชีวิต (ไฟล์เสียง), ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี, 3 ธ.ค.49 โดย อุมมุญันนะฮฺ

-- ดาวน์โหลด ตารางทบทวนชีวิต --