เมื่อความอวิชชาเป็นวิชา

Submitted by dp6admin on Fri, 03/04/2009 - 16:49

เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ประเทศเดนมาร์กดูหมิ่นท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และชาวมุสลิมทั่วโลกลุกฮือปกป้องศักดิ์ศรีของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในทุกรูปแบบ มีนักศึกษามุสลิมกลุ่มหนึ่งที่สำนึกในหน้าที่ของผู้รักนบีมาถามผมว่า การสกรีนเสื้อด้วยข้อความที่แสดงถึงความรักภักดีต่อท่านนบี เช่น เรารักนบี จะมีปัญหาหรือเป็นบิดอะฮฺมั้ย? ผมได้ตอบว่า ไม่เป็นบิดอะฮฺแต่อย่างใด ซึ่งหลักฐานต่างๆที่มีอยู่ขณะนั้นไม่เคยนึกว่าต้องเอามาใช้ในสังคมมุสลิมไทย แม้กระทั่งวงมุสลิมซุนนะฮฺที่เคร่งครัดด้วย เพราะเรื่องสกรีนเสื้อเป็นเรื่องที่ผมได้เห็นว่ามันปรากฏในสังคมซุนนะฮฺอย่างกว้างขวาง และไม่เคยได้ยินนักวิชาการติเตียนหรือคัดค้านแต่อย่างใด อาทิเช่น สถาบันซุนนะฮฺใหญ่โตก็สกรีนเสื้อเมื่อมีการจัดงานหารายได้แทบทุกปี ผ่านหน้าผ่านตานักวิชาการอาวุโสซุนนะฮฺ โรงเรียนศาสนาของชาวซุนนะฮฺแทบทุกโรงเรียนก็เช่นกัน เสื้อบางตัวมีข้อความที่เป็นอายะฮฺหรือหะดีษ หรืออาจมีพระนามของอัลลอฮฺด้วย แม้กระทั่งชมรมซุนนะฮฺใหม่ๆที่เกิดเร็วๆนี้ เมื่อประกาศตัวก็ได้สกรีนเสื้อ หรือสถาบันสงเคราะห์หลายๆสถาบันก็มีการกระทำเช่นนั้น แต่วันดีคืนดีเมื่อเยาวชนและนักศึกษาได้สกรีนเสื้อมีข้อความ เรารักนบี ก็เกิดมีคำถามผ่านทางวิทยุหลายรายการ โดยมีนักวิชาการจากสถาบันนั้นๆให้คำตอบว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่มีแบบฉบับจากท่านนบีและยุคสะลัฟ ซึ่งในยุคนั้นเขาสามารถกระทำได้แต่ไม่ได้ทำ แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง บางท่านก็ฟันธงว่าเป็นบิดอะฮฺ อันเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยเหมาะสมในเชิงวิชาการ และมีข้อติติงในเชิงจรรยาบรรณและจริยธรรม

บางคนอาจจะตอบว่า นักวิชาการที่ออกมาพูดเช่นนี้คือนักวิชาการเดียวกันที่อนุโลมให้สถาบันของตน (ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ ชมรม หรือโรงเรียนศาสนา) สกรีนเสื้อโดยมีข้อความทางศาสนาหรือมีชื่อสถาบัน ซึ่งเหตุผลที่อ้างในการห้ามเสื้อสกรีนที่มีข้อความ เรารักนบี นั้นก็เป็นเหตุผลเดียวกัน  แต่ไฉนมาตรการของศาสนาจึงไม่เป็นมาตรการเดียว

 

สำหรับนักวิชาการที่ต้องเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ประเด็นเช่นนี้ ผมขอตอบดังนี้

 

