มนุษย์ทุกคนต้องมีคำถามว่า "เขามาอยู่ในโลกนี้ทำไม" "เขาเกิดมาทำไม" "เขาเกิดมาเพื่ออะไร" นี่เป็นคำถามสำคัญสำหรับคนที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะนักประวัติศาสตร์คิดกันหลายมุมมอง หลายมิติ แต่เมื่อมุสลิมศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามเขาจะมีพื้นฐาน คนที่ใช้พื้นฐานว่ามนุษย์มาจากลิง คงไม่สามารถศึกษาเรื่องนะบีและร่อซูลได้ เพราะถ้าบอกว่ามีบรรดานะบีอยู่เมื่อประมาณสองพันปี แล้วลิงอยู่ยุคไหน
มนุษย์ถูกสร้างมา โดยมีพระผู้อภิบาล ผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงดูแล เป็นผู้ทรงทำให้มนุษย์สามารถอยู่บนโลกใบนี้โดยมีเป้าหมาย ถ้าไม่เชื่อเช่นนี้แล้ว จะเชื่อในเรื่องกอฎออฺ-กอดัร[กฎสภาวะต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺทรงกำหนด] ได้อย่างไร ถ้าเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและกอฎออฺ-กอดัรแล้ว ก็จะเชื่อว่าประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ก็เป็นกอฎออฺ-กอดัรเช่นเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างเอง โดยไม่มีพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้าง ผู้ดูแลโลกนี้ คนที่เชื่อแบบนี้แสดงว่ามีความคิดลัทธิวัตถุนิยม ไม่เชื่อในพระอำนาจของอัลลอฮฺ"
ประวัติศาสตร์อิสลามถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทั่วไปด้วย ประวัติศาสตร์แห่งศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าเริ่มบนโลกใบนี้ด้วยท่านนะบีอาดัม แต่ตำราของนักประวัติศาสตร์ไม่มีชื่ออาดัม ไม่มีนักประวัติศาสตร์ที่อ้างตัวว่าเป็นมุสลิมพูดเรื่องนี้ หรือเขียนในหนังสือภาษาอาหรับสอนลูกหลานในมหาวิทยาลัย ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่ามีคนชื่ออิบรอฮีมกับอิสมาอีล เขาไม่เชื่อว่าอัลกุรอานเป็นหนังสือแห่งประวัติศาสตร์หรือ?
ประวัติศาสตร์ของท่านนะบีอาดัมมีบทเรียนสำคัญมากในชีวิตของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย อัลลอฮฺทรงเล่าไว้ในอัลกุรอานว่า บ้านดั้งเดิมของอาดัม และลูกหลานของอาดัมอยู่บนสวรรค์ และด้วยฮิกมะฮฺ[เคล็ดลับหรือเป้าหมายที่มีความสำคัญ] อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้มีการทดสอบมนุษยชาติทั้งปวง เพื่อให้มนุษย์แสดงตนเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ
อัลลอฮฺทรงสร้างท่านนะบีอาดัม โดยมีอิบลีสที่เคยปฏิบัติอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺอย่างเคร่งครัด อุละมาอฺขัดแย้งกันว่าอิบลีสเป็นญินหรือมะลาอิกะฮฺ อุละมาอฺส่วนมากบอกว่าอิบลีสเป็นญิน เพราะอัลลอฮฺตรัสในอัลกุรอานว่า
كَانَ مِنَ الْجِنِّ فَفَسَقَ عَنْ أَمْرِ رَبِّهِ
ความว่า" "มันอยู่ในจำพวกญิน ดังนั้น มันจึงฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าของมัน" [อัลกะฮฺฟฺ 18:50]
แต่มีอุละมาอฺบางท่านบอกว่าอิบลีสเป็นมะลาอิกะฮฺ เพราะอัลลอฮฺสั่งให้มะลาอิกะฮฺสุญูด แต่อิบลีสถูกยกเว้นจากพวกมะลาอิกะฮฺ
إِلاَّ إِبْلِيسَ أَبَى وَاسْتَكْبَرَ
ความว่า" "นอกจากอิบลีส โดยที่มันไม่ยอมสุญูด และแสดงโอหัง" [อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:34]
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่มีผลมากมาย เพียงแต่ทราบว่าอิบลีสเป็นอีกประเภทหนึ่งที่มิใช่มนุษย์ และอิบลีสถูกสร้างและเกิดมีเหตุการณ์ขึ้น เพื่อจะได้มีบทบาทตลอดประวัติของมนุษยชาติจนถึงวันกิยามะฮฺ
อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องวันกิยามะฮฺ นักประวัติศาสตร์อิสลามผู้ศรัทธาเชื่อว่าประวัติศาสตร์มีจุดเริ่มและจุดสุดท้าย แต่นักประวัติศาสตร์สากลที่ยึดในวัตถุนิยมบอกว่าไม่รู้จุดเริ่มต้นและไม่รู้จุดสุดท้าย สำหรับมุสลิมต้องคำ นึงถึงเรื่องเหล่านี้ตลอด
เกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาระหว่างท่านนะบีอาดัมกับอิบลีส อัลลอฮฺทรงสั่งท่านนะบีอาดัมไม่ให้รับประทานผลไม้จากต้นหนึ่ง[1] นะบีอาดัมฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ไปกินจากต้นไม้นั้น ต้นไม้อะไรไม่รู้ อุละมาอฺบอกว่าอะไรที่อัลลอฮฺไม่ได้ระบุรายละเอียดก็ไม่ต้องไปติดใจ[2]
[1] บางคนบอกว่าต้นแอบเปิ้ล ซึ่งไม่มีที่มา นักวิชาการบางท่านบอกว่ามาจากคัมภีร์เตารอตที่ถูกบิดเบือน เช่นเดียวกับคำว่า "มะละกุลเมาตฺ" หมายถึง มะลาอิกะฮฺที่ยึดวิญญาณ ถูกระบุในเตารอตชื่อ อิสรออีล ซึ่งใช้ไม่ได้ เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาต้องมีหลักฐานชัดเจนจากบทบัญญัติที่มาจากท่านนะบี
[2] เรื่องตอนที่ท่านนะบีสุลัยมานนำกองทัพไปพิชิตเมืองหนึ่ง ท่านนะบีสุลัยมานได้ยินเสียงมดบอกระวังกองทัพจะมาเหยียบ มีระบุในซูเราะฮฺอันนัมลิ มีคนมาถามนักวิชาการว่ามดที่พูดตัวผู้หรือตัวเมีย อุละมาอฺบอกว่าอัลลอฮฺไม่ได้ระบุก็ไม่ต้องติดใจตามไปถาม หรือมีคนถามว่าสุนัขที่เฝ้าหน้าถ้ำของชาวถ้ำตัวผู้หรือตัวเมีย อันนี้ไม่ถูกต้อง
ท่านนะบีอาดัมได้กินจากต้นไม้ต้องห้าม ทำให้ท่านเสียสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานให้เพื่อปกป้องความบริสุทธิ์และความละอายของท่าน คือ เอาเราะฮฺของท่านนะบีอาดัมกับท่านหญิงเฮาวาอฺซึ่งเป็นภรรยาของท่าน (มีรายงานจากตาบิอีนบางท่านว่าภรรยาของท่านนะบีอาดัมชื่อ เฮาวาอฺ แต่ไม่มีหลักฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ อย่างไรก็ตาม เราทราบว่าท่านนะบีอาดัมมีภรรยา และภรรยาของท่านกินจากต้นไม้นี้ด้วย )
ไบเบิล อินญีล และเตารอตที่ถูกบิดเบือนมีข้อความกล่าวหาว่าภรรยาของท่านนะบีอาดัมเป็นผู้ยุให้ท่านนะบีอาดัมกิน ฉะนั้นชาวคริสต์และชาวยิวจึงเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ออกจากสวรรค์คือผู้หญิง ยิวดูถูกผู้หญิงมาก ถ้ามีประจำเดือนห้ามถูกตัว สำหรับในอัลกุรอานและซุนนะฮฺไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นคนยุใครให้กิน แต่แน่นอนว่าทั้งสองกิน แล้วอัลลอฮฺทรงทำให้เอาเราะฮฺของท่านนะบีอาดัมและภรรยาถูกเปิดเผย
นี่เป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่มนุษย์เกี่ยวข้องกับจริยธรรม เป็นมารยาทแรกที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เพราะเมื่อเอาเราะฮฺเปิดเผยทั้งสองจึงกลัดใบจากต้นไม้เพื่อปิดบังเอาเราะฮฺ เป็นจริยธรรมบทเรียนแรกที่มนุษย์รับจากประวัติศาสตร์ คือ ความละอาย และในอัลกุรอานระบุบทเรียนนี้ที่อัลลอฮฺทรงสั่งสอนท่านนะบีอาดัม แท้จริงผู้ที่ต้องการให้พวกท่านไม่มีความละอายเพื่อจะได้เปิดเผยเอาเราะฮฺคือ ชัยฏอน
يَا بَنِي آدَمَ قَدْ أَنزَلْنَا عَلَيْكُمْ لِبَاساً يُوَارِي سَوْءَاتِكُمْ وَرِيشاً وَلِبَاسُ التَّقْوَىَ ذَلِكَ خَيْرٌ
ความว่า" "ลูกหลานอาดัมเอ๋ย แท้จริงเราได้ให้ลงมาแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งเครื่องนุ่งห่มที่ปกปิดสิ่งอันน่าละอายของพวกเจ้า และเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความสวยงาม และเครื่องนุ่งห่มแห่งความยำเกรง นั่นคือสิ่งที่ดียิ่ง" [อัลอะอฺรอฟ 7:26]
لِيُرِيَهُمَا سَوْءَاتِهِمَا الشَّيْطَانُ كَمَا أَخْرَجَ أَبَوَيْكُم مِّنَ الْجَنَّةِ يَنزِعُ عَنْهُمَا لِبَاسَهُمَا يَا بَنِي آدَمَ لاَ يَفْتِنَنَّكُمُ
ความว่า" "ลูกหลานอาดัมเอ๋ย จงอย่าให้ชัยฏอนหลอกลวงพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่มันได้ให้พ่อแม่ของพวกเจ้า[6] ออกจากสวนสวรรค์มาแล้ว โดยที่มันได้ถอดเครื่องนุ่งห่มของเขาทั้งสองออก เพื่อที่จะให้เขาทั้งสองเห็นสิ่งที่น่าละอาย" [อัลอะอฺรอฟ 7:27]
นักวิชาการบอกว่าคนที่ชอบเปิดเผยเอาเราะฮฺ คือคนที่ปฏิบัติตามนโยบายของชัยฏอน ไม่ใช่เสรีภาพ สำหรับการที่คนออกไปแก้ผ้าตามชายหาด ตามถนน หรือตามห้างต่าง ๆ มีเอาเราะฮฺที่ต้องละอาย แล้วไม่ยอมปกปิด ไม่ใช่เสรีภาพ ไม่ใช่ปฏิบัติตามอารมณ์ของตัวเอง แต่เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของชัยฏอนตั้งแต่แรก (ที่ให้ท่านนะบีอาดัมและนางเฮาวาอฺกินจากต้นไม้เพื่อเปิดเผยเอาเราะฮฺ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้นะบีอาดัมต้องรับการลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺทรงสั่งให้ทั้งท่านนะบีอาดัม ภรรยา และอิบลีสถูกขับไล่ออกจากสวนสวรรค์ลงมาอยู่บนแผ่นดินนี้)
มีทัศนะที่อ่อนมากของนักวิชาการบางท่านบอกว่า สวรรค์ที่ท่านนะบีอาดัมเคยอยู่ไม่ใช่สวนสวรรค์ของอัลลอฮฺบนชั้นฟ้า แต่เป็นสวรรค์บนแผ่นดินที่อยู่สูงหน่อย หมายถึงอยู่บนโลก อันที่จริงเป็นทัศนะที่คลาดเคลื่อน เข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะหลักฐานชัดเจนในอัลกุรอานใช้คำว่า "الحنة - อัลญันนะฮฺ" และลักษณะที่อัลลอฮฺได้พูดถึงสภาพของอาดัมและเฮาวาอฺในสวรรค์ด้วยความจริงใจกับบรรดาผู้ศรัทธา โดยบอกว่าไม่ใช่สวรรค์บนโลกนี้ และถ้าหากอยู่บนแผ่นดินนี้ แล้วอัลลอฮฺขับไล่จากสวรรค์ที่สูงหน่อยลงมา นั่นไม่ใช่การลงโทษที่เจ็บปวดนัก ที่ถูกต้องคือเป็นสวรรค์ของอัลลอฮฺอยู่บนชั้นฟ้า แล้วถูกขับไล่ลงมาอยู่บนแผ่นดิน นั่นคือข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานชัดเจนในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ท่านนะบีอาดัมมาอยู่บนโลกนี้ด้วยพระดำรัสของอัลลอฮฺ เพื่อที่จะเป็นเคาะลีฟะฮฺ อัลลอฮฺได้บอกไว้ตั้งแต่แรกก่อนที่จะสร้างอาดัม
