การเลือกตั้งผู้นำมุสลิมตามระบอบอิสลาม

Submitted by dp6admin on Fri, 03/04/2009 - 13:50

 เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

 

ผู้อ่านต้องเข้าใจว่าการเลือกตั้งในระบอบอิสลามไม่ใช่เรื่องเดียวที่มีกระบวนการเฉพาะโดยไม่เกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆของระบอบอัลอิสลาม เพราะอิสลามไม่ใช่เพียงการปกครองหรือการเป็นผู้นำเท่านั้น หากยังมีหลายเรื่องของระบอบอัลอิสลามที่เกี่ยวข้อง และมีผลสะท้อนซึ่งกันและกัน ดังนั้นขอให้ผู้อ่านอย่าลืมว่าเราพูดถึงการเลือกตั้งในระบอบอิสลามที่มีคำตอบและคำตัดสินสำหรับปัญหาอื่นๆด้วย

ที่ระบุข้างต้นเพราะเมื่อมีการวิเคราะห์ปัญหาหนึ่งปัญหาใดในสังคม และมีการนำเสนอคำตัดสินของอัลอิสลาม มักจะมีเสียงสะท้อนกลับมาอ้างว่า แล้วปัญหาโน้นปัญหานี้จะแก้อย่างไร? ซึ่งการวิเคราะห์ปัญหาในสังคมแบบนี้จะทำให้ผู้ศึกษาระบอบอัลอิสลามมิอาจบรรลุภาพพจน์ของอัลอิสลาม เนื่องจากมองถึงอิสลามทีละชิ้นทีละประเด็น ทั้งๆที่อัลอิสลามเป็นระบอบที่ครอบคลุมทุกประเด็นทุกปัญหาในสังคม ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า

إِنَّ هَذَا القُرْآنَ يَهْدِيْ لِلَّتِيْ هِيَ أَقْوَمُ

แท้จริง อัลกุรอานนี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง (อัลอิสรออฺ 9)

 

يَا أَيُّهَا الَّذيْنَ آمَنُوْا ادْخُلُوْا فِي السِّلْمِ كَافَّةً

บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเข้าอยู่ในบัญญัติแห่งอิสลามโดยทั่วทั้งหมด (อัลบะเกาะเราะฮฺ 208)

เพราะฉะนั้น การที่จะวิเคราะห์เรื่องเลือกตั้งในระบอบอิสลามให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างถ่องแท้ จำเป็นต้องคำนึงถึงอำนาจของอิสลามในการปกครองและแก้ไขปัญหาอื่นๆในสังคมด้วย หากมีข้อบกพร่องหรืออุปสรรคที่ทำให้อิสลามมิสามารถกระจายอำนาจของบทบัญญัติอัลอิสลามเพื่อแก้ไขทุกเรื่องในสังคมนั้น ก็จะไม่เป็นข้ออ้างหรือข้อตำหนิต่ออิสลามแต่อย่างใด

การเลือกตั้งในระบอบอิสลามมีมิติที่เป็นจรรยาบรรณของสมาชิกในสังคมมุสลิม และมิติที่เป็นจรรยาบรรณของผู้ปกครองหรือผู้ที่อาจเป็นผู้ปกครองตามกระบวนการการเลือกตั้ง ซึ่งจะตัดส่วนนี้จากระบอบการปกครองของอัลอิสลามมิได้ เพราะจรรยาบรรณของมุสลิมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะค้ำประกันให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายของระบอบอัลอิสลาม

ระบอบการเลือกตั้งผู้นำและผู้ปกครองแผ่นดินในอัลอิสลามเรียกว่า ชูรอ (شورى) โดยรากศัพท์คำนี้มีความหมายว่า ปรึกษาหารือหรือให้คำแนะนำ ซึ่งถูกระบุในอัลกุรอานอย่างชัดเจนว่าเป็นระบอบการปกครองของสังคมมุสลิม จนกระทั่งบรรดาสาวกเรียกซูเราะฮฺที่มีอายะฮฺเกี่ยวกับเรื่องระบอบการปกครองว่า ซูเราะตุชชูรอ ในซูเราะฮฺนี้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า

 

وَالَّذِيْنَ اسْتَجَابُوْا لِرَبِّهِمْ وَأَقَامُوا الصَّلاةَ وَأَمْرُهُمْ شُوْرَى بَ يْنَهُمْ وَمِمَّا رَزَقْنَاهُمْ يُنْفِقُوْنَ

และบรรดาผู้ตอบรับต่อพระเจ้าของพวกเขา และดำรงละหมาด และกิจการของพวกเขา(หมายถึงเรื่องส่วนรวม)มีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา และเขาบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เครื่องปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา (อัชชูรอ 38)

