การประกันภัยชรีอะฮฺ(ตะกาฟุล)คืออะไร 1

Submitted by dp6admin on Sun, 01/11/2009 - 18:01

ที่มา : เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
เรื่อง การประกันภัยชรีอะฮฺ(ตะกาฟุล)คืออะไร

ตอนที่ 1

ประกันภัยชะรีอะฮฺ (ตะกาฟุล) หรือประกันภัยตามหลักศาสนานั้นบรรดานักวิชาการมุสลิมตั้งเป็นศัพท์เฉพาะว่า “ตะอฺมีนตะอาวุนียฺ التأمين التعاوني” 

•    คำว่า  “ตะอฺมีน ” (التأمين)  แปลว่า ประกันภัย
•    และ “ตะอาวุนียฺ (التعاوني)  แปลว่า “ตะกาฟุล ” (التكافل)  ซึ่งหมายถึง สามัคคี หรือ สงเคราะห์ เอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เป็นระบอบประกันภัยที่ถูกนำมาใช้ในประเทศมุสลิมหลายๆ ประเทศ เช่น มาเลเซีย  ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บะห์เรน ฯลฯ อีกทั้งในปัจจุบันบริษัทประกันภัยชะรีอะฮฺยังได้รับการยอมรับจากประเทศตะวันตก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศอื่นๆ ด้วย

ในฐานะที่เราเป็นมุสลิมผู้ศรัทธาจำเป็นต้องแสวงหาความถูกต้องตามหลักการอิสลามในกิจการต่างๆ ของชีวิตเรา เพื่อเป็นการพยายามที่จะดำรงชีวิตภายใต้หลักการอิสลามทุกๆ เรื่อง  เพราะอิสลามมีหน้าที่ให้คำตอบในทุกเรื่องที่ปรากฏในชีวิตของมนุษย์  สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์ได้ตั้งขึ้นมา จะไม่มีรายละเอียดจากหลักการอิสลามรองรับกิจกรรมดังกล่าว เพราะอิสลามไม่มีหน้าที่ที่จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดุนยา ดังหะดีษบันทึกโดยท่านอิหม่ามมุสลิม ท่านนบีมุฮัมมัด      ได้กล่าวไว้ 

“ เรื่องเกี่ยวกับโลก (ดุนยา) พวกท่านก็เป็นผู้มีความรู้ในด้านโลกมากกว่าข้าพเจ้า”

เหตุการณ์อันเป็นที่มาของหะดีษนี้ คือ เศาะฮาบะฮฺได้มาถามท่านนบี   เกี่ยวกับการผสมเกสรต้นอินทผลัม ซึ่งท่านนบีได้แนะนำว่าไม่ต้องผสมเกสรอินทผลัม ทำให้อินทผลัมไม่ออกผล เศาะฮาบะฮฺจึงย้อนมาบอกท่านนบี ว่า “ที่ท่านนบีแนะนำไม่ให้ผสมเกสรนั้น ทำให้อินทผลัมไม่ออกผล” ท่านนบี   จึงได้บอกว่า “เรื่องทางโลกนั้น ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ เหมือนพวกท่าน แต่เรื่องศาสนาต่างหากที่ข้าพเจ้ามีหน้าที่ให้รายละเอียด” หมายถึงไม่ต้องถามท่านนบีเกี่ยวกับเรื่องทางโลก

อุละมาอฺได้ตีความว่า ท่านนบี   ไม่ได้นำเสนอรายละเอียดที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของผู้คนทั้งหลาย แต่ท่านได้ตั้งกรอบกว้างๆ ซึ่งอยู่ในกฏเกณฑ์ของศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ฉะนั้นการดำเนินชีวิตด้วยกิจกรรมต่างๆ ทางโลกนั้น ถือว่าเป็นศาสนกิจระดับหนึ่ง เพราะอิสลามคุ้มครองอยู่ด้วยกฎเกณฑ์กว้างๆ 

เรื่องที่ไม่ใช่ศาสนกิจ ซึ่งอุละมาอฺเรียกว่า “มุอามะลาต” โดยทั่วไปก็คือ สัญญาต่างๆ  เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาสมรส รวมถึงสัญญาประกันภัย  ดังนั้น ประกันภัยจึงอยู่ในความคุ้มครองของหลักการศาสนาอัลอิสลาม แม้ว่าอัลอิสลามจะไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องประกันภัย แต่อิสลามได้ตั้งกฎเกณฑ์กว้างๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจไว้ ซึ่งมุสลิมในฐานะที่เป็นผู้ศรัทธาจะต้องศึกษาเรียนรู้ และยอมรับปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้นอย่างเคร่งครัด

สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นการท้าทายต่อประชาชาติอิสลามคือ ความเจริญก้าวหน้าของวัฒนธรรมตะวันตกในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ประเทศตะวันตกสามารถร่างรูปแบบทางเศรษฐศาสตร์ที่มั่นคงและมีความเจริญทางรากฐาน จึงทำให้ประเทศตะวันตกอยู่ในสภาพรุ่งเรืองมากกว่าประเทศมุสลิม  แต่อย่างไรก็ดี ความเจริญก้าวหน้าไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความถูกต้อง  สภาพเศรษฐกิจอันมั่นคงของตะวันตกนั้นไม่ได้เกิดจากกระบวนการอันถูกต้องตามหลักการที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด  เพราะวัฒนธรรมตะวันตกเป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีพื้นฐานแห่งศาสนาตั้งแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศสหลายร้อยปีมาแล้ว มีการจำแนกระหว่างโลกกับศาสนา ไม่ให้สถาบันโบสถ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับโลก  เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การทำสงคราม  การปกครองจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีอิทธิพลทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด จึงทำให้กิจกรรมของเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตกนั้นไร้ศาสนา ไร้กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือจริยธรรม

ความถูกต้องของกิจกรรมต่างๆ นั้นอยู่ในกรอบของตัวบทที่มาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่อุละมาอฺเรียกว่า “อัลวะฮฺยุลมะอฺศูม ” คือคำสั่งสอนที่ปราศจากข้อผิดพลาด ซึ่งผู้ศรัทธาเท่านั้นที่สามารถเชื่อและเลื่อมใสในคำสั่งสอนนี้ แต่คนที่แสวงหาความสำเร็จโดยไม่คำนึงถึงหลักการคำสั่งสอนของอัลอิสลามที่ถูกต้องนั้น  เขาจะถือว่า ความสำเร็จคือบรรลุความเจริญถึงแม้ว่าจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม ดังตัวอย่างความสำเร็จความเจริญในโลกนี้ อาทิ เรื่องระบอบดอกเบี้ย, การท่องเที่ยว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้วินิจฉัยว่าเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวส่วนมากเป็นรายได้ที่สกปรก,  การประกันภัยก็เป็นส่วนหนึ่งของรายได้หรือเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จบนพื้นฐานที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของอัลอิสลาม

ปัจจุบันนี้ตะวันตกเจริญเพราะมีองค์กรประกันภัยและธนาคารดอกเบี้ย ซึ่งนับเป็นการท้าทายที่ทำให้อิสลามต้องมีสถาบันทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถแข่งขันกับระบอบเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์ตะวันตกได้ จึงมีองค์กรทางเศรษฐกิจที่เลียนแบบรูปแบบขององค์กรตะวันตกเช่นธนาคารอิสลามเกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าในความเป็นจริงตัวบทของอัลอิสลามไม่มีรูปแบบธนาคาร แต่ธนาคารอิสลามก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า อิสลามสามารถรองรับรูปแบบของเศรษฐศาสตร์ตะวันตกในกรอบของหลักการอัลอิสลามได้เหมือนกัน
 
ประกันภัยก็เป็นความท้าทายที่เผชิญหน้ากับโลกมุสลิมเช่นกัน นักวิชาการมุสลิมจึงได้เสนอทัศนะว่า อิสลามสามารถตั้งบริษัทประกันภัยในกรอบของหลักการอัลอิสลามได้ โดยการนำเสนอรูปแบบของเขาในหลักการของเรา อันเป็นที่มาของบริษัทประกันภัยชะรีอะฮฺที่เรียกว่า “ตะกาฟุ้ล” อันเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างมาก เพราะมีผลกระทบต่อความต้องการของสังคม นั่นคือความปลอดภัย เพราะในสายตาของมนุษย์ที่อยู่ในวัฒนธรรมปัจจุบันโลกนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงทุกประการ  ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถ ซื้อบ้าน ทำธุรกิจ ขึ้นเครื่องบิน ก็ต้องเสี่ยง มนุษย์เราจึงต้องหาวิธีที่จะลดความเสี่ยง

การลดความเสี่ยงหมายถึง มีการชดเชย ซึ่งจะเอื้อความสุขและความสะดวกบางประการ ซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นหากเราไม่มีประกันภัย  แต่สำหรับมุสลิมการลดความเสี่ยงนั้นมีหลายระดับ ระดับสำคัญคือ การตะวักกุ้ล (การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ซึ่งจะลดความเสี่ยง เพราะประกันภัยจะไม่สามารถลดอุบัติเหตุทำให้ปลอดภัย ไม่สามารถลดความหายนะ  ความตาย ไม่มีใครที่ทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพแล้วไม่ป่วยไม่ตาย  แต่การตะวักกุ้ลซึ่งเป็นการปรับสภาพจิตใจของมุสลิมทุกคน จะสามารถลดความเสี่ยงในด้านความสุขที่อาจเกิดขึ้นกับจิตใจหากประสบอุบัติเหตุ หรือประสบภัยแล้วไม่มีค่าชดเชย แต่จะมีความสบายใจ ซึ่งเป็นสัจธรรมสำหรับผู้ศรัทธาเท่านั้น ถึงแม้เราจะเสียหาย จะขาดทุน แต่เราก็ทำใจได้และสบายใจ ต่างจากคนที่ไม่มีความศรัทธาเช่นนี้ ที่เขาเชื่อว่าการมีสัญญาประกันภัยจะทำให้สบายใจ แต่หาใช่เช่นนั้นไม่

การศึกษาเรื่องประกันภัย ทำให้ได้รับประโยชน์มากมายในการเรียนรู้ทางออกของมุสลิมในเรื่องนี้ และเพื่อที่จะได้รู้ว่าเขานำเสนออะไรมาใช้ในชีวิตของเรา แต่ก่อนอื่นเราต้องทราบว่าอิสลามได้สอนเรื่องประกันภัยนี้ไว้อย่างไร และมันถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ การศึกษาเศรษฐศาสตร์ในมุมมองของวัฒนธรรมตะวันตกโดยไม่คำนึงถึงหลักการอิสลาม อาจทำให้เรามองเห็นหรือเข้าใจว่ามันยุติธรรม  ไม่มีปัญหา ไม่ผิด ดังที่มีนักวิชาการมุสลิมผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ได้เคยพูดไว้ว่า โลกนี้จะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่มีดอกเบี้ย
  

การประกันภัยชรีอะฮฺ(ตะกาฟุล)คืออะไร 1