สนุกสนานแต่หายนะ

Submitted by dp6admin on Thu, 04/06/2009 - 13:48

ไม่สมควรสำหรับมุสลิม ที่จะใช้ชีวิตของตนอย่างไร้ประสิทธิภาพ ทั้งๆที่มุสลิมนั้นเป็นประชาชาติที่มีความตระหนักในเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของโลกนี้ อันเป็นส่วนสำคัญแห่งความศรัทธาของเขา ว่าโลกนี้เป็นชีวิตชั่วคราว ดังที่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า

﴿ قُل متاع الدنيا قليل والآخرة خير لمن اتقى ﴾

ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) การรื่นเริงของโลกนี้มีเล็กน้อย แต่ปรโลกนั้นดีกว่าสำหรับผู้ยำเกรง”  (อันนิซาอฺ 77) 

จึงเป็นนโยบายในการดำเนินชีวิตของมุสลิมว่า ชีวิตของเขาจำเป็นต้องดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง ความปลอดภัย และความสำเร็จ ดังนั้น กิจกรรมใดก็ตามที่จะทำให้มุสลิมเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตอย่างไม่มีขอบเขตหรือไม่มีหลักการนั้น ย่อมเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับมุสลิม

 

ความบันเทิงหรือความสำราญ เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุโลมให้ในชีวิตมุสลิม โดยจะต้องคำนึงถึงเป้าหมายอันมีคุณค่า ดังที่มีปรากฏในศาสนบัญญัติ อาทิเช่น การแข่งขัน ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

لاَ سَبَقَ إِلا فِي خُف أَوْ حَافِرٍ أَوْ نَصْلٍ

ความว่า “ไม่(อนุญาตให้)มีการแข่งขัน(โดยมีรางวัล)เว้นแต่(แข่งขัน)อูฐหรือม้า หรือ(การยิง)ธนู” (บันทึกโดยอะหมัด อบูดาวู้ด และนะซาอีย์)

จากหะดีษดังกล่าว บรรดาอุละมาอฺได้วินิจฉัยว่า การตั้งรางวัลสำหรับการแข่งขันในกิจกรรมใดๆ เป็นสิ่งที่อนุมัติ ถ้าหากมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพแก่ประชาชาติมุสลิม เพราะการแข่งม้าหรืออูฐหรือยิงธนูนั้น ทำให้บรรดามุสลิมีนมีศักยภาพในด้านการต่อสู้ จึงเป็นกรอบที่ต้องคำนึงต่อเมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับความสนุกสนานในชีวิตของมุสลิม นอกจากนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ยังสนับสนุนให้มีการแข่งขันมวยปล้ำ ยิงธนู และเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้บรรดามุสลิมีนแข็งแรงขึ้น เพราะ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้ยืนยันไว้ว่า

الْمُؤْمِنُ الْقَوِيُّ خَيْرٌ وَ أَحَبُّ إلى اللهِ مِنَ الْمُؤْمِنِ الضَّعِيفِ

ความว่า “มุอฺมินที่แข็งแรงนั้น ประเสริฐและเป็นที่รักของอัลลอฮฺมากกว่ามุอฺมินที่อ่อนแอ” (บันทึกโดยอิมามมุสลิม)

ดังนั้น เราจึงต้องตัดกิจกรรมความสำราญความบันเทิงที่ผิดหลักการศาสนาออกไปจากชีวิตอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากเป็นสิ่งที่ต้องห้าม ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิตของมุสลิม เฉกเช่นการฟังดนตรี เล่นหมากรุก เล่นไพ่ เล่นการพนัน และอื่นๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าศาสนาห้ามไว้อย่างเด็ดขาด

แต่ในสังคมมุสลิมปัจจุบัน เรามักจะเห็นคนที่นำความสนุกสนานมาใช้ในชีวิตของตน โดยไม่คำนึงถึงกรอบแห่งศาสนาที่ระบุข้างต้น จึงทำให้กิจกรรมห่งความบันเทิงและความสำราญของเขานั้นละเมิดขอบเขตสู่สิ่งที่หะรอมหรือมักรู้ฮฺ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยแจ้งว่าในประชาชาติของท่านจะมีผู้คนประเภทนี้ ดังวจนะต่อไปนี้

ليَكُونَنَّ فِيْ أُمَّتِيْ أَقْوَامٌ يَسْتَحِلُّوْنَ الحِرَ والحَرِيْرَ والخَمْرَ والمَعَازِف ...

