จุดมุ่งหมายอันแท้จริงของการทำฮัจญฺ

Submitted by dp6admin on Sat, 10/10/2009 - 09:38

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ทรงกล่าวเกี่ยวกับเรื่องของการทำฮัจญฺไว้ในอัลกรุอานุลการีม หลายต่อหลายอายะฮฺ มีความว่า  “และกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเหนือมวลมนุษย์นั้น คือการทำฮัจญฺ ณ อัลบัยต์ (บ้านของอัลลอฮฺ) สำหรับผู้ที่มีความสามารถหาทางไปสู่มัน (บ้านหลังนั้น) ได้ และผู้ใดปฏิเสธ (การทำฮัจญฺ) แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงพอเพียงจากประชาชาติทั้งหลาย” (3:97)

    “และพวกเจ้าจงให้สมบูรณ์ซึ่งการทำฮัจญฺและการทำอุมเราะฮฺเพื่ออัลลอฮฺเถิด แล้วถ้าพวกเจ้าถูกสกัดกั้นก็ให้เชือดสัตว์พลีที่จะหาได้ง่าย และจงอย่าโกนศีรษะของพวกเจ้าจนกว่าสัตว์พลีนั้นจะถึงที่ของมัน แล้วผู้ใดในหมู่พวกเจ้าป่วยลง หรือมีความเจ็บปวดที่ศีรษะของเขา ก็ให้มีการชดเชยด้วยการถือศีลอด หรือการทำทานหรือการเชือดสัตว์ ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้ว ถ้าผู้ใดประสงค์จะทำอุมเราะฮฺต่อเนื่องไปจนถึงเวลาทำฮัจญฺ (ตะมัตตั๊วะ) แล้ว ก็ให้เชือดสัตว์พลีที่พอหาได้ ผู้ใดที่หาไม่ได้ก็ให้ถือศีลอดสามวันในระหว่างการทำฮัจญฺ และอีกเจ็ดวันเมื่อพวกเจ้ากลับถึงบ้านแล้ว นั่นคือครบสิบวัน ดังกล่าวนั้น สำหรับผู้ที่มิได้เป็นชาวมัสยิดิลหะรอม และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และพึงรู้ด้วยว่าแท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเข้มงวดในการลงโทษ” (2:196)

    “(เวลาสำหรับ) การทำฮัจญฺนั้นมีหลายเดือนเป็นที่ทราบกัน ดังนั้นผู้ใดที่ให้การทำฮัจญฺจำเป็นแก่เขาในเดือนเหล่านั้นแล้ว ก็ต้องไม่มีการสมสู่และไม่มีการละเมิด และไม่มีการวิวาทใด ๆ ในระหว่างการทำฮัจญฺ และความดีใด ๆ ที่พวกเจ้ากระทำนั้นอัลลอฮฺทรงรู้ดี และพวกเจ้าจงเตรียมเสบียงเถิด แท้จริงเสบียงที่ดีที่สุดนั้นคือความยำเกรง และพวกเจ้าจงยำเกรงเถิด โอ้ผู้มีปัญญาทั้งหลาย”  (2:197)

    “ไม่มีโทษใด ๆ แก่พวกเจ้า การที่พวกเจ้าจะแสวงหาความกรุณาอย่างหนึ่งอย่างใดจากพระเจ้าของพวกเจ้า ครั้นเมื่อพวกเจ้าได้หลั่งไหลกันออกจากอะร่อฟาตแล้ว ก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ณ อัลมัชอะริลฮะรอม และจงกล่าวรำลึกถึงพระองค์ตามที่พระองค์ทรงแนะนำพวกเจ้าไว้ และแท้จริงก่อนหน้านั้น พวกเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ที่หลงทาง”  (2:198)

    “แล้วพวกเจ้าจงหลั่งไหลกันออกไปจากที่ที่ผู้คนได้หลั่งไหลกันออกไป และจงขออภัยต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ”  (2:199)

    “ครั้นเมื่อพวกเจ้าประกอบพิธีฮัจญฺของพวกเจ้าเสร็จแล้วก็กล่าวระลึกถึงอัลลอฮฺ ดังที่พวกเจ้ากล่าวรำลึกถึงบรรพบุรุษของพวกเจ้า หรือกล่าวรำลึกถึงให้มากยิ่งกว่า ในหมู่มนุษย์นั้นมีผู้กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของเราโปรดประทานให้แก่พวกเราในโลกนี้เถิดและเขาจะไม่ได้รับส่วนดีใด ๆ ในปรโลก”  (2:200)

