โครงการสร้างมนุษย์ ความหวังของสังคม

Submitted by dp6admin on Fri, 08/05/2009 - 17:33

การทำงานส่วนรวมในสังคมมุสลิมขาดประสิทธิภาพเนื่องด้วยหลายประการ ประการหนึ่งที่เห็นชัดคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายถึงโครงการต่างๆในสังคมมุสลิมย่อมมีเอกเทศ โดยไม่สามารถประสานหรือเชื่อมโยงกันได้ อาทิเช่น การศึกษาศาสนา(โรงเรียนปอเนาะ) ทุกโรงเรียนทุกสถาบันเสมือนเป็นเกาะที่ห่างไกลจากเกาะอื่นๆ หรืออาจมีอุปสรรคและสิ่งขัดขวางมิให้การทำงานอยู่ในแนวเดียวกัน ผมเข้าใจดีว่ามีความแตกต่างในสังคมมุสลิมของเรา ไม่ว่าในด้านหลักสูตรการศึกษาหรือกระทั่งอุดมการณ์ของแต่ละสถาบัน แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือทุกสถาบันที่ทำงานส่วนรวม มุ่งมั่นที่จะนำประโยชน์ให้แก่สังคม เพราะฉะนั้นทุกสถาบันย่อมมีแนวทางเดียวคือทำงานเพื่ออิสลามและสังคมมุสลิม เรื่องความขัดแย้งก็ควรหลีกเลี่ยง แต่เรื่องที่เห็นด้วยกันยังมีมากมาย

มีนักวิชาการจากประเทศอาหรับได้ปรารภกับผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านได้ทำโครงการมากมายและช่วยเหลือสังคมมุสลิมในประเทศไทยมาหลายปี ท่านบอกว่าสังคมมุสลิมในประเทศไทยขาดบุคคลหรือสถาบันที่มีความสามารถประสาน รวมทั้งตั้งกรอบ กติกา และกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการศึกษาศาสนา(โรงเรียนปอเนาะ) ท่านบ่นว่าโรงเรียนศาสนาทุกโรงเรียนหลักสูตรไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งระบบและแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการการศึกษาในแต่ละสถาบันก็ไม่เหมือนกันเลย ผมได้ถามท่านว่าการแก้ไขน่าจะเป็นอย่างไร ท่านได้เสนอว่าให้ผมทำหลักสูตรและประสานระหว่างโรงเรียนศาสนาต่างๆ โดยมีการประชุมและปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่อง สักวันหนึ่งความร่วมมือและความสมานฉันท์ย่อมจะเกิดขึ้นโดยปริยาย

สำหรับผมเห็นว่านักวิชาการอาหรับท่านนี้มีความคิดที่ดี แต่ท่านคงไม่รู้จักสังคมมุสลิมของเราเท่าที่ควร เพราะมุสลิมในประเทศนี้ถือเป็นกลุ่มน้อยและมีอุปสรรคมากมายที่จะทำให้การทำงานส่วนรวมมักมีปัญหาอยู่เสมอ ฉะนั้นโครงการอย่างที่ท่านเสนอมาถึงแม้ว่าจะเป็นโครงการที่ดี แต่ถ้าจะนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต้องมีปัจจัยมากมาย ซึ่งขณะนี้พวกเรายังไม่พร้อมที่จะให้โครงการเช่นนี้เป็นที่ยอมรับกับสถาบันต่างๆ เมื่อสองปีก่อนผมเคยได้รับจดหมายจากผู้ใหญ่อาวุโสท่านหนึ่งได้แสดงความปรารถนาดีต่อการทำงานของผม จึงเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่กรุงเทพมหานครและภาคกลางควรมีมหาวิทยาลัยของมุสลิม และท่านยังเสนอความคิดเกี่ยวกับที่ดินที่มีคนพร้อมบริจาคเป็นร้อยๆไร่ ส่วนปัจจัยต่างๆก็คงไม่มีปัญหาถ้าเรารณรงค์และประชาสัมพันธ์โครงการนี้อย่างกว้างขวาง แต่ในขณะนั้นผมกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องก็อดยานียฺ ซึ่งหลายสถาบันในสังคมของเราที่แสดงท่าทีไม่ค่อยดีนักกับผม จึงทำให้ผมทั้งดีใจและเศร้าใจ ดีใจเพราะยังมีผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมที่มีความหวังกับผม และเศร้าใจเพราะสังคมยังไม่พร้อมที่จะสนองคำเรียกร้องให้ดำเนินโครงการใหญ่โตแบบนี้