1.      นักวิชาการที่ได้ศึกษาเรียนรู้แนวทางซุนนะฮฺของท่านนบีและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับซุนนะฮฺหรือบิดอะฮฺ จำเป็นต้องเคยอ่านหนังสือ อัลอิอฺติศอม ของท่านอิมามชาฏิบียฺ ซึ่งเป็นหนังสือที่วิจัยเรื่องบิดอะฮฺโดยเฉพาะ เงื่อนไข กติกา ขั้นตอน และลักษณะของบิดอะฮฺตามหลักการอัลอิสลาม ซึ่งเป็นตำราที่ได้รับความเชื่อถือในวงนักวิชาการซุนนะฮฺทั่วโลก รวมถึงหนังสือ อิกติฎออุศศิรอฏิลมุสตะกีม มุคอละฟะตะ อัศฮาบิลญะฮีม ของชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ ซึ่งเป็นตำราที่วิจัยเรื่องการเลียนแบบกาฟิร ขอบเขต เงื่อนไข และลักษณะของมัน หมายถึง เมื่อไหร่จะเรียกว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการเลียนแบบกาฟิร มีตำราอื่นๆที่พูดถึงสองเรื่องคือ บิดอะฮฺและการเลียนแบบกาฟิร อาทิเช่น หนังสืออัลมัดคอล ของท่านอิมามอิบนุลฮาจญฺ อัลมาลิกียฺ  และหนังสืออัลบาอิษ อะลา อิงการิลหะวาดิษ ของอิมามอิบนุอบีชามะฮฺ ไม่จำเป็นที่นักวิชาการที่มีหน้าที่ให้คำชี้ขาดเกี่ยวกับเรื่องศาสนาจะต้องอ่านหนังสือดังกล่าวทุกเล่ม แต่อย่างน้อยต้องเคยผ่านบางเล่มบ้าง เพราะเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวเป็นโครงสร้างแห่งความรู้ของนักปราชญ์ซุนนะฮฺที่จะทำหน้าที่ต่อต้านบิดอะฮฺ หากไม่มีความรู้เช่นนี้ การต่อต้านบิดอะฮฺจะไม่มีขอบเขตหรือกติกา จึงทำให้คำชี้ขาดของนักวิชาการบางท่านมีทิศทางที่สวนกันและดูเหมือนไม่มีจุดยืน อาทิเช่น นักวิชาการที่ให้คำชี้ขาดว่า การเดินขบวนเป็นบิดอะฮฺ เพราะเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่ไม่มีแบบฉบับ แต่ในขณะเดียวกันได้รับรองรูปแบบงานหารายได้ของมัสยิดและสถาบันต่างๆ ว่ากระทำได้ทั้งๆที่เป็นกิจกรรมทางศาสนาที่ไม่มีรูปแบบตามความเชื่อของเขา และเมื่อถูกโต้แย้งว่าเรื่องเดินขบวนไม่ใช่พิธีที่ต้องยึดในแบบฉบับ  หากเป็นวซีละฮฺ(วิธีหรือสื่อ)ในการบรรลุเป้าหมาย นักวิชาการดังกล่าวก็จะตอบมาว่า มันเป็นการเลียนแบบกาฟิร ซึ่งกระทำไม่ได้ ก็มีข้อแย้งที่จะถามนักวิชาการกลุ่มนั้นว่า แล้วทำไมบุหรี่ที่เป็นการเลียนแบบกาฟิรไม่เป็นหะรอมในทัศนะของพวกท่าน นี่แหละครับ กระแสวิชาการของนักวิชาการบางท่าน ที่จะบ่งชี้ถึงความไม่มั่นคงในการปรับหลักเกณฑ์ของการชี้ขาด(ฟัตวา)ทางศาสนา และบรรดานักวิชาการที่ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับเสื้อสกรีนข้อความ เรารักนบี ว่าเป็นบิดอะฮฺนั้น ย่อมไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการชี้ขาดเรื่องราวของศาสนา

 

2.            คำว่า บิดอะฮฺ หรือ อุตริกรรม เป็นคำศัพท์เฉพาะ นักปราชญ์ซุนนะฮฺที่พูดถึงเรื่องนี้อย่างละเอียด เช่น อิมามชาฏิบียฺ หรือ อิมามอิบนิตัยมียะฮฺ ได้ให้คำนิยามคล้ายๆกันว่า เป็นเรื่องประดิษฐ์ทางศาสนา ซึ่งมีลักษณะคล้ายลักษณะการกระทำที่ถูกต้อง(แต่มันไม่ถูกต้อง) และผู้กระทำมีจุดมุ่งหมายในการแสวงผลบุญด้วยอุตริกรรมนั้น คำนิยามนี้เป็นคำอธิบายที่รอบคอบและละเอียดมากสำหรับคำว่า บิดอะฮฺ ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นการกระทำทางศาสนา  หมายถึง เป็นอิบาดะฮฺ(พิธีแห่งศาสนกิจ) ก็หมายรวมว่าสิ่งที่เป็นอาดาตหรือมุอามะลาต(หมายถึงกา รดำเนินชีวิตด้วยการกระทำต่างๆโดยไม่เกี่ยวกับศาสนกิจ) จะไม่มีลักษณะเป็นบิดอะฮฺ(อุตริกรรม)แต่อย่างใด  แต่อาจมีข้อห้ามอย่างอื่นที่จะเจาะจงความผิดเฉพาะ เช่น การแต่งกาย ถ้ามนุษย์จะแต่งกายด้วยชุดที่ไม่มีในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และยุคสะลัฟ ก็จะไม่เป็นบิดอะฮฺแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าจะใช้ชุดนั้นในการปฏิบัติศาสนกิจ ต่อเมื่อไม่ได้เชื่อว่าชุดนั้นๆมีลักษณะเป็นพิธีในตัวมัน เช่น หมวกอินโดสีดำ ซึ่งเป็นหมวกที่มีลักษณะที่ไม่เคยปรากฏในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และยุคสะลัฟแต่อย่างใด และเรานำมาสวมในการละหมาดจะไม่เป็นบิดอะฮฺอย่างแน่นอน หรือชุดตะละกงของสตรีมุสลิมะฮฺแถบมลายูเป็นการแต่งกายที่มิดชิดแต่ไม่มีรูปแบบในยุคสะลัฟเลย ทั้งๆที่ตะละกงนั้นเป็นชุดละหมาด แต่ที่มันไม่เป็นบิดอะฮฺเพราะเราไม่ได้ถือเป็นชุดเงื่อนไข(หมายถึงเป็นชุดเฉพาะพิธี) และมีตัวอย่างมากมายที่สามารถยกได้เพื่อให้เห็นว่าการแต่งกายนั้นจะไม่สามารถเป็นบิดอะฮฺ ต่อเมื่อเราได้สวมอาภรณ์ด้วยเจตนาว่าเป็นชุดแต่งกายธรรมดาๆ  และสิ่งที่จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นความสับสนในจุดยืนของนักวิชาการที่กล่าวว่า เสื้อสกรีนข้อความ เรารักนบี เป็นบิดอะฮฺนั้น คือการที่นักวิชาการดังกล่าวทั้งหมดได้สวมเสื้อและกางเกง ซึ่งเหตุผลในการอนุโลมให้สวมชุดดังกล่าวคงจะเป็นเหตุผลเดียวที่เราจะอ้างเกี่ยวกับการสวมเสื้อที่มีสกรีนข้อความดังกล่าว

 

3.      นักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการสกรีนเสื้อด้วยข้อความ เรารักนบี ได้กล่าวว่า แบบฉบับสกรีนเสื้อมาจากตะวันตกอย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นการเลียนแบบมุชริกีน และเป็นที่รู้กันว่าหลักการอิสลามห้ามเลียนแบบมุชริกีน เนื้อหาข้างต้นก็เป็นเนื้อหาที่คลาดเคลื่อนเช่นเดียวกัน และได้สร้างความสับสนในสังคมมุสลิมมากพอสมควร เพราะการเลียนแบบมุชริกีนนั้นมีหลายลักษณะ ดังนี้

 

