24. หลังจากรอมฎอนแล้วเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร? 2

Submitted by admin on Mon, 26/06/2017 - 17:43
เนื้อหา

"และจงเคารพภักดีพระเจ้าของเจ้าจนกว่าความตายจะมาหาเจ้า"

 

          โดยทั่วไปแล้วท่านจะเห็นพี่น้องมุสลิมจำนวนมิใช่น้อยที่พยายามปฏิบัติอิบาดะฮฺ และทำความจงรักภักดีต่อพระเจ้าของเขาในเดือนรอมฎอน เช่นการทำละหมาด การถือศีลอด และการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺ การละหมาดตะฮัจญุด การอ่านอัลกุรอาน และการซิกรุลลอฮฺ จนกระทั่งมัสยิดต่างๆ โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนจะเต็มและแออัดไปด้วยผู้คนอย่างเนืองแน่น หลังจากนั้นคือหลังจากเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง พวกเขาก็กลับไปสู่สภาพเดิมคือไม่ชอบไปร่วมละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิด และประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่บัญญัติศาสนาไม่อนุญาตให้กระทำ โดยหารู้ไม่ว่าคนมุอฺมินผู้ศรัทธานั้นจะต้องเปลี่ยนสภาพจากจงรักภักดีชนิดหนึ่งไปสู่การจงรักภักดีอีกชนิดหนึ่งอยู่เสมอ และจากการอิบาดะฮฺชนิดหนึ่งไปสู่การอิบาดะฮฺอีกชนิดหนึ่ง โดยมีเป้าหมายในการนั้นคือคำกล่าวของอัลลอฮฺตะอาลา ที่กล่าวกับบ่าวที่ประเสริฐยิ่งของพระองค์ ที่ว่า

وَاعْبُدْ رَبَّكَ حَتَّى يَأْتِيَكَ الْيَقِينُ ﴿٩٩﴾

ความว่า "และจงเคารพภักดีพระเจ้าของเจ้าจนกว่าความตายจะมาหาเจ้า" (15/99)

กล่าวคืออย่าให้ความจงรักภักดีห่างไกลจากตัวเจ้าจนกว่าเจ้าจะประสบกับความตาย และเช่นเดียวกับคำกล่าวของบ่าวที่ศอและฮฺ อีซา ที่ว่า

وَأَوْصَانِي بِالصَّلَاةِ وَالزَّكَاةِ مَا دُمْتُ حَيًّا
ความว่า
"และพระองค์ทรงสั่งเสียฉันให้ละหมาดและจ่ายซะกาตตราบใดที่ฉันยังมีชีวิตอยู่" (19/31)

และมุสลิมนั้นย่อมตระหนักดีว่าพระเจ้าแห่งเดือนรอมฎอนคือพระเจ้าแห่งเดือนอื่นๆตลอดทั้งปี และการเตรียมพร้อมของเขาเพื่อพบพระเจ้าของเขานั้น เรียกร้องเขาอยู่เสมอเพื่อให้ฉวยทุกโอกาสที่จะเป็นไปได้ไปสู่การจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺตะอาลา

قُلْ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحْيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّـهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ

ความว่า "จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน และการอิบาดะฮฺของฉัน และการมีชีวิตของฉัน และการตายของฉันนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พระเจ้าแห่งสากลโลกเท่านั้น" (6/162)   
 

กิจกรรมต่างๆในการกระทำความจงรักภักดีมีอยู่มากมายหลังจากรอมฎอน เช่น จงรีบเร่งกันเข้าสู่ประตูชัย คือประตูอัรรอยยานก่อนที่จะถูกปิดลง ณ ที่นี้เราขอสั่งเสียและแนะนำให้ถือศีลอดอีก 6 วัน หลังจากวัน อีดิ้ลฟิฏรฺแล้ว ซึ่งเป็นการถือศีลอดซุนนะฮฺ

ตามรายงานของอะบีอัยยู๊บ  และบันทึกโดยมุสลิม แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ" . رواه مسلم

ความว่า "ผู้ใดถือศีลอดเดือนรอมฎอนแล้วติดตามหลังจากรอมฎอนอีก 6 วันจากเดือนเชาวาล เสมือนกับว่าเขาถือศีลอดทั้งปี"

ในการถือศีลอดซุนนะฮฺ 6 วันนี้ไม่มีเงื่อนไขให้ถือติดต่อกันไป แต่ชอบมากกว่าให้กระทำหลังจากวันอีดทันที โดยเฉพาะเนื่องจากจิตใจมีความเคยชินอยู่กับการถือศีลอด และการจงรักภักดี มิใช่แต่เพียงดังกล่าวเท่านั้น แต่ขอบเขตของการถือศีลอดยังมีอีกมาก เช่น คำกล่าวสนับสนุนของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

