ทบทวนชีวิต 2 : ปัจจัยสำคัญในการทบทวนชีวิต

Submitted by admin on Thu, 24/10/2013 - 10:35

อิมามอบูซัร อัลฮะเราะวียฺ ได้พูดถึงรุก่น (หลักการ) ของการทบทวนชีวิตต้องมีอะไรบ้าง รายละเอียดในการชำระจิตใจของตนเองต่อพระเจ้านั้นได้กล่าวไว้ละเอียดขนาดไหนจะได้เปรียบเทียบระหว่างหลักการที่นักปราชญ์ได้ตั้งไว้กับชีวิตของเรา ได้แก่

 
 
1) المقايسة بين نعمته وجنايتك  - ท่านต้องเปรียบเทียบระหว่างความโปรดปรานจากอัลลอฮฺกับความชั่วร้ายที่เราได้ทำกับอัลลอฮฺ   
 
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ทรงให้แก่เรามากมายขนาดไหน สร้างเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน พระองค์ได้สร้างเรามาอย่างสมบูรณ์ มีแขน มีขา มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ มีฐานะ มีครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อม นิอฺมัตที่อัลลอฮฺได้ให้กับเรานี้ หากนำมาเปรียบเทียบกับความชั่วที่เราได้ละเมิด ฝ่าฝืนหลักการของพระองค์ นั่นคือ ประตูแรกสู่การทบทวนชีวิต 
 
การทบทวนชีวิตจะไม่เกิดขึ้นเว้นแต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องของตัวเรา และคนที่ยังไม่รู้ตัวเองว่าอัลลอฮฺจะทรงให้มากขนาดไหน แล้วยังไม่รู้ว่าตัวเองละเมิดอัลลอฮฺเท่าไหร่ โอกาสในการทบทวนตัวเองค่อนข้างยาก
 
2) أن تعلم أن الجناية عليك حجة  - พึงรู้ด้วยว่าความชั่วที่ท่านได้ปฏิบัติมา จะเป็นหลักฐาน(ฮุจญะฮฺ)ที่จะถูกนำเสนอให้ตัวท่านเองถูกลงโทษในวันกิยามะฮฺ 
 
والطاعة عليك منة  - และความดี(อัฏฏออะฮฺ)ที่เราทำนั้นไม่ใช่ความดีที่เราปฏิบัติได้เอง สิ่งดีหรือคุณธรรมความดีที่เราได้สะสมปฏิบัติไว้เป็นบุญคุณที่อัลลอฮทรงให้แก่เรา
 
หากเราเชื่อว่าความดีเหล่านั้น ฉันทำ ฉันสะสม ฉันได้ การคิดแบบนี้ โอกาสในการทบทวนชีวิตนั้นไม่มี ในเรื่องนี้อุละมาอฺได้กล่าวไว้ว่า “มุอฺมินกับมุอฺมินเปรียบเสมือนกระจกส่องกันและกัน” เมื่อพบกันจะได้เห็นซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์จากการแนะนำตักเตือนกันและกัน หากมุอฺมินอยู่ด้วยกันแต่เห็นทำความชั่วก็ไม่ห้าม เห็นสิ่งผิดพลาดก็ไม่เคยตักเตือนกัน นั่นหมายรวมว่าอยู่ด้วยกันแล้วไม่มีประโยชน์เลย คนอยู่คนเดียวในบ้านที่มีกระจกยังมีประโยชน์มากกว่า เพราะอย่างน้อยพอเราดูกระจกมันจะสะท้อนภาพซึ่งเรามองตัวเองไม่เห็น 
 
แต่เมื่อมุอฺมินกับมุอฺมินเป็นเสมือนกระจกส่องซึ่งกันและกัน หมายถึงว่าเราตักเตือนกัน เพื่อให้เห็นสิ่งที่เรามองตัวเองไม่เห็น แต่ถ้าหากเราทำความดีแล้วมองไม่เห็นเลยว่าความดีหรือผลงานของเรามีข้อบกพร่องตรงไหน นั่นเพราะเราไม่ได้เอากระจกมาดู เรามัวแต่ภูมิใจมั่นใจกับความดีของตัวเองว่าดีแล้ว 
 
การทบทวนชีวิตจะเริ่มจากการฏออัต การเชื่อฟัง การมีคุณธรรม การที่เราปฏิบัติความดีต่ออัลลอฮฺ   นั่นเป็นบุญคุณที่พระองค์ทรงให้แก่เรา ฉะนั้นอย่าคิดว่านั่นคือการกระทำที่ดีเลิศ สุดยอดแล้ว เราต้องระลึกเสมอว่าทุกสิ่งที่เราทำล้วนมาจากอัลลอฮฺ   ทั้งสิ้น
 
