สงครามทางปัญญา

Submitted by dp6admin on Sun, 10/05/2009 - 09:39
เนื้อหา

 ปัจจุบันนี้โลกมุสลิมยังวิตกกังวลต่อสงครามที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งประเทศมุสลิมย่อมจะเป็นเหยื่อในทุกครั้งที่มีสงครามใช้กำลังอาวุธและทหาร แต่ความเสียหายในสงครามที่ใช้กำลังอาวุธและทหารนั้นแม้จะมากเท่าไหร่ ก็ยังถือว่าเป็นความเสียหายที่น้อยกว่าความเสียหายของโลกมุสลิมในสงครามที่เกิดด้วยปัญญาและเศรษฐกิจ

 ต้องยอมรับว่าประเทศมหาอำนาจในโลกใบนี้มีแผนการที่จะครอบครองดินแดนและทรัพยากรของประเทศอื่น อันเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาคมโลกต้องเผชิญหน้ากันในสงครามที่ใช้กำลังทหาร หรือสงครามที่ใช้ความคิดและปัญญา หรือจะเป็นสงครามในเชิงเศรษฐกิจก็ตาม ซึ่งรูปแบบของสงครามสมัยใหม่จะต้องลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด เพราะชัยชนะในแง่มุมของเศรษฐกิจยุคใหม่นั้นการทำสงครามทุกรูปแบบต้องให้คุ้มค่าและประหยัดที่สุด ดังนั้นประเทศมหาอำนาจจึงให้ความสำคัญในสงครามเชิงปัญญาและสงครามเชิงเศรษฐกิจ แต่สำหรับสงครามที่ใช้กำลังทหารก็จะอยู่ในลำดับรองเพื่อรองรับแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามเชิงปัญญาและเศรษฐกิจ

 ปัจจุบันนี้โลกมุสลิมยังวิตกกังวลต่อสงครามที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งประเทศมุสลิมย่อมจะเป็นเหยื่อในทุกครั้งที่มีสงครามใช้กำลังอาวุธและทหาร แต่ความเสียหายในสงครามที่ใช้กำลังอาวุธและทหารนั้นแม้จะมากเท่าไหร่ ก็ยังถือว่าเป็นความเสียหายที่น้อยกว่าความเสียหายของโลกมุสลิมในสงครามที่เกิดด้วยปัญญาและเศรษฐกิจ

 เมื่อเร็วๆนี้ โฆษกทำเนียบขาวได้แถลงว่าการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับกลุ่มประเทศอาหรับใช้ต้นทุนประมาณหกหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หมายถึงสองล้านสี่แสนล้านบาท ก็พูดง่ายๆว่าเท่ากับงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยในระยะสองปีทีเดียว การวิเคราะห์เงินก้อนนี้จะทำให้เราเข้าใจถึงคำว่าสงครามทางเศรษฐกิจ สงครามทางเศรษฐกิจไม่มีเลือด ไม่มีบอมบ์ ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่เป็นสงครามที่สร้างความหายนะอย่างนิ่มนวล เงินก้อนนี้ย่อมมีส่วนของผู้บริโภคและมีส่วนของผู้ผลิต ซึ่งโดยแน่นอนว่าผู้ที่จะมีลักษณะการบริโภคมากกว่าก็คือกลุ่มประเทศอาหรับ และผู้ที่มีลักษณะการผลิตก็คือประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าในเงินก้อนนี้คือสหรัฐอเมริกา ที่จะนำสินค้าและสตางค์มาบูรณะเศรษฐกิจของตน แต่กลุ่มประเทศอาหรับจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถผลิตรถจักรยานยนต์ได้แม้แต่ชิ้นเดียว ทั้งๆที่ส่วนหนึ่งจากเงินก้อนนี้(สองล้านล้านบาท)สามารถที่จะทำให้ประเทศหนึ่งประเทศใดมีอุตสาหกรรมที่เจริญก้าวหน้า แต่สงครามทางเศรษฐกิจมักจะใช้กลยุทธ์ที่จะโจมตีจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม และจุดอ่อนของกลุ่มประเทศอาหรับและโลกมุสลิมก็คือ การบริหารทรัพยากรและรายได้ 

 ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวและกรณีเดียว ซึ่งเรื่องอื่นที่จะแสดงถึงความรุนแรงของสงครามด้านเศรษฐกิจนั้นมีมากมาย อาทิเช่น การซื้ออาวุธ การบริโภคสิ่งบันเทิงและอบายมุข การบริโภคบริการทางสื่อสาร การบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดของโลกมุสลิม มีข้อมูลที่ต้องทำให้มุสลิมสำนึกถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตของเรา

 ทั้งๆที่สงครามทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างมาก แต่สำหรับผมกลับเห็นว่า สงครามทางปัญญาและความคิด เป็นเรื่องที่อันตรายต่ออนาคตของโลกมุสลิมมากกว่า เพราะสงครามทางความคิดและปัญญาย่อมทำลายศาสนาและวัฒนธรรมของโลกมุสลิม จึงอาจสร้างความหายนะในความเป็นมุสลิมนั่นเอง แต่สงครามทางเศรษฐกิจถึงแม้ว่าจะรุนแรงเท่าไหร่ก็ตาม แต่ความหายนะอาจไม่กระทบศาสนาและวัฒนธรรมของมุสลิมนัก เพราะความยากจนไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับมุสลิมที่มีความศรัทธา เพราะฉะนั้นผมขอขยายความเรื่องสงครามทางปัญญาและความคิดเพื่อฉายภาพให้พี่น้องตระหนักในหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในระดับบุคคล สถาบัน และประชาชาติ

 หลังจากยุคจักรวรรดินิยมยุติบทบาทลงไป ผู้นำประเทศมหาอำนาจมีความเห็นพ้องต้องกันว่า การใช้กำลังอาวุธและทหารในการยึดครองประเทศชาติอื่นย่อมมีข้อเสียหายอย่างมหันต์ จึงต้องมีแนวทางอื่นเพื่อขยายอำนาจของประเทศมหาอำนาจไปทั่วโลกโดยไม่มีข้อเสียหายหรือมีน้อยที่สุด จึงมีนโยบายที่ถูกเสนอมาจากสถาบันวิจัยที่ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลประเทศมหาอำนาจให้ใช้ความคิดและปัญญาในการควบคุมประเทศต่างๆ อันเป็นวิธีที่จะใช้ต้นทุนน้อยที่สุดและมีผลสัมฤทธิ์มากที่สุด

 งานวิจัยล่าสุดจากสถาบัน “แรนด์” (RAND) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแต่ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมและหน่วยอื่นๆโดยเฉพาะหน่วยซีไอเอ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2545 มีงานวิจัยจากสถาบันนี้ในหัวข้อ วัฒนธรรมอิสลามแบบประชาธิปไตย หรือ Islam Civil Democratic ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

  1. แนะนำให้สนับสนุนกลุ่มเสรีภาพและเผยแพร่ผลงานของพวกเขา ด้วยการส่งเสริมให้พวกเขามีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ในงานวิจัยของ “แรนด์” ยังพูดถึงความสำคัญที่จะนำวิสัยทัศน์ของกลุ่มเสรีภาพไปบรรจุในหลักสูตรการศึกษา ซึ่งจุดมุ่งหมายของแนวทางนี้คือ วิถีทางของกลุ่มเสรีในการตีความบทบัญญัติของอิสลามให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมตะวันตก
  2. แนะนำให้สนับสนุนกลุ่มศาสนาที่ไม่มีอุดมการณ์ให้ต่อต้านกลุ่มศาสนาที่มีอุดมการณ์ และประสานระหว่างกลุ่มศาสนาที่ไม่มีอุดมการณ์กับกลุ่มเสรีภาพ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของสองกลุ่มนี้ในการต่อต้านกลุ่มศาสนาที่มีอุดมการณ์
  3. สนับสนุนกลุ่มซูฟี โดยเฉพาะในประเทศมุสลิมที่มีกระบวนการลัทธิซูฟีอย่างหนักแน่น อาทิเช่น อัฟกานิสถานและประเทศมุสลิมในเอเชียตอนกลาง

ในงานวิจัยของสถาบัน “แรนด์” นี้ (ท่านสามารถอ่านได้ www.rand.org) มีรายละเอียดในเชิงวิชาการของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับบทบัญญัติที่สร้างปัญหาต่อวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งจะมีข้อแนะนำต่อผู้นำประเทศให้ต่อต้านแนวทางของบทบัญญัติต่างๆโดยทางวิชาการอย่างไร งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงคำว่า สงครามทางปัญญาและความคิด แต่สำหรับคนที่มีปัญญาถึงแม้ว่าจะไม่มีศาสนาก็ตาม ก็สามารถมองเห็นซึ่งแผนการของศัตรูอิสลามที่กำลังพยายามทำลายโลกมุสลิมด้วยทุกวิถีทาง คนที่ติดตามผลงานทางสื่อมวลชน วรรณคดี การเมือง ศิลปะ และวิชาการอื่นๆ จะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศมหาอำนาจมีเป้าหมายอะไรบ้าง คนที่ติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปโรงเรียนปอเนาะ สามารถจับประเด็นได้ว่าเป้าหมายของกระบวนการปฏิรูปโรงเรียนปอเนาะคืออะไร คนที่ติดตามปัญหากองทุน สสส. (ซึ่งเคยพูดเรื่องนี้ไว้ในบทความก่อนหน้านี้) สามารถรู้ได้เลยว่าการนำเงินสกปรกมาบริหารองค์กรมุสลิมมีเป้าหมายอะไร และคนที่ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดงานเมาลิดนบีและการรณรงค์แม้กระทั่งจากฝ่ายรัฐให้งานนี้ประสบความสำเร็จ ทั้งๆที่งานเมาลิดไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการพัฒนาสังคมมุสลิมแต่อย่างใด ก็จะสามารถเข้าใจว่าการสนับสนุนจากฝ่ายรัฐมีความประสงค์อะไรบ้าง

