اِسْم اللَّه الْأَعْظَم
พระนามของอัลลอฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ความยิ่งใหญ่ของอายะตุลกุรซียฺจะไม่ปรากฏในความเข้าใจของท่าน จนกว่าท่านจะสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในคุณลักษณะ(ศิฟัต)ของพระองค์ อันเป็นเนื้อหาหลักในการทำความเข้าใจความยิ่งใหญ่ของอายะฮฺนี้ อุละมาอฺกล่าวไว้ว่า อายะตุลกุรซียฺเป็นอายะฮฺที่เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺและการบริหารสิ่งต่างๆในโลกนี้ และเป็นเหตุผลที่ท่านนบี กล่าวว่าซูเราะฮฺอัลอิคลาศเป็นหนึ่งในสามของอัลกุรอาน เพราะเป็นซูเราะฮฺที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคุณลักษณะของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
แน่นอนว่าความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ย่อมเป็นที่ประจักษ์แจ้งสำหรับมุอฺมิน(ผู้ศรัทธา) ที่ตระหนักในหลักศรัทธาของอัลอิสลามที่เริ่มด้วย "ลาอิลาหะอิลลัลลอฮฺ" - ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ - ไม่มีใครที่ยิ่งใหญ่กว่าอัลลอฮฺ ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺเป็นความรู้สึกที่เกิดตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์หรือหยิบยกหลักฐานอ้างอิง เหมือนชาวชนบทคนหนึ่งถูกถามว่า "มีหลักฐานไหมว่าโลกนี้มีพระเจ้า?" เขาตอบว่า "ซุบฮานัลลอฮฺ จะไปหาหลักฐานทำไมเล่า หากเราได้เห็นมูลอูฐในทะเลทราย ก็แสดงว่าต้องมีอูฐ โลกนี้แผ่นดินนี้ มองไปทิศไหนก็จะมีสรรพสิ่งต่างๆ ที่จะบ่งถึงพระเจ้า ทั้งชั้นฟ้า ดวงดาว ภูเขา แผ่นดิน ฯลฯ" นี่เป็นความรู้สึกที่จะต้องเกิดกับมุสลิมโดยธรรมชาติ เพราะท่านนบี ได้กล่าวว่า " كل مولود يولدعلى الفطرة" - ทุกคนเกิดมาด้วยฟิฏเราะฮฺ(ธรรมชาติ - การยอมรับในพระเจ้า)
อุละมาอฺบอกว่า มุสลิมเมื่อบรรลุศาสนภาวะแล้ว สิ่งวาญิบแรกที่ต้องปฏิบัติไม่ใช่เชื่อฟังพ่อแม่ แต่เป็น "การละหมาด" ไม่ละหมาดก็ให้ตีได้ อาจมีคำถามว่า ทำไมไม่ให้ศึกษาอะกีดะฮฺก่อนล่ะ? อะกีดะฮฺ(ความศรัทธา)เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ(ฟิฏเราะฮฺ)และข้อปฏิบัตินี่แหละที่จะเป็นข้อพิสูจน์ นบี บอกว่า - - (( مروا أولادكم بالصلاة وهم أبناء سبع سنين واضربوهم عليها وهم أبناء عشر - - "ให้สอนเด็กละหมาดตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ และเมื่อถึงสิบขวบ ถ้าฝืนก็ให้ตี"
การละหมาดเริ่มต้นด้วย "อัลลอฮุอักบัร" - อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร - ก็หมายถึงว่า วาญิบแรกที่คนบรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติคือ "อัลลอฮุอักบัร" ดังนั้นการที่แต่ละคนจะสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมประสบการณ์และความรู้ที่จะเพิ่มพูนความศรัทธาในความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แม้กระทั่งคนที่ละหมาด ทุกคนก็กล่าว "อัลลอฮุอักบัร" หากไปถามแต่ละคนว่าเชื่อในความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺเหมือนกันไหม แน่นอนว่าไม่เหมือน บางคนกล่าว "อัลลอฮุอักบัร" แต่สิ่งอื่น (เช่น ตำแหน่ง สามี ภรรยา) ยังยิ่งใหญ่กว่าอัลลอฮฺ
อุละมาอฺบอกว่า ตำแหน่งที่สูงส่งในความศรัทธาคือ สัจจะ (ศิ้ดเกาะฮฺ), สูงส่งกว่า ความบริสุทธิ์ใจ(อิคลาศ,คือการละหมาดเพื่ออัลลอฮฺจริงๆ ไม่ได้ต้องการโอ้อวดหรือให้คนสรรเสริญตน) แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ "ความสัจจะ" ในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ เมื่อกล่าว "อัลลอฮุอักบัร" ก็ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าอัลลอฮฺจริงๆ