    “และในหมู่พวกเขานั้นมีผู้กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของเราโปรดประทานให้แก่พวกเราซึ่งสิ่งดีงามในโลกนี้ และสิ่งดีงามในปรโลก และโปรดคุ้มครองพวกเราให้พ้นจากความทรมานแห่งไฟนรกด้วยเถิด”  (2:201)

    “ชนเหล่านั้นแหละ พวกเขาจะได้รับส่วนดีจากสิ่งที่พวกเขาได้แสวงหาไว้ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรวดเร็วในการชำระสอบสวน”  (2:202)

    “และพวกเจ้าจงรำลึกถึงอัลลอฮฺในวันทั้งหลายที่ได้ถูกนับไว้ ดังนั้นผู้ใดรีบกลับในสองวันก็ไม่มีบาปแก่เขา และผู้ใดกลับล่าไปอีกก็ไม่มีบาปแก่เขา (เช่นกัน) ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ยำเกรง และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺ และพึงรู้เถิดว่าพวกเจ้านั้นจะถูกนำไปชุมนุมยังพระองค์”  (2:203)

    “และจงประกาศไปในหมู่มนุษย์ถึงเรื่องอัลฮัจญฺเถิด พวกเขาจะมายังสูเจ้าโดยการเดินเท้า และโดยการขี่อูฐที่เตรียมไว้ ซึ่งต่างจะเดินทางมาจากทุกหนทางที่ห่างไกล เพื่อพวกเขาจะได้พบเห็นประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับพวกเขา และเพื่อกล่าวพระนามอัลลอฮฺในวันที่เป็นรู้กันต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานเป็นริซกีของพวกเขาจากสัตว์เลี้ยง ดังนั้นพวกเจ้าจงกินส่วนหนึ่งของมัน และจงให้เป็นอาหารแก่คนยากจนและคนอนาถา ภายหลังพวกเขาพึงขจัดสิ่งสกปรกของพวกเขา และพึงแก้บนของพวกเขาและพึงฏอว้าฟ ณ อัลบัยติลอะตีก”  (22:27-29)

    อายาตอัลกุรอ่านที่ได้นำมากล่าวข้างต้นแจ้งให้เราทราบว่า อัลฮัจญฺเป็นวายิบที่มุสลิมมุอฺมินทุกคนที่มีความสามารถทั้งทางกำลังร่างกาย กำลังทรัพย์ และความปลอดภัยในการเดินทาง จักต้องปฏิบัติครั้งหนึ่งในชีวิต ผู้ใดปฏิเสธว่าการทำฮัจญฺไม่เป็นวายิบ หรือเป็นผู้ที่มีความสามารถตามคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้น แต่ไม่ยอมปฏิบัติเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม จงเลือกเอาเถิดว่าเขาจะตายในสภาพของชาวยิวหรือชาวคริสต์

    ในอายาตต่อมาได้กล่าวถึงวิธีการทำฮัจญฺโดยสรุป สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญฺหรือต้องการจะทราบโดยละเอียด ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสละเวลาเพื่อศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง และนำไปปฏิบัติศาสนกิจประเภทนี้ให้ตรงกับที่บัญญัติศาสนาได้ระบุไว้

    ในระยะเดือนฮัจญฺ บรรดาพี่น้องมุสลิมที่มีโอกาสได้ตอบรับการเรียกร้องของอัลลอฮฺตะอาลา ก็นับได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับความโปรดปรานอย่างใหญ่หลวงจากพระองค์ จึงจำเป็นที่เขาจักต้องขอบคุณต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ให้มาก ๆ อย่าหลงลืมหรือกระทำตนเป็นผู้เนรคุณต่อพระองค์เป็นอันขาด มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงลืมเขาเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความอวิชชาของเขานั่นเอง เขาก็จะไม่ได้ดำเนินชีวิตอยู่ในวิถีทางอันชอบธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผลงานของเขาที่ได้ปฏิบัติมาแรมเดือนแรมปีก็จะพลอยสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

