24. หลังจากรอมฎอนแล้วเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร? 1

Submitted by dp6admin on Mon, 06/04/2009 - 17:15
 

รอมฎอนเป็นเดือนแห่งการทำอิบาดะฮฺ เป็นเดือนแห่งการทำความจงรักภักดี คือมีการถือศีลอด การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การทำศ่อดะเกาะฮฺ การรำลึกถึงอัลลอฮฺ การทำอุมเราะฮฺ และการทำฮัจย์ จิตใจของมุอฺมินผู้ศรัทธาจึงมีความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺตะอาลา อย่างต่อเนื่อง โดยมีความมุ่งหวังที่จะได้รับความเมตตา ความโปรดปราน และความพอพระทัยจากพระองค์ 

 ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีในระยะเวลา 1 เดือนที่เราจะต้องขวนขวายเพื่อกระทำการจงรักภักดีในทุกรูปแบบ ตลอดระยะเวลาของเดือนรอมฎอนด้วยความอดทน บรรดาบรรพชนของเรา (สะละฟุศศอและฮฺ) พวกเขาได้วิงวอนขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺตะอาลา เป็นเดือนๆ เพื่อให้ได้พบกับเดือนรอมฎอน ครั้นเมื่อพวกเขาถือศีลอดในเดือนรอมฎอนแล้ว พวกเขาก็ขอวิงวอนขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺตะอาลาเป็นแรมเดือน เพื่อให้พระองค์ทรงรับการถือศีลอดของพวกเขา

ท่านค่อลีฟะฮฺอะลี อิบนฺอะบีฏอลิบ และศ่อฮาบะฮฺคนอื่น เมื่อวันอีดิลฟิฏรฺมาถึงจะกล่าวว่าผู้ใดที่การถือศีลอดของเขาเป็นของเขาไม่เป็นที่ตอบรับ เราก็ขอแสดงความเสียใจต่อเขา     ความหายนะอันยิ่งใหญ่และการขาดทุนอย่างย่อยยับ คือ การที่คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเราปล่อยให้เดือนรอมฎอนผ่านพ้นไป โดยที่พฤติกรรมและการปฏิบัติของเขายังมิได้มีการปรับเปลี่ยนแต่ประการใด คือพฤติกรรมของเขาก่อนเดือนรอมฎอนที่อยู่ในสภาพลบในสายตาของสังคม หลังจากเดือนศิริมงคลได้ผ่านพ้นไปแล้ว เขาก็ยังคงอยู่สภาพเดิม นั่นคือเขาได้ปล่อยให้เดือนรอมฎอนผ่านพ้นไปโดยที่เขามิได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺตะอาลา ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

عن أبي هريرة رضي الله عنه قال : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : ( رَغِمَ أَنْفُ رَجُلٍ دَخَلَ عَلَيْهِ شَهْرُ رَمَضَانُ ثُمَّ انْسَلَخَ قَبْلَ أَنْ يُغْفَرَلَهُ )
أخرجه أحمد والترمذي وابن حبان في صحيحه

ความว่า มีรายงานจากอะบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุแจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า "ความพินาศจงประสบแก่ชายคนหนึ่ง เมื่อเดือนรอมฎอนได้มาหาเขา แล้วมันได้ผ่านพ้นไปก่อนที่เขาจะได้รับการอภัยโทษ (คืออยู่ในสภาพที่ขาดทุน)"  

บันทึกโดย : อะหมัด อัตติรมิซีย์ และอิบนฺฮิบบาน ในหนังสือศ่อเฮี้ยะฮฺของเขา

ดังนั้นขอให้เราทุกคนหยุดชั่วขณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาและสอบสวนตัวเอง หลังจากได้ปฏิบัติศาสนกิจหลากหลายมาแล้วในเดือนรอมฎอน และขอให้เราทบทวนตั้งคำถามบางข้อ และตอบด้วยความระมัดระวังและด้วยความเป็นธรรมว่า 

  • อัลลอฮฺตะอาลาจะทรงรับการถือศีลอด การยืนละหมาด และการงานอื่นๆของเราหรือไม่? ถ้าหากพระองค์ทรงรับเราจะขอบคุณพระองค์อย่างไร?

  • เมื่อเดือนรอมฎอนได้จากเราไปแลัว การถือศีลอด การยืนละหมาดเป็นญะมาอะฮฺ การละหมาดตะรอเวี้ยะฮฺ และการอ่านอัลกุรอานของเราจะยุติลงด้วยหรือไม่?

