จงทำความดีติดตามความชั่ว (สู่อีมานที่มั่นคง 27)

Submitted by admin on Tue, 21/02/2017 - 20:14

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

 (( اتَّقِ اللَّهَ حَيْثُمَا كُنْتَ ، وَأَتْبِعِ السَّيِّئَةَ الْحَسَنَةَ تَمْحُهَا ، وَخَالِقِ النَّاسَ بِخُلُقٍ حَسَنٍ )) رَوَاهُ التِّرْمِذِيُّ وَقَالَ : حَدِيثٌ حَسَنٌ

ความว่า “ท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด, จงติดตามความชั่วด้วยการทำความดี และจงคบหาผู้คนด้วยมารยาทที่ดีงาม” (หะดีษหะสัน บันทึกโดยอัตติรมิซี)

    ในตอนแรกของการอธิบายหะดีษบทนี้เราได้กล่าวไปแล้วว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนเราให้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺในทุกสถานที่ ไม่เลือกที่จะตักวายำเกรงอัลลอฮฺเพียงสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เช่น จะยำเกรงอัลลอฮฺเฉพาะในสถานที่ที่ใช้ปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นคุณลักษณะของกลุ่มชนที่หลงผิดไปจากหนทางของอัลลอฮฺ ตะอาลา เป็นลักษณะของกลุ่มคนที่ไม่รู้จักพระผู้เป็นเจ้านอกเสียจากต้องอยู่ในโบสถ์ อยู่ในศาสนสถานเท่านั้น แต่เมื่อออกนอกอาคารเหล่านั้นก็จะไม่มีศาสนาหรือจริยธรรมที่เชื่อมโยงกับศาสนาอีกเลย

    ดังนั้นท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงสอนผู้ศรัทธาให้มีอีหม่านต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา โดยมีความยำเกรงต่อพระองค์ผ่านภาคปฏิบัติทางศาสนา (อะมาลศอลิหฺ) โดยท่านนบีกล่าวว่า

وَأَتْبِعِ السَّيِّئَةَ الْحَسَنَةَ تَمْحُهَا
“และท่านจงกระทำความดีงามหลังจากมีการประพฤติที่เลวร้าย ซึ่งความดีงามนั้นจะไปลบล้างความชั่วที่ท่านได้กระทำไว้”

การที่มุสลิมนั้นมีโอกาสฝ่าฝืนหรือกระทำมะอฺศียะฮฺที่ทำให้ถูกบันทึกไว้ในสมุดบันทึกการงานของเขาว่าได้ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ โอกาสเหล่านี้เป็นโอกาสที่อาจจะประสบตลอดชีวิตของเขา เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ที่ไม่ใช่นบีและเราะสูลนั้น ไม่มะอฺศูม ไม่บริสุทธิ์จากความผิด ฉะนั้นทุกคนจึงอาจประสบกับการฝ่าฝืน ความผิด ความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการที่มนุษย์จะมีโอกาสฝ่าฝืนพระผู้เป็นเจ้าจึงเป็นเรื่องปกติ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังยืนยันว่าลูกหลานอาดัมนั้นเป็นผู้กระทำความผิดอย่างสม่ำเสมอดังที่มีหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวไว้ว่า

((كُلُّ بَنِي آدَمَ خَطَّاء، وَخَيرُ الْخَطَّائِينَ التَّوَّابُونَ)) رواه الترمذي

ความว่า “ลูกหลานอาดัมทั้งหลาย (มนุษย์ทั้งหลาย) เป็นผู้กระทำความผิดอยู่ตลอด แต่ผู้กระทำความผิดที่ดีที่สุดนั้นคือผู้ที่กระทำความผิดแล้วกลับเนื้อกลับตัวในทันที” (บันทึกโดยอัตติรมิซี)

