ซูเราะฮฺอัลอะอฺลา อายะฮฺ 9-10 : ดังนั้นจงตักเตือนกันเถิด เพราะการตักเตือนกันนั้นจะยังคุณประโยชน์, ผู้ที่หวั่นกลัวจะได้รำลึก

Submitted by admin on Sat, 10/08/2013 - 02:14

 / ﴿ فَذَكِّرْ إِن نَّفَعَتِ الذِّكْرَى ﴾

“9. ดังนั้นจงตักเตือนกันเถิด เพราะการตักเตือนกันนั้นจะยังคุณประโยชน์”
 
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงสั่งสอนให้ท่านนบีเผยแผ่และชี้แนะสู่ทางนำของพระองค์ด้วยดุลพินิจพิจารณาไตร่ตรอง พระองค์ทรงสอนให้ท่านนบีรู้ถึงความเหมาะสมในการเผยแผ่สัจธรรม คำว่า “ฟะซักกิร - فَذَكِّرْ” ที่ปรากฏในอายะฮฺนี้ เป็นกริยาที่สั่งใช้ อัลลอฮฺทรงสั่งให้ท่านนบีตักเตือนในเรื่องสัจธรรม ความจริง ทางนำ และชี้แนะประชาชาติของท่านสู่ความถูกต้อง “โอ้มุฮัมมัด จงบอกพวกเขาสิว่าความถูกต้องนั้นคืออะไร”
 
คำว่า “إِن” หมายถึง หากว่า; กล่าวคือ หากว่าการตักเตือนนั้นมีประโยชน์ก็จงตักเตือน และหากพิจารณาสถานภาพและสถานการณ์แล้วว่าจะไม่มีประโยชน์ หรืออาจจะนำมาซึ่งอันตรายหรือข้อเสียหาย ก็ไม่บังควรที่จะตักเตือน เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ตามสำนวนหรือเงื่อนไขที่ถูกระบุในอายะฮฺ 
 
ท่านอะลียฺ อิบนุ อะบีฏอลิบ ได้กล่าวว่า “لانت بمحدث قوما حديثا لا تبلغه قلوبهم الا كان عليهم فتنة”  ความว่า “หากท่านตักเตือนกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใดในเรื่องที่สติปัญญาของพวกเขารับไม่ได้ เรื่องเหล่านั้นอาจเป็นฟิตนะฮฺก่อความเสียหายความวุ่นวายของเขาก็ได้” หมายถึงข้อตักเตือนบางประการนั้นสำหรับบางคนอาจจะไม่รับในช่วงเวลานั้นหรือในสถานที่นั้น เช่นการตักเตือนต่อหน้าสาธารณะชน หรือเตือนบางคนในสิ่งที่เขาทำมาตลอดและยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก เนื่องจากว่ายังไม่มีหลักฐานอ้างอิงพร้อมที่จะให้เขาฟังและปฏิบัติตาม เขาก็อาจจะรับไม่ได้ หรือการกล่าวตักเตือนในสิ่งที่เขาต้องการศึกษาเป็นเวลานาน แต่เราต้องการให้เขาเข้าใจอย่างรวดเร็ว เขาก็อาจจะรับไม่ได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องใช้เวลา
 
ท่านอะลียฺได้กล่าวไว้อีกสำนวนหนึ่งว่า “خاطبوا الناس بما يعرفون اتحبون ان يكذّبوا الله ورسوله”  ความว่า “พวกท่านจงพูดในสิ่งที่ผู้คนเคยชินและรับรู้ได้ (หมายถึงว่าอย่าพูดในสิ่งที่ทำให้เขาสงสัยในเรื่องของศาสนา) พวกท่านอยากให้ผู้คนได้ปฏิเสธอัลลอฮฺและเราะซูลกระนั้นหรือ?” 
 
หมายถึง ข้อตักเตือนของเราบางประการจะทำให้เขาสงสัยในเรื่องศาสนา ทั้งที่เราปรารถนาให้เขาเข้าใจศาสนา แต่เรากลับพูดหรือตักเตือนในเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนในเนื้อหาเชิงวิชาการ ซึ่งสติปัญญาและประสบการณ์ของผู้คนทั่วไปอาจจะรับไม่ได้ จึงทำให้เขาปฏิเสธหลักการศาสนา เรื่องนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวังของผู้ที่เผยแผ่หลักการศาสนา หากตักเตือนกันในหนทางที่ ไม่ราบรื่นและไม่สามารถทำให้ผู้คนเข้าใจได้ง่าย ถือเป็นการงานที่บกพร่องและผิดพลาดของผู้ทำงานเผยแผ่ศาสนาหรือผู้ตักเตือน ฉะนั้น ความระมัดระวังจึงเป็นสิ่งที่ต้องควรคำนึง อายะฮฺดังกล่าวกำลังบอกให้รู้ถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ตักเตือนหรือผู้เผยแผ่ศาสนา ว่ามีบทบาทสำคัญที่สำคัญในการช่วยให้ผู้คนได้รับสัจธรรมและทางนำจากอัลลอฮฺ
 
และเป็นเรื่องจริงที่บางคนมีความปรารถนาดี เจตนาดี ความตั้งใจดี แต่การกระทำของเขา การพูดของเขา หรือการสื่อสารของเขา กลับทำให้เกิดผลตรงข้ามกับสิ่งที่เขาต้องการ เนื่องจากว่าไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน ตามความเหมาะสมที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
 
﴿ ادْعُ إِلِى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ ﴾
ความว่า “จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุมและการตักเตือนที่ดี” (ซูเราะฮฺอันนะหฺลิ อายะฮฺ 125)
 
﴿ كُونُواْ رَبَّانِيِّينَ بِمَا كُنتُمْ تُعَلِّمُونَ الْكِتَابَ وَبِمَا كُنتُمْ تَدْرُسُونَ ﴾
ความว่า “...ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ที่ผูกพันกับพระเจ้าเถิด เนื่องจากการที่พวกท่านเคยสอนคัมภีร์ และเคยศึกษาคัมภีร์มา” (ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน อายะฮฺ 79)
 
เศาะหาบะฮฺบางท่านอธิบายว่า ให้สอนจากเรื่องเล็กๆ ก่อนเรื่องใหญ่โต เช่น สอนผู้ที่เริ่มศึกษาอิสลามเรื่องละหมาดก่อนจะไปสอนเรื่องก็อดยานี บางคนยังไม่รู้ว่าคนปฏิเสธศรัทธาคือศัตรูของอัลลอฮฺ หากเราเตือนว่าพวกนี้คือศัตรูของศาสนา อาจจะทำให้พวกเขาสับสน ซึ่งวิธีนี้อาจจะเป็นการสร้างความวุ่นวาย ก่อปัญหากับศาสนาด้วยการกระทำ ด้วยความโง่เขลาในการเผยแผ่ศาสนา
 
อีกนัยยะหนึ่งของการอธิบายอายะฮฺนี้ คำว่า “إِن” มิได้แปลว่า “หาก” แต่แปลว่า “โดยแน่นอน” เพราะ “إِن” แปลว่า “قَدْ” ก็จะแปลได้ว่า “จงตักเตือน โดยแน่นอนการตักเตือนนั้นจะมีประโยชน์” หมายความว่า ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจในการที่จะเตือน ให้เตือนไปก่อน ถ้าต้องการเตือน ส่วนจะมีประโยชน์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ เพราะฮิดายะฮฺทางนำนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ หากคนที่ยังไม่รับรู้ความจริงสัจธรรมเราก็เตือนเขาไว้ก่อน ส่วนเขาจะยอมรับ รับรู้ หรือศรัทธาหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ แต่เราก็ควรทำหน้าที่ตักเตือนกันไป
 
อันที่จริง อายะฮฺนี้สามารถแปลได้ทั้งสองนัยยะ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางครั้งเราก็ต้องตักเตือน การจะรู้ว่ามีประโยชน์หรือไม่นั้นไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เราต้องตักเตือนไว้ก่อน โดยเฉพาะกับคนที่ยังไม่มีความรู้ แต่ในบางสภาพบางกรณี เราก็ต้องไตร่ตรองและใช้ดุลพินิจในการพิจารณาสถานภาพและสถานการณ์ ว่ามีความเหมาะสมในการแจ้งความจริง แจ้งสัจธรรม แนะนำทางนำหรือไม่ เป็นจิตวิทยาและความมีไหวพริบของผู้ตักเตือนหรือผู้เผยแผ่ศาสนา บางครั้งเราควรตั้งเป้าหมายกับคนที่เราต้องการตักเตือนว่า เราต้องการให้เขาเข้าใจอย่างไร เราก็ต้องใช้ขั้นตอน ความเหมาะสมในการพูดคุยและนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เขาเข้าใจสิ่งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการตักเตือนก็ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของอัลลอฮฺ
 
 
(سَيَذَّكَّرُ مَن يَخْشَىٰ)
10. “ผู้ที่หวั่นกลัวจะได้รำลึก”
 
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ได้ตรัสถึงปัจจัยสำคัญที่จะให้ทางนำนั้นปรากฏกับบรรดามนุษย์ทั้งหลาย นั่นคือการแสวงหา การมีความมุ่งมั่น ความมานะ ความตั้งใจในการรับรู้สัจธรรม และอัลลอฮฺ   ก็ได้ตรัสถึงปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้คนสามารถบรรลุความจริง ประสบกับสัจธรรม นั่นก็คือการที่มนุษย์มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ    ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้ผู้คนทั้งหลายยอมรับข้อตักเตือนด้วยความนอบน้อม ด้วยความสำนึกในความสำคัญของข้อตักเตือน อันจะนำมาซึ่งทางนำอันประเสริฐ โดยในอายะฮฺนี้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า “ผู้ที่หวั่นกลัว จะได้รำลึก” นั่นคือ คนที่มีความหวาดกลัว ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ   ตักวาต่อพระองค์  คือคนที่มีโอกาสมากกว่าในการได้รับข้อตักเตือน ตรงกันข้ามกับคนที่หยิ่งยะโส ปฏิเสธความจริง และไม่ยอมรับในสัจธรรมที่มาจากอัลลอฮฺ   เนื่องด้วยยอมให้อารมณ์ใฝ่ต่ำหรือนัฟซูของตัวเองอยู่เหนือกว่าสัจธรรม แต่ผู้ที่นอบน้อมถ่อมตนและยำเกรงต่ออัลลอฮฺ   นั้น เมื่อได้รับคำตักเตือนจากพระองค์แล้วก็จะเป็นการง่ายสำหรับเขาที่จะรับความจริง จึงเป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาทุกคนที่จะต้องเสริมสร้างตักวาและคอชยะฮฺ (คือความหวาดกลัว ยำเกรง เคารพ และรักภักดีต่ออัลลอฮฺ  )
 
 

เรียบเรียงจาก การอรรถาธิบายความหมายอัลกุรอาน (ตัฟซีร) ในซูเราะฮฺอัลอะอฺลา โดยชัยคฺริฎอ อะหฺมัด สมะดี