  • การเลียนแบบมุชริกีนในเรื่องดี เช่น การปกครองด้วยความยุติธรรม การมีมารยาทดีงาม หรือในการสร้างอารยธรรมอันเจริญก้าวหน้า

  • การเลียนแบบมุชริกีนในเรื่องที่เป็นธรรมชาติ เช่น เขากินเราก็กิน เขามีบ้านเราก็มีบ้าน เขาแต่งกายเราก็แต่งกาย

  • การเลียนแบบมุชริกีนในเรื่องอะกีดะฮฺ(หลักศรัทธา)หรือการปฏิบัติศาสนกิจของเขา หรือใน สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่าใครกระทำเช่นนี้ก็เป็นมุชริก ที่อุละมาอฺเรียกว่า ค่อซออิซุลมุชริกีน

 

สองประการแรกเป็นการเลียนแบบที่กระทำได้ เพราะท่านนบีเคยชื่นชมในการกระทำอันดีงามของของชาวมุชริกีน เช่น การชื่นชมในความช่วยเหลือของท่านอบูฏอลิบทั้งๆที่เป็นมุชริก อันเป็นตัวอย่างที่เลียนแบบได้ซึ่งการช่วยเหลือและสนับสนุนท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรือการชื่นชมความยุติธรรมของกษัตริย์อันนะญาชียฺผู้ปกครองอัลหะบะชะฮฺ(เอธิโอเปีย) ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ผู้ปกครองมุสลิมสามารถเลียนแบบได้ สำหรับประการที่สองก็ไม่เป็นข้อห้ามเช่นเดียวกัน เพราะมีหลักฐานที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อนุญาตให้เลียนแบบได้ อาทิเช่น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยแต่งกายด้วยญุบบะฮฺรูมียะฮฺ (บันทึกโดยบุคอรียฺ) ซึ่งเป็นชุดของชาวโรมันที่ได้มาเป็นของขวัญจากอุกัยดิร ดูมาตุลญันดัน (เป็นเจ้าเมืองแห่งหนึ่ง) และเคยรับของขวัญจากกษัตริย์ของอียิปต์(อัลมุเกากัส) ซึ่งเป็นชุดแต่งกายของชาวอียิปต์(ขณะนั้นยังไม่เป็นมุสลิม) และในการบันทึกของอิมามบุคอรียฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามสวมบุรนุสสำหรับผู้ครองเอียะหฺรอม ซึ่งอุละมาอฺทั้งปวงได้ตีความว่าสำหรับผู้ที่ไม่ได้ครองเอียะหฺรอมสามารถสวนบุรนุสได้ และเหตุที่ท่านนบีห้ามสวมบุรนุสสำหรับผู้ครองเอียะหฺรอมเพราะเป็นชุดแต่งกายที่เย็บขนาดตัวและมีหมวกติดอยู่ด้วย และเป็นชุดของชาวคริสต์แถบแอฟริกาเฉียงเหนือ(ปัจจุบันเป็นชุดประจำชาติของชาวมอรอคโคและอัลจีเรีย) และในคำชี้ขาดของคณะอุละมาอฺประจำประเทศซาอุดิอาระเบียโดยมีเชคบินบาซเป็นประธาน ได้มีฟัตวาเกี่ยวกับการสวมกางเกงว่าไม่เป็นการเลียนแบบมุชริกีนแต่อย่างใด เพราะกางเกงในปัจจุบันนี้เป็นชุดแต่งกายของชาวมุสลิมจำนวนมาก จึงไม่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มมุชริกีน และไม่อยู่ในเครือข่ายข้อห้ามการเลียนแบบมุชริกีน แต่ถ้าหากชุดแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ของมุชริกีน เช่น แฟชั่นที่เป็นกระแส ก็ย่อมอยู่ในข้อห้ามอย่างแน่นอน สำหรับประการที่สุดท้าย คือการปฏิบัติศาสนกิจหรือหลักศรัทธานั้น ก็เป็นขอบเขตชัดเจนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามเลียนแบบ เพราะฉะนั้นอุละมาอฺได้ห้ามไม่ให้สวมชุดแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของนักบวชหรือเครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์แห่งศาสนา หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์อย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อมุสลิมใช้แล้วจะสร้างความสับสนว่าอาจมิใช่มุสลิม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการสกรีนเสื้อด้วยข้อความ เรารักนบี ไม่เป็นการเลียนแบบมุชริกีนแต่อย่างใด เพราะไม่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา และไม่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาของมุชริกีน ถึงแม้ว่าต้นตอ(การสกรีนเสื้อ)มาจากพวกเขา แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะแลียนแบบที่อิสลามต้องการห้ามและปราบปราม