ความว่า “จะมีกลุ่มชนหลายกลุ่มชนในประชาชาติของฉัน ถือว่าอวัยวะเพศ(การล่วงประเวณี) (การสวม)ผ้าไหม(สำหรับผู้ชาย) (การดื่ม)สุรา และดนตรีเป็นสิ่งหะล้าล(ทั้งๆที่เป็นสิ่งหะรอมตามบทบัญญัติ)” (บันทึกโดยบุคอรีย์และอบูดาวู้ด)

ในหะดีษข้างต้นจะเห็นว่า ความชั่วที่ปรากฏขึ้นในสังคมมุสลิม มักจะเกิดจากความบันเทิง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะความบันเทิงเป็นเครื่องมือของชัยฏอนมารร้ายในการหลอกลวงมนุษยชาติ ดังที่อัลลอฮฺทรงเตือนไว้ว่า

﴿ وَإذْ زَيَّنَ لَهُمُ الشَّيطَانُ أعْمَالَهُمْ ﴾

ความว่า “และจงรำลึกขณะที่ชัยฏอนได้ทำให้สวยงามแก่พวกเขาซึ่งการงานของพวกเขา” (อัลอันฟาล 48)

จากคำสั่งสอนดังกล่าว จะเห็นว่าความบันเทิงหรือความสำราญนั้นเป็นประตูที่จะชักนำมนุษย์ไปสู่ความผิดอย่างมหันต์ จึงเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับมุสลิม แต่ที่อันตรายกว่าก็คือ การกระทำกิจกรรมแห่งความบันเทิงโดยอ้างว่าศาสนาอนุโลม ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างชัดเจน อาทิเช่น คนที่ฟังเพลงฟังดนตรีที่ประกอบด้วยบทกลอนเกี่ยวกับศาสนา หรือนักร้องที่แต่งกายเรียบร้อยสวมหมวกหรือไว้เครา สภาพเหล่านี้ปรากฏแพร่หลายในสังคมมุสลิม จึงทำให้ผู้กระทำเช่นนี้ “หลวมหลักการ” และจะนำเขาไปสู่ความผิดที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น

ที่ข้าพเจ้าต้องพูดเช่นนี้ เพราะห่วงใยต่อสภาพสังคมมุสลิมที่ขาดความรู้ แล้วยังขาดผู้ชี้แนะสู่ความถูกต้องและผู้ตักเตือนในความผิด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้วัฒนธรรม กิจกรรม และแนวชีวิตของผู้ปฏิเสธศรัทธาถูกซึมซับเข้ามาในชีวิตของมุสลิม โดยคิดว่าสภาพเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ ถึงกระนั้นหลายคนก็ยังไม่ยอมรับว่าสภาพเช่นนี้เกิดจากการที่มุสลิมไม่เคร่งครัดต่อความบันเทิงและความสำราญในชีวิตของเขา

