
ความหมายของ "อะกีดะฮฺ", อะกีดะฮฺอิสลามียะฮฺ
การเรียนรู้เกี่ยวกับหลักศรัทธา(หลักเชื่อมั่น)มีความสำคัญ เพราะเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตในฐานะที่เป็นผู้ศรัทธา ในดุนยานี้อาจมีความขัดแย้งกันระหว่างบรรดามนุษย์เกี่ยวกับเรื่องหลักศรัทธา เรื่องพระเจ้าว่ามีหนึ่ง สอง หรือสาม ฯลฯ ....
อันเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันในด้านสติปัญญา ความรู้สึก และแหล่งข้อมูลความรู้ทางด้านวิชาการ
แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือคนที่ไหลไปตามกระแสโดยที่ไม่มีเหตุผล ถึงแม้ว่าความแตกต่างนั้นไร้เหตุผล ผิดหลักวิชาการ หรือไม่กินกับปัญญา แต่กลับยอมรับกันได้ สำหรับผู้ศรัทธาที่เห็นคนขัดแย้งกันในเรื่องอะกีดะฮฺ ก็จำเป็นที่เขาจะต้องศึกษาหาความรู้และต้องมีหลักศรัทธาที่เชื่อมั่น คือไม่มีความแคลงใจในเรื่องอะกีดะฮฺ
การให้ความหมายของ อะกีดะฮฺ จำเป็นต้องตั้งบรรทัดฐาน เพราะการศึกษาเนื้อหาสาระในความเชื่อที่แตกต่างกัน เมื่อต้องการแสวงหาความจริงก็จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์โอกาสที่จะหาข้อยุติจะไม่มี ความจริงก็จะไม่ปรากฎ ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องบรรทัดฐาน เมื่อกล่าวถึง อะกีดะฮฺ ก็เป็นเข้าใจได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องความเห็นหรือทัศนะ ฉะนั้นการจะพูดคุยถึงเรื่องอะกีดะฮฺก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้แตกต่างกับคนต่างศาสนิก ที่มักถามว่า “ทัศนะอิสลามเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้า ?” จะถามเช่นนี้ไม่ได้ เพราะหลักศรัทธาไม่มีทัศนะ แต่ถ้าถามว่า “อิสลามหรือนักวิชาการมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องอาบน้ำละหมาด การล้างอวัยวะ 1 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ?” เช่นนี้มีทัศนะ แต่ถ้าถามว่า “นักวิชาการมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับคุณลักษณะของอัลลอฮฺ เกี่ยวกับกอฎอและกอฎัร” เช่นนี้ไม่มี การที่อุละมาอฺใช้คำว่า อะกีดะฮฺ เพราะเป็นคำที่จำกัดและจะทำให้การศึกษาเนื้อหาเรื่องนี้ห่างจากทัศนะหรือความเห็นส่วนตัว ซึ่งมันจะเป็นคำชี้แนะที่มาจากอัลลอฮฺโดยตรง
ความหมายทางหลักภาษา
อะกีดะฮฺ มาจากรากศัพท์ อัล-อักดุ ( الْعَقْدُ ) แปลว่า ผูก คำว่า “ผูก” ได้ให้ความรู้สึกว่าแน่น เมื่อนำมาเป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับสิ่งที่มั่นคงคือความเชื่อ ดังนั้นความเชื่อที่เกิดขึ้นต้องมั่นคงจะสงสัยไม่ได้ อะกีดะฮฺจึงหมายถึงมั่นคง หากอะกีดะฮฺที่เกิดขึ้นด้วยความมั่นคงจะนำทัศนะหรือความคิดของมนุษย์มาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เพราะทัศนะของมนุษย์นั้นมีพื้นฐานความรู้และข้อมูลแตกต่างกัน ถ้านำความคิดของมนุษย์มาใช้ในเรื่องอะกีดะฮฺจะทำให้เกิดความคลางแคลงใจ เพราะศึกษาจากทัศนะหรือการตีความที่มาจากอิมามหรือผู้รู้ ความเข้าใจเช่นนี้ไม่สามารถนำมาเป็นหลักศรัทธาได้ ฉะนั้นบุคคลที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องอะกีดะฮฺด้วยหลักฐานที่มาจากอัลลอฮฺและซุนนะฮฺจะทำให้หลง