กลับมาที่หะดีษหลักของเรา ท่านนบีได้สอนไว้ว่า เมื่อมีความผิดเกิดขึ้นแล้ว แนะนำให้เราเร่งทำอะมาลศอลิหฺ ปฏิบัติความดีงาม ทำสิ่งที่จะลบล้างความผิดที่เหล่านั้น โดยมันจะทำให้ความผิดที่เราได้กระทำไปนั้นถูกลบออกไปจากสมุดบันทึกการงานของเรา ถือเป็นพระมหากรุณาของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ทั้งหลายมีโอกาสกลับเนื้อกลับตัว แก้ไขปัญหาส่วนตัวและปัญหาระหว่างเขากับอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ในทันที

นศาสนาอิสลามไม่มีพิธีการระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า เพียงแต่มนุษย์นั้นต้องไปสู่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา โดยไม่มีสื่อ ไม่มีบุคคลที่จะกล่าวพิธี กล่าวคำให้อภัยโทษหรือการรับสารภาพบาปดังที่เราเห็นในศาสนาอื่นๆ ทว่าในศาสนาอิสลามนั้น พฤติกรรมของทุกคนขึ้นอยู่กับตนเอง สามารถดำเนินชีวิตของเขาในหนทางที่ถูกต้องหรือหนทางที่ไม่สอดคล้องกับหลักการศาสนา มนุษย์เองมีสิทธิ์เลือกและปรับความประพฤติของเขาตามหลักการศาสนา หากเขาเลือกแนวทางที่ถูกต้องและดีงามอัลลอฮฺก็จะช่วยเขา จะอำนวยความสะดวก แต่หากเขาจะเลือกแนวทางที่เลวร้าย ที่เป็นความชั่ว ขัดกับหลักการ เขาก็จะได้รับความช่วยเหลือหรือการอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองว่าจะเลือกสิ่งใด

ดังนั้นมุอ์มินที่ต้องการให้สมุดบันทึกการงานของเขาปราศจากความผิด เพราะความผิดที่ถูกบันทึกไว้จะถูกนำเสนอต่อหน้าอัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺ มนุษย์ทุกคนจะมีสมุดบันทึกทุกการงานในชีวิตของเขาในดุนยา หากเขาอยากให้หนังสือเหล่านั้นปราศจากความผิด เป็นหนังสือที่มีแต่การบันทึกความดีงามต่างๆ ที่จะทำให้เราดีใจ มีใบหน้าสดใสและพอใจต่อชีวิตของเราในดุนยาที่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนความถูกต้อง มุอ์มินทุกคนต้องการเห็นสมุดของเขานั้นส่งให้เขาด้วยมือขวาและรับมันด้วยมือขวา ซึ่งเขาจะได้นำเสนอความประพฤติของเขาต่อประชาคมโลกตั้งแต่ยุคท่านนบีอาดัมจนถึงวันสิ้นสุดของโลก มนุษย์ทั้งหลายจะได้รับทราบว่าใครเป็นบุคคลที่มีการงานที่ดีในสมุดบันทึกของเขา และใครที่มีความชั่ว ความเลวร้ายในสมุดของเขา ฉะนั้นทุกคนที่ต้องการให้สมุดของเขามีแต่ความดีงาม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็สอนให้เร่งปฏิบัติความดีงามหลังจากที่ได้ปฏิบัติความชั่ว