เมื่อเร็วๆนี้มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ทั่วโลกรวมทั้งในเมืองไทยด้วย ซึ่งเป็นภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดที่ได้รับรางวัลออสการ์หลายรางวัล ส่งผลให้เป็นภาพยนตร์ที่มีรายได้สูงสุดในประวัติฮอลลีวู้ด ที่น่าสังเกตคือภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัตินบีอีซาในทัศนะของชาวคริสต์นิกายคาทอลิก เพราะผู้กำกับเป็นชาวคาทอลิก และภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการชื่นชมจากสันตปาปาผู้นำนิกายคาทอลิก โดยในเนื้อหาภาพยนตร์มีการยืนยันว่า นบีอีซาถูกตรึงบนไม้กางเขนและถูกฆ่าด้วยแผนของชาวยิว(ข้าพเจ้าไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่นำข้อมูลมาจากบทวิเคราะห์ของสื่อมวลชน) ถึงขนาดนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นความเชื่อของชาวคริสต์ที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้าง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่เกี่ยวข้องกับมุสลิมประการใดทั้งสิ้น และมุสลิมจะต้องออกห่างจากสิ่งเหล่านี้โดยสิ้นเชิง แต่ที่ไม่ปกติก็คือ ทั้งๆที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาสาระที่สวนทางกับหลักศรัทธาของมุสลิม และประกอบด้วยภาพที่จะสร้างความซาบซึ้งต่อข้อบิดเบือนของไบเบิ้ล และประกอบด้วยสิ่งที่ต้องห้ามในหลักการอิสลาม เช่น ดนตรี และอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้กำกับภาพยนตร์ยังให้สัมภาษณ์ในวารสารรีดเดอร์ไดเจสต์ฉบับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ว่า งานของเขาถือว่าเป็นการแสดงความขอบคุณความกตัญญูต่อพระเยซูและศาสนาของเขา และในวารสารอื่นเขาก็ได้พูดในทำนองว่า เขาจะไม่รู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จจนกว่าจะเห็นทุกคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ศรัทธาในพระเยซู แต่ก็ยังมีพี่น้องมุสลิมที่เห็นว่าการชมภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ผิดหลักการ

สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่าการที่พี่น้องมุสลิมบางคนหลงไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่ปราศจากความรู้ด้านศาสนา หรือเป็นคนที่ทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตตามอารมณ์ของตนเองโดยไม่คำนึงถึงหลักการ หรือไม่พิจารณาหลักการศาสนาก่อนที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาเลยคือ การที่เห็นมุสลิมระดับผู้นำบางคนและวารสารมุสลิมบางฉบับนำเอาภาพยนตร์เรื่องนี้มาเผยแพร่และส่งเสริมให้ประชาชน(มุสลิม)ติดตาม พร้อมทั้งวิเคราะห์เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างภาคภูมิใจ เหล่านี้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ว่ากัน แต่การวิเคราะห์และเผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่บอกถึงข้อบิดเบือนเกี่ยวกับท่านนบีอีซา พร้อมทั้งยกย่องว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้มุสลิมขยันศึกษาอัลกุรอานมากขึ้น จะเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ข้าพเจ้าได้อ่านบทความของนักเขียนมุสลิมบางท่านที่เขียนในทำนองว่า การตรึงพระเยซูบนไม้กางเขนนั้นเป็นการเสียสละของพระเยซูเช่นเดียวกับบรรดาศาสนทูตท่านอื่นๆ ซึ่งคำกล่าวนี้เสมือนว่าผู้เขียนไม่เคยอ่านอัลกุรอานเลย และยังนำเอาเรื่องบิดเบือนของศาสนาอื่นมาเผยแพร่และส่งเสริมให้ชาวมุสลิมบริโภคอย่างง่ายๆ นี่แหละครับ ผลที่ตามมาจากการไม่มีหลักการและกรอบเกี่ยวกับความบันเทิงในชีวิตของเรา

เราทุกคนจะมีความรู้หรือไม่มีความรู้ จำเป็นต้องกลับไปยังหลักการศาสนาอิสลามของเราในทุกกิจกรรมของชีวิต เพื่อให้พฤติกรรมของเราปราศจากความผิดพลาด แต่ถ้าเราใช้ชีวิตโดยไม่เอาใจใส่ต่อหลักการอิสลาม ย่อมจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และทำให้เราประพฤติผิดโดยไม่รู้สึกตัว


ริฎอ อะหมัด สมะดี, ร่มเงาอิสลาม 2547

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง