ละหมาดอย่างมีคุชูอฺ 1 - การกล่าวอัลลอฮุอักบัร ดุอาอฺอิสติฟตาหฺ อัลฟาติหะฮฺ

Submitted by admin on Tue, 11/10/2016 - 12:20

ละหมาดอย่างมีคุชูอฺ 1 - การกล่าวอัลลอฮุอักบัร ดุอาอ์อิสติฟตาหฺ อัลฟาติหะฮฺ (สู่อีหม่านที่มั่นคง ตอน 16)

imaan52.jpg การสร้างความคุชูอฺหรือความนอบน้อมในขณะละหมาด การเคารพภักดี การปฏิบัติศาสนกิจ เป็นคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีอีหม่านที่มั่นคง เราได้พูดถึงการเริ่มละหมาดด้วยคำกล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัรฺ” อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือผู้หนึ่งผู้ใดใหญ่กว่าอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา นิยามข้างต้นต้องเป็นความรู้สึก จิตสำนึก ความเชื่อที่มีอยู่ในจิตใจของเราว่าอย่าให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดใหญ่กว่าอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ให้ความเชื่อในจิตใจของเราเวลาที่กล่าว “อัลลอฮุอักบัรฺ” สอดคล้องกับลิ้นของเรา อย่าให้ลิ้นของเรากล่าวสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มันไม่สอดคล้องกับความจริง อย่ากล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัรฺ” อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ แต่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ใหญ่กว่าอัลลอฮฺในจิตใจของเรา

ดังนั้นการที่เราจะเริ่มละหมาดด้วยคำว่า “อัลลอฮุอักบัรฺ” นั่นเป็นการประกาศว่าเราเตรียมพร้อม เรามีสมาธิในการที่จะเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และนั่นคือการเริ่มด้วยคุชูอฺ ด้วยความนอบน้อมต่อพระองค์ ฉะนั้นบรรดาการดุอาอ์การวิงวอน การสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ต่างๆ ที่เราจะระบุหรือกล่าวตอนละหมาดก็ต้องมีลักษณะนอบน้อมเช่นเดียวกัน เช่น การกล่าวดุอาอ์อิสติฟตาหฺหรือดุอาอ์เปิดละหมาด เช่นคำว่า

وَجَّهْتُ وَجْهِيَ لِلَّذِي فَطَرَ السَّمَأوَاتِ وَالأَرْضَ، حَنِيفًا مُسْلِمًا وَمَا أَنَا مِنَ الْمُشْرِكِينَ

การกล่าวดุอาอ์เช่นนี้เป็นการประกาศว่า ใบหน้าของฉันมุ่งสู่พระผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดินทั้งมวล (وَجَّهْتُ) ซึ่งหมายถึง ฉันมุ่ง ฉันผินหน้าไปให้อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา พระองค์เดียว ฉันมีเป้าหมายเดียว ฉันมีพระเจ้าพระองค์เดียว ขณะละหมาดภายในจิตใจของเราไม่มีกิบลัต ไม่มีจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้นอกจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา (حَنِيفاً) หมายถึง หนทางของฉันไม่หันหน้าไปทิศทางอื่นนอกจากทิศทางของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทางฉันไม่มีเลี้ยวขวาหรือเลี้ยวซ้ายแต่เป็นหนทางอันเที่ยงตรง อันเที่ยงธรรมสู่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา พระองค์เดียว (مُسْلِماً) หมายถึง ความนอบน้อม มีคุชูอฺ มีการแสดงความต่ำต้อยต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา นั่นคือการกล่าวดุอาอ์อิสติฟตาหฺส่วนหนึ่งถึงแม้ว่าจะมีบทที่ยาวกว่านี้หรือสั้นกว่านี้ เขาก็ต้องเตรียมความหมาย และรำลึกถึงความหมายอันลึกซึ้งที่เรากล่าวด้วยลิ้น

ท่านอิหม่ามอัล-เฆาะซาลีบอกว่า ความคุชูอฺจะไม่เกิดขึ้นขณะที่เรากล่าวดุอาอ์หรืออ่านอัล-กุรอาน เว้นแต่ต้องมีความสอดคล้องระหว่างลิ้นและจิตใจ ระหว่างการอ่านและการระลึกถึงความหมายของบทซิกรฺต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการละหมาดของเรา เบื้องต้นก็คือการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺ เพราะการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺเป็นรุกุ่น เป็นสิ่งจำเป็น

ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้กล่าวไว้ในหะดีษ บันทึกโดยอิมามบุคอรี รายงานโดยท่านอุบาดะฮฺ อิบนุศศอมิต ความว่า

لا صلاة لمن لم يقرأ بفاتحة الكتاب

“การละหมาดนั้นใช้ไม่ได้ หรือไม่มีการละหมาด หรือการละหมาดนั้นไม่สมบูรณ์ สำหรับบุคคลที่ไม่อ่านอัล-ฟาติหะฮฺ”

salaat48.jpg ถ้าเรามองถึงความสำคัญของการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺ เพียงแค่พิจารณาคำว่า อัล-ฟาติหะฮฺ หมายความว่า สิ่งที่เปิด เปิดทุกสิ่งทุกอย่างที่เปิดไม่ได้ อัล-ฟาติหะฮฺจะเปิดหัวใจของเรา จะแก้ไขทุกปัญหาของเรา จะเป็นกุญแจที่เปิดประตูเข้าไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และจะเป็นกุญแจให้เราเปิดไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการในโลกนี้และอาคิเราะฮฺ เพราะบรรดาความหมายของอายะฮฺต่างๆ ในอัล-ฟาติหะฮฺเป็นเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในอัล-กุรอานทั้งมวล ฉะนั้นท่านอิหม่ามอิบนุลก็อยยิม จึงกล่าวว่าในสูเราะหฺอัล-ฟาติหะฮฺ จะมีเป้าหมาย จะมีหลักศรัทธา จะมีประเด็นสำคัญๆ ที่มีระบุอยู่ในอัล-กุรอานทั้งหม

เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถพิจารณา ระลึกถึงความหมายของอัล-ฟาติหะฮฺอย่างลึกซึ้ง จะเปรียบเสมือนเราได้อ่านอัล-กุรอานทั้งหมด แม้ว่าในอัล-ฟาติหะฮฺจะมีเพียง 7 อายะฮฺ แต่ก็มีความหมาย มีความลึกซึ้งมาก

ก่อนที่จะแปลความหมายของอัล-ฟาติหะฮฺ ซึ่งมันจะสร้างอีหม่านที่มั่นคงให้ในจิตใจของเรา ผมขอยกหะดีษจากท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ที่พูดถึงความสำคัญของอัล-ฟาติหะฮฺ ในบันทึกของท่านอิมามมุสลิม ซึ่งเป็นหะดีษกุดซี ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺได้กล่าวว่า อัลลอฮุ สุบหานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

قسمت الصلاة بيني وبين عبدي نصفين ولعبدي ما سأل. فإذا قال العبد: الحمد لله رب العالمين. قال الله: حمدني عبدي، فإذا قال: الرحمن الرحيم. قال الله: أثنى علي عبدي. فإذا قال: مالك يوم الدين. قال: مجدني عبدي. وقال مرة: فوض إلي عبدي. وإذا قال: إياك نعبد وإياك نستعين. قال: هذا بيني وبين عبدي، ولعبدي ما سأل. فإذا قال: اهدنا الصراط المستقيم صراط الذين أنعمت عليهم غير المغضوب عليهم ولا الضالين. قال: هذا لعبدي، ولعبدي ما سأل.

อัลลอฮุ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงชี้แจงว่า การละหมาดที่บ่าวของพระองค์ได้ปฏิบัติ พระองค์ทรงแบ่งการละหมาดระหว่างบ่าวและพระองค์เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่กับพระองค์ อีกส่วนหนึ่งอยู่กับบ่าวของพระองค์ ก็หมายถึงการละหมาดนั้น บ่าวของอัลลอฮุ สุบหานะฮูวะตะอาลา มีส่วนในการเตรียม มีส่วนในการสร้างสภาพอันสมบูรณ์เพื่อให้การละหมาดบรรลุเป้าหมาย ตราบใดที่หน้าที่ของบ่าวของพระองค์ถูกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อย่างถูกต้อง ส่วนของอัลลอฮุ สุบหานะฮูวะตะอาลา ก็จะตอบแทนให้แก่บ่าวของพระองค์ และมีการอธิบายมากกว่านั้น อัลลอฮุ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