 

4.      ข้อสำคัญที่ผมอยากจะชี้แจงกับพี่น้องผู้อ่าน โดยเฉพาะบรรดานักศึกษาที่เคยมาถามผมว่าฟัตวาของนักวิชาการที่บอกว่าการสกรีนเสื้อไม่มีแบบฉบับจากท่านนบีและยุคสะลัฟ ทั้งๆที่เหล่าบรรดาสะลัฟสามารถกระทำได้แต่ไม่ได้ทำนั้น เป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีแบบฉบับที่เป็นตัวอย่างอ้างอิงได้ในประเด็นนี้ ซึ่งมีการรายงานโดยท่านมุญาฮิดว่า แหวนของท่านอบูอุบัยดะฮฺ อิบนุญัรรอหฺ (เป็นศ่อฮาบะฮฺ) มีการเขียนคำว่า อัลฮัมดุลิลลาฮฺ และท่านมุญา ฮิดได้รายงานอีกว่าแหวนของท่านอุมัรเขียนว่า อับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร และจากท่านมุฮัมมัด อิบนิลมุนตะชิร กล่าวว่า แหวนของท่านมัสรู้ก(ตาบิอีน)มีเขียนว่า บิสมิลลาฮิรเราะหฺมานิรเราะฮีม และท่านมันศูรได้กล่าวว่า แหวนของท่านอิบรอฮีม อันนะคะอียฺ มีเขียนว่า อินนาลิลลาฮฺ  และมีรายงานจากท่านอะฏออฺว่าท่านไม่เห็นว่าเป็นข้อห้ามที่จะเขียนอะไรที่เป็นซิกรุลลอฮฺในวงแหวน หลักฐานข้างต้นถูกบันทึกในหนังสือมุศ็อนนัฟ อับดุรร็อซซาก ด้วยสายสืบที่น่าเชื่อถือ และในฟัตวาของชัยคฺ ดร.อับดุลลอฮฺ อัลฟะกีฮฺ ท่านได้กล่าวว่า การสวมเสื้อที่มีเขียนพระนามของอัลลอฮฺไว้ อนุโลมให้สวมได้แต่ให้ป้องกันเสื้อนั้นจากสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น สุขา เป็นต้น (หมายเลขฟัตวา 30199, วันที่ 25 มุฮัรรอม ฮ.ศ.1424) และเป็นที่ยอมรับสำหรับนักวิชาการทั่วประเทศว่า การสวมผ้าโสร่งที่มียี่ห้อระบุข้อมูลต่างๆด้วยอักษรที่อ่านเห็นชัดเจนติดอยู่ตอนปลาย แม้กระทั่งเสื้อพนักงานที่มีสัญลักษณ์และเครื่องหมาย หรือชื่อบริษัทต่างๆ พี่น้องมุสลิมได้ใช้อย่างกว้างขวางและไม่เคยได้ยินว่ามีข้อห้ามในการสวมเสื้อเช่นนั้นแต่อย่างใด หากเป็นข้ออ้างว่าข้อความ เรารักนบี ที่ไม่มีแบบฉบับ ก็ไม่ใช่เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อการสกรีนข้อความบนเสื้อไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด ข้อความที่ไม่ขัดกับหลักการก็ไม่เป็นปัญหา แต่สิ่งที่ประหลาดคือนักวิชาการได้เห็นบ้านเมืองเต็มไปด้วยเสื้อที่มีสกรีนข้อความ เรารักในหลวง ดารา หรือนักบอล แต่ทำไมไม่ได้รับคำถามให้ชี้แจงหรือชี้ขาดในหุกุ่มศาสนาเกี่ยวกับข้อความดังกล่าว

