การบำเพ็ญฮัจญฺเป็นหน้าที่จำเป็นแก่บุคคลที่เข้าเกณฑ์ทุกคน โดยไม่จำกัดว่าเป็นหญิงหรือชาย ทั้งยังนับได้ว่าเป็นการฝึกร่างกายและจิตใจ และเป็นการศึกษาทางวิชาการ การเดินทางที่ชอบด้วยหลักการแห่งศาสนา ตลอดจนเป็นการทดสอบอย่างดีแก่บุคคลที่เป็นมุสลิม ทั้งในด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ และความเลื่อมใสในการศรัทธาของเขา สำหรับความยากลำบากนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่า ในการเดินทางรอนแรมไปไม่ว่าแห่งหนตำบลใดถึงแม้จะสะดวกสบายเพียงใดก็ไม่พ้นที่จะต้องอดทนต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเสมอ
คนวัยฉกรรจ์เป็นจำนวนไม่น้อย ที่อุตส่าห์ดั้นด้นจากบ้านเรือนมาจนถึงที่หมายด้วยความอุตสาหะแต่พอมาถึงยังไม่ทันไรก็ระงับสติอารมณ์ไม่อยู่ ถึงกับระบายออกมาเป็นคำผรุสวาทต่าง ๆ นานา เนื่องจากตนได้ประสบกับความยากลำบากเหลือที่จะทนได้ก็มี
อันที่จริงการบำเพ็ญฮัจญฺนั้น ประกอบด้วยเที่ยวเดินทางเป็นระยะ ๆ นับจากบ้านกระทั่งถึงฮิยาซ ไม่ว่าจะโดยสารเครื่องบิน เรือเดินสมุทร หรือพาหนะทางบกก็ตาม และเมื่ออกจากญิดดะฮฺถึงมักกะฮฺแล้ว ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญฺก็ยังต้องเวียนรอบสถานก๊ะอฺบะฮฺและเริ่มเดิน “ซะอยฺ (สะแอ)” เป็นเวลาติดต่อกัน นับว่าต้องใช้กำลังกายไม่น้อย จากนั้นผู้ไปทำฮัจญฺยังต้องเดินทางไปมินาและอะร่อฟาตแล้วย้อนกลับมาที่มุซดะลิฟะฮฺอีก และไปยังมักกะฮฺเพื่อเวียนรอบและเดิน “ซะอฺย” อีกคำรบหนึ่ง จากนั้นก็เดินทางไปตำบลมินา พักอยู่ที่มินาสองวัน ก็ออกเดินทางไปมะดีนะฮฺ หรือไม่ก็เดินทางกลับภูมิลำเนาของตน
สิ่งที่ช่วยให้ผู้ไปทำฮัจญฺสามารถฝ่าฟันความยากลำบากทั้งหลายนี้ไปได้ ก็คือความรู้สึกที่เขากำลังเดินไปเพื่อ (แสดงน้ำใจจงรักภักดีต่อ) อัลลอฮฺ โดยการเดินทางของเขานั้นเป็นการเชื่อฟังทำตามหน้าที่ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้แก่เขา โดยไม่หวังสิ่งใดนอกจากความพึงพอพระทัยแห่งพระองค์ สำหรับข้อบกพร่องล่วงละเมิดต่าง ๆ ที่แล้วมา แรงศรัทธาดังกล่าวนี้เองที่เป็นแรงใจแก่เขาในการเผชิญกับความเหนื่อยยากสารพัด ถึงกับสามารถยิ้มรับด้วยความปลาบปลื้มใจ นอกจากการเดินทางแล้ว ผู้เดินทางต้องอดทนต่อการกินการนอนที่ไม่เป็นเวลา ไม่เหมือนกับชีวิตอยู่กับบ้านของเขา ทั้งยังต้องสวมเครื่องแต่งกายเพียงสองชิ้น ศีรษะก็ปล่อยไว้ไม่สวมหมวกหรือโพกผ้าแต่อย่างใด เท้าก็สวมเพียงรองเท้าแตะหรือไม่ก็เท้าเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นการทดสอบทางร่างกายสำหรับมุสลิมไม่ใช่เล่น
ส่วนทางด้านการเสียสละทรัพย์นั้น การบำเพ็ญฮัจญฺย่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายไปไม่น้อยเป็นค่าเดินทางและอื่น ๆ ซึ่งเป็นเงินที่เสียไปอย่างเรียกคืนมาไม่ได้
สำหรับข้อทดสอบเรื่องความเลื่อมใสนั้น ปรากฏอยู่ทั่วไปในการปฏิบัติพิธีกรรมต่าง ๆ ระหว่างการบำเพ็ญฮัจญฺ ซึ่งล้วนแต่จะสร้างความฉงนใจว่า เหตุใดจึงต้องปฏิบัติสิ่งนั้นสิ่งนี้ ในใจผู้เดินทางจะเกิดปัญหาขึ้นร้อยแปดซึ่งหาคำตอบไม่ได้ ผู้เดินทางที่มีความเลื่อมใสจริงก็จะเลิกคลางแคลงใจ โดยถือเสียว่าที่ตนปฏิบัติอยู่นี้เป็นจริยวัตรแห่งท่านศาสดาก็พอใจแล้ว ไม่ติดสงสัยอย่างอื่นอีก ดังความในพระคัมภีร์กุรอานที่ว่า
وَمَاآتَاكُمُ الرَّسُولُ فَخُذُوْهُ وَمَانَهَاكُمْ عَنْهُ فَانْتَهُوا
“และสิ่งใดที่ศาสดาผู้นี้มอบให้แก่เจ้าทั้งหลายก็จงรับสิ่งนั้นไว้เถิด ส่วนสิ่งใดที่ศาสดาห้ามเจ้าทั้งหลายไว้พวกเจ้าก็จงระงับเสีย” (59:7)
หากผู้เดินทางตั้งข้อสงสัยร้อยแปดเพื่อพยายามหาคำตอบ ก็ไม่ทำให้ตนเข้าใจได้ตลอดแต่อย่างใดเพราะอิริยาบถต่าง ๆ ในระหว่างการบำเพ็ญฮัจญฺล้วนเป็นการแสดงออกซึ่งความภักดีต่ออัลลอฮฺ ซึ่งผู้เดินทางจำต้องปฏิบัติโดยไม่ลังเลใจหรือข้องใจอย่างใดทั้งสิ้น ถ้าผู้ใดจะว่าการปฏิบัติต่าง ๆ ในศาสนา หรือระเบียบวิธีการแสดงความภักดี น่าจะต้องชอบด้วยเหตุผลนั้น ไม่อาจพาให้ผู้นั้นไปสู่คำตอบที่สมบูรณ์ หรือช่วยให้เขาเกิดศรัทธาอย่างจริงใจขึ้นได้เลย รังแต่จะนำมาซึ่งการอภิปรายถกเถียงกันไม่มีที่สิ้นสุดโดยไม่ได้อะไรเป็นแก่นสาร อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
فَلاَرَفَثَ وَلاَفُسُوقَ وَلاَجِدَالَ في الحَجِّ
“ต้องไม่มีการสมสู่ และไม่มีการละเมิดและไม่มีการโต้เถียงใด ๆ ในระหว่างการทำฮัจญฺ” (2:197)
จึงเป็นการสมควรที่ผู้เดินทางพึงสอบถามจากผู้ที่เชี่ยวชาญในหลักปฏิบัติดู เพื่อให้แน่ใจว่าตนเองสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องครบถ้วน อย่าลืมว่าพิธีกรรมต่าง ๆ ในการบำเพ็ญฮัจญฺนั้น ถือหลักความอะลุ้มอล่วยและความสะดวกเป็นเกณฑ์ ในข้อปลีกย่อยซึ่งมีอยู่มากมาย ส่วนการปฏิบัติที่เป็นหลักการสำคัญ ๆ ซึ่งมีอยู่ไม่มากนั้นก็เพื่อทดสอบความเลื่อมใสดังได้กล่าวมาแล้ว