ความว่า "กิจการงานต่างๆจะถูกนำเสนอ (ณ ที่อัลลอฮฺ) ในวันจันทร์และวันพฤหัสบดี และฉันชอบมากกว่าที่จะให้การงานของฉันถูกเสนอ (ในวันดังกล่าว) ขณะที่ฉันถือศีลอด"   อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นฮะดีสที่ศ่อเฮี๊ยะฮฺ

และนั่นคือความประเสริฐของวันจันทร์และวันพฤหัสบดี และส่วนหนึ่งในการทำความดีหลังจากเดือนรอมฎอน เช่นคำสั่งเสียของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แก่อะบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่กล่าวว่า

ความว่า "เพื่อนสนิทของฉันได้สั่งเสียฉันไว้ 3 ประการคือ ให้ฉันถือศีลอด 3 วันของทุกๆเดือน (วันที่ 13, 14 และ15 ของเดือนอาหรับ) และให้ละหมาดฎุฮา 2 ร็อกอะฮฺ และให้ฉันละหมาดวิตรฺก่อนที่ฉันจะนอน"   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์และมุสลิม

เราขอเสนอของขวัญที่ดียิ่งแด่ท่านพี่น้องทั้งหลายนั่นคือการถือศีลอด โดยเฉพราะในช่วงเวลาที่สภาพและสิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนมากมายหลายชนิด ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เตือนและสั่งเสียให้เราถือศีลอด เพราะการถือศีลอดจะช่วยปกป้องและคุ้มกันเราให้พ้นจากฟิตนะฮฺต่างๆได้ ทั้งนี้เพราะท่านนะบีของเรามีความห่วงใยต่อประชาชาติของท่านเป็นอย่างมาก ท่านได้กล่าวไว้ว่า

ความว่า "....และผู้ใดไม่มีความสามารถ (ในการระงับความใคร่หรือตัณหา) ก็ให้เขาถือศีลอด เพราะมันจะปกป้องหรือคุ้มกันให้เขาได้"   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์และมุสลิม

กล่าวคือการถือศีลอดจะช่วยพิทักษ์คุ้มครองท่านให้พ้นจากความเย้ายวน ความใคร่และอารมณ์รุนแรงได้ นี่คือคำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างไรเสียอีกถ้าหากนายแพทย์ผู้ซึ่งรักษาโรคชนิดหนึ่งของท่าน โดยจ่ายยาให้แก่ท่าน แน่นอนท่านจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ทำไมท่านจึงเกียจคร้านที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

พึงทราบเถิด! แท้จริงการดำรงชีวิตอย่างแท้จริงนั้น จะไม่เกิดขึ้นนอกจากท่านจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ ดังคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اسْتَجِيبُوا لِلَّـهِ وَلِلرَّسُولِ إِذَا دَعَاكُمْ لِمَا يُحْيِيكُمْ

ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! จงตอบรับอัลลอฮฺและร่อซูล (เชื่อฟัง) เมื่อท่าน (มุฮัมมัด) ได้เรียกร้องพวกท่านเพื่อสิ่งที่จะทำให้พวกท่านมีชีวิตชีวา...." (8/24)

และขอเรียนให้พี่น้องทั้งหลายทราบว่า การถือศีลอดนั้นเป็นสิ่งยากลำบากแก่จิตใจ เพราะมันจะห้ามจิตใจมิให้นึกคิดสิ่งที่เป็นความใคร่ และสิ่งที่จะทำให้เกิดความเพลิดเพลิน แต่เราใคร่ขอเตือนท่านให้รำลึกถึงวันอันยาวนานที่มีความร้อนและความกระหายอย่างมาก วันที่น่าสะพรึงกลัวอย่างมากกำลังคอยท่านอยู่ และอัลลอฮฺตะอาลา นั้นจะไม่ทรงผิดสัญญา นั่นคือวันแห่งสถานการณ์ ขณะที่ท่านจะต้องไปยืนคอยการตัดสินเป็นเวลาถึง 5 หมื่นปี ขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ศีรษะของท่าน แต่ทำไมท่านจึงไม่อยู่ในหมู่ผู้ใกล้ชิดพระองค์ในวันนั้น? ในขณะที่มนุษย์ทั้งหลายกำลังอยู่ในสภาพที่กังวลหนักใจเป็นทุกข์เป็นร้อน เจ็บปวดทรมานจิตใจ เศร้าโศกเสียใจ และกระหายน้ำ ในขณะเดียวกันท่านจะมองเห็นฝูงชนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ภายใต้บัลลังก์ของพระผู้ทรงเมตตา พวกเขากำลังดื่มน้ำอย่างสุขสำราญและได้รับความเพลิดเพลินอย่างสนุกสนาน ทำไมท่านจะไม่เป็นคนหนึ่งในหมู่ฝูงเหล่านั้นหรือ? และพึงทราบเถิดว่าปริมาณความกระหายน้ำของท่านในวันนี้มีเท่าใด ท่านจะได้รับการดื่มน้ำอย่างเต็มอิ่มในวันนั้นคือวันกิยามะฮฺ อีกทั้งท่านจะอยู่ห่างไกลจากนรกญะฮันนัม ซึ่งมันจะเผาไหม้ผิวหนังจนเกรียมดำ มันจะไม่เหลืออะไรไว้เลยและไม่ปล่อยผู้ใดให้คงเหลือไว้อีกเช่นกัน

ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แจ้งให้เราได้รับทราบไว้ว่า

ความว่า "ผู้ใดถือศีลอดวันหนึ่งเพื่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะทรงให้ใบหน้าของเขาห่างไกลจากไฟนรก 70 ปี"   บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์และมุสลิม

ดังนั้นเท่าจำนวนปีที่ท่านต้องการจะอยู่ห่างไกลจากไฟนรก ท่านจะต้องให้จำนวนการถือศีลอดของท่านมีจำนวนเท่านั้น นอกจากนี้ท่านไม่มีความปรารถนาจะดื่มน้ำอย่างมีความสุขใจจากมือของท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากบ่อน้ำเกาซัรของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ของเราในวันกิยามะฮฺหรือ?

เราขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า แท้จริงการถือศีลอดนั้นมิใช่เป็นการกระหายน้ำและมิใช่เป็นการทรมาน แต่ทว่ามันเป็นรสชาติที่ไม่มีใครจะรู้สึกนอกจากผู้ที่มีความรักมันเท่านั้น เป็นการพอเพียงแก่ท่านแล้วมิใช่หรือที่จะมีความอดทนต่อการถือศีลอดและความกระหายน้ำ โดยให้ท่านรำลึกถึงสถานการณ์อีกแห่งหนึ่งในวันกิยามะฮฺที่มีต่อการร้องไห้ การเศร้าโศกเสียใจตลอดกาล แท้จริงมันเป็นสถานการณ์แห่งความทุกข์ยากและเจ็บปวด การกระหายน้ำและเศร้าโศกเสียใจของพวกเขาจะอยู่คู่เคียงกับพวกเขาตลอดไป และพวกเขาจะร้องไห้ที่มีน้ำตาเป็นสายเลือด พวกเขาเหล่านั้นคือ ชาวนรก

ขอให้เราท่านรำลึกถึงพวกเขา และมีความรู้สึกต่อความยิ่งใหญ่ของสถานการณ์ คล้ายกับว่าไฟนรกลุกโชนรอบๆตัวท่าน และท่านมีความรู้สึก ว่าความร้อนของมันพัดโชยเข้ามาที่ใบหน้าของท่าน และขณะนั้นท่านก็รำลึกถึงอายะฮฺนี้ นั่นคือการร้องเรียกขอความช่วยเหลือของชาวนรกจากชาวสวรรค์

ความว่า "จงเทน้ำมาให้แก่พวกเราด้วย หรือสิ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกท่าน" (7/50)

กล่าวคือพวกเขามีความต้องการจะได้สิ่งหนึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ในเมื่อสิ่งนั้นมาจากสวรรค์ เพราะทุกสิ่งที่มาจากสวรรค์จะต้องเป็นของดีทั้งนั้น     ดังนั้นทำไมท่านจึงทำตัวของท่านให้ห่างไกลจากสวรรค์ด้วยการปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ และการละเว้นไม่เอาใจใส่ในเรื่องของศาสนา?!

ฉะนั้นขอให้ท่านอดทนอดกลั้นและอดใจ เพราะการมีชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้เป็นระยะเวลาเพียงเล็กน้อย วันเวลาได้เร่งรีบผ่านไปอย่างรวดเร็ว โลกอาคิเราะฮฺก็จะมาถึงอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว สวนสวรรค์นั้นเป็นสินค้าของอัลลอฮฺที่มีราคาแพง และผู้ใดที่ต้องการสวนสวรรค์ชั้นสูง เขาก็จะต้องรีบเร่งทำอิบาดะฮฺที่มีคุณภาพในโลกดุนยานี้ และสินค้าทุกชิ้นย่อมมีราคาของมัน    

และสุดท้ายนี้โปรดทราบด้วยว่าการถือศีลอดที่ดีที่สุดนั้นคือการถือศีลอดของนะบีดาวู๊ด อะลัยฮิสสลาม คือท่านได้ถือศีลอดวันหนึ่ง และเว้นวันหนึ่ง แต่อย่าละทิ้งสิ่งที่เป็นวายิบและจงฉวยโอกาสอย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ และจงทำความดีต่อบิดามารดาของท่านในสิ่งที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺตะอาลา และมีข่าวดีที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แจ้งแก่ฮุซัยฟะฮฺ อิบนุลยะมานว่า

ความว่า "โอ้ฮุซัยฟะฮฺ ผู้ใดที่เสียชีวิตด้วยการถือศีลอดวันหนึ่ง เขาจะได้เข้าสวรรค์"   (อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นฮะดีสศ่อเฮี๊ยะฮฺ)

 

24. หลังจากรอมฎอนแล้วเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร? 2