เมื่อบ่าวของข้ากล่าวว่า ﴿ ٱلۡحَمۡدُ لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٢ ﴾ [الفاتحة: ٢]

อัลลอฮฺจะตอบว่า حمدني عبدي “บ่าวของข้าได้สรรเสริญข้า”

และเมื่อผู้ละหมาดอ่านว่า ﴿ ٱلرَّحۡمَٰنِ ٱلرَّحِيمِ ٣ ﴾ [الفاتحة: ٣]
อัลลอฮฺจะตอบว่า أثنى علي عبدي “บ่าวของข้าได้ยกย่องข้า”

และเมื่อผู้ละหมาดอ่านว่า ﴿ مَٰلِكِ يَوۡمِ ٱلدِّينِ ٤ ﴾ [الفاتحة: ٤]
อัลลอฮฺจะตอบว่า مجدني عبدي. وقال مرة: فوض إلي عبدي “บ่าวของข้าได้เทิดเกียรติข้า (หรือบางครั้งก็กล่าวว่า) บ่าวของข้ามอบหมายให้แก่ข้า”

และเมื่อผู้ละหมาดอ่านว่า ﴿ إِيَّاكَ نَعۡبُدُ وَإِيَّاكَ نَسۡتَعِينُ ٥ ﴾ [الفاتحة: ٥]
อัลลอฮฺจะตอบว่า هذا بيني وبين عبدي، ولعبدي ما سأل “เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างข้าและบ่าวของข้า และส่วนที่บ่าวของข้าจะเรียกร้องขอจากข้า ข้าจะให้แก่เขาอย่างแน่นอน “

และเมื่อบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาอ่านว่า
﴿ ٱهۡدِنَا ٱلصِّرَٰطَ ٱلۡمُسۡتَقِيمَ ٦ صِرَٰطَ ٱلَّذِينَ أَنۡعَمۡتَ عَلَيۡهِمۡ غَيۡرِ ٱلۡمَغۡضُوبِ عَلَيۡهِمۡ وَلَا ٱلضَّآلِّينَ ٧ ﴾ [الفاتحة: ٦،  ٧]  

อัลลอฮฺจะตอบว่า هذا لعبدي، ولعبدي ما سأل “นั่นสำหรับบ่าวของข้า และข้าจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่บ่าวของข้า”

นั่นเป็นคำตอบของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ขณะที่เราอ่านอัล-ฟาติหะฮฺ และนั่นคือลักษณะอันดีงาม อันยิ่งใหญ่ ที่เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าเมื่อเราเข้าสู่การละหมาด เราไม่ห่างจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และพระองค์ก็ไม่ห่างจากเรา เราอยู่กับพระองค์ ทรงได้ยินและทรงตอบ เราต้องมีความศรัทธาในสิ่งเหล่านี้ ว่าในเมื่อเรากล่าว

﴿ ٱلۡحَمۡدُ لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٢ ﴾ [الفاتحة: ٢]

เราต้องเตรียมสถานการณ์ เตรียมตัวให้ได้ยินถึงแม้ว่าจะไม่ได้ยินด้วยหู แต่จะได้ยินด้วยความศรัทธาที่มีอยู่ในจิตใจของเรา อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาทรงตอบเราว่า حمدني عبدي

คำตอบรับของพระองค์คำตอบนี้ เป็นคำตอบที่จะบ่งบอกถึงความอีหม่าน ความคุชูอฺ ความนอบน้อม ที่มีอยู่ในขณะที่เรากำลังละหมาด ตราบใดที่เราอ่านอัล-ฟาติหะฮฺแต่ไม่มีสมาธิ ไม่มีการระลึกถึงความหมายหรือไม่รู้ถึงความหมาย เราก็จะไม่บรรลุเป้าหมายนี้
 


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 16, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ

 
ละหมาดอย่างมีคุชูอฺ 1 - การกล่าวอัลลอฮุอักบัร ดุอาอ์อิสติฟตาหฺ อัลฟาติหะฮฺ