อย่างไรก็ตามยังมีความมุ่งหมายอื่น ๆ อีก ซึ่งประจักษ์แจ้งอยู่ในการอบรมบ่มจิตใจเพื่อเตรียมรับสารแห่งอิสลาม ซึ่งเป็นสารอันยิ่งใหญ่แด่มนุษยชาติ ภาพทั่วไปที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญฺได้แสดงออกขณะเปลื้องเสื้อผ้าที่เคยสวมใส่ และปราศจากเครื่องประดับประดาที่แตกต่างกันเนื่องจากความร่ำรวยหรือขนบประเพณี แล้วหันไปใช้ผ้านุ่งห่มแบบเดียวกันหมด ปราศจากความแตกต่างอย่างที่เห็นได้จากเครื่องนุ่งห่มตามปกติ คนเหล่านั้นไม่มีอะไรปกคลุมศีรษะ (ไม่ว่าจะเป็นการสวมหมวกหรือมงกุฎที่ต่างกัน) ซึ่งดูเป็นภาพแบบเดียวกันหมดไม่มีความแตกต่างหรือเหลื่อมล้ำกัน ราชาก็เหมือนกับบ่าวไพร่ เจ้าฟ้าก็เหมือนกรรมกร คนรวยก็เหมือนคนจน ทั้งหมดมุ่งสู่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างนอบน้อมเพื่อขอการอภัยโทษจากพระองค์ และขอให้พระองค์ทรงรับการปฏิบัติงานของเรา ทุกคนกำลังแข่งขันกันสู่จุดหมายปลายทางอันเดียวกันนั่นคือความปราโมทย์จากอัลลอฮฺ ทั้งคนรวยและคนจนต่างก็รู้สึกตัวว่าต้องพึ่งพาอัลลอฮฺ และเจียมตัวว่าตนนั้นต่ำต้อย เมื่อเทียบกับอำนาจอันเกรียงไกรของพระองค์ เขาซาบซึ้งในความหมายของความเสมอภาค ในการอิบาดะฮฺ ที่รวมอยู่ในการใช้ผ้านุ่งห่มแบบเดียวกันทั้งหมดนี้ จิตใจของเขาก็จะสงบ ความเจ็บใจต่าง ๆ ก็จะคลายลง และในช่วงระยะที่ผ่านไปในการทำฮัจญฺ เขาจะรู้สึกถึงความหมายของภราดรภาพที่อิสลามพยายามเฝ้าปลูกฝังไว้ในจิตใจของผู้ยึดมั่นตลอดมา
อีกด้านหนึ่งคนยากจนอ่อนแอจะเห็นความไร้กำลังอำนาจของคนรวยที่เข้มแข็ง เมื่ออยู่ต่อหน้าพระผู้อภิบาลของเขา เขาขอต่อพระองค์ให้ตอบสนองตามความประสงค์ เช่นเดียวกับที่คนจนขอ ดังนั้น เขาจึงรู้สึกถึงว่าความหมายของความเสมอภาคนั้นได้บรรลุผลภายในกรอบของการทำฮัจญฺ เขาผู้ยากจนกับเขาผู้ที่มีกำลังอำนาจ ก็เป็นข้าของอัลลอฮฺตะอาลาที่ต้องพึ่งพาพระองค์ และต้องการความเอ็นดูเมตตาจากพระองค์ ฉะนั้นกำลังใจและตำแหน่งของคนยากจนก็สูงขึ้น เขาจะรู้สึกในคุณค่าของตัวของเขา เขาจะไม่นอบน้อมถ่อมตนแด่ผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺตะอาลา ทั้งนี้และทั้งนั้นความใกล้ชิดสนิทสนมที่อิสลามต้องการให้มีขึ้นนั้นก็เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้มีชีวิตอยู่อย่างรักใคร่และเข้าใจดีต่อกัน
ที่มา : หนังสือการทำฮัจญฺและอุมเราะฮฺตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ
- Log in to post comments
- 66 views