อายะตุลกุรซียฺจะมีบทบาทในการให้เราสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺจริงๆ ดังที่กล่าวแล้วว่าการสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนได้สัมผัสผ่านการศึกษาวิทยาศาสตร์ บางคนก็ด้วยการปฏิบัติอิบาดะฮฺ บางคนได้เห็นอภินิหารของสิ่งต่างๆที่ปรากฏต่อหน้าเขาแล้วทำให้สัมผัสว่าอัลลอฮฺยิ่งใหญ่จริงๆ ท่านนบี ได้สื่อความหมายนี้ในด้านความประเสริฐของอายะตุลกุรซียฺ เพื่อให้เราให้ความสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้อายะฮฺนี้ โดยท่านนบี ได้บอกว่า พระนามของอัลลอฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (اِسْم اللَّه الْأَعْظَم -อิสมุลลอฮิลอะอฺซอม) อยู่ในอายะตุลกุรซียฺ
عَنْ أَسْمَاء بِنْت يَزِيد بْن السَّكَن قَالَتْ : سَمِعْت رَسُول اللَّه - صَلَّى اللَّه عَلَيْهِ وَسَلَّمَ - يَقُول فِي هَاتَيْنِ الْآيَتَيْنِ " اللَّه لَا إِلَه إِلَّا هُوَ الْحَيّ الْقَيُّوم " و" الم اللَّه لَا إِلَه إِلَّا هُوَ الْحَيّ الْقَيُّوم " إِنَّ فِيهِمَا اِسْم اللَّه الْأَعْظَم رَوَاهُ أحمد وأَبُو دَاوُد وَالتِّرْمِذِيّ وَابْن مَاجَهْ وَقَالَ التِّرْمِذِيّ : حَسَن صَحِيح.
عَنْ أَبِي أُمَامَة قال قال رسول الله صلى الهل عليه وسلم : اِسْم اللَّه الْأَعْظَم الَّذِي إِذَا دُعِيَ بِهِ أَجَابَ فِي ثَلَاث : سُورَة الْبَقَرَة وَآل عِمْرَان وَطَه وَقَالَ هِشَام وَهُوَ اِبْن عَمَّار خَطِيب دِمَشْق : أَمَّا الْبَقَرَة " اللَّه لَا إِلَه إِلَّا هُوَ الْحَيّ الْقَيُّوم" وَفِي آل عِمْرَان " الم اللَّه لَا إِلَه إِلَّا هُوَ الْحَيّ الْقَيُّوم" وَفِي طَه " وَعَنَتْ الْوُجُوهُ لِلْحَيِّ الْقَيُّومُ " . رواه ابن مردويه.
รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า "พระนามของอัลลอฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (คือพระนามที่หากเราวิงวอนด้วยพระนามนี้ จะได้รับการตอบรับ (เป็นดุอาอฺมุสตะญาบ) อัลลอฮฺให้เรานำพระนามอันงดงามของพระองค์มาใช้ในการวิงวอน(ขอดุอาอฺ) คือให้ใช้ได้ทุกพระนาม แต่มีพระนามหนึ่งที่เมื่อใช้ในการขอดุอาอฺแล้วจะมีการตอบรับอย่างแน่นอน) อยู่ในสามซูเราะฮฺ คือ ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อาลิอิมรอน และฏอฮา"
ท่านฮิชาม อิบนุอัมมาร ซึ่งเป็นคอฏีบที่มัสญิดิมัชกฺบอกว่า ท่านได้ค้นหาพระนามอันยิ่งใหญ่ที่สุดในสามอายะฮฺ
- อายะฮฺแรกคืออายะตุล ในซูเราะตุลบะเกาะเราะฮฺ คือ , اللَّـهُ لَا إِلَـٰهَ إِلَّا هُوَ الْحَيُّ الْقَيُّومُ
- ในซูเราะฮฺอาลิอิมรอนอยู่ต้นซูเราะฮฺคือ اللَّـهُ لَا إِلَـٰهَ إِلَّا هُوَ الْحَيُّ الْقَيُّومُ ﴿٢﴾
- และในซูเราะฮฺฏอฮา وَعَنَتِ الْوُجُوهُ لِلْحَيِّ الْقَيُّومِ ۖ وَقَدْ خَابَ مَنْ حَمَلَ ظُلْمًا ﴿١١١﴾
และพบว่าที่มีกล่าวซ้ำในทั้งสามซูเราะฮฺคือ "อัลฮัยยุลก็อยยูม"
อิมามอิบนุก็อยยิมได้วิเคราะห์เรื่องนี้และระบุว่าพระนามที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺสองพระนามคือ "อัลฮัยยุ" และ "อัลก็อยยูม" ความหมายของพระนามของอัลลอฮฺทั้งหลายก็จะกลับมาสู่สองพระนามนี้ ซึ่งเราจะศึกษาต่อไปภายหน้า
หากอายะตุลกุรซียฺมีพระนามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอัลลอฮฺ ก็แสดงว่าอายะฮฺนี้เป็นอายะฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและจะให้พลังแก่ผู้ศรัทธาที่จะต่อสู้กับศัตรูตัวฉกาจของมุสลิม คือชัยฏอน และจะเป็นอาวุธสำคัญทั้งโดยการอ่านอายะฮฺนี้และในเนื้อหาของอายะฮฺ ดังนั้นคนที่ไม่ได้ท่องอายะฮฺก็นับว่าได้พลาดความดีงามไปมากมาย และคนที่ไม่ได้ท่องและไม่เข้าใจความหมายก็ขาดทุนมหาศาล และป็นความบกพร่องของนักวิชาการอย่างมากที่ไม่ได้ให้ความสำคัญในการศึกษาความหมายอัลกุรอาน ทำให้โอกาสที่จะประคับประคองอีมานให้มั่นคงน้อยลงไปด้วย บางคนเข้าใจว่า เราจะอยู่ในฐานะเป็นมุสลิมในสังคมได้ด้วยชื่อมุสลิม, ละหมาด, ช่วยงานสุเหร่า, งานโรงเรียน ฯลฯ หากแต่สิ่งที่จะเป็นข้อผูกพันระหว่างมุสลิมกับความศรัทธาคืออายะตุลกุรซียฺ ฉะนั้นก็อย่าพลาดโอกาสที่จะให้เราเข้าใกล้เนื้อหาแห่งความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ เพราะจุดสำรวจความศรัทธาของมุสลิมที่สำคัญคือ การรู้จักอัลลอฮฺ
ในศิฟาตดุวาปูโละของฟัรฎูอีนคุรุสัมพันธ์ วาญิบแรกที่มุสลิมต้องศึกษาคือ มะอฺริฟะตุลลอฮฺ(รู้จักอัลลอฮฺ) คือคุณลักษณะยี่สิบของอัลลอฮฺ ในหนังสืออะกีดะฮฺของอะชาอิเราะฮฺอธิบายคุณลักษณะของอัลลอฮฺไว้ว่า อัลลอฮฺไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่.... เป็นร้อยลักษณะ แต่เมื่อไปตรวจสอบในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺแล้วกลับไม่พบคำอธิบายเหล่านี้ การสอนให้รู้จักอัลลอฮฺด้วยคำสอนที่ไม่ได้มาจากอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ จะเรียกว่าการสอนให้รู้จักอัลลอฮฺได้อย่างไร แต่สำหรับอายะตุลกุรซียฺเป็นการกล่าวถึงคุณลักษณะของอัลลอฮฺด้วยพระองค์เอง อันเป็นอะกีดะฮฺของอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺว่าเรื่องเกี่ยวกับการเป็นพระเจ้า(อิลาฮียาต)ไมมีใครสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง นอกจากที่ได้ยืนยันด้วยตัวบทหลักฐานเท่านั้นที่เราจะนำมายึดมั่นศรัทธา
ความสำคัญของอายะตุลกุรซียฺที่ท่านนบีได้กล่าวถึงในหะดีษต่อไปนี้ เป็นหะดีษมีปัญหาในด้านสายสืบ แต่อุละมาอฺหลายท่านบอกว่าเป็นหะดีษที่พอใช้ได้
فَضْل قِرَاءَتهَا بَعْد الصَّلَاة الْمَكْتُوبَة
عَنْ أَبِي أُمَامَة قَالَ : قَالَ رَسُول اللَّه صَلَّى اللَّه عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : مَنْ قَرَأَ دُبُر كُلّ صَلَاة مَكْتُوبَة آيَة الْكُرْسِيّ لَمْ يَمْنَعهُ مِنْ دُخُول الْجَنَّة إِلَّا أَنْ يَمُوت . هَكَذَا رَوَاهُ النَّسَائِيّ فِي الْيَوْم وَاللَّيْلَة وَأَخْرَجَهُ اِبْن حِبَّان فِي صَحِيحه مِنْ حَدِيث مُحَمَّد بْن حِمْيَر وَهُوَ الْحِمْصِيّ مِنْ رِجَال الْبُخَارِيّ أَيْضًا فَهُوَ إِسْنَاد عَلَى شَرْط الْبُخَارِيّ وَقَدْ زَعَمَ أَبُو الْفَرَج ابْنُ الْجَوْزِيّ أَنَّهُ حَدِيثٌ مَوْضُوعٌ وَاَللَّه أَعْلَم
รายงานจากท่านอบูอุมามะฮฺกล่าวว่า ท่านนบี กล่าว "ใครที่ได้อ่านอายะตุลกุรซียภายหลังการละหมาดทุกครั้ง ไม่มีอะไรที่จะห้ามเขาเข้าสวรรค์ นอกจากความตาย" หากอายะตุลกุรซียฺมีความสำคัญเช่นนี้แล้ว เราก็ต้องมาศึกษาว่าอายะฮฺนี้มีเนื้อหาอะไรที่ทำให้เราจำเป็นต้องเรียนรู้
เรียบเรียงจาก ซูเราะตุลบะเกาะเราะฮฺ 127 (ความประเสริฐของอายะตุลกุรซียฺ), เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 13 มี.ค. 2548
- Log in to post comments
- 655 views