والحكم عليك حجة  - บทบัญญัติของอิสลามเป็นหลักฐาน(ข้ออ้างอิง)ในวันกิยามะฮฺ
 
เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงสั่งใช้ ในวันกิยามะฮฺซึ่งเสมือนบัลลังก์ของผู้พิพากษา คำตอบของเราต่ออัลลอฮฺ   จะชัดเจน มีความกระจ่างอยู่แล้ว หากเราบอกว่าไม่รู้ แล้วชุมชนที่อยู่ไม่มีผู้รู้หรือทำไม่ไม่ไปถาม เราก็ต้องหาคำตอบให้อัลลอฮฺ หากบอกว่าไม่มีผู้รู้ แล้วเราอยู่ในสมัยไหน เราสามารถค้นหาคำตอบ หาความรู้จากสื่ออื่นๆ ได้ไหม เราอยู่ยุคนี้ มีวิทยุไหม มีโทรทัศน์ มีอินเตอร์เน็ต มีเทป ซีดี มีโทรศัพท์มือถือ สมัยนี้สามารถดาวน์โหลดได้หมด ถ้าคำตอบที่ว่าไม่รู้ มันเป็นคำตอบที่ไม่น่าเชื่อถือเลย หากเป็นสัก 50 ปีก็พอเชื่อได้อย่างคนในป่า ชาวเลบางแห่งบนเกาะที่ห่างไกลเลย พวกนี้เขาไม่รู้เรื่องราวศาสนาเลยก็มี อย่างเช่น อินโดนีเซียบางเกาะ เขาไม่รู้เรื่องวิทยาการอะไรเลย ใช้ชีวิตเปลือยกายเหมือนคนป่า อย่างนี้เป็นไปได้ในความไม่รู้จริงๆ ของเขา 
 
ฉะนั้น ข้อบกพร่องที่เป็นข้อบกพร่องจริงในชีวิตที่เราไม่รู้จริง อัลลอฮฺ   จะไม่เอาโทษ เช่น เราไม่รู้จริงๆ ว่าในตำบลนี้มีผู้รู้ ใครหรือที่จะถูกลากมา ผู้รู้เองที่จะถูกถาม ทำไมคนใกล้บ้านไม่รู้ ไม่เคยบอกเคยสอนประกาศเชิญชวนเขาหรือ มิใช่แค่นั้น กรรมการมัสญิดจะถูกถามว่าทำไมไม่จัดให้สับปุรุษเรียนรู้เรื่องศาสนา หน้าที่ตรงนี้เป็นข้อบกพร่องของแต่ละคน ซึ่งอัลลอฮฺ  ก็จะสอบสวนตามนั้น
 
ทั้ง 3 ประการนี้ 1) ความชั่วเป็นหลักฐานอ้างอิงของเราที่จะถูกลงโทษในวันกิยามะฮฺ 2) ความดีที่ได้รับมานั้นเป็นบุญคุณจากอัลลอฮฺ   ไม่ใช่ผลงานส่วนตัว 3) บทบัญญัติต่างๆ จะเป็นข้ออ้างต่อข้อบกพร่องของเราที่มันจะเกิดขึ้นต่อชีวติของเราในวันกิยามะฮฺ ทั้งหมดคือองค์ประกอบในการทบทวนชีวิต 
 
 
3) أن تعرف أن كل طاعة رضيتها منك فهي عليك  - พึงทราบด้วยว่าความดีทุกประการที่เราได้ทำแล้วพึงพอใจกับมันนั้นจะส่งผลลบกับตัวท่าน ความดีทุกประการของท่านได้สะสมได้ทำไว้แล้วเกิดความพอใจ เช่น ละหมาดดีที่สุดแล้ว ดีกว่านี้ไม่มีแล้ว ความดีอันนี้มันจะเป็นผลลบที่ต้องระวัง 
 
وكل معصية عيرت بها أخاك فهي إليك  - ความชั่วที่เยอะเย้ยล้อเลียนคนอื่น ระวังมันจะกลับถึงท่านสักวัน ความชั่วที่คนอื่นทำ ถ้าเราไม่เตือนเขาแต่กลับเยอะเย้ยเขาอย่างเดียว สิ่งนั้นย่อมกลับมาหาท่านสักวัน
 
ولا تضع ميزان وقتك من يديك - เครื่องวัดเครื่องชั่งอย่าให้ได้คลาดจากมือท่าน นั่นก็คือ “เวลา” ชั่งชีวิต  ชั่งเวลา ตรวจชีวิตตรวจเวลาของท่านให้ดีอย่าให้พลาด ทุกวินาทีในชีวิตมันจะอยู่ในความรับผิดชอบของท่าน 
 