หากเรานินทาใครก็ต้องรีบไปขออภัยเขา ถ้าใส่ร้ายป้ายสีใครก็ต้องรีบไปขออภัยเขา แต่หากเราไม่สามารถไปขอมอัฟเขาได้ (อาจจะย้ายที่อยู่ไปและติดต่อไม่ได้ หรืออาจจะเสียชีวิตไปแล้ว) ก็จงขออภัยโทษจากอัลลอฮฺและดุอาอ์ให้แก่เขา
ถ้าเราเคยดูหมิ่นหรือตำหนิคนยากจนแล้วรู้สึกว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ถูกต้องก็จงเร่งแก้ไขด้วยการบริจาคและทำความดีกับคนยากจน
หากเราเคยทำในสิ่งที่ทำให้ศาสนาต้องตกต่ำเราก็ต้องเร่งแก้ไขด้วยการทำให้ศาสนาของเราสูงส่ง ถ้าเราเคยกระทำสิ่งที่จะทำให้คนอื่นต้องประสบความยากลำบากเราก็ต้องรีบทำให้บุคคลเหล่านั้นได้รับความสะดวกจากความช่วยเหลือของเรา
ถ้าเราเคยกระทำสิ่งที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามประการใด เราก็ต้องรีบค้นหาว่าศาสนาของเราสั่งใช้ให้ทำอะไรและรีบแก้ไขความผิดดังกล่าวด้วยการกระทำสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม
ถ้าเราเคยใช้เวลาชีวิตอย่างสิ้นเปลื้องและไร้สาระ หลายวัน หลายเดือน หลายปี ไปกับการดื่มสุรา เล่นการพนัน โกหก ดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง หรือสิ่งอื่นๆ ที่ขัดกับหลักการศาสนา เราก็ต้องเร่งเตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัว แล้วนำสิ่งที่ถูกต้อง มีสาระ มีประโยชน์มาปฏิบัติต่อไป เช่น อ่านอัลกุรอาน ทำมาหากินเพื่อครอบครัว ทำงานเพื่อสังคม ทำทุกสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า มีความหมาย มีเป้าหมาย

นั่นคือชีวิตของมุอ์มินที่จะประสบความสำเร็จ ความสะอาด และถูกบันทึกไว้ในสมุดบันทึกการงานของเขาอันจะเก็บทุกอย่างไว้เสนอในวันกิยามะฮฺให้ทุกคนได้อ่าน จะสามารถนำการงานเหล่านั้นไปอวดต่อประชาคมโลกได้ในวันกิยามะฮฺ ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะลา ได้ตรัสไว้ว่า

﴿ فَأَمَّا مَنۡ أُوتِيَ كِتَٰبَهُۥ بِيَمِينِهِۦ فَيَقُولُ هَآؤُمُ ٱقۡرَءُواْ كِتَٰبِيَهۡ ١٩ إِنِّي ظَنَنتُ أَنِّي مُلَٰقٍ حِسَابِيَهۡ ٢٠ فَهُوَ فِي عِيشَةٖ رَّاضِيَةٖ ٢١ فِي جَنَّةٍ عَالِيَةٖ ٢٢ ﴾ [الحاقة: ١٩،  ٢٢]  

ความว่า “ส่วนผู้ที่บันทึกของเขาถูกนำมายื่นให้ทางเบื้องขวาของเขา เขาจะกล่าวว่า มาอ่านบันทึกของฉันสิ ความจริงฉันมั่นใจทีเดียวว่าฉันจะได้พบบัญชีของฉัน แล้วเขาจะมีความสุขอยู่อย่างสุขสำราญ ในสวนสวรรค์อันสูงส่ง” (อัลหากเกาะฮฺ : 19-22)

กล่าวคือผู้ที่ได้รับบัญชีด้วยมือขวา เขาจะป่าวประกาศให้ผู้อื่นมาอ่านบันทึกของเขา เขาจะบอกกับผู้อื่นว่าจงทราบเถิดว่าฉันได้ดำเนินชีวิตของฉันด้วยความถูกต้อง ด้วยคุณธรรมความดี ด้วยหลักการแห่งพระผู้เป็นเจ้า ฉันได้หวังไว้แล้วว่าฉันจะได้รับการตอบแทนที่ดีงามจากพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺจึงให้ชีวิตของเขาในวันกิยามะฮฺนั้นเป็นชีวิตที่มีความพอใจ มีความสุข มีความสะดวก นั่นคือบรรดาผู้ศรัทธาที่ได้แก้ไขปัญหาความผิดของเขาในทันที คือบุคคลที่สร้างอีหม่านที่มั่นคงและมีคุณภาพ

อีกคำสั่งที่เหลือในหะดีษบทนี้ไว้ติดตามต่อฉบับหน้าครับ อินชาอัลลอฮฺ...
 


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 27, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ

จงทำความดีติดตามความชั่ว (สู่อีมานที่มั่นคง 27)