    มุสลิมทุกคนที่ได้มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจญฺมาแล้วก็ดี ผู้ที่กำลังเตรียมตัวจะไปก็ดี ย่อมรู้จักรุกุ่นต่าง ๆ ของการทำฮัจญฺ แต่มีใครบ้างหรือถ้าจะมีก็เป็นส่วนน้อยที่พิจารณาหรือตั้งข้อสงสัยแก่ตัวเอง เพื่อหาคำตอบที่จะนำพาตัวของเราให้เกิดความศรัทธาอีมานต่ออัลลอฮฺตะอาลาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

    บางคนอาจจะถามว่าทำไมจึงต้องปฏิบัติศาสนกิจเช่นนี้ ซึ่งมีทั้งการสูญเสียเงินทอง และความยากลำบากนานาประการ? มีอะไรบ้างที่จะนำไปสู่ความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ? มีความหมายอย่างไรหรือที่มนุษย์จะต้องไปยังทุ่งอะร่อฟาตด้วยเครื่องแต่งกายแบบเดียวกันทุกคน เพื่อพำนักเพียงชั่วเวลาหนึ่งหรือเพียงชั่วโมงหนึ่ง หน้าที่ของเขาที่จะปฏิบัติ ณ ที่นั้นก็คือ การปฏิบัติเช่นเดียวกับกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ เป็นการพอเพียงแก่เขาที่จะไปยังทุ่งอะรอฟาตโดยเตรียมที่พัก เพื่อนอน กิน และปฏิบัติละหมาด เช่นเดียวกับที่ได้เคยปฏิบัติมา เป็นการพอเพียงเช่นเดียวกัน ที่เขาจะปรากฏตัวอยู่ ณ ส่วนหนึ่งส่วนใดของสถานที่แห่งนี้ก่อนตะวันตกดินในวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ ถึงแม้เพียงเวลาไม่กี่นาทีแล้วก็ออกไป ทั้งนี้เพราะการทำฮัจญฺนั้นคือการพักอยู่ที่อะร่อฟะฮฺ (الحجُّ عَرَفَة)

    ทำไมทุกคนจึงต้องปฏิบัติศาสนกิจเช่นนี้ ทำไมจึงต้องไปค้างแรมที่ “มินา” ทุ่งที่คับแคบ และเนืองแน่นไปด้วยฝูงชนเพื่อประกอบอิบาดะฮฺ ? เรามีความเข้าใจอย่างไรต่อการพักแรมในสถานที่อันคับแคบเช่นนี้ ? ซึ่งเป็นการพำนักเช่นเดียวกันกับที่ทุ่งอะร่อฟาต แต่อาจจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายมาเป็นแต่งกายธรรมดาแล้วก็แออัดกันไปยังสถานที่ขว้างเสาหิน มือที่ชูนับจำนวนไม่ถ้วนเพื่อขว้างเสาหิน 7 ครั้งก็เป็นอันเสร็จพิธีในวันแรก แล้วเขาก็กลับที่พักด้วยความสงสัยในการปฏิบัติศาสนกิจเช่นนั้น!

    ต่อจากนั้นก็ลงไป “ซะอฺยุ (สะแอ)” ระหว่างหุบเขา “อัศศ่อฟา” กับ “อัลมัรวะฮฺ” เราได้เดินระยะทางระหว่างหุบเขาทั้งสอง ทั้งไปและกลับรวม 7 เที่ยว การอิบาดะฮฺเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญหรือว่าเป็นแต่เพียงการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญ ?

    เมื่อเรารู้จักหรือมีความเข้าใจในการปฏิบัติศาสนากิจบางอย่างว่าเป็นสัญลักษณ์ชนิดหนึ่งของการปฏิบัติศาสนกิจในอดีตตั้งแต่สมัยของท่านนะบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ความเข้าใจของเราเช่นนี้ไม่เป็นการพอเพียงที่จะทำให้การปฏิบัติดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์และการอิบาดะฮฺ ซึ่งหมายถึงว่าอัลลอฮฺตะอาลาก็ต้องยกโทษหรืออภัยโทษให้แก่เราเมื่อได้ปฏิบัติเช่นนั้น ดังนั้นอะไรเล่าที่หมายถึงการกระทำอิบาดะฮฺที่จะลบล้างความผิดของมนุษย์เสมือนกับวันแรกที่เขาคลอดออกมาจากครรภ์มารดา ?

    ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นการพอเพียงละหรือที่เราจะยอมรับตามคำกล่าวของบรรดานักปราชญ์ทางอิสลาม (อัลฟุก็อฮาอฺ) ที่ว่าเป็นการงาน “ตะอั๊บบุดี” คือเป็นคำใช้ของพระองค์ที่เราจักต้องปฏิบัติโดยไม่ต้องถาม หรือเป็นเรื่องของพระองค์เท่านั้นที่เราไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงความหมายแท้จริงได้ เราต้องไม่ลืมว่าพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาหรือผู้บัญญัติศาสนาย่อมมีเหตุผล และจุดมุ่งหมายอยู่เบื้องหลังการบังคับที่ยากลำบากเช่นนี้ แน่นอนทีเดียวที่ผู้บัญญัติศาสนาจักต้องมีความมุ่งหมายจากการปฏิบัติศาสนกิจประเภทนี้ ซึ่งผลของมันคือการตอบแทนอย่างใหญ่หลวงขนาดที่ไม่มีการอิบาดะฮฺอื่นใดได้รับส่วนแห่งการตอบแทน เช่นเดียวกับ “อัลฮัจญฺ” เพราะ “ผู้ใดที่ประกอบการฮัจญฺแล้วเขาไม่สมสู่และไม่ละเมิดแล้วเขาจะกลับ (สู่มาตุภูมิอย่างผู้สะอาดบริสุทธิ์) ประดุจดังวันที่มารดาของเขาได้คลอดเขาออกมา” ก็ถ้าเช่นนั้นอะไรเล่าคือจุดมุ่งหมายอันแท้จริง ?

    จากประสบการณ์ของผู้ที่ได้ประกอบพิธีฮัจญฺมาแล้ว ขอให้เรามาพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายอันแท้จริงนอกเหนือไปจากการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ และการหวนกลับไปรำลึกถึงความหลังในอดีตของท่านนะบีอิบรอฮีม และบุตรของท่านคือท่านนะบีอิสมาอีล อะลัยฮิมัสสะลาม เราจะพบว่าจุดมุ่งหมายที่สำคัญนั้นคือ “การอดทนและปฏิบัติตาม”

    การอดทนต่อความยากลำบากจากการเดินทางการโยกย้ายจากสถานที่ที่เคยได้รับความสุขสบาย และความอบอุ่นเพียบพร้อมไปด้วยญาติพี่น้อง และสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่เขาทุกกาลเวลา ไปยังสถานที่ที่แตกต่างกับสิ่งที่เขาเคยอยู่และพักพิงอาศัยมาแต่ก่อน สถานที่ที่แห้งแล้งเต็มไปด้วยโขดหิน มีแต่ความร้อนเกือบตลอดปี ดังนั้นผู้ที่เดินทางจะต้องประสบกับความยากลำบากนานาประการ ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะบรรเทาความหนักใจของเขาได้นอกจากความศ่อบัรฺอดทน การอดทนอย่างแท้จริง อดทนต่อความหนาแน่นและการเบียดเสียดของผู้คน อดทนต่อสภาพของผู้ที่แข่งขันกันหาความสะดวกสบายเพื่อตัวเอง อดทนต่อความกลัวที่ไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อน อดทนต่อการพำนักอาศัยอยู่ในนครมักกะฮฺ เมืองที่เต็มไปด้วยความดีเด่นนานาประการ แต่ต้องคับแคบเพราะความคับคั่งของมวลมนุษย์ที่หลั่งไหลมาจากทิศทางต่าง ๆ อดทนต่อการพำนักอยู่ในสถานที่ที่ไม่เคยพำนักอยู่ หรือบางทีก็เกิดความไม่พอใจถึงแม้จะเป็นประเทศของตนก็ตาม อดทนต่อการแก่งแย่งและการก่อเหตุร้ายนานาชนิด เพราะผลประโยชน์หรือการปฏิบัติซึ่งกันและกัน ไม่อาจเข้ากันได้จากผู้ที่เดินทางมาจากทิศทางต่าง ๆ แม้กระทั่งชาวมักกะฮฺเองซึ่งเฝ้าคอยฤดูกาลของการทำฮัจญฺ เพื่อประกอบอาชีพหรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในระยะนั้น

    ดังนั้น ถ้าเราพิจารณาดูทุก ๆ ขณะของความเบียดเสียดของผู้คนในเวลาประกอบพิธีฮัจญฺตลอดจนบรรยากาศในระยะนั้นแล้ว เราก็จะทวีความเข้าใจความมุ่งหมายที่อยู่เบื้องหลังของคำตรัสที่ว่า

