คุชัวอฺในละหมาด

Submitted by dp6admin on Fri, 21/12/2012 - 13:45
เนื้อหา

ร่างกายขาดหัวใจมิได้ฉันใด การละหมาดของคนเราก็ขาด ความคุชัวอฺมิได้ฉันนั้น รถยนต์ที่ไม่มีน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงก็ไม่ต่างอะไรจากเศษเหล็กชิ้นหนึ่ง การละหมาดที่ไม่มีความคุชัวอฺก็คงไม่ต่างอะไรกับการออกกำลังกาย

ถอดความจากคุฏบะฮฺ : เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
หนังสือพิมพ์ไทยแลนด์นิวส์ดารุสสลาม
พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน
 
วันนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องความสำคัญของคุชัวอฺ ร่างกายขาดหัวใจมิได้ฉันใด การละหมาดของคนเราก็ขาด ความคุชัวอฺมิได้ฉันนั้น รถยนต์ที่ไม่มีน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงก็ไม่ต่างอะไรจากเศษเหล็กชิ้นหนึ่ง การละหมาดที่ไม่มีความคุชัวอฺก็คงไม่ต่างอะไรกับการออกกำลังกาย
 
อัลลอฮฺตรัสว่า 
 
قَدْ أَفْلَحَ الْمُؤْمِنُونَ ﴿١﴾ الَّذِينَ هُمْ فِي صَلَاتِهِمْ خَاشِعُونَ ﴿٢﴾
“แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน(คุชัวอ์)ในเวลาละหมาดของพวกเขา” [อัลมุอฺมินูน 23:1-2] 
 
จากอายะฮฺนี้เราสามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จ รอดพ้นจากการถูกทรมานในนรกและได้รับการตอบแทนที่ดีในสรวงสวรรค์นั้นคือบรรดาผู้ศรัทธา ซึ่งหนึ่งในคุณสมบัติของผู้ศรัทธานั้นคือการที่พวกเขามีความคุชัวอฺในเวลาละหมาด
 
อุละมาอฺบางท่านได้ให้ทัศนะว่าฮุกุ่มของคุชัวอฺในละหมาดนั้นเป็นวาญิบ ท่านอิบนุตัยมิยะฮฺได้กล่าวว่า “พระดำรัสอัลลอฮฺที่ว่า “และจงขอความช่วยเหลือ ด้วยความอดทน และการละหมาด แน่นอน การละหมาดนั้นเป็นงานหนัก แต่ไม่ใช่กับบรรดาผู้ถ่อมตน(คุชัวอฺ)” [อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:45] ซึ่งจากอายะฮฺนี้อัลลอฮฺตะอาลาทรงตำหนิผู้ที่ไม่มีความคุชัวอฺ ซึ่งอัลลอฮฺจะไม่ตำหนิสิ่งหนึ่งสิ่งใดเว้นแต่สิ่งนั้นเป็นการละทิ้งสิ่งที่เป็นวาญิบ ดังนั้น จึงเข้าใจได้ว่าการละทิ้งคุชัวอฺเสมือนการละทิ้งสิ่งที่เป็นวาญิบอย่างหนึ่งนั่นเอง"
 
หะดีษอีกบทหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่อาบน้ำละหมาดและทำ(อาบน้ำละหมาด)อย่างดี(ถูกต้องสมบูรณ์) หลังจากนั้นละหมาดสองร็อกอะฮฺและมุ่งมั่นตั้งใจในการละหมาดด้วยใบหน้าและหัวใจของเขา(นั่นคือการมีคุชัวอฺ) และไม่สนทนากับตัวเองในเวลาละหมาด เขาจะได้รับการอภัยโทษในบาปที่เคยกระทำมา (บางสำนวนรายงานว่า “เว้นแต่สรวงสวรรค์เป็นสิ่งวาญิบสำหรับเขา(ที่ต้องเข้า)” บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและอันนะซาอียฺ 
 
พี่น้องที่หวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ
 
 
บางคนในหมู่พวกเราอาจจะคิดว่าความคุชัวอนั้นไม่จำเป็นมากนักในการละหมาด อาจจะคิดว่าหากไม่มีความคุชัวอฺการละหมาดก็ถือว่าการละหมาดนั้นเศาะห์(ใช้ได้) แต่ความจริงแล้วการขาดคุชัวอฺนั้นจะนำมาซึ่งผลเสียมากมาย
 