คำว่า ชูรอ ในระบอบการปกครองของอัลอิสลามไม่ได้หมายถึงให้คำปรึกษาอย่างเดียว แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้นำและการให้คำปรึกษากับผู้ปกครอง ดังที่มีปรากฏในซูเราะฮฺอาละอิมรอนอัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ في الأَمْرِ

ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย (อาละอิมรอน 159)

ซึ่งคำบัญชาที่อัลลอฮฺใช้ให้ท่านนบีปรึกษาสาวกของท่านนั้น บ่งชี้ถึงความสำคัญของการให้คำปรึกษา(ชูรอ) เพราะถ้าหากท่านนบีได้รับคำสั่งสอนจากอัลลอฮฺอันเป็นทางนำสำหรับท่านอยู่แล้ว คำปรึกษาของมนุษย์ย่อมไม่มีประโยชน์เลย หรือถ้าหากความคิดของท่านนบีเพียงพอสำหรับท่าน การปรึกษาสาวกจะไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการขอคำปรึกษาในระบอบการปกครองของอัลอิสลามเป็นหลักประกันที่ต้องเชื่อฟังสำหรับผู้รับคำปรึกษา และนั่นคือจุดหมายของอธิปไตยที่ปฏิบัติกันทั่วโลก แต่ในระบอบอัลอิสลามมีข้อแตกต่างสำคัญ เพราะในกฎหมายสากล เจ้าของอธิปไตยคือประชาชน ซึ่งเป็นอำนาจการปกครองที่จะมอบไว้ให้แก่ผู้ที่ถูกเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่อำนาจนี้ในระบอบอิสลามอยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าและพระดำรัส   ของพระองค์ซึ่งนักปราชญ์อิสลามเรียก อัลฮากิมียะฮฺ الحَاكِمِيَّة  นั่นคืออำนาจแห่งการบัญญัติและปกครอง และพระผู้เป็นเจ้าได้มอบหมายให้มนุษยชาติเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งพระบัญชาของพระองค์ โดยมีผู้รองรับความถูกต้องในการวินิจฉัยพระดำรัสของอัลลอฮฺคือ สภานักปราชญ์และผู้อาวุโสในประชาชน

ในระบอบอิสลามไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าพระอำนาจของอัลลอฮฺ หากเป็นอำนาจในการปกครองหรือให้คำชี้ขาดหรือคำปรึกษาใดๆก็ขึ้นกับพระอนุญาตของอัลลอฮฺ จึงต้องมีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิในการปกครอง

ในระบอบอิสลามไม่มีการระบุรายละเอียดที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งผู้ปกครอง แต่มีการระบุขอบเขตและกรอบแห่งการเลือกตั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับ 3 ประการดังนี้

1. อำนาจอยู่ที่ชรีอะฮฺ คือ พระบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้า

2. ความยุติธรรมที่ต้องปรากฏ

3. คุณสมบัติของผู้เลือกตั้งผู้ปกครองและผู้ปกครอง

แต่ต้องชี้แจงว่านักปราชญ์อิสลามไม่มีความคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผู้มีอำนาจเลือกตั้งผู้ปกครองสูงสุดคือ สภานักปราชญ์และผู้อาวุโส ที่มีชื่อในทางนิติศาสตร์อิสลามว่า       อะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ  أَهْلُ الحَلِّ وَالعَقْدِ  หมายถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอน นักปราชญ์ส่วนมากเห็นว่า อะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิเป็นผู้ที่มีอำนาจแท้จริงในการเลือกผู้นำสูงสุด และมีอำนาจในการถอดถอนด้วย เรียกว่าเป็นอำนาจอันกว้างขวางที่สุด ซึ่งเทียบได้กับอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย ถือว่าอำนาจของอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิเป็นอำนาจที่ไม่มีขอบเขต ยกเว้นอำนาจของชรีอะฮฺ(คือพระบัญญัติของอัลลอฮฺ) แต่นักปราชญ์บางท่านโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันเห็นว่าอำนาจของประชาชนเหนือกว่าอำนาจของสภาอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ แต่การเลือกอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดินั้นในระบอบอิสลามมีข้อแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้เขียนจะไม่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอย่างละเอียด แต่จะนำข้อมูลเกี่ยวกับระบอบอิสลามมาให้ผู้อ่านเปรียบเทียบเอง ระบอบอิสลามจะถือว่าผู้มีสิทธิออกเสียงในการเลือกอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิคือผู้ที่มีคุณสมบัติ 2 ประการ

ประการแรกคือคุณสมบัติทางศาสนาและคุณธรรม หมายถึง ต้องเป็นมุสลิม ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด และมีมารยาทจริยธรรมและคุณธรรม โดยสามารถตรวจสอบได้ว่ามิใช่ผู้กระทำความชั่วอย่างเปิดเผยหรือผู้บกพร่องในการปฏิบัติศาสนกิจ