แท้จริงสังคมมุสลิมในประเทศไทยไม่ด้อยโอกาสในการที่จะปฏิบัติโครงการยักษ์อย่างที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น และเราได้เห็นความสำเร็จปรากฏในสายตาของเราทุกวันนี้ อาทิเช่น กุลลียะฮฺอิสลามียะฮฺ(อิสลามวิทยาลัยยะลา) โดย ดร.อิสมาอีล ลุตฟี เป็นอธิการบดี และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สร้างความหวังต่ออนาคตของสังคมมุสลิม แต่หาใช่เป็นสุดวิสัยของคนทำงานในสังคมไม่ เพราะมีอะไรมากมายที่เราต้องรณรงค์และลงมืออย่างรวดเร็ว มีโครงการบางชนิดล่าช้าได้โดยที่สังคมจะไม่เดือดร้อน แต่โครงการบางโครงการนั้นจำเป็นต้องให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเร็วที่สุด เพราะหากไม่ดำเนินการในระยะเวลาสั้นๆนี้ ปัญหามากมายจะถูกสะสมไปอย่างต่อเนื่อง จึงจะกลายเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องให้มีโครงการใหญ่มาแก้ไข อย่างไรก็ตาม สังคมจะทราบถึงความจำเป็นของโครงการบางโครงการต่อเมื่อผู้นำได้นำเสนอข้อมูลและเปิดเผยสถิติต่างๆที่จะให้สังคมสามารถวิเคราะห์ปัญหาและตัดสินใจว่าควรสนับสนุนอะไรบ้าง แต่ในมุมมองของผมเห็นว่าสถาบันต่างๆที่เป็นแกนนำในสังคมมุสลิมของเรามีข้อบกพร่องมากมายเกี่ยวกับการชี้แนะสังคมต่อปัญหาต่างๆ อันก่อให้สังคมอยู่ในความมืดมนและหลงประเด็นโดยมิสามารถมองอนาคตอย่างสดใส

โครงการใหญ่ในสังคมมักจะถูกมองว่าต้องเป็นโครงการที่มีงบประมาณมหาศาล หรือเป็นโครงการที่ต้องได้รับการยอมรับในสังคมทั่วไป แต่ความจริงแล้วโครงการใหญ่ในสังคมคือโครงการที่ได้รับความสนใจจากสังคมทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล ในกรุงเทพมหานครมีหกสุเหร่าที่ใช้งบประมาณก่อสร้างรวมกันเกือบสามร้อยล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เป็นงบประมาณก่อสร้างและดำเนินกิจกรรมของกุลลียะฮฺอิสลามียะฮฺ มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิมในประเทศไทย และ ดร.อิสมาอีล ลุตฟี ได้เคยบอกกับผมว่ามีโครงการที่จะให้กุลลียะฮฺอิสลามียะฮฺเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติในระยะเวลา 5 ปี ถามว่าในสังคมมุสลิมของเรามีใครบ้างที่จะปฏิเสธว่าโครงการของ ดร.อิสมาอีล ลุตฟี ไม่ใช่โครงการใหญ่และเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ของสังคมมุสลิมในประเทศไทย ทั้งๆที่งบประมาณที่ใช้ถือว่าเป็นงบประมาณน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่นที่คล้ายๆกัน

ปัญหานี้เมื่อวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่ามันเกิดจากความเข้าใจของคนทั่วไปที่ว่า การทุ่มเททุนทรัพย์คือการใช้จ่ายไปกับวัตถุและสิ่งที่สัมผัสได้ จึงก่อให้คนเข้าใจว่าโครงการเกี่ยวกับการสร้างมนุษย์เป็นโครงการที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ พี่น้องลองไปขอความอนุเคราะห์สร้างมัสยิด พิมพ์กุรอานหรือหนังสือศาสนา จะมีคนช่วยเหลือทันทีทันใด แต่ถ้าลองไปขอความอนุเคราะห์จัดการอบรมและพัฒนาความสามารถของเยาวชนมุสลิม จะมีข้ออ้างและอุปสรรคมากมาย ทั้งๆที่เรายอมรับกันว่าเรื่องคนสำคัญกว่าเรื่องวัตถุ แต่ไฉนเลยเมื่อก่อสร้างวัตถุสังคมทุ่มเทอย่างเต็มที่ไม่มีขอบเขต แต่เมื่อถึงการสร้างมนุษย์ สังคมกลับทำเหมือนมนุษย์ไม่มีคุณค่าเลย เพราะคนมักจะพูดว่า เอาไปใช้อย่างอื่นดีกว่า ก็หมายรวมว่าการลงทุนพัฒนาคนเป็นเรื่องไร้สาระ ในสายตาของผมความคิดเช่นนี้ทำให้โลกมุสลิมไม่เจริญก้าวหน้า เพราะเรากำลังมองเหมือนสังคมวัตถุนิยม จึงทำให้บรรทัดฐานของเราเอียงไปทางวัตถุเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วองค์ประกอบของการพัฒนานั้นมีส่วนที่เกี่ยวกับมนุษย์มากกว่าวัตถุ

ขอให้เป็นคำเรียกร้องสู่องค์กรและสถาบันต่างๆในสังคมของเรา ให้มุ่งมั่นพัฒนาคนและรวมตัวกันเพื่อเพิ่มพูนซึ่งประสิทธิภาพในการพัฒนาสังคมของเรา เราต้องการความกล้าหาญในการเผชิญปัญหาและการแก้ไข ต้องการผู้นำที่มีความเด็ดขาดและจริงใจในการนำสังคมไปสู่การปฏิบัติโครงการที่มีการท้าทาย เพื่อให้เห็นว่าสังคมมุสลิมสามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่และน่าสนใจกับสังคมทั่วไป และแสดงให้เห็นว่าสังคมมุสลิมมีบุคลากรที่สามารถบริหารและปกครองสังคมอย่างเชี่ยวชาญ

 


ริฎอ อะหมัด สมะดี, เมษายน 2549 วารสารร่มเงาอิสลาม