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “การละหมาดห้าเวลาที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้เป็นฟัรฎู ผู้ใดที่อาบน้ำละหมาดอย่างดี(ถูกต้องสมบูรณ์) และปฏิบัติการละหมาดดังกล่าวใน(ช่วงต้น)เวลา และปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ถูกต้องในรุกูอฺละหมาดด้วยความคุชูอฺแล้ว เขาผู้นั้นจะได้รับสัญญาจากอัลลอฮฺที่จะให้อภัยโทษแก่เขา แต่หากผู้ใดไม่ปฏิบัติดังที่กล่าวนั้น(คือขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รวมถึงขาดคุชัวอฺ) เขาก็จะไม่มีสัญญาใดๆ จากอัลลอฮฺ หากอัลลอฮฺประสงค์ก็อาจจะลงโทษเขาหรืออาจจะให้อภัยเขา” บันทึกโดยอบูดาวูด เชคอัลบานียฺกล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะเฮียะฮฺ
 
พี่น้องที่รักทั้งหลาย
 
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการละหมาดโดยปราศจากคุชัวอฺนั้นเขาแทบจะไม่ได้รับผลบุญใดๆ จากอัลลอฮฺ หนำซ้ำอาจจะได้รับโทษด้วยซ้ำไป ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับความคุชัวอฺ ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังต่อไปนี้
 
1. เตรียมตัวเพื่อการละหมาด เริ่มตั้งแต่การกล่าวรับอะซานและดุอาอฺหลังอะซาน การอาบน้ำละหมาดอย่างดีถูกต้องสมบูรณ์ การแต่งตัวให้ดีและใส่น้ำหอมเพื่อไปละหมาดยังมัสยิด ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมพร้อมด้วยเครื่องหอมย่อมสร้างบรรยากาศแห่งความคุชัวอฺมากกว่าชุดนอนหรือชุดออกกำลังกาย
 
2. สร้างฏุมะนีนะฮฺหรือความสงบนิ่ง ความสุขุม มั่นคง เวลาปฎิบัติการละหมาด ท่านนบีได้กล่าวว่า “ผู้ขโมยที่ชั่วร้ายที่สุดในหมู่มนุษย์คือผู้ที่ขโมยในเวลาละหมาด” เศาะฮาบะฮฺถามว่า “แล้วอย่างไรคือการขโมยในเวลาละหมาด?” ท่านนบีตอบว่า “คือการที่เขาไม่กระทำอย่างสมบูรณ์ซึ่งการสุญูดและการรุกัวอฺ” บันทึกโดยอะหฺมัดและอัลฮากิมในหนังสือเศาะเฮียะหฺอัลญาเมียะอฺโดย เชคอัลบานียฺ
 
3. นึกถึงความตายเวลาละหมาด ท่านนบีกล่าวว่า “จงระลึกถึงความตายในการละหมาดของเจ้า เพราะแท้จริงแล้ว คนๆหนึ่งเมื่อเขาระลึกถึงความตายเวลาละหมาดแล้ว แน่นอนเขาย่อมจะละหมาดอย่างดี(มีความคุชัวอฺ) ฉะนั้นเจ้าจง ละหมาดเสมือนว่าเจ้าจะไม่ได้ละหมาดอีกเลย” เชคอัลบานียฺ ระบุว่าเป็นหะดีษเศาะเฮียะฮฺ อีกหะดีษท่านนบีได้กล่าวแก่ท่านอบีอัยยูบอัลอันศอรียฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮู) ว่า “ทุกครั้งที่เจ้าจะละหมาด เจ้าจงละหมาดเหมือนการละหมาดของคนที่จะอำลาโลกนี้ไป” บันทึกโดยอะห์มัด
 
4. คิดพินิจพิจารณา ตรึกตรองในอายะห์อัลกุรอานที่ท่านอ่านหรือที่อิหม่ามอ่าน รวมทั้งซิเกรและดุอาอฺต่างๆในละหมาด ซึ่งท่านจะไม่สามารถตรึกตรองเว้นแต่ท่านต้องศึกษาเพื่อรู้ความหมายของอายะฮฺหรือสิ่งที่ท่านอ่านในละหมาด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า 
 
كِتَابٌ أَنزَلْنَاهُ إِلَيْكَ مُبَارَكٌ لِّيَدَّبَّرُوا آيَاتِهِ وَلِيَتَذَكَّرَ أُولُو الْأَلْبَابِ
[ซูเราะฮฺศอด 38:29] “คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่าง ๆ ของอัลกุรอาน และเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ” 
 