คำตอบที่พอจะยึดถือเป็นบรรทัดฐาน เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติตัวให้อยู่ในสถานะของการเป็นบ่าวของอัลลอฮฺตะอาลา อย่างคงเส้นคงวาก็คือ    เป็นสิ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคนที่จะต้องทำตัวเป็นบ่าวของอัลลอฮฺตะอาลา ทั้งในทางคำพูด การปฏิบัติ การเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบท และทุกกิจกรรมในการดำรงชีวิตของเขา และจะต้องติดตามสำรวจความถูกต้องของการกระทำ ตลอดจนความบริสุทธิ์ใจในการทำอิบาดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺตะอาลา อย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการตั้งความหวังของเขาที่จะพบกับอัลลอฮฺตะอาลา การจงรักภักดีของมุอฺมินเสมือนกับน้ำที่มีความสำคัญกับปลาและอากาศกับมนุษย์ ดังนั้นการดำรงชีวิตอย่างแท้จริงจะขาดเสียซึ่งความหมายแห่งการศรัทธาย่อมไม่ได้ ทำไมจึงไม่ได้? ทั้งนี้ก็เพราะว่าการศรัทธานั้นคือชีวิตของมุสลิม อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลอันอาม อายะฮฺที่ 122 ว่า

أَوَ مَن كَانَ مَيْتاً فَأَحْيَيْنَاهُ وَجَعَلْنَا لَهُ نُوراً يَمْشِي بِهِ فِي النَّاسِ كَمَن مَّثَلُهُ فِي الظُّلُمَاتِ لَيْسَ بِخَارِجٍ مِّنْهَا

ความว่า "และผู้ที่ตายไปแล้ว ต่อมาเราได้ให้เขามีชีวิตฟื้นขึ้นมาและเราได้ให้แสงสว่างแก่เขา เพื่อใช้เดินไปท่ามกลางในหมู่มนุษย์จะมีสภาพเหมือนกันหรือกับผู้ที่อยู่ในความมืดโดยที่เขาไม่สามารถจะออกมาจากมันได้?”

แต่ถ้ามีสิ่งใดมาขัดขวางหรือปิดกั้นระหว่างเขากับการจงรักภักดีพระเจ้าของเขา เขาก็จะเสียใจและสงสารตัวของเขา แม้กระทั่งจะเป็นการให้อภัยกันได้หรือเป็นข้อแก้ตัวที่พอจะรับฟังกันได้ก็ตาม     เมื่อท่านประสงค์ที่จะรู้จักสถานะของตัวท่านก็จงมองดูว่าอัลลอฮฺตะอาลา ได้จัดให้ท่านอยู่ในตำแหน่งใด หมายถึงอยู่ในบุคคลประเภทใด

ชัดด๊าดอิบนฺเอาสฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวเป็นข้อคิดไว้ว่า "เมื่อท่านเห็นชายคนนี้ปฏิบัติกิจกรรมหนึ่งที่เป็นการจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺตะอาลา พึงทราบเถิดว่ายังมีกิจกรรมอื่นๆของเขาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกด้วย และเมื่อท่านเห็นชายคนนี้ปฏิบัติกิจกรรมหนึ่งที่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺตะอาลา พึงทราบเถิดว่า ยังมีกิจกรรมอื่นๆของเขาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกด้วย ทั้งนี้เพราะการจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺตะอาลา เป็นการบ่งชี้ถึงกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของเขา และการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺตะอาลา ก็เป็นการบ่งชี้ถึงกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของเขาเช่นกัน     เมื่อเ ดือนรอมฎอนได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทว่าบทเรียนและคุณประโยชน์ต่างๆของมันก็ยังคงเหลืออยู่ให้เรายึดมั่นเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเราต่อไปอีกได้ เพราะเราหารู้ไม่ว่ากิจกรรมต่างๆที่เรามุ่งมั่นปฏิบัติตลอดเดือนรอมฎอนนั้นจะเป็นที่โปรดปรานหรือได้การตอบรับจากอัลลอฮฺตะอาลาหรือไม่?

ขอให้เรามาพิจารณาคำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังต่อไปนี้

 ( وَاعْلَمُوا أَنَّهُ لَنْ يَدْخَلُ أَحَدُ كُمُ الجَنَّةَ بِعَمَلِهِ ) ، قَالُوا : وَلا أَنْتَ يَارَسُولَ اللهِ – صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلِّمَ – قَالَ : ( وَلا أَنَا ، إِلا أَنْ يَتَغَمَّدَنِي اللهُ بِرَحْمَتِهِ ) رواه البخاري ومسلم

ความว่า "พึงทราบเถิดว่า แท้จริงคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะไม่ได้เข้าสวรรค์ เพราะการงานของเขา! บรรดาศ่อฮาบะฮฺได้กล่าวถามขึ้นว่า แม้แต่ท่านกระนั้นหรือ? โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ท่านได้ตอบว่า แม้แต่ตัวฉันเอง!! เว้นแต่อัลลอฮฺจะทรงพิทักษ์รักษาฉันด้วยพระเมตตาของพระองค์"   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์และมุสลิม

ถ้าหากว่านี่คือสภาพของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วสภาพของเราท่านจะเป็นอย่างไร? ถ้าเราจะมองดูอย่างผิวเผินถึงสภาพของบรรพชน (สะละฟุศศอและฮฺ) จะเป็นที่ประจักษ์ถึงความหมายดังกล่าว เพราะพวกเขาได้ขยันหมั่นเพียรในการกระทำอิบาดะฮฺอย่างสมบูรณ์ครบครันและด้วยความประณีต หลังจากนั้นพวกเขาก็มีความห่วงใยต่อการตอบรับ และมีความกลัวว่าจะไม่ถูกตอบรับ พวกเขาเหล่านั้น คือ