ทุกประการในชีวิตอัลลอฮฺ   มิได้ละเว้นอะไรเลยที่จะถูกคิดบัญชีในวันกิยามะฮฺ ซึ่งการศึกษาอายะฮฺต่างๆ ในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบี   ในเรื่องนี้เป็นความรู้ที่เหล่าบรรดาศอฮาบะฮฺและตาบิอีนได้ศึกษาปฏิบัติ และนำมาสอนประชาชาติ 
 
 
ในอายะฮฺนี้ (ซูเราะฮฺอัลฮัชรฺ 59 : 18)  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ได้สอนเรื่องเกี่ยวกับวันกิยามะฮฺ ให้พิจารณาดูว่าได้เตรียมอะไรเอาไว้บ้างเพื่อไปถวายต่ออัลลอฮฺ มีอะไรบ้างที่จะนำเสนอแสดงต่อหน้าพระองค์ หากว่าวันหนึ่งวันใดที่เราตอบว่า มีพร้อมแล้วสำหรับสิ่งที่เตรียมไว้เสนอต่ออัลลอฮฺ   นั่นคือ ความหายนะ หมายถึงเราต้องคำนึงและต้องพิจารณาตนเองอยู่เสมอไป ทำไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต แต่อย่าคิดว่ามีพอแล้ว และให้เชื่อว่าสิ่งที่เราทำไปแล้วยังไม่ดีพอที่จะนำไปเสนอต่ออัลลอฮฺ 
 
และ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลฮากเกาะฮฺ อายะฮฺที่ 18 ว่า
 
 
يَوْمَئِذٍ تُعْرَضُونَ لَا تَخْفَىٰ مِنكُمْ خَافِيَةٌ ﴿١٨﴾
ความหมาย “วันนั้นพวกเจ้าจะถูกนำมาอยู่ต่อหน้าพระองค์ ไม่มีความลับอันใดจะถูกปิดบังแก่พวกเจ้า” (69:18)
 
“อัลฮากเกาะฮฺ ( الحاقة )” เป็นชื่อของวันกิยามะฮฺ คือวันที่จะปรากฏหรือประจักษ์ซึ่งความสัจจะ(อัลฮักกฺ, สัจธรรม)  วันซึ่งความจริงทั้งหมดจะปรากฏอย่างชัดเจน ไม่มีสีเทา “วันนั้น (วันกิยามะฮฺ) พวกเจ้าจะถูกนำมาอยู่หน้าพระองค์”  ชีวิต อะมัล(การกระทำ,ภาคปฏิบัติของเรา) จะถูกเสนอต่ออัลลอฮฺ   ไม่มีความลับอันใดจะถูกปิดบัง บางอย่างที่เราแอบทำไม่มีใครเห็น แต่ในวันกิยามะฮฺจะเปิดหมด ขึ้นอยู่ที่ว่าอัลลอฮฺ   จะประสงค์เปิดเผยให้คนอื่นเห็นด้วย หรืออัลลอฮฺจะเห็นเฉพาะพระองค์เดียว แต่แน่นอนเปิดเผยหมด แม้กระทั่งความคิดในแต่ละวันของชีวิตก็ถูกบันทึก อัลลอฮฺจะไม่เอาความผิดแต่มันจะถูกเปิดเผยด้วยขณะที่ถูกนำเสนอต่ออัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺ
 
อายะฮฺนี้เกี่ยวกันอย่างไรกับการทบทวนชีวิต ท่านอุมัร อิบนิ ค็อฏฏ็อบ เมื่อศึกษาเรื่องนี้ในอัลกุรอานแล้วก็ได้นำเนื้อหามาบรรจุเป็นคำคม คำตักเตือน ช่วยให้ง่ายต่อการจดจำและนำมาปฏิบัติได้ง่าย เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ศรัทธา ท่านอุมัร อิบนิ ค็อฏฏ็อบได้กล่าวว่า 
 
حَاسِبُوا أَنْفُسَكُمْ قَبْلَ أَنْ تُحَاسَبُوا
พวกเจ้าจงทบทวนตัวเอง ก่อนที่จะถูกคิดบัญชี หรือก่อนที่ถูกทบทวน ให้เราทบทวนตัวเองก่อน (ให้พิจารณาตัวเองก่อน ก่อนที่จะถูกพิจารณา)
 وَتَزَيَّنُوا لِلْعَرْضِ الْأَكْبَرِ 
และจงประดับประดาตนเอง สำหรับวันแห่งการเสนอตัวอันยิ่งใหญ่