 

5.      ตอนท้ายนี้ผมขอให้แง่คิดกับนักวิชาการที่แสดงออกซึ่งทัศนะที่ไม่เห็นด้วยกับการสกรีนเสื้อด้วยข้อความ เรารักนบี เพื่อเป็นจุดประกายสำหรับการเข้าใจสถานการณ์ของสังคมมุสลิมและหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นผู้นำสังคมมุสลิม สำคัญที่สุดที่เราต้องเข้าใจในการเผยแผ่ศาสนาคือ ฟิกฮุดดะอฺวะฮฺ คือความรู้เกี่ยวกับความเหมาะสมในการเผยแผ่หลักการศาสนา ซึ่งความรู้นี้บรรดาอุละมาอฺได้สืบทอดมาจากชีวประวัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งผมขอสรุปแง่คิดดังนี้

 

·               บางเรื่องที่เป็นบิดอะฮฺชัดเจน โดยไม่มีความขัดแย้งระหว่างอุละมาอฺซึ่งปรากฏในสังคมของเรา ควรรับความสนใจจากนักวิชาการที่ได้วิเคราะห์ประเด็นเสื้อสกรีน อาทิเช่น เมาลิดนบี หรือกิจกรรมงานการกุศลหลายศาสนาที่ปรากฏบ่อยครั้ง โดยผู้นำมุสลิมชื่อดังๆ มักจะปรากฏตัวในงานนั้นพร้อมผู้นำศาสนาอื่นๆ หรือระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ถูกนำมาเป็นตัวอย่างในการบริหารองค์กรมุสลิม เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ร้ายแรงต่อสังคมมุสลิม และมีความจำเป็นที่ต้องชี้แจง แต่เหตุใดสังคมไม่ถามและนักวิชาการไม่ชี้ แจง ผมเห็นว่านั่นแสดงถึงคุณภาพของสังคมและคุณภาพของนักวิชาการ ที่จะเอาใจใส่ในเรื่อจิ๊บจ๊อยเล็กน้อย แต่ปล่อยเรื่องใหญ่ให้สังคมมุสลิมหลงกับกระแสการเมือง จนกระทั่งไม่สามารถรู้ว่าแบบฉบับของอิสลามในประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างไร

 

·               บางเรื่องนักวิชาการเมื่อถูกถามไม่จำเป็นต้องตอบ เพราะมันสะท้อนซึ่งความอ่อนแอของนักวิชาการที่จะคล้อยตามกระแสของสังคม หมายถึง ตอบในสิ่งที่สังคมเรียกร้องอย่างเดียว แต่อันที่จริงนักวิชาการมีหน้าที่ในการชี้แนะถึงประเด็นสำคัญที่ต้องเอาใจใส่ ท่านนบีถูกถามถึงจันทร์เสี้ยว แต่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ตอบตามความต้องการของผู้ถามที่ต้องการข้อมูลทางดาราศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ แต่ตอบว่า จันทร์เสี้ยวนั้นเป็นข้อกำหนดเวลาสำหรับมนุษยชาติเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญกว่าข้อมูลทางดาราศาสตร์ เช่นเดียวกัน นักวิชาการที่ถูกถามเรื่องเสื้อสกรีน สามารถตอบและแสดงทัศนะของตนได้ แต่ต้องเข้าใจสถานการณ์ในสังคมมุสลิมหรือสังคมทั่วไป โดยชี้แจงให้ผู้ถามอย่าถือประเด็นสกรีนเสื้อเป็นเรื่องใหญ่ ที่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะหลายวิทยุสถานีถูกถามและตอบในแนวเดียวกันทั้งๆที่วิกฤติในสังคมที่มีความคลาดเคลื่อนมากมาย มักจะไม่มีคำชี้แจงแต่อย่างใด และจะเป็นความสง่างามสำหรับนักวิชาการ ที่ต้องสงวนสิทธิ์ไม่ตอบบางเรื่อง เพื่อให้ปัญหาสงบลงหรือให้สังคมมองถึงขนาดที่แท้จริงของประเด็นนั้น