ประการที่สอง ต้องเป็นผู้มีอำนาจในสังคมทางวิชาการหรือมีความน่าเชื่อถือในสังคมในฐานะเป็นปัญญาชนที่มีศักยภาพให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับปัญหาต่างๆในสังคม

จากคุณสมบัติสองประการนี้จะเห็นว่าระบอบอิสลามไม่อนุญาตให้กาฟิร(ผู้ปฏิเสธศรัทธา)(*1*)หรือฟาสิก(ผู้กระทำความชั่วร้ายอย่างเปิดเผย)มีสิทธิในการเลือกผู้แทนราษฎรหรืออะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ เพราะขาดคุณสมบัติสำคัญที่จะให้ผู้เลือกตั้งนั้นมีความเลื่อมใสในระบอบอิสลาม เพราะกาฟิรอาจเลือกผู้ที่เห็นชอบกับแนวชีวิตของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม และฟาสิกอาจเลือกผู้ที่ไม่มีอุดมการณ์เคร่งครัดด้านกฎหมายอิสลาม จึงอาจส่งผลให้ผู้นำสังคมนั้นจะเป็นคนอ่อนแอในการรักษาอำนาจชรีอะฮฺอันเป็นข้อค้ำประกันสำคัญที่จะให้ระบอบการปกครองอิสลามคงอยู่อย่างมั่นคง

สมัยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็มีผู้แทนราษฎรที่ได้รับคัดเลือกจากบรรดาเผ่า หมู่บ้าน และสายตระกูลต่างๆ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในขณะนั้นอาจไม่มีรายละเอียดเหมือนระบบการเลือกตั้งปัจจุบัน แต่ความละเอียดของระบบการเลือกตั้งสมัยนั้นอยู่ที่ความเคร่งครัดของประชาชนที่จะเลือกผู้อาวุโสที่มีอุดมการณ์ ความรับผิดชอบ และความห่วงใยต่อประชาชน ในการบันทึกของอิมามบุคอรียฺมีการระบุถึงตำแหน่ง อัลอะรีฟ الْعَرِيْفُ ซึ่งเป็นตัวแทนของเผ่าและหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับปัจจุบันคือตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน แต่ข้อแตกต่างคือ อัลอะรีฟนั้นต้องเป็นคนที่มีความเข้มแข็งที่สุดทางศาสนาในหมู่ชนของเขา ก็หมายรวมว่าตัวแทนหมู่บ้านจะต้องเป็นคนที่ละหมาด ปฏิบัติศาสนกิจ และมีลักษณะความเป็นผู้ใหญ่และมีความรับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น จากคุณสมบัติเหล่านี้จึงไม่มีโอกาสที่สินบนหรือผลประโยชน์จะมีอิทธิพลในการเลือกตั้งอัลอะรีฟ เพราะในระบอบอิสลามมีการป้องกันเรื่องนี้มิให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าระบอบอิสลามนั้นมีความเข้มแข็งและเข้มงวดในการเลือกตั้งตัวแทน เพราะตัวแทนนี้แหละที่จะเป็นผู้เลือกอะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ(ที่ปรึกษาของผู้นำสูงสุด)

ทั้งนี้ทั้งนั้นประชาชนทั่วไปยังคงมีอำนาจอยู่ในการปกครองและตรวจสอบผู้ปกครองด้วย เพราะการเรียกร้องสู่ความดีปราบปรามความชั่วเป็นสิทธิของทุกๆคนในสังคม และสิทธิในการที่จะตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ปกครองก็เป็นที่ประจักษ์ในระบอบอิสลาม ดังที่อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้กล่าวถึงระบอบชูรอที่ระบุข้างต้น และดังที่ท่านนบี  ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า

مَنْ رَأَى مِنْكُمْ مُنْكَرَاً فَلْيُغَيِّرْهُ بِيَدِهِ فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِلِسَانِهِ فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِقَلْبِهِ وَذَلِكَ أَضْعَفُ الإِيْمَان

ใครก็ตามในหมู่พวกท่านได้เห็นความผิดใดๆ ก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยมือ(หมายอำนาจถ้ามี) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น(หมายถึงตักเตือนคัดค้าน) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ(หมายถึงการเกลียดความผิดนั้น) และนั่นคืออีมานที่อ่อนแอที่สุด บันทึกโดยอิมามมุสลิม