يُؤْتُونَ مَا آتَوا وَّقُلُوبُهُمْ وَجِلَةٌ

ความว่า "บรรดาผู้ปฏิบัติกิจกรรมดีงามตามที่พวกเขาให้มาโดยที่จิตใจของพวกเขาเปี่ยมไปด้วยความหวั่นเกรง" (23/60)

 มีรายงานจากท่านอะลี อิบนฺอะฏอลิบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า "จงเป็นผู้ที่มีความห่วงใยต่อการตอบรับผลงานมากยิ่งกว่าการกระทำ ท่านมิได้ยินคำตรัสของอัลลอฮฺตะอาลา ดอกหรือที่ว่า

 إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ

 ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับผลงานจากบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงเท่านั้น" (5/27)

อุมัร อิบนฺอับอุลอะซีซ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวในคุฏบะฮฺอีดิ้ลฟิฏร์ตอนหนึ่งว่า "โอ้มหาชนทั้งหลาย! แท้จริงพวกท่านได้ถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺตาอาลา 30 วัน และพวกท่านได้ยืนละหมาด 30 คืน และพวกท่านได้ออกมาพร้อมหน้ากัน เพื่อวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺเพื่อให้พระองค์ทรงตอบรับการงานของพวกท่าน"

ดังนั้น บางคนในหมู่บรรดาสะลัฟจะมีใบหน้าที่เศร้าโศกในวันดีดิ้ลฟิฏรี่ จะมีบางคนถามเขาว่า แท้จริงวันนี้เป็นวันแห่งความปิติยินดีเป็นวันแห่งความเบิกบานใจ เขาจะกล่าวตอบว่า ถูกต้อง แต่ทว่าฉันเป็นบ่าว นายของฉันใช้ฉันให้ทำงานชนิดหนึ่งให้แก่เขา ฉันได้ทำงานนั้นให้แก่เขา ฉันไม่รู้ว่าเขาจะรับงานจากฉันหรือไม่?    

อัลหะซันได้กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงยืดเวลาการละหมาดตะฮัจญุดให้ล่าออกไปจนกระทั่งก่อนเวลาสะฮูร หลังจากนั้นก็จงนั่งวิงวอนขอดุอาอฺขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺตะอาลา"

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำให้เป็นซุนนะฮฺหลังจากการละหมาดทุกๆเวลา โดยให้กล่าวว่า อัซตัฆฟิรุลลอฮฺ สามครั้ง และอื่นจากนี้ในการทำอิบาดะฮฺต่างๆ การกระทำเช่นนี้หากเป็นข้อบ่งชี้ถึงสิ่งใด แท้จริงมันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเป็นแก่ท่านที่จะต้องมีความต่อเนื่องในการทำอิบาดะฮฺกับอัลลอฮฺอยู่เสมอ ในเวลาเดียวกันท่านก็ยังมีความกังวลใจ มีความกลัว และกล่าวหาตัวของท่านเองว่ายังมีความบกพร่อง และหย่อนยานในการทำอิบาดะฮฺของท่าน ความรู้สึกเช่นนี้จะช่วยผลักดันให้ท่านขยันหมั่นเพียรในการทำอิบาดะฮฺให้เรียบร้อยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สมดังคำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

( لا يَشْبَعُ الْمُؤْمِنُ مِنْ خَيْرٍ يَفْعَلُهُ حَتَّى يَدْخُلَ الْجَنَّةَ ) حَسَنَه الألباني

ความว่า "คนมุอฺมินนั้นจะไม่อิ่มเอิบจากการทำความดีของเขา จนกว่าจะได้เข้าสวนสวรรค์"   อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นสายสืบที่หะซัน

ความรู้สึกดังกล่าวนี้ได้เรียกร้องเชิญชวนให้เรามาทบทวนการทำอิบาดะฮฺบางชนิดร่วมกัน และแนะนำซึ่งกันและกัน เพื่อที่เราจะได้มีความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺตะอาลา มากยิ่งขึ้น และเพื่อจะเป็นหลักฐานให้เกิดร่องรอยแก่เราในเดือนมหามงคลนี้ว่า "พระเจ้าแห่งเดือนรอมฎอนคือพระเจ้าแห่งเดือนอื่นๆทั้งปี"

ฉะนั้น หากว่านี่คือสภาพของท่านในความบกพร่องและการทำความผิดต่างๆ ดังนั้นอย่าไปคิดเลยว่าท่านจะไม่บกพร่องในการทำอิบาดะฮฺและแสงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺตะอาลา ในเดือนรอมฎอนหลังจากนั้นท่านก็หยุดชะงักหรือล้มเลิกการทำอิบาดะฮฺในส่วนที่เหลือของปีนั้น และนั่นคือกิจวัตรหรือประเพณีของผู้ที่ไม่ชอบจะกระทำความดี

>>> หลังจากรอมฎอนเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร ? 2

24. หลังจากรอมฎอนแล้วเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร? 1