การรับใช้ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคน 1

Submitted by dp6admin on Thu, 16/12/2010 - 15:55

 

ถูกต้อง ! ความจริง "การรับใช้ศาสนา" เป็นการรับใช้เพื่อที่จะเลื่อนตำแหน่งของความเป็นบ่าวให้สูงขึ้น ณ ที่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มิใช่อาชีพที่ถูกบังคับที่จะได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือเป็นตำแหน่งหน้าที่ที่มีเกียรติที่จะเลือกเอาด้วยการตอบรับหรือปฏิเสธ และมิใช่เป็นการเสียสละ และมิใช่เป็นกฎข้อบังคับที่พอเพียง (ฟัรฎูกิฟายะฮฺ) และมิใช่เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ แต่ทว่าการรับใช้ศาสนาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง เป็นความจำเป็นหนึ่งและเป็นรากฐานหนึ่งของศาสนา -- ความหมายดังกล่าวได้ฝังลึกแน่นอยู่ในจิตใจของบรรดาบรรพชนรุ่นแรก (อัสสะละฟุศศอและฮฺ) สำหรับพวกเขาไม่จำเป็นต้องมีการชี้แนะหรือมีการชี้นำใดๆจากบุคคลอื่น แต่ทว่าคนหนึ่งในหมู่พวกเขาเพียงแต่ยอมมอบตน หรือเมื่อคำว่า "อิสลาม" ได้ฝังลึกแน่นอยู่ในจิตใจของเขาแล้ว หลังจากนั้นเขาถือว่าเขาได้อุทิศตนเองและได้ถูกเกณฑ์เพื่อรับใช้ศาสนานี้แล้ว และจะต้องเสียสละทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนและปกป้องศาสนานี้

 
ความจริงศาสนานี้ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดได้พินิจพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะตระหนักดีว่า เขาได้ถูกกำหนดมาให้เป็นผู้ยึดมั่นเพื่อการเผยแผ่และเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง และถ้าจะใคร่ครวญให้ลึกซึ่งแล้วก็จะประจักษ์ได้อีกว่า ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นมุสลิมโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อศาสนาของเขาแล้ว แท้จริงเขาต้องการแสดงตัวเป็นผู้เคร่งครัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับนักบวชนักพรตที่จำศีลอยู่ในถ้ำ ทั้งๆที่เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าไม่มีนักบวชหรือนักพรตในอิสลาม
 
คำสั่งใช้ของพระผู้เป็นเจ้าในตอนเริ่มแรกของการประทานอัลกุรอานลงมานั้นก็คือ การใช้ให้ประกาศตักเตือนและเผยแผ่วะฮียฺแก่มวลมนุษย์ ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า "يَا أَيُّهَا المُدَّثِّر . قُم فَاَنذِر" - "โอ้ผู้ห่มกายอยู่เอ๋ย จงลุกขึ้นแล้วประกาศตักเตือน" (74:1-2)
 
หลังจากนั้น อัลวะฮียฺก็ได้ทะยอยลงมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เราเรียกว่าเป็นความรู้ความเข้าใจของการเรียกร้องเชิญชวน โดยที่สิ่งที่ถูกประทานลงมานั้นได้ประมวลไว้ด้วยคำสั่งใช้ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของการเผยแผ่ เช่นดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลาที่ว่า
 
"فاصْدَعُ بِمَا تُؤمر وَأَعرِض عَنِ المُشرِكِين"
"ดังนั้นจงประกาศอย่างเปิดเผย ในสิ่งที่เจ้าถูกบัญชาและจงผินหลังให้พวกมุชริกีน" (15:94)
 
 قُلْ هَـٰذِهِ سَبِيلِي أَدْعُو إِلَى اللَّـهِ ۚ عَلَىٰ بَصِيرَةٍ أَنَا وَمَنِ اتَّبَعَنِي ۖ وَسُبْحَانَ اللَّـهِ وَمَا أَنَا مِنَ الْمُشْرِكِينَ
 
"จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺอย่างประจักษ์แจ้งทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน และมหาบริสุทธิ์แห่งอัลลอฮฺ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี" (12:108)
 
 
ادْعُ إِلَىٰ سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ ۖ وَجَادِلْهُم بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ ۚ... 
 
"จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าโดยสุขุมและด้วยการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า..." (16:125)
 
อัลอายาตดังกล่าวได้วาดภาพลักษณ์ของมุสลิมนักเผยแผ่ที่ดำเนินตามแนวทางของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
 
แต่แท้จริงนั้น ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้เริ่มต้นให้ความสนใจและมีความห่วงใยในบุคลิกภาพของนักเผยแผ่ที่มีความวิตกกังวลในเรื่องของศาสนา บุคคลแรกที่ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เรียกร้องเชิญชวนให้เข้าสู่อิสลามคือ อะบูบักร อัศศิดดี๊ก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ อะบูบักรมิได้รีรอหรือมีแนวคิดที่จะหันเหออกจากความรับผิดชอบอันหนักอึ้งนี้แต่อย่างใด ทว่าเขาได้เคลื่อนไหวนักตั้งแต่วันแรกเพื่อเผยแผ่ศาสนานี้ จนกระทั่งเป็นที่ปรากฏว่าด้วยความพยายามในครั้งนี้ ได้มีบรรดาคนหนุ่มชั้นหัวหน้าของชาวกุเรชยอมรับเข้านับถือศาสนาอิสลามจำนวนถึง 6 คน นอกเหนือจากความพยายามของเขาที่จะปลดปล่อยบรรดาทาสที่ตอบรับศาสนาใหม่จากการถูกหน่วงเหนี่ยวในการเป็นทาสอีกหลายคน
 
การเคลื่อนไหวของบรรดาศ่อฮาบะฮฺของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในดินแดนต่างๆ หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันถึงบุคลิกภาพซึ่งท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้หล่อหลอมและอบรมพวกเขาให้เป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อศาสนาที่ไม่รู้จักคำว่าหยุดนิ่งและการปิดบัง

ที่มา : หนังสือ การรับใช้ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคน, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี