ละหมาดอย่างมีคุชูอฺ 4 – อัลฟาติหะฮฺ อายะฮฺ 4

Submitted by admin on Mon, 24/10/2016 - 23:11

ละหมาดอย่างมีคุชูอฺ 4 – อัล-ฟาติหะฮฺ อายะฮฺที่ 4 (สู่อีมานที่มั่นคง 19)

ความสำคัญของการอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺในการละหมาดเป็นเรื่องที่รู้กันดีเพราะท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

( لا صَلاة لِمَنْ لَمْ يَقْرَأْ بِفَاتِحَةِ الْكِتَابِ ) رواه البخاري
ความว่า “การละหมาดจะใช้ไม่ได้หรือเป็นการละหมาดที่ไม่สมบูรณ์สำหรับคนที่ไม่อ่านอัล-ฟาติหะฮฺ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรี)

ทั้งนี้เพราะความหมายที่มีอยู่ในอัล-ฟาติหะฮฺนั้น มีเป้าหมายหลายอย่างที่จะสร้างอีหม่าน สร้างจิตสำนึก ความคุชูอฺ ความนอบน้อม สร้างสมาธิให้แก่คนที่ทำอิบาดะฮฺอยู่
ครั้งที่แล้วเราได้มาถึงอายะฮฺที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

﴿ مَٰلِكِ يَوۡمِ ٱلدِّينِ ٤ ﴾ [الفاتحة: ٤]
ความว่า “ผู้ทรงสิทธิ์ในวันแห่งการตอบแทน” (อัล-ฟาติหะฮฺ : 4)

คือผู้ที่ควบคุม ผู้ที่ดูแลจัดการ ผู้ที่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันปรโลก วันแห่งการตอบแทน ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะอยู่ในวันปรโลกนั้นขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ แสดงถึงพระอำนาจของพระองค์ ซึ่งมุอ์มินทุกคนจะมุ่งสู่วันกิยามะฮฺ เพราะเป็นเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของมุอ์มินที่สะสมอะมัลศอลิหฺ การงานที่ดีงาม สะสมผลบุญ แสวงหาทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้เขาสำเร็จในวันนั้น

ดังนั้นการที่ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ระบุถึงเรื่องการตอบแทน เป็นการปลุกจิตสำนึก กระตุ้นอีหม่านและความยำเกรงต่อพระองค์ เพื่อให้เราระลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ เมื่อเรามีจุดมุ่งหมายสู่วันกิยามะฮฺนั้น เราต้องเข้าใจ ต้องศรัทธา เพราะวันกิยามะฮฺขึ้นอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าคือ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา หากใครอยากประสบความสำเร็จ ก็ต้องแสวงหาความสำเร็จนั้น แสวงหาพระเมตตา แสวงหาการตอบแทนจาก อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา

﴿ مَٰلِكِ يَوۡمِ ٱلدِّينِ ٤ ﴾ [الفاتحة: ٤]  “ผู้ทรงสิทธิ์ในวันแห่งการตอบแทน”

ไม่มีใคร ที่มีอำนาจแท้จริง ไม่มีใครที่มีบารมีอย่างแท้จริง ไม่มีใครที่มีเดชานุภาพอย่างแท้จริง ในโลกอาคิเราะฮฺนอกจาก อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา นั่นก็เป็นการเปรียบเทียบเช่นเดียวกันว่า ในเมื่อวันกิยามะฮฺเป็นกรรมสิทธิ์ขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา แน่นอนว่าโลกดุนยาก็ขึ้นอยู่กับพระองค์เช่นเดียวกัน เพราะวันกิยามะฮฺยิ่งใหญ่กว่าโลกดุนยานี้

ตัวอย่างที่เอามาเปรียบเทียบได้นั่นก็คือ นรกกับสวรรค์ สวนสวรรค์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และอัล-กุรอานได้ชี้แจงว่า สวนสวรรค์นั้นมีเนื้อที่เท่ากับชั้นฟ้าและแผ่นดิน ก็หมายถึงว่ามีความยิ่งใหญ่ในส่วนหนึ่งของวันปรโลก มากกว่าในโลกนี้ แต่ถ้าหากว่าวันกิยามะฮฺเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ โลกนี้ก็ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่า อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลามีอำนาจในโลกอาคิเราะฮฺ ในโลกนี้ก็เช่นเดียวกัน นั่นเป็นสิ่งที่มุอ์มินต้องระลึกไว้เสมอว่า การที่จะเข้าใจว่าเจ้าของโลกนี้คือ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เจ้าของโลกนี้คือพระผู้อภิบาล ผู้ทรงดูแลจัดการ ปกครอง บริหารทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

เมื่อเราปลูกฝังเรื่องนี้ในจิตใจของเรา บทบัญญัติต่างๆ ที่เราจะรับจากพระผู้เป็นเจ้า เราจะนำมาปฏิบัติด้วยความสมัครใจ ด้วยความเป็นบ่าว ด้วยความเป็นบุคคลที่เชื่อในความเป็นบ่าวของ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เพราะการที่เราจะเคารพภักดีต่อพระองค์นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อว่าเรามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์หรือไม่

บางคนที่นึกว่าเขาอิสระ ไม่เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ใช้คำว่า Freedom อิสระเสรี ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาต้องการกระทำในโลกนี้ คนเหล่านั้นเป็นบุคคลที่ไม่สามารถรับคำบัญชาของ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา นำมาปฏิบัติได้ก็เนื่องจากว่าอีหม่านของเขาไม่มีความมั่นคง ไม่มีความเชื่อมั่นในความเป็นบ่าวต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และบรรดาผู้ศรัทธานั้นต้องมีความตระหนักในเรื่องเหล่านี้ ว่าโลกนี้มีพระเจ้า และเราเป็นบ่าวของพระเจ้า โลกนี้มีเจ้าของ และเราเป็นกรรมสิทธิ์ของ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และเมื่อเรากล่าวทุกครั้งที่มีการละหมาดว่า

﴿ مَٰلِكِ يَوۡمِ ٱلدِّينِ ٤ ﴾ [الفاتحة: ٤]  “ผู้ทรงสิทธิ์ในวันแห่งการตอบแทน”

เราก็ต้องมีความตระหนักว่าชีวิตของเรานั้นขึ้นอยู่กับ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ความตายของเราก็ขึ้นอยู่กับพระองค์ การฟื้นคืนชีพ การตอบแทน การที่เราจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จในวันปรโลกนั้นก็ขึ้นอยู่กับ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

﴿ قُلۡ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحۡيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ١٦٢ لَا شَرِيكَ لَهُۥۖ وَبِذَٰلِكَ أُمِرۡتُ وَأَنَا۠ أَوَّلُ ٱلۡمُسۡلِمِينَ ١٦٣ ﴾ [الانعام: ١٦٢،  ١٦٣]  

ความว่า “โอ้ มุฮัมมัดจงกล่าวเถิดว่าแท้จริงนั้น การละหมาดของฉัน การปฏิบัติศาสนกิจของฉัน การมีชีวิตของฉัน ความตายของฉัน เป็นกรรมสิทธิ์ของ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ไม่มีภาคีกับพระองค์ ฉันไม่เชื่อในภาคีใดๆนอกจากพระองค์ ฉันเชื่อว่าพระองค์ทรงเอกะ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะสามารถมาเป็นภาคีกับพระเจ้าของฉัน เช่นคำบัญชาที่ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา สั่งใช้ให้แก่ฉัน ว่าต้องเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ต้องเชื่อว่าชีวิตของฉัน ความตายของฉัน ขึ้นอยู่กับ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เช่นนั้นแหละ ฉันถูกสั่งใช้ และฉันเป็นคนแรกในบรรดาผู้ศรัทธา ผู้นอบน้อมต่อ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา” (อัล-อันอาม : 162-163)

นั่นเป็นความหมายที่เราจะระลึกอยู่ตลอดเมื่ออ่าน  ﴿ مَٰلِكِ يَوۡمِ ٱلدِّينِ ٤ ﴾

เป็นอายะฮที่จะกระตุ้นความเป็นบ่าวของเราต่อ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา จะกระตุ้นให้เรารู้สึกว่าในเมื่อเรามีชีวิตแล้ว เราต้องนำชีวิตของเราไปถวายแด่ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เพราะพระองค์เป็นเจ้าของชีวิตเรา ตราบใดที่มีกิจกรรมใดในชีวิตของเรา ที่เราไม่สามารถถวายให้กับพระองค์ได้ อันเนื่องจากว่าเป็นความชั่ว เป็นความเลวร้าย นั่นก็จะแสดงว่าเรายังขาดความเป็นบ่าวต่ออัลลอฮฺ เรายังไม่เชื่อว่า พระองค์เป็นเจ้าของโลกนี้และโลกอาคิเราะฮฺ

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลายครับ การที่เราผูกพันกับอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาในกิจกรรมต่างๆนั้น ไม่ขึ้นกับการละหมาดอย่างเดียว พระองค์สอนให้เรารำลึกถึงพระองค์อย่างตลอดกาล ในทุกกรณี ในทุกสถานการณ์ ในทุกเวลา ทุกชั่วโมง ทุกวินาที กลางวัน กลางคืน ทุกเมื่อ เราต้องมีการระลึกถึง อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา คนที่มีหัวใจสามารถบรรลุความหมายเหล่านี้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นมุสลิม ถึงว่าจะไม่ยึดในศาสนาอิสลาม เขาก็จะมีความเชื่อหรือความคิด การพิจารณา ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของโลกนี้ ถ้าหากว่าคนเหล่านี้ สามารถปลูกจิตสำนึกของเขาให้เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าเขาต้องบรรลุอีหม่านอันมั่นคง ต้องศรัทธาใน อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ต้องศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าในโลกนี้ ต้องศรัทธาในผู้ทรงปกครอง ผู้ทรงดูแล ผู้ทรงจัดการทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ขอให้พี่น้องมีความตระหนักในหน้าที่ของเรา ในฐานะที่เป็นบ่าวของ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ให้มีการระลึกถึงวันกิยามะฮฺอย่างตลอดกาล ระลึกถึงหน้าที่ของเรา ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ทำตัวเป็นมุอ์มินที่มีอีหม่านที่มั่นคง
 


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 19, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