ความหมายทางวิชาการ
อะกีดะฮฺ คือสิ่งที่ถูกนำมายึดถือทางการศรัทธาอื่นจากการปฏิบัติ หมายถึงอะกีดะฮฺเป็นเรื่องเกี่ยวกับการศรัทธา(อีมาน) ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ เพราะศาสนาอิสลามประกอบด้วย 2 เรื่องคือเรื่องการศรัทธา (วิชาอะกีดะฮฺ) และการปฏิบัติ (วิชาฟิกฮฺ)
วิชาอะกีดะฮฺ เป็นพื้นฐานของหลักศรัทธาที่มั่นคงที่ต้องมีก่อนที่จะนำไปปฏิบัติ ความศรัทธาหรือความเชื่อที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ต่อสรรพสิ่งต่าง ๆ เช่นนี้เรียกว่า อะกีดะฮฺ การศึกษาเนื้อหาสาระเกี่ยวกับอะกีดะฮฺอิสลามิยะฮฺจะมีผลต่อชีวิตมุสลิม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมมนุษย์ในการปฏิบัติตามกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ เพราะคนที่มีชิริกแม้เขาจะละหมาด ถือศีลอด บริจาค ซะกาตเท่าไรอัลลอฮฺก็ไม่รับ อะกีดะฮฺจึงเป็นเสาหลักที่สำคัญสำหรับมุสลิม
อะกีดะฮฺที่มีอยู่ในจิตใจต้องไม่มีความคลางแคลงใจ แต่เมื่อความสงสัยจะเกิดขึ้นในจิตใจได้ตลอด ฉะนั้นการศึกษาวิชาอะกีดะฮฺจึงเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังเช่นอิมามอิบนุตัยมียะฮฺ ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นอาลิมที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ก็ได้ปรับปรุงอิสลามและพัฒนาอะกีดะฮฺของท่านตลอด 30 ปี เพราะความสงสัยเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ เราต้องต่อต้านความสงสัยและรักษาอะกีดะฮฺของเราให้มั่นคง มีความเชื่อที่หนักแน่น
อะกีดะฮฺอิสลามียะฮฺ
คือ การศรัทธาเกี่ยวกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา บรรดามลาอิกะฮฺ บรรดาคัมภีร์ บรรดานบีและร่อซูล วันอาคิเราะฮฺ อัลกอฎออฺวัลกอดัร(กฎสภาวการณ์) โดยเนื้อหาทั้งหมดนี้จะเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับ (อัล-ฆ็อยบฺ) อันเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้ การศรัทธาในสิ่งเร้นลับเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของบรรดาผู้ศรัทธา ซึ่งอัลลอฮฺได้กล่าวถึงลักษณะของผู้ศรัทธาไว้ว่าคือ บรรดาผู้ที่เชื่อในสิ่งเร้นลับ ( الَّذِيْنَ يُؤْمِنُواْنَ بِالْغَيْبِ )
อะกีดะฮฺไม่ได้เกิดจากการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่จะเกิดขึ้นเมื่อได้เตรียมจิตใจที่จะเชื่อกับสิ่งเร้นลับว่าเป็นความจริงที่เรียกว่า อิลมุล-ยะกีน (ความเชื่ออย่างหนักแน่นมั่นคง) และรวมถึงการยอมรับ การนอบน้อม การแสดงความเป็นบ่าวที่จำนนและยอมรับคำบัญชาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มาปฏิบัติ