มีรายงานที่บันทึกโดยท่านอิบนุคุซัยมะหฺและอะห์มัด ว่าท่านนบีเคยอ่านอายะฮฺเดียวในการละหมาดกิยามุลลัยจนกระทั่งรุ่งเช้า นั่นคืออายะฮฺ
 
إِن تُعَذِّبْهُمْ فَإِنَّهُمْ عِبَادُكَ ۖ وَإِن تَغْفِرْ لَهُمْ فَإِنَّكَ أَنتَ الْعَزِيزُ الْحَكِيمُ
[ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ 5:118] “หากพระองค์จะทรงลงโทษพวกเขาแท้จริงพวก เขาก็คือบ่าวของพระองค์ และหากพระองค์จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา แท้จริงพระองค์ท่านคือผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” 
 
ท่านอิบนุญะรีรอัฏฏอบะรียฺได้เคยกล่าวว่า “ฉันแปลกใจกับคนที่อ่านอัลกุรอานแล้วไม่รู้ความหมายอายะฮฺที่อ่าน เขาจะได้รับความสุขจากการอ่านได้อย่างไร?”
 
5. อ่านอัลกุรอานทีละอายะฮฺ ท่านหญิงอุมมุสะละมะฮฺได้รายงานว่า ท่านนบีได้อ่านซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺทีละอายะฮฺ คืออ่านหนึ่งอายะฮฺแล้วหยุด แล้วต่อด้วยอายะฮฺถัดไป บันทึกโดยอบูดาวูด เชคอัลบานียฺให้ทัศนะว่าเป็นหะดีษเศาะเฮียะฮฺ
 
 
6. อ่านอัลกุรอานช้าๆเป็นจังหวะชัดถ้อยชัดคำ และอ่านด้วยทำนองจังหวะที่ไพเราะเพราะนั่นเป็นการเพิ่มโอกาสในการมีความคุชัวอฺมากกว่าการอ่านที่รวดเร็วรีบเร่งไม่เป็นจังหวะ
 
อัลลอฮฺตรัสว่า [73.4] “และจงอ่านอัลกุรอานช้า ๆ เป็นจังหวะ” (ชัดถ้อยชัดคำ)
มีรายงานว่า “การอ่านอัลกุรอานของท่านนบีนั้นจะชัดเจนใน(การออกเสียง)พยัญชนะทีละตัวๆ” บันทึกโดยอะห์มัด ท่านหญิงฮัฟเซาะหฺบินติอุมัรบินอัลค็อฏฏอบ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา)ได้รายงานว่า “ท่านนบีเคยได้อ่านอัลกุรอานในละหมาดของท่านซึ่งท่านนบีได้อ่านซูเราะห์หนึ่งอย่างช้าๆ เป็นจังหวะชัดถ้อยชัดคำจนกระทั่งซูเราะฮฺนี้ยาวกว่าซูเราะฮฺอื่นที่ยาวกว่า(ในกรณีที่อ่านปกติ)” บันทึกโดยมุสลิม
 
7. ตระหนักว่าอัลลอฮฺทรงเฝ้ามองดูอยู่ และทรงตอบรับการวิงวอนและดุอาอฺของผู้ละหมาด “อัลอิฮซาน(การปฏิบัติความดีอย่างดี) คือการที่เจ้าสักการะอัลลอฮฺเสมือนว่าเจ้ากำลังเห็นพระองค์ และถึงแม้เจ้าจะไม่เห็นพระองค์ แต่(จงตระหนักว่า)พระองค์ทรงเห็นเจ้า” บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม 
 
มีรายงานจากท่านนบีได้กล่าวว่า “เมื่อบ่าวคนหนึ่งได้ยืนละะหมาด นั่นคือกำลังเข้าเฝ้าพระเจ้าของเขา ฉะนั้นแล้วเขาพึงตระหนักว่าเขาจะเข้าเฝ้าพระเจ้าของเขาอย่างไร” หะดีษบันทึกโดยอัลฮากิม ท่านอัลบานียฺให้ทัศนะว่าเศาะเฮียะหฺ
 