وَإِذْ قَالَ رَبُّكَ لِلْمَلَائِكَةِ إِنِّي جَاعِلٌ فِي الْأَرْضِ خَلِيفَةً
ความว่า" "และจงรำลึกถึงขณะที่พระเจ้าของเจ้าได้ตรัสแก่มะลาอิกะฮฺว่า แท้จริงข้าจะให้มีผู้แทนคนหนึ่งในพิภพ" "[อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:30]
นี่เป็นบทบัญญัติที่สำคัญมากทั้งในด้านประวัติศาสตร์และด้านการเมืองการปกครอง เพราะอายะฮฺนี้บ่งบอกถึงเป้าหมายที่มนุษย์มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ อัลลอฮฺทรงบอกกับมะลาอิกะฮฺว่าฉันจะห้มีเคาะลีฟะฮฺเป็นตัวแทนบนโลกใบนี้ หมายถึงทำหน้าที่ในการปฏิบัติสิ่งที่พระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าใช้ให้กระทำ เหมือนการที่เราเปิดร้านและจ้างให้มีตัวแทนทำหน้าที่ คนที่มาทำหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของเรา เราไม่ได้มาจ้างเพื่อให้เขาทำตามสบาย เคาะลีฟะฮฺจึงหมายถึงผู้ที่เป็นตัวแทนของอัลลอฮฺบนแผ่นดิน ทุกท่านเป็นเคาะลีฟะฮฺ เป็นตัวแทนที่ได้รับการมอบหมายจากอัลลอฮฺให้ปฏิบัติตามนโยบายของพระผู้เป็นเจ้า
ท่านนะบีอาดัมได้ปฏิบัติตามหน้าที่ในการสั่งสอนลูกหลานให้อยู่ในแนวทางของอัลลอฮฺ นะบีอาดัมรู้ว่ามีพระเจ้าก็สอนลูกหลานให้เอกภาพแด่พระผู้อภิบาลของท่าน โดยไม่เคารพสักการะสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว นะบีอาดัมสอนลูกหลานของท่านเช่นนี้หลายยุคหลายสมัย ไม่ใช่ว่าท่านนะบีอาดัมสอนลูกหลานเรื่องศาสนาหรือมารยาทจริยธรรม ให้มีความผิด ความผิดมันเกิดขึ้นตั้งแต่ท่านนะบีอาดัม แต่ท่านได้เตาบัตแล้ว
فَتَلَقَّى آدَمُ مِن رَّبِّهِ كَلِمَاتٍ فَتَابَ عَلَيْهِ
ความว่า" "ภายหลังอาดัมได้เรียนรู้คำวิงวอนจากพระเจ้าของเขา แล้วพระองค์ทรงอภัยโทษแก่เขา" [อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:37]
เราทราบว่าท่านนะบีอาดัมเป็นคนก็สามารถผิดได้ แต่ความผิดของบรรดานะบีและร่อซูลมี 2 ลักษณะ คือ
1) ไม่เป็นความผิดใหญ่ บรรดานะบีและร่อซูลมีความผิดใหญ่ไม่ได้ ไม่มีบรรดานะบีและร่อซูลที่ทำซินา"
2) ไม่มีบรรดานะบีและร่อซูลที่ตั้งใจทำผิดหรือฝ่าฝืนพระองค์อัลลอฮฺ มีแต่ผิดพลาดไป
กอบีลและฮาบีล
มีเหตุการณ์หนึ่งถูกระบุในอัลกุรอาน ระหว่างลูกหลานอาดัมสองคนที่ขัดแย้งกัน ประวัติศาสตร์อิสลามได้รายงานเรื่องที่เกี่ยวกับการขัดแย้งระหว่างลูก ๆ ของอาดัมสองคน ชื่อ กอบีลกับฮาบีล กอบีลนิสัยไม่ค่อยดี ฮาบีลนิสัยดี เรื่องนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีและความชั่วในโลกนี้
สมัยนะบีอาดัมเป็นบทบัญญัติให้พี่น้องแต่งงานกัน เพราะไม่มีคนอื่นที่สามารถแต่งงานได้ นางเฮาวาอฺท้องแล้วคลอดแฝด 2 คู่ แต่ละคู่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งและผู้ชายคนหนึ่ง แล้วอนุญาตให้ผู้ชายในท้องแรกแต่งงานกับผู้หญิงในท้องที่สอง ฮาบีลท้องแรกควรแต่งงานกับผู้หญิงที่มาจากท้องที่สอง แต่กอบีลที่มาในท้องที่สองไปชอบผู้หญิงที่มาในท้องเดียวกัน และอยากแต่งงานกับคนนี้ อัลลอฮฺห้าม แต่กอบีลอยากแต่งงานให้ได้ จึงมีการตัดสินจากอัลลอฮฺให้ทั้งสองคนถวายกุรบาน[หมายถึงฮะดียะฮฺหรือสิ่งที่จะมอบให้แก่อัลลอฮฺ] และจะมีไฟลงมาจากชั้นฟ้าเพื่อกินกุรบาน ของใครถูกกิน คนนั้นมีสิทธิได้ผู้หญิงคนนี้
กอบีลที่นิสัยไม่ดีเป็นเกษตรกร เขาจึงเอาผลไม้และพืชที่ไม่ค่อยดีไปถวาย แต่ฮาบีลเป็นคนเลี้ยงวัว แพะ แกะ จึงคัดเลือกตัวดีที่สุดจากทรัพย์สินของเขาไปถวาย ปรากฏว่าไฟมากินกุรบานของฮาบีล กอบีลไม่พอใจจึงฆ่าฮาบีล มีระบุในกุรอานในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ เมื่อกอบีลฆ่าฮาบีล เป็นคนแรก ท่านนะบีเคยบอกว่าฆาตกรรมที่จะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ คนแรกที่ริเริ่มความผิดนี้จะรับผิดชอบส่วนหนึ่งในความผิดที่คนอื่นได้กระทำสิ่งนี้ นั่นคือกอบีลที่ฆ่าพี่ชาย-ฮาบีล ก็จะรับความผิดทุกครั้งที่มีฆาตกรรมในโลกใบนี้
อันนี้เป็นบทเรียนที่เราได้รับจากประวัติศาสตร์ว่า ความดีความเลวบนโลกใบนี้ย่อมมีอยู่ตลอดเวลา และทุกคนต้องมีดุลยพินิจในการเลือกว่าตนเองจะอยู่กับฝ่ายไหน เพราะอัลลอฮฺบอกว่าสิ่งนี้เป็นบทเรียนที่มาในช่วงแรก เป็นความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรม เกี่ยวกับมารยาท คือ ความอิจฉาริษยา แต่ก็เป็นสิ่งที่ปูพื้นฐานให้ลูกหลานนะบีอาดัมผูกพันกับอัลลอฮฺ ให้มุ่งสู่พระดำรัสและยืนหยัดในคำสั่งของอัลลอฮฺ
แต่มนุษย์ก็อดหลงลืมไม่ได้ เมื่อผ่านไป 10 ยุคหลังจากท่านนะบีอาดัมเสียชีวิต ดังหะดีษที่อิบนิอับบาสได้เล่า บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรียฺ มีคนซอลิหฺหรือคนดีในสังคม ที่ทำอิบาดะฮฺและสิ่งที่เป็นคุณธรรม แล้วเสียชีวิตไป ลูกหลานที่ยังมีจำนวนไม่ค่อยมาก ก็ประชุมกันว่าจะทำอย่างไร ชัยฏอนจึงมากระซิบว่า ให้สร้างรูปปั้นเพื่อระลึกถึงคนดี และไม่ลืมความดีของเขา แต่แนวคิดนี้มาจากชัยฏอน ยุคแรกที่สร้างรูปปั้นเมื่อผ่านไปมา ก็ได้ระลึกว่าเป็นคนดี แต่เมื่อคนยุคนั้นตายไป คนที่มาทีหลังคิดว่ารูปปั้นที่สร้างมาต้องมีสิริมงคลหรือมีเคล็ดลับอะไรบางอย่าง จึงพยายามแสวงหา ลองไปขอดู ฝนไม่ตก พอขอมันก็ตก แสดงว่าจริง จนสุดท้ายรูปปั้นกลายเป็นเจว็ด เป็นพระเจ้าที่ถูกเคารพบูชานอกจากอัลลอฮฺ
ตัวอย่างเมื่อหลายสิบปี ผู้ใหญ่ของเราสามารถบอกได้ เขาเห็นว่าคนหนึ่งเป็นคนที่มีความดี มีบุญคุณกับประเทศชาติ นำความเจริญเข้ามาสู่ประเทศไทย แต่การที่จะถือว่าต้องบูชา มีสิริมงคล ยังไม่มี แต่ปัจจุบันนี้ตั้งรูปปั้นไว้บูชากันทั่ว ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยนะบีอาดัม ดังที่อิบนิอับบาสได้เล่าบทเรียนตรงนี้ "
วันที่ลงบทความ : 15 ก.ค. 49
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 4715 views