ถึงแม้จะศึกษาอะกีดะฮฺอย่างดีและศรัทธาแต่ไม่นำมาปฏิบัติจะเรียกว่ามีอะกีดะฮฺไม่ได้ เพราะการศึกษานี้ไม่ได้ปรากฎเป็นรูปธรรม ในสมัยที่ท่านนบีเผยแผ่อิสลาม ท่านไม่ได้สอนให้ศรัทธาเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนของบางลัทธิ เช่น ลัทธิญะฮฺมียะฮฺ (الجَهْمَيَّة) เกิดในสมัยตาบิอีน หัวหน้าชื่อ ญะหมฺ อิบนุศ็อฟวาน ที่ได้ให้บทสรุปเกี่ยวกับอะกีดะฮฺคือความรู้เพียงอย่างเดียว เมื่อรู้ว่ามีอัลลอฮฺแล้วก็เรียกว่ามุอฺมิน อิบลีสและฟิรเอานฺไม่ถือเป็นกาฟิร เพราะเขารู้แล้วว่ามีอัลลอฮฺ อิบลีสสาบานต่ออัลลอฮฺ ฟิรเอานฺเมื่อจะจมน้ำก็บอกว่าศรัทธาต่ออัลลอฮฺแล้ว ซึ่งไม่ใช่หลักอีมานของอะลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ
อะกีดะฮฺ เพียงแค่ “รู้” ไม่พอ แต่ต้องมี “การปฏิบัติ” ด้วย ต่างศาสนิกที่ศึกษาวิชาศาสนาเปรียบเทียบก็ต้องเรียนวิชาอะกีดะฮฺอิสลามียะฮฺ บางคนเก่งกว่ามุสลิม แต่ก็ไม่เป็นมุสลิม ความสับสนที่เกิดขึ้นเนื่องจากการคิดเองว่าหลักอีหม่านต้องเป็นเช่นนี้ และการใช้คำศัพท์เกี่ยวกับอะกีดะฮฺที่แตกต่างกันก็ทำให้สับสน เช่น อัตเตาฮีด(การให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺ-เป็นชื่อหลักสูตรวิชา), อัซซุนนะฮฺ (แนวทางของท่านนบี ที่ชัดเจนที่สำคัญคือเรื่องอะกีดะฮฺ-เป็นคำศัพท์ที่อุละมาอฺสมัยก่อนใช้), อุศูลุดดีน(หลักของศาสนา), ฟิกฮุลอักบัร (ความรู้ที่ยิ่งใหญ่-อิหม่ามฮะนาฟีได้ใช้เป็นชื่อหนังสือของท่านในเรื่องอะกีดะฮฺโดยเฉพาะ), อัชชะรีอะฮฺ ฯลฯ ชื่อเหล่านี้ไม่มีความสำคัญ สิ่งสำคัญคือความศรัทธาที่มั่นคงที่อยู่ในจิตใจ และการนำสิ่งใดเป็นบรรทัดฐานในเนื้อหาสาระวิชานี้ ? คำตอบอยู่ในตัวอย่างนี้
นักวิชาสองคนคุยกันเกี่ยวกับสภาพบ้านเมือง คนหนึ่งบอกว่า “ไม่ต้องกังวลหรอก เรื่องทั้งหมดอยู่ที่พระหัตถ์ของอัลลอฮฺ” ก็เกิดความเห็นไม่ตรงกัน คนหนึ่งให้ความหมายโดยตรงคือ อัลลอฮฺทรงมีมือ (ยะดุลลอฮฺ) อีกคนใช้การตีความ “พระหัตถ์ของอัลลอฮฺ” ว่าคือ อำนาจ, พระเดชานุภาพ (มาจากอบูหะซัน อัชอารียฺ ในศตวรรษที่ 4) อันเป็นความเข้าใจที่ไม่มีหลักฐานในอัลกุรอาน, อัซซุนนะฮฺ และจากบรรดาเศาะฮาบะฮฺ แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะตีความคุณลักษณะ(ศิฟัต)ของอัลลอฮฺบางศิฟัต ด้วยหลักฐานที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า لَيْسَ كَمِثْلِهِ شَيْءٌ “อัลลอฮฺไม่ทรงเหมือนสิ่งใด” (42:11) ก็ต้องอ่านต่อไปอัลลอฮฺตรัสว่า “ وَهوَ السَّمِيع البَصِير – และพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยินผู้ทรงเห็น ” อัสสะมีอฺและอัลบะศีร ก็เป็นคุณลักษณะของอัลลอฮฺเช่นกัน แต่กลุ่มที่ตีความคุณลักษณะของอัลลอฮฺให้ความหมายตรงตัวคือ อัลลอฮฺทรงได้ยินและทรงเห็น -- ทำไมไม่ตีความ ? แต่กับ พระหัตถ์ของอัลลอฮฺ กลับตีความ ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน
สิ่งที่จะนำมาเป็นบรรทัดฐานคือ อัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง(ความเห็นที่ไม่ตรงกัน)ในเรื่องอะกีดะฮฺหรือเรื่องอื่นๆก็ตาม อันเป็นแนวทางของผู้ที่บริสุทธิ์ที่มีความรู้และอัลกุรอานรับรองซึ่งมีเพียงกลุ่มเดียวคือ อัสสะละฟุศศอลิหฺ
เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
เรื่อง อะกีดะตุสสะลัฟ 2 ความหมายของอะกีดะฮฺและอัสสะละฟุศศอลิหฺ
วันที่ลงบทความ : 4 มิ.ย. 51
- Log in to post comments
- 392 views