8. การเพ่งมองไปยังจุดสุญูด ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฏิยัลลอฮุอันฮาได้รายงานว่า “เมื่อท่านนบีละหมาด ท่านจะน้อมหรือก้มศรีษะลงและสายตาของท่านจะมองยังพื้น” บันทึกโดยอัลฮากิม เชคอัลบานียฺบอกว่าเป็นหะดีษเศาะเฮียะหฺ ส่วนเวลานั่งตะชะฮุด(อ่านตะฮียาต)ท่านนบีจะมองไปยังนิ้วของท่านที่กำลังชี้ดังมีรายงานหะดีษ “ท่านนบีเมื่อนั่งอ่านตะชะฮุด ท่านจะชี้นิ้วที่ถัดจากนิ้วหัวแม่มือ(นั่นคือนิ้วชี้)ไปยังกิบลัตและสายตาของท่านจะไม่ละจากนิ้วนั้น” บันทึกโดยอะหฺมัด อบู ดาวูด และอิบนุคุซัยมะห
 
9. ละหมาดด้วยการอ่านอายะฮฺ ซูเราะฮฺ ซิกิรและดุอาอฺที่หลากหลาย เพราะจะทำให้ผู้ละหมาดเกิดมีความสำนึกและรู้สึกได้ถึงความหมายของอายะฮฺต่างๆ เช่น เกี่ยวกับนรก ความสุขในสวรรค์ เกี่ยวกับบทลงโทษและการถูกทรมานในวันกิยามะฮฺ ความตาย และการทดสอบต่างๆ อันจะเป็นการเพิ่มความคุชัวอฺในการละหมาด ซึ่งความหลากหลายใน อายะฮฺ ซิกิรและดุอาอฺนี้เป็นซุนนะหฺที่ท่านนบีได้ปฏิบัติ
 
10. เมื่อผู้ละหมาดอ่านอายะฮฺที่มีการซุญูดติลาวะฮฺก็ให้สุญูด เพราะเป็นซุนนะฮฺที่ท่านนบีได้ปฏิบัติ อันเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มเติมความคุชัวอฺในการละหมาด
 
11. การขอดุอาอฺให้ห่างไกลจากชัยฏอน ท่านอะบิลอาศ-รอฏิยัลลอฮุอันฮู- ได้ถามท่านนบีว่า “โอ้ ท่านนบี แท้จริงชัยฏอนได้มาขัดขวางฉันในการละหมาดและการอ่านของฉัน (อ่านอัลกุรอานในขณะละหมาด) และได้ทำให้ฉันสับสน” ท่านนบีได้แนะนำว่า “นั่นคือชัยฏอนที่ชื่อค็อนซับ) เมื่อเจ้ารู้สึกถึงมัน เจ้าจงขออัลลอฮฺให้ห่างไกลจากมัน (เช่นกล่าวว่า "อะอูซุบิ้ลลาฮิมินัชชัยฏอนิรเราะญีม") และจงเป่า(หรือพ่นเบาๆ)ทางด้านซ้ายของเจ้าสามครั้ง” บันทึกโดยมุสลิม 
 
ท่านนบี ยังได้กล่าวอีกว่า “บางครั้งเมื่อคนหนึ่งคนใดละหมาดชัยฏอน จะมายังเขาและสร้างความสับสนให้แก่เขา (นั่นคือเข้ามารบกวนและทำให้สงสัยในการละหมาด) จนกระทั่งเขาไม่รู้ว่า ได้ละหมาดไปกี่ร็อกอะฮฺแล้ว ดังนั้นหากเขาได้ประสบเรื่องนี้ เขาจงสุญูด(เรียกว่าซุญูดซะหฺวียฺ)สองครั้งตอนขณะนั่ง(ตะชะฮุด)” บันทึกโดยบุคอรียฺ
 
พี่น้องผู้ศรัทธาที่หวังในผลบุญแห่งการละหมาดทุกท่าน
 
ถึงแม้ว่าอาจจะยากลำบากที่จะละหมาดด้วยความ คุชัวอฺตลอดเวลาในการละหมาดของเรา แต่เราไม่ควรย่อท้อ หรือปล่อยปละละเลย แต่ควรพยายามอย่างสุดความสามารถ ที่จะทำให้การละหมาดของเรามีความคุชัวอฺและอย่าลืมโดย เด็ดขาดที่จะขอดุอาอฺให้อัลลอฮฺทรงประทานความคุชัวอฺอัน เปรียบเสมือนริสกีที่มีคุณค่ามหาศาลที่จะทำให้เราปลอดภัย และประสบความสำเร็จในโลกอาคิเราะห์ ดังที่พระองค์กล่าวว่า
 
 
 
 
 
คุชัวอฺในละหมาด