และในประวัติศาสตร์ของผู้ปกครองมุสลิม ประชาชนได้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ปกครองอย่างไม่มีขอบเขต จนกระทั่งได้มีปรากฏในประวัติศาสตร์อิสลามว่าคนสามัญชนหรือแม้กระทั่งชาวชนบทเร่ร่อนได้เข้าไปใกล้บัลลังก์หรือผู้นำมุสลิม เพื่อตักเตือนคัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา โดยเฉพาะนักปราชญ์หรืออุละมาอฺที่มีชื่อเสียง ซึ่งทุกท่านจะมีประสบการณ์ในการตักเตือนผู้ปกครองในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใด และจะมีบทบัญญัติชัดเจนที่จะกล่าวถึงขอบเขตอำนาจผู้ปกครองดังที่มีในสำนวนหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนี้

لا طَاعَةَ لِمَخْلُوْقٍ في مَعْصِيَةِ الخَالِقِ

 

 

ไม่มีการเชื่อฟังใดๆต่อมนุษย์ในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนพระผู้ทรงสร้างมนุษย์

 

นั่นหมายถึงว่าชรีอะฮฺย่อมมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจของผู้ปกครอง และนั่นคือหลักประกันที่จะให้ประชาชนมีที่พึ่งและมีอำนาจที่จะใช้ในการคัดค้านการกระทำของผู้ปกครองที่ไม่ถูกต้อง

ในยุคปัจจุบันมุสลิมสามารถตั้งระบบในการตรวจสอบและไต่สวนพฤติกรรมของผู้ปกครองโดยให้ชรีอะฮฺเป็นกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานในการตรวจสอบนั้น ในอดีตของประชาชาติอิสลาม ผู้มีอำนาจตรวจสอบสูงสุดคือศาลชรีอะฮฺ ซึ่งอำนาจของศาลชรีอะฮฺสามารถไต่สวนและตัดสินต่อผู้นำสูงสุดของประเทศ(คือคอลีฟะฮฺ)ได้ และในประวัติศาสตร์ของบรรดากอฎี(ดาโต๊ะหรือผู้พิพากษา)ก็ปรากฏตัวอย่างมากมายที่คอลีฟะฮฺหรือผู้นำสูงสุดเป็นคู่กรณีกับประชาชนทั่วไป ซึ่งทั้งสองฝ่ายยืนต่อหน้าผู้พิพากษาอย่างเสมอภาค และในตำรานิติศาสตร์อิสลามก็มีการระบุมารยาทของผู้พิพากษาต่อจำเลยและโจทก์ ที่ให้มีความยุติธรรมแม้กระทั่งในถ้อยคำและการมองหน้าทั้งสองฝ่าย ดังที่มีสุภาษิตในวงผู้พิพากษาคือ อัลอัดลุ ฟิลลัฟซิ วัลละฮฺซิ หมายถึง ยุติธรรมตอนพูดและตอนมอง นี่คือรายละเอียดเล็กน้อยที่จะบ่งถึงความแตกต่างระหว่างระบอบอิสลามและระบอบประชาธิปไตยในการรับรองความเข้มแข็งของผู้ปกครองให้เป็นผู้ปกครองที่มีอุดมการณ์ทางคุณธรรมและความยุติธรรม

 

(มีต่อฉบับหน้า)

 

 

(*1*)นั่นไม่ใช่หมายรวมว่าในระบอบอิสลามกาฟิรไม่มีสิทธิใดๆ เพราะบรรดาผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในระบอบการปกครองของอิสลามมีสิทธิเลือกผู้นำของเขา ตั้งศาลยุติธรรมตามหลักศาสนาของเขา โดยอำนาจของชรีอะฮฺจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับพวกเขา เว้นแต่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมุสลิม หรือหากพวกเขาเรียกร้องให้ชรีอะฮฺเข้าไปตัดสินปัญหาของพวกเขา นั่นหมายถึงว่าระบอบอิสลามยอมที่จะให้ประเทศมุสลิมมีระบอบการปกครองอันมีอำนาจระดับหนึ่งของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมอยู่ในประเทศเดียวกัน ซึ่งถูกปฏิบัติมาในอาณาจักรอิสลามทุกยุคทุกสมัย ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมอยู่ในประเทศมุสลิมอย่างอิสระเสรี โดยอำนาจของชรีอะฮฺจะไม่บังคับหรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของศาสนาของเขาเลย ในปัจจุบันนี้ก็มีตัวอย่างในประเทศจีน ซึ่งในฮ่องกงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีอันขัดแย้งกับระบอบคอมมิวนิสต์ที่ประเทศจีนใช้อยู่ แต่หลังจากที่เจรจากันเป็นสิบๆปีกับกลุ่มประเทศตะวันตกแล้ว ประเทศจีนก็ยอมที่จะให้มีการปกครองพิเศษในฮ่องกงโดยอนุญาตให้ใช้ระบอบของทุนนิยม

 

 

 


ที่มา : วารสารร่มเงาอิสลาม ธันวาคม 2548

วันที่ลงบทความ : 6 ธ.ค. 48