 

·               ปัญหาบางประการที่นักวิชาการในประเทศไทยได้วินิจฉัยเอง โดยไม่มีหรือไม่พบนักวิชาการระดับโลกได้วิเคราะห์มาก่อน จำเป็นต้องให้คำตอบที่มีการเผื่อไว้บ้าง เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดหรือเปิดโอกาสให้แก้ไขความคิดหรือข้อวินิจฉัยได้ง่าย เพราะการฟันธงด้วยข้อมูลของตัวเอง และใช้สำนวนเด็ดๆขาดๆ จะเป็นกำแพงมิให้กลับลำได้ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจรรยาบรรณของผู้รู้

 

·         บางเรื่องผมเห็นด้วยที่เป็นข้อเสียหายในเรื่องสกรีนเสื้อ เช่น สกรีนข้อความ เรารักนบี แต่ทำบิดอะฮฺ หรือปรากฏในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม หรือสกรีนเสื้อที่มีข้อความ ชมรมผู้ศรัทธา หรือ ศิษย์โรงเรียนศาสนาโรงหนึ่งโรงใด  และปรากฏตัวด้วยการสูบบุหรี่หรือตีไก่หรือเลี้ยงนกเขา เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นความผิดของบุคคลและไม่ใช่ความผิดของข้อความ เช่น เคราของมุสลิมจำเป็นต้องไว้ แต่ถ้าหากโต๊ะครูไว้เคราและสูบบุหรี่ ก็เป็นความผิดของบุคคลที่เป็นโต๊ะครู ไม่ใช่ความผิดของความรู้ที่อยู่กับโต๊ะครู เพราะฉะนั้นสมควรอย่างยิ่งที่นักวิชาการต้องอบรมคนเหล่านั้นให้พฤติกรรมสอดคล้องกับหลักการ ไม่ใช่สอนให้โกนเคราจะได้สอดคล้องกับพฤติกรรมอันชั่วร้าย ซึ่งในสังคมขบองเรานั้นมีอะไรมากมายที่ต้องหันมาชี้แจงและอบรม เช่น การปะปนระหว่างหญิงชายในงานการกุศลหรือค่ายนักศึกษา การแต่งกายของมุสลิมะฮฺที่ผิดหลักการอิสลามอย่างสิ้นเชิง รายการวิทยุและโทรทัศน์ของมุสลิมที่มีข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรง นี่แหละสิ่งที่ต้องแก้ไขและปรับปรุง

 

สุดท้ายนี้ผมขอชี้แจงว่า ไม่ได้นึกว่าต้องเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย และผมไม่พร้อมที่จะมีกิจวัตรในการตอบโต้นักวิชาการคนโน้นคนนี้อย่างที่บางคนเตรียมพร้อมอยู่ เพราะผมตระหนักว่างานผมที่ต้องปฏิบัติ คืองานเผยแผ่ศาสนาอิสลามให้แก่คนที่ยังไม่เข้าใจอิสลามซึ่งมีจำนวนเยอะที่เรายังไม่ได้ทำหน้าที่ และที่นี่ไม่ใช่บทความที่ต้องการโจมตีคนหนึ่งคนใด หากเป็นการตักเตือนที่ต้องการให้พี่น้องมุสลิมบรรลุความสมบูรณ์ในทุกแง่มุมของชีวิต ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โปรดประทานความเตาฟีกฮิดายะฮฺให้แก่นักวิชาการและพี่น้องมุสลิมีนทุกๆท่านด้วยเถิด

 



ที่มา : วารสารร่มเงาอิสลาม

วันที่ลงบทความ : 6 เม.ย. 49