 

فَمَن فَرَضَ فِيهِنَّ الْحَجَّ فَلَا رَفَثَ وَلَا فُسُوقَ وَلَا جِدَالَ فِي الْحَجِّ ۗ

    “ดังนั้น ผู้ใดที่ได้ให้การทำฮัจญฺจำเป็นแก่เขา ในเดือนเหล่านั้นแล้ว จะต้องไม่มีการสมสู่และไม่มีการละเมิด และไม่มีการทะเลาะวิวาทใด ๆ ในระหว่างการทำฮัจญฺ”  (2:197)

 

    และเราก็จะเพิ่มความศรัทธาอีมานต่อพระผู้ทรงไว้ซึ่งภูมิปัญญา และรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ทรงบังเกิดมนุษย์มาแล้วก็ให้ความเท่าเทียมกัน พระผู้ทรงหยั่งรู้ถึงสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในทรวงอกของมนุษย์ทุกคน

    นี่คือการอดทน อดทนต่อความยากลำบากอดทนต่อสภาพ และสิ่งที่ได้พบเห็น โดยมิได้เปิดปากพร่ำบนต่อสิ่งไม่ดีงามที่ได้พบเห็นมาแก่ผู้ที่ยังไม่คยพบเห็นมาก่อนแต่มีใครบ้างที่สามารถปฏิบัติได้?

    ความมุ่งหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ “การปฏิบัติตาม” คือการยอมจำนนปฏิบัติตามคำใช้ของพระองค์โดยที่พระองค์มิได้เปิดเผยหรือชี้แจงเคล็ดลับที่มีอยู่เบื้องหลังงานนั้น ๆ เช่น การทำฮัจญฺ เพราะการปฏิบัติงานชนิดหนึ่งชนิดใดซึ่งพระองค์เพียงแต่แจ้งให้ทราบว่าจะได้รับการตอบแทนอย่างแน่นอน เราต้องมีความจงรักภักดีพร้อมทั้งมีความมั่นใจต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว อันนี้นับได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์แห่งการเป็นบ่าวที่ดีของพระองค์ ยอมอดทนต่อความยากลำบากนานาประการ โดยที่เขาไม่ทราบเคล็ดลับซึ่งจะทำให้เขาได้รับส่วนดีจากความยากลำบากดังกล่าว ดังนั้นเขาจึงมุ่งหน้าเข้าสู่ความยากลำบากนั้นด้วยความอดทน โดยหวังความโปรดปรานและยินยอมปฏิบัติตามด้วยความบริสุทธิ์ใจ

    ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เราอาจกล่าวได้ว่า จุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ของการฮัจญฺก็คือการปฏิบัติตามคำใช้ของพระองค์เพียงองค์เดียว ซึ่งพระองค์ก็ได้ให้สัญญาไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีความหมายอันดีงามอื่นจากนี้อีกมากมาย ซึ่งผู้ที่ได้ผ่านการทดสอบมาแล้วจะประสบพบเห็นด้วยตัวของเขาเอง แต่จะมีใครบ้างที่พินิจพิจารณาถึงความหมายของการทำฮัจญฺแล้วนำมาปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตของเขาบ้าง?

    นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด เราจะต้องไม่ลืมว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวย้ำและยืนยันหลังจากได้ปฏิบัติศาสนกิจทุกชนิดให้บรรดาศ่อฮาบะฮฺได้เห็นเป็นตัวอย่างและยึดถือเป็นแบบฉบับว่า

خُذُواعَنِّي مَنَاسِكَكُم

     “ท่านทั้งหลายจงยึดเอาพิธีกรรมต่าง ๆ ของท่านจากฉันเท่านั้น”

    ดังนั้น พึงทราบเถิดว่าการปฏิบัติศาสนกิจชนิดใดก็ตาม หากเรามิได้ยึดแนวทางของท่านร่อซูลุลลอฮฺ และบรรดาศ่อฮาบะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุม เป็นแบบฉบับและบรรทัดฐานแล้ว แน่นอนทีเดียวกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราได้เสียสละกระทำไปก็จะไม่บังเกิดผล และไม่เป็นที่รับรองว่าจะได้รับการตอบแทน
 


ที่มา : หนังสือการทำฮัจญฺและอุมเราะฮฺตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด ยูนุส สมะดี (ร่อหิมะฮุลลอฮฺ)