ส่วนสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆต่อสังคมมุสลิมในเชิงปัญญาและศักยภาพทางวิชาการกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ไม่หวังดีต่ออิสลาม อาทิเช่น มหาวิทยาลัยที่สามารถผลิตบุคลากรมุสลิมที่มีศักยภาพทางวิชาการ ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ทำให้มุสลิมต้องตั้งสติให้ดีว่าบางครั้งเราเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ที่จริงเรื่องใหญ่ที่มันเป็นความหายนะอย่างแท้จริงต่อเรานั้น เรายังไม่ได้เตรียมพร้อมแต่ประการใด

สังคมมุสลิมเข้าร่วมในกระบวนการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรสู่สภาปี 2548 ซึ่งผลเลือกตั้งถูกประกาศแล้ว จากการประเมินผลของรัฐบาลชุดเก่าและความหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ มุสลิมจะคิดอย่างไร ปัญหาทนายสมชาย มัสยิดกรือเซะ ตากใบ คดีเจไอ หรือปัญหาภาคใต้ทั้งหมด เมื่อนำมาเรียงลำดับและเปรียบเทียบกับสงครามทางปัญญาที่เรากำลังพูดถึง จะเห็นว่าสังคมมุสลิมคงต้องใช้เวลานานพอสมควรที่จะทำความเข้าใจเกมของผู้ไม่ประสงค์ดีต่อมุสลิม

จะไม่เป็นการเสียเวลาถ้าเราใช้ระยะเวลาสี่ปีต่อไปนี้เพื่อประเมินผลบทบาทและหน้าที่ของมุสลิมในสังคมไทย รวมถึงวินิจฉัยบทบาทของสถาบันและองค์กรมุสลิม พร้อมทั้งกลยุทธ์ที่ต้องใช้ในการเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมมุสลิมต้องรณรงค์ก่อตั้งสถาบันวิจัยเพื่อระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สถาบันนี้ต้องเป็นสถาบันอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลหรือสถาบันมุสลิมที่สังกัดองค์กรที่เกี่ยวข้องรัฐบาลและไม่ลำเอียงกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดในสังคม และจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันนี้จะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของสังคมมุสลิมเป็นหลัก โดยมาตรการในการทำงานของสถาบันนี้คือใช้หลักวิชาการ ศาสนา นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ทุกประเด็นโดยอาศัยประสบการณ์ของผู้รู้ ผู้นำ และผู้อาวุโส ในการสรุปผลงานวิจัยทุกเรื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นผลงานของสถาบันวิจัยนี้จะไม่มีอิทธิพลแต่อย่างใดในการบังคับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ แต่เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลต่อสังคมในทุกเรื่องที่เป็นปัญหาสาธารณชน สังคมมุสลิมจะได้มีแหล่งข้อมูลที่น่าไว้วางใจและเป็นที่พึ่งสำหรับนักเคลื่อนไหวที่ต้องการทำงานด้านสังคม ผมเรียกร้องให้ผู้นำ ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้รู้ นักวิชาการ และผู้สนใจในสังคมของเรา รณรงค์แรงพลังแห่งความคิดและปัญญาเพื่อก่อตั้งสถาบันนี้ที่น่าจะเป็นจุดริเริ่มให้สังคมมุสลิมมีทฤษฎีและกลยุทธ์ในสงครามทางปัญญาและความคิด ด้วยโครงการนี้ผมเห็นว่าปัญหาทุกปัญหาย่อมจะได้รับการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพและเหตุผล โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่ใช้ทิฐิหรือมีอคติหรือไร้ปัญญาและวิชาการ แต่ถ้าหากว่าสังคมมุสลิมในประเทศไทยยังไม่สามารถก่อตั้งสถาบันเช่นนี้ได้ เราก็ต้องกลับมาถามตัวเราว่า ปัญหาอยู่ที่ใคร?

 


ริฎอ อะหมัด สมะดี, ร่มเงาอิสลาม, กุมภาพันธ์ 48
 